เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงเปิดบริการถ่ายภาพด้วยพระองค์เอง ณ ร้านถ่ายรูปหลวง งานฤดูหนาววัดเบญฯ
Arts & Culture

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงเปิดบริการถ่ายภาพด้วยพระองค์เอง ณ ร้านถ่ายรูปหลวง งานฤดูหนาววัดเบญฯ

Focus
  • พ.ศ. 2447 รัชกาลที่ 5 ทรงเปิดบริการถ่ายภาพด้วยพระองค์เอง ณ ร้านถ่ายรูปหลวง งานฤดูหนาววัดเบญฯ ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีร้านถ่ายรูปหลวง
  • งานวัดประจำปีในวัดเบญฯ ตรงกับช่วงฤดูหนาวของเมืองไทย และเป็นต้นแบบของงานเทศกาลงานรื่นเริงที่มีการออกร้านมีมรหสพเต็มลานวัด ซึ่งจัดต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2443 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จึงย้ายงานวัดประจำปีมาจัดที่สวนจิตรลดา และสวนสราญรมย์

วัดเบญฯ หรือ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ถูกเข้าใจผิดมาตลอดว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 แต่ความหมายเดิมของวัดเบญฯ ที่มาจากชื่อเดิมคือ วัดเบญจมบพิตร นั้นเป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 4 หมายถึง “วัดของเจ้านาย 5 พระองค์” แต่กระนั้นวัดเบญฯ ก็เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับรัชกาลที่ 5 เพราะเป็นวัดที่พระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2444 ซึ่งพระอุโบสถหลังใหม่นี้เป็นที่เลื่องลือในเรื่องความวิจิตรงดงาม มีรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมผสานกับการประดับตกแต่งด้วยหินอ่อนจากอิตาลี

พระอุโบสถหินอ่อนหลังใหม่นี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ตรงกับช่วงที่เริ่มบูรณะวัดเบญฯ พร้อมๆ กับการสร้างพระราชวังดุสิต โดยมีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างอย่างใกล้ชิด ซึ่งตัวพระอุโบสถเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 7

ร้านถ่ายรูปหลวงแห่งแรกในไทยที่ วัดเบญฯ

นอกจากการสร้างพระอุโบสถหินอ่อนหลังแรกในไทยแล้ว อีกเรื่องที่เป็นข่าวฮือฮาของชาวพระนครในยุคนั้นคืองานวัดฤดูหนาว พ.ศ. 2447 ที่เกิดขึ้นในวัดเบญฯ  ครั้งนั้นรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดร้านถ่ายรูปหลวงขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย ณ งานวัดประจำปีของวัดเบญฯ พร้อมทั้งเปิดบริการถ่ายรูปด้วยพระองค์เอง เพื่อทรงนำรายได้สมทบทุนสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ซึ่งยังไม่เสร็จในตอนนั้น อีกทั้งยังทรงเชิญชวนให้เจ้านายทั้งหลายนำภาพถ่ายส่วนตัวมาร่วมจัดแสดงในงาน เรียกว่าเป็นนิทรรศการภาพถ่ายย่อมๆ เลยก็ว่าได้

สำหรับการจัดงานวัดประจำปีของวัดเบญฯ ตรงกับช่วงฤดูหนาวของเมืองไทย และถือได้ว่าเป็นต้นแบบของงานเทศกาลงานรื่นเริงที่มีการออกร้านขายของ มีมรหสพจัดเต็มลานวัดอย่างในปัจจุบัน ซึ่งงานวัดฤดูหนาวที่วัดเบญฯ จัดต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2443 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จึงย้ายงานวัดประจำปีมาจัดที่สวนจิตรลดา และสวนสราญรมย์

งานวัดประจำปีวัดเบญฯ ที่เป็นจุดกำเนิดของร้านถ่ายรูปหลวงนั้นจัดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ 20-25 ธันวาคม พ.ศ. 2447 โดยมีในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงรับเป็นองค์ประธานกรรมการของร้านถ่ายรูปหลวง มีเจ้านายฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และข้าราชบริพารเป็นกรรมการร่วม สังเกตได้จากการติดโบสีขาว-แดง ที่หน้าอกเสื้อของคณะกรรมการทุกคน โดยกรรมการได้แบ่งหน้าที่ออกเป็นกองถ่ายรูป กองล้างและอัดรูป กองปิดรูปและเข้ากรอบ กองรับแขก เป็นต้น

วัดเบญฯ

ตลอดสัปดาห์ของการจัดงาน ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประทับที่ร้านถ่ายรูปหลวงทุกคืนเพื่อทรงถ่ายรูปพระราชทานแก่บรรดาเจ้านาย ข้าราชการ และชาวต่างชาติที่มาร่วมงาน โดยทรงเก็บค่าถ่ายรูปคนละ 20 บาท เพื่อสมทบทุนสร้างพระอุโบสถหินอ่อนหลังใหม่

ในบรรดาภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ทุกรูปที่ทรงถ่ายพระราชทาน มีพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร.เป็นวงกลมอยู่ที่ฉากหลัง นอกจากทรงรับหน้าที่เป็นช่างภาพแล้ว พระองค์ยังทรงรับหน้าที่สไตล์ลิสต์จัดฉากด้วยพระองค์เอง บางฉากทรงทำเป็นกรอบรูปจำลอง บางฉากทรงกำกับให้โพสต์ท่าในอิริยาบถต่างๆ แบบห้องภาพตะวันตก และก็มีบางรูปทรงถ่ายในลักษณะภาพล้อเลียน

เป็นที่ทราบกันดีว่าในหลวงรัชกาลที่ 5 เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงโปรดการถ่ายภาพมาก พระองค์เริ่มทรงสนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จะเห็นได้จากพระบรมรูปเมื่อทรงถ่ายในวัยเด็กซึ่งทรงโพสต์ในพระอิริยาบถต่างๆ ทั้งยังทรงใช้เวลาว่างจากพระราชกิจมาศึกษากระบวนการถ่ายภาพ ทรงทดลองล้างอัดรูปในห้องแล็บจนชำนาญ

ช่วงหลัง พ.ศ.2446 เป็นต้นมาพระองค์ทรงหันมาจริงจังกับการถ่ายภาพ ทรงสะสมกล้องรุ่นต่างๆ ทั้งยังซื้อกล้องพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และพระสนมเจ้าจอม ในช่วงนั้นจึงมีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ปรากฏอยู่ให้เห็นไม่ได้ขาด กระทั่ง พ.ศ. 2447 จึงได้เกิดร้านถ่ายรูปหลวงขึ้นเป็นครั้งแรกในงานวัดประจำปีของ วัดเบญฯ และทรงเปิดบริการถ่ายภาพด้วยพระองค์เอง

วัดเบญฯ

เกร็ดประวัติ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

ประวัติวัดเบญฯ เป็นวัดเล็กๆ เก่าแก่เดิมชื่อ “วัดแหลม” เพราะทำเลที่ตั้งเป็นจุดปลายแหลมของสวนที่ติดกับท้องทุ่งนา ต่อมาชาวบ้านเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดไทรทอง” เพราะมีต้นไทรทองปรากฏอยู่  

ราวปี พ.ศ.2370 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3) วัดนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์โดยพระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 นามว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ เนื่องจากสถานที่ตั้งวัดเคยเป็นจุดชัยภูมิที่พระองค์ใช้ตั้งกองทัพปราบเจ้าอนุวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์

ชื่อ วัดเบญจบพิตร เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 4 หมายถึง “วัดของเจ้านาย 5 พระองค์” เนื่องจากมีพระเจดีย์ 5 พระองค์ ที่สร้างเรียงรายอยู่หน้าวัด เป็นอนุสรณ์แด่พระบรมวงศานุวงศ์ พระราชโอรส และพระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ได้แก่  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์  กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ กรมหลวงภูวเนตรนรินฤทธิ์ พระองค์เจ้าหญิงอินทนิล และพระองค์เจ้าหญิงวงศ์  ผู้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์บูรณะวัดของชาวบ้านให้เป็นวัดใหญ่สวยงาม

เมื่อถึงสมัย รัชกาลที่ 5  วัดเบญจบพิตรทรุดโทรมลง พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาวัดขึ้นมาใหม่ทั้งหมดพร้อมกับสร้างพระราชวังดุสิตในคราวเดียวกันเพื่อให้สมกับวัดของพระเจ้าแผ่นดินสร้างพร้อมพระราชทานนาม  วัดเบญจบพิตรดุสิตวนาราม โดยคำว่า วัดเบญจบพิตร ให้หมายถึงวัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ส่วน ดุสิตวนาราม ให้สอดคล้องกับชื่อของ พระราชวังดุสิต

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

ดังนั้น “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” จึงหมายถึง “วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5” แต่ไม่ใช่วัดประจำรัชกาลที่ 5 ส่วนวัดประจำรัชกาลที่5 คือ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม  สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2412 ตามโบราณราชประเพณีนิยมของราชวงศ์จักรี ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่กษัตริย์ทุกประองค์มีธรรมเนียมการสร้างพระอารามหลวงประจำรัชกาล 

ทั้งนี้วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 7 เนื่องจากทรงเห็นว่าในพระนครมีวัดมากอยู่แล้ว พระองค์จึงรับพระราชปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธฯ แทนการสร้างใหม่และถือเป็นพระอารามประจำรัชกาลด้วยเช่นกัน

ต้นเรื่อง : นิตยสารคดี ฉบับ กุมภาพันธ์ 2543 สิงหาคม 2544 และ มิถุนายน 2540