แอ่ว เวียงกุมกาม ยามแลง ย้อนต้นทางประวัติศาสตร์ของล้านนา
Arts & Culture

แอ่ว เวียงกุมกาม ยามแลง ย้อนต้นทางประวัติศาสตร์ของล้านนา

Focus
  • ท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืน “แอ่วกุมกามยามแลง” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 2 ธันวาคม 2566 เวลา 16.00 – 21.00 น. ณ ลานกิจกรรมวัดอีก้าง – วัดหนานช้าง เวียงกุมกาม ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
  • เวียงกุมกาม ที่นี่ถือได้ว่าเป็นต้นทางของประวัติศาสตร์ของ​ล้านนา​ เป็นอดีตเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาสมัยพญาเม็งราย อายุเก่าแก่กว่า 700 ปี

เริ่มต้นขึ้นแล้วสำหรับโปรเจ็กต์เปิดโบราณสถานยามค่ำคืนเป็นไฮไลต์ท่องเที่ยวส่งท้ายปลายปี 2566 ของกรมศิลปากร ซึ่งกระจายไปในหลายโบราณสถานในภูมิภาคต่างๆ ประเดิมด้วย เวียงกุมกาม จังหวัดเชียงใหม่ กับงาน แอ่วกุมกาม ยามแลง ซึ่งนำ “ผางประทีป” ฉบับล้านนาที่ทำจากดินเผา ใส่น้ำมัน และตีนกา มาประดับตกแต่งโบราณสถานซึ่งปกติจะเปิดเพียงไฟส่องสว่างยามค่ำคืน

เวียงกุมกาม
วัดอีก้าง
เวียงกุมกาม
วัดปู่เปี้ย
เวียงกุมกาม

ไฮไลต์งานจัดไฟผางประทีปอยู่ที่วัดอีก้าง วัดหนานช้าง และวัดปู่เปี้ย โดยงานจัดเพียงช่วงสั้นๆ ในค่ำคืนวันที่ 1-2 ธันวาคม 2566 ตั้งแต่ยามแลงเป็นต้นไป (16.00-21.00 น.) พร้อมการแสดงศิลปะล้านนา โขนกลางโบราณสถาน และตลาดชุมชนขนาดย่อม พร้อมนำโคมผัดแบบโบราณมาตกแต่งกลางตลาด งานนี้ยังมีของที่ระลึกเป็น “มกรคายมังกรจีน” ที่ถอดมาจากเชิงบันไดตกแต่งอุโบสถ​วัดกู่ป้าด้อมในเขต เวียงกุมกาม​ ซึ่งเคยอยู่ใต้ชั้นตะกอนทรายลึกมากกว่า​ 2 เมตร​ สามารถลงทะเบียนรับมกรคายมังกรจีนได้ที่หน้างาน

เวียงกุมกาม
วัดหนานช้าง
เวียงกุมกาม
จุดผางประทีป

สำหรับกลุ่มโบราณสถาน เวียงกุมกาม ที่นี่ถือได้ว่าเป็นต้นทางของประวัติศาสตร์ของ​ล้านนา​ เป็นอดีตเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาสมัยพญาเม็งราย อายุเก่าแก่กว่า 700 ปี โดยมีวัดหนานช้าง​ วัดอีก้าง เป็นใจกลางของเมืองซึ่งมีความสวยงาม​คลาสสิค​ตามแบบฉบับ​ยุคทองของล้านนา

การแสดงล้านนาภายในงาน

เดิมทีเวียงกุมกามเป็นเมืองในตำนานที่ปราก​ฏ​เพียงชื่อในเอกสารประวัติ​ศาสตร์​ ในฐานะเมืองที่พญามังราย​ทรงสร้างขึ้นก่อนการสถาปนา​เมืองเชียงใหม่​ โดยชื่อ​ “เวียงกุม​กาม” ยังคงเป็นปริศนานับศตวรรษ​ จนกระทั่ง​เมื่อ​ ปี​ พ.ศ.2527 กรมศิลปากร​ได้ค้นพบเวียงกุมกาม​ และมีการขุดศึกษา​ทางโบราณคดี​ต่อเนื่องนานกว่า​ 3 ทศวรรษ

แม้ เวียงกุมกาม จะเปิดยามค่ำคืนเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่งที่เปิดยามค่ำคืนในเดือนธันวาคมนี้ อาทิ วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อุทยานประวัติศาสตร์ พิมาย จังหวัดนครราชสีมา และพระปรางค์สามยอดลพบุรี โดยแต่ละที่จะมีตราประทับให้ได้สะสม และถ้าใครสะสมครบ 5 ที่ สามารถนำไปแลกรับของที่ระลึก ได้แก่ เหรียญพระพุทธสิหิงค์ รุ่นครบรอบ 112 ปี กรมศิลปากร, สมุดภาพ (ไดอารี่) และภาพชุด (ปฏิทิน) มรดกเรืองรอง เครื่องทองอยุธยา ได้ที่อาคารกรมศิลปากร (เทเวศร์) ชั้น 3 ถนนศรีอยุธยา เขตดุสิต กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 จำนวนจำกัดเพียง 100 ชุดเท่านั้น

เหรียญที่ระลึก มกรคายมังกรจีน

อ้างอิง : สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ 


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ชัยทัต มีพันธุ์
ช่างภาพอิสระ รักเดินทาง ชอบงานฝีมือ เรียนรู้การใช้ชีวิต