
ตามรอยพระกริ่ง เครื่องถ้วย ที่ชา ตาลปัตร โบราณวัตถุชิ้นเอกวัดสุทัศน์กว่า 10,000 รายการใน พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ)
- พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) จัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของวัดสุทัศน์กว่า 10,000 รายการ เช่น พระพุทธรูป เครื่องถ้วย เครื่องมุก ที่ชา เอกสารโบราณ ตาลปัตร เป็นต้น
- พิพิธภัณฑ์ใช้งบประมาณราว 100 ล้านบาทในการบูรณะตำหนักของสมเด็จพระสังฆราชแพ อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ และการจัดทำทะเบียนโบราณวัตถุพร้อมการออกแบบจัดแสดงพิพิธภัณฑ์
- สมเด็จพระสังฆราชแพเป็นผู้สร้างตำนานพระกริ่งวัดสุทัศน์ อันลือลั่น และเป็นผู้ริเริ่มการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยครบถ้วนสมบูรณ์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
หลังจากใช้เวลาร่วม 10 ปีในการบูรณะตำหนักที่ประทับของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร และสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ในที่สุด พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) พร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าชมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุของ วัดสุทัศน์ กว่า 10,000 รายการ เช่น เครื่องถ้วย เครื่องมุก ที่ชา เอกสารโบราณ ตาลปัตร พระพุทธรูป เป็นต้น โดยเฉพาะตำนานการสร้างพระกริ่งวัดสุทัศน์อันลือลั่น ซึ่งเป็นผลงานเชิงช่างของสมเด็จพระสังฆราชแพ

พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) ใช้งบประมาณราว 100 ล้านบาทในการก่อสร้าง จัดทำทะเบียนโบราณวัตถุและออกแบบการจัดแสดง และนอกจากจะเป็นหอจดหมายเหตุที่เผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพด้านพุทธศิลป์ของสมเด็จพระสังฆราชแพ ผู้ทรงริเริ่มการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยครบถ้วนสมบูรณ์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดงล้วนเป็นของหายากและทรงคุณค่ายิ่งโดยเฉพาะ “เครื่องถ้วยและที่ชาของวัดสุทัศน์” ถือเป็นคอลเลกชันมาสเตอร์พีซของประเทศไทยและอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งพร้อมกับการจัดแสดง “การจัดเครื่องโต๊ะอย่างสยาม” แบบเต็มอัตราที่ตั้งตามธรรมเนียมการตั้งแต่งเครื่องโต๊ะภายใต้พระราชบัญญัติตรวจตัดสินชิ้นเครื่องโต๊ะที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และยังคงสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน

“ใน พ.ศ.2556 พระพรหมวชิรมุนี เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์รูปปัจจุบัน ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาส ได้รับมอบหมายให้มาดูแลตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชแพ ซึ่งหลังจากท่านสิ้นพระชนม์ในพ.ศ.2487 ตำหนักที่เก็บข้าวของมากมายก็ทรุดโทรมขาดการดูแลจึงมีโครงการบูรณะซ่อมแซมเพื่อจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ กรมศิลปากรเข้ามาช่วยทำทะเบียนโบราณวัตถุที่มีมากกว่า 20,000 รายการและใช้เวลาร่วม 2 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจึงเริ่มบูรณะอาคารและอนุรักษ์โบราณวัตถุชิ้นสำคัญๆ พร้อมกับได้งบสนับสนุนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จำนวน 15 ล้านบาท และได้บริษัทรักลูก เอ็ดดูเท็กซ์ ออกแบบและจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ.2567 ด้วยงบประมาณทั้งหมดราว 100 ล้านบาท” พระครูปลัดสุวัฒนสารคุณ (สุชาติ สุชาตเมธี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์และผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) ให้ข้อมูล

ตำหนักแห่งนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชแพเป็นเวลาถึง 44 ปี ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสลำดับที่ 4 ของวัดสุทัศน์ใน พ.ศ.2443 และดำรงพระยศเป็นพระสังฆราชในสมัยรัชกาลที่ 8 จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.2487 และที่นี่แต่เดิมยังเป็นที่อยู่ของอดีตเจ้าอาวาสรูปก่อนๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา ดังนั้นโบราณวัตถุที่ทางวัดเก็บรักษาไว้จึงมีเป็นจำนวนมาก จนเมื่อมีการบูรณะซ่อมแซมตำหนักจึงได้สร้าง “คลังเก็บโบราณวัตถุ” บริเวณใต้ถุนตำหนักและยาวไปจนถึงหอไตร

“คลังเก็บโบราณวัตถุทำตามมาตรฐานสากล มีระบบควบคุมความชื้น ระบบป้องกันไฟไหม้และน้ำท่วม และมีการทำทะเบียนโบราณวัตถุทั้งหมด การคัดเลือกสิ่งของมาจัดแสดงถือเป็นงานยากและพยายามคัดเลือกวัตถุชิ้นเอกและมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ ของที่นำมาจัดแสดงมีประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนทั้งหมดเนื่องจากมีเป็นจำนวนมาก เพราะเก็บสะสมมาตั้งแต่อดีตเจ้าอาวาสในสมัยรัชกาลที่ 3 ทั้งจากที่เจ้านาย ขุนนางชั้นสูง และประชาชน นำมาถวาย และบางอย่างที่สั่งทำเองเฉพาะสำหรับวัด ของล้วนเป็นของดีอยู่แล้ว เราจึงต้องการอนุรักษ์และจัดเก็บโบราณวัตถุของวัดให้มั่นคงถาวร เพราะชำรุดสูญหายไปมาก” พระครูปลัดสุวัฒนสารคุณ กล่าว
พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 1,800 ตารางเมตร และแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 โซน บริเวณตำหนักที่ประทับ จัดแสดงพระประวัติสมเด็จพระสังฆราชแพ สิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ และงานพุทธศิลป์ฝีพระหัตถ์ รวมถึงศิลปวัตถุที่ได้รับถวายจากพระบรมวงศานุวงศ์ในโอกาสสำคัญต่างๆ ถัดมาเป็น หอพระกรรมฐาน ประดิษฐานพระพุทธรูปและปูชนียวัตถุสำคัญของวัด ส่วนบริเวณ หอไตร จัดแสดงตาลปัตร ย่าม และผ้ากราบ กุฏิเรือนแถวทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ได้รับการบูรณะเพื่อจัดแสดงเอกสารโบราณ เครื่องโต๊ะ เครื่องกระเบื้อง ที่ชา และเครื่องมุก

สมเด็จพระสังฆราชแพ : ผู้สร้างตำนานพระกริ่งวัดสุทัศน์
ตรงกลางของโถงตำหนักที่ประทับประดิษฐานพระรูปของสมเด็จพระสังฆราชแพ และมีจอทัชสกรีนให้ผู้ชมสามารถศึกษาพระประวัติ พระเกียรติคุณ รวมถึงคอลเลกชันการสร้างพระกริ่งของพระองค์ที่ทรงหล่อรุ่นแรกชื่อว่า “พระกริ่งเทพโมฬี” ใน พ.ศ.2441 และทรงหล่อเรื่อยมาจนถึงรุ่นสุดท้ายคือ “พระกริ่งเชียงตุง” ใน พ.ศ.2486 พร้อมกับมีการใช้เทคโนโลยี AR (augmented reality) เข้ามาเสริมตามจุดต่างๆ ทำให้การชมพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ

“สมเด็จพระสังฆราชแพ ทรงปรีชาในงานช่างตั้งแต่ยังเป็นสามเณรที่วัดโพธิ์ โดยเริ่มจารคัมภีร์และแกะสลักไม้ถึงกับมีคนจ้างจารคัมภีร์ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร การสร้างพระกริ่งที่เป็นตำนานอยู่ในหมวดงานฝีมือที่ท่านออกแบบและหล่อจากการค้นคว้าตำราโบราณเพื่อให้ได้เนื้อเป็นนวโลหะเมื่อผสมแร่ธาตุทั้งหมด เนื้อจะเป็นสีดำขลับ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของท่าน เรายังพบเงินพดด้วงโบราณจำนวนมาก เพราะผู้ประสงค์จะได้พระกริ่งต้องจองล่วงหน้าด้วยเงินพดด้วง 1 เม็ด และท่านจะนำไปใช้เป็นส่วนผสมเวลาหล่อพระกริ่ง ภายหลังสิ้นพระชนม์ ศิษย์เอกของท่านคือ เจ้าคุณศรี (สนธิ์) สืบทอดตำราการหล่อต่อมา ทุกวันนี้ทางวัดก็ยังใช้ตามตำราดั้งเดิมในการหล่อพระกริ่ง”
พระครูปลัดสุวัฒนสารคุณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตำนานการสร้างพระกริ่งนั้นเกิดจากที่สมเด็จพระสังฆราชแพ อยู่ในเหตุการณ์ที่ สมเด็จพระวันรัต (แดง) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์รูปที่ 3 และพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ อาพาธเป็นอหิวาตกโรค และ สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแนะนำให้นำพระกริ่งมาแช่น้ำมนต์และดื่ม ปรากฏว่าอาการดีขึ้นจนหาย พระองค์จึงทรงเลื่อมใสในพระกริ่งและศึกษาค้นคว้าตำราโบราณ ต่อมาเมื่อได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระเทพโมฬี เมื่อ พ.ศ.2441 จึงทรงหล่อพระกริ่งขึ้นเป็นครั้งแรกและประทานแก่ผู้ใกล้ชิด


หลวงพ่อดำ พระพุทธรูปประจำพระองค์สมเด็จพระสังฆราชแพ
นอกจากนี้ในการสร้างพระกริ่งทุกครั้งมักจะสร้างพระพุทธรูปบูชาเพื่อทรงหล่อนำฤกษ์ก่อนเททองหล่อพระกริ่ง พระพุทธรูปนำฤกษ์ที่ทรงออกแบบและควบคุมการสร้างด้วยพระองค์เองมีหลายแบบทั้งที่ทำตามศิลปะโบราณและประยุกต์ขึ้นใหม่ ในตู้จัดแสดงพระพุทธรูปนำฤกษ์บางองค์ เช่น “พระชัยวัฒน์ประทับในซุ้มเรือนแก้ว” ที่หล่อนำฤกษ์พระกริ่งปี 2484 และที่ฐานมีพระชัยวัฒน์องค์เล็กที่หล่อในคราวเดียวกันติดอยู่โดยรอบ “พระพุทธรูปปางประทานอภัย” ที่ประยุกต์จากพระพุทธรูปศิลปะคันธาระโดยที่ฐานด้านขวามีรูปพระจันทร์ทรงรถเทียมม้าและด้านซ้ายมีรูปพระอาทิตย์ทรงรถเทียมสิงห์เช่นเดียวกับที่ปรากฏบนหน้าบันพระอุโบสถวัดสุทัศน์ และ “พระพุทธนิมิต” เป็นพระพุทธรูปยืน 4 กร ที่สร้างหลังจากทรงสุบินนิมิตว่าเสด็จไปโบสถ์ร้างและพบพระพุทธรูปทรงเครื่อง 4 กร วันรุ่งขึ้นจึงโปรดให้ค้นหาในตำหนักจนพบพระพิมพ์ทรงเครื่อง 4 กร เหมือนในนิมิตจึงโปรดให้ช่างหล่อพระพุทธนิมิตสูง 6 นิ้ว และหล่อพระกริ่งจำนวน 30 องค์ โดยได้นำพระกริ่ง 2 องค์ติดไว้ที่ฐานพระพุทธนิมิตจึงทำให้พระกริ่งรุ่นนี้ได้ชื่อว่า พระกริ่งพุทธนิมิต

“ท่านนิยมเครื่องแก้วและได้ทรงออกแบบและสั่งทำชุดเครื่องแก้วเจียระไนทรงต่างๆ เป็นสีแดง สีเขียวและสีน้ำเงิน เพื่อใช้ในกิจกรรมของวัด และบาตรสำหรับบรรจุน้ำมนต์หรือครอบน้ำมนต์ที่ท่านทรงใช้ก็ออกแบบเอง เช่น เป็นลายหนามขนุนและยอดของฝาครอบแกะสลักเป็นรูปพระสุนทรีวาณี นอกจากนี้ยังทรงออกแบบตะลุ่มมุกเถาซึ่งเป็นตะลุ่มมุกขนาดเล็ก เถาละ 5-12 ชิ้น ซ้อนกันเป็นชั้นๆ เพื่อประทานแก่พระสงฆ์ ขุนนาง และผู้ใกล้ชิดในวาระสำคัญต่างๆ รวมไปถึงกบดอกไม้สำหรับปักดอกไม้ ที่ปกติเป็นของนำเข้าจากต่างประเทศและทำจากเครื่องแก้ว แต่ท่านออกแบบให้เป็นวัสดุดินเผา”

สมเด็จพระสังฆราชแพ ทรงเชี่ยวชาญงานช่างไม้และได้ทรงออกแบบตู้กระจกลายทอง และโต๊ะหมู่บูชาไม้แกะสลักไว้หลายชุด ทั้งรูปทรงสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม หกเหลี่ยม และแปดเหลี่ยม เช่น ที่นำมาจัดแสดงพร้อมเครื่องแก้วเจียระไน คือ โต๊ะหมู่ 7 ลายพุดตานตั้งบนตั่งขาสิงห์ลายเครือเถาพุดตาน

นอกจากนี้ภายในตำหนักยังจัดแสดงเครื่องอัฐบริขารและสิ่งของใช้ส่วนพระองค์ เช่น เตียง ชุดทรงอักษร ผ้าไตรไหมและย่ามที่ได้รับพระราชทานในวันเฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ใน พ.ศ.2482 รวมไปถึงศิลปวัตถุที่ทางวัดได้รับพระราชทานจากพระบรมวงศานุวงศ์ในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่น บาตรที่ระลึกงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ.2416 เครื่องเขียนประดับมุกที่ระลึกงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 6 ใน พ.ศ.2454 และหุ่นเรื่องรามเกียรติ์ และโคมน้ำมันซึ่งเป็นเครื่องสังเค็ดงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (พระนางเรือล่ม) พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2422

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดสุทัศน์ : หลวงพ่อดำ พระนิรโรคันตราย พระสุนทรีวาณี
หอพระกรรมฐานภายในตำหนักเป็นห้องขนาดเล็ก โดยมีความยาวของห้องพอเหมาะสำหรับเดินจงกรม คือ ระยะ 10 ก้าว เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระสังฆราชแพใช้นั่งสมาธิและเดินจงกรมเป็นวัตรปฏิบัติ และปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยศิลปะเชียงแสนในซุ้มเรือนแก้วซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์และตั้งในการสวดนพเคราะห์วันครบรอบวันประสูติและพิธีพุทธาภิเษกหล่อพระกริ่งทุกปี

นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) ยังประดิษฐาน “พระนิรโรคันตราย” พระพุทธรูปกะไหล่ทองปางสมาธิที่รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2468 ในคราวที่หายประชวรจำนวนทั้งสิ้น 16 องค์ และพระราชทานไปยังพระอารามสำคัญๆ แต่ละองค์มีหมายเลขจารึกไว้ที่ใต้ฐาน โดยองค์ที่วัดสุทัศน์เป็นลำดับที่ 7 จึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของวัดสุทัศน์ที่ต้องอัญเชิญพระนิรโรคันตรายเป็นพระประธานของโต๊ะหมู่บูชาในการเสด็จฯ มาถวายผ้าพระกฐินทุกครั้ง

ปูชนียวัตถุที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างของวัดสุทัศน์คือ “พระสุนทรีวาณี” โดยภาพต้นแบบของพระสุนทรีวาณีจัดแสดงอยู่ที่หอพระกรรมฐาน โดยเป็นรูปเปรียบดั่งพระรัตนตรัยที่เขียนขึ้นตามนิมิตของสมเด็จพระวันรัตแดง เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์รูปที่ 3 อันมีลักษณะเป็นรูปเทพธิดาประทับขัดสมาธิบนดอกบัวสื่อถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระหัตถ์ซ้ายทรงแก้ววิเชียรหมายถึงพระนิพพาน พระหัตถ์ขวาแสดงอาการกวักหมายถึงพระธรรมคุณข้อ 4 คือ เอหิปัสสิโกซึ่งหมายถึงการเรียกให้พิสูจน์ว่าเป็นของจริง วัดสุทัศน์ได้เชิญภาพพระสุนทรีวาณีออกประดิษฐานในการรับเสด็จกฐินหลวงทุกปี


เครื่องประกอบสมณศักดิ์พระสงฆ์ : ตาลปัตร ย่าม ผ้ากราบ
หอไตรภายในตำหนักที่เคยใช้เก็บตู้พระธรรมและพระไตรปิฎกจัดแสดง “ตาลปัตร” ซึ่งเป็นของพระราชทานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โดยแบ่งออกเป็น “พัดยศ” คือพัดที่พระมหากษัตริย์พระราชทานเป็นเครื่องประกอบสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ “พัดรัตนาภรณ์” เป็นพัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นประจำรัชกาลและพระราชทานแก่พระสงฆ์ที่นับถือเป็นการส่วนพระองค์ และ “พัดรอง” คือพัดที่สร้างขึ้นถวายเป็นที่ระลึกแก่พระสงฆ์ในงานพิธีต่างๆ โดยบุคคลสำคัญที่ออกแบบพัดรองในราชสำนักสยามคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ดังผลงานหลายชิ้นที่ปรากฏในตู้จัดแสดง

พัดรองที่ระลึกในงานบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 5 (กลาง)
ตาลปัตรที่เก่าแก่ที่สุดคือ “พัดรองที่ระลึกในงานบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 5” เมื่อ พ.ศ.2416 และที่สำคัญคือ “พัดรองงานพระบรมศพรัชกาลที่ 5” เมื่อ พ.ศ.2453 ที่ถวายคู่กับธรรมาสน์และทางวัดใช้เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2561 นอกจากนี้ที่พิเศษสุด คือ พัดรัตนาภรณ์ ที่วัดสุทัศน์ได้รับพระราชทานถึง 4 เล่มจาก 2 รัชกาล คือ “พัดรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 6” จำนวน 2 เล่มบนพื้นไหมสีทองปักไหมดำเป็นอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. และ “พัดรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 7” จำนวน 2 เล่มบนพื้นไหมทองลายดอกไม้ปักดิ้นเลื่อมเป็นอักษรพระปรมาภิไธย ป.ป.ร.

นอกจากนี้ยังจัดแสดงคอลเลกชัน “ย่ามและผ้ากราบ” ที่เก่าแก่และสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น “ย่ามที่ระลึกงานโสกันต์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร” ใน พ.ศ.2433 “ย่ามสังเค็ดงานพระบรมศพรัชกาลที่ 5” เมื่อปี 2453 และ “ชุดย่ามหักทองขวาง” ซึ่งเป็นเครื่องยศประดับชั้นต่างๆ ของสมเด็จพระวันรัตแดง

อีกหนึ่งไฮไลต์คือ ย่ามและผ้ากราบลวดลายเป็นรูปใบหน้าบุคคลที่มีรัศมีเปล่งประกายโดยรอบ เรียกว่าลายสุริยเทพหรือลายสุริยมณฑล ซึ่งออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องสังเค็ดในงานพระราชทานเพลิงศพของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นขุนนางผู้มีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองของสยาม โดยเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 5 ระหว่าง พ.ศ. 2411-2416 ซึ่งในเวลานั้นพระองค์ยังทรงไม่บรรลุราชนิติภาวะ เนื่องจากราชทินนามของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ คือ มหาศรีสุริยะ จึงใช้ตราสุริยมณฑลเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว
“หลังจากรัชกาลที่ 7 ก็ไม่ได้มีการพระราชทานย่ามประกอบสมณศักดิ์แก่พระราชาคณะ ส่วนย่ามปักหักทองขวางถือเป็นการทอชั้นสูงด้วยเส้นทองทอด้วยแล่งและเป็นงานประณีตศิลป์ที่หาชมได้ยาก” พระครูปลัดสุวัฒนสารคุณ กล่าว

เครื่องถ้วยและที่ชาวัดสุทัศน์ : คอลเลกชันมาสเตอร์พีซของประเทศ
กุฏิเรือนแถวฝั่งตะวันตกจัดแสดงเครื่องพุทธบูชา ประกอบด้วย เครื่องโต๊ะ เครื่องกระเบื้อง เครื่องมุก และ ที่ชา ในห้องเครื่องโต๊ะจัดแสดง “การจัดเครื่องโต๊ะอย่างสยาม” โดยเครื่องลายครามทุกชิ้นเป็นลายสิงโตเปลวที่ตั้งตามธรรมเนียมการตั้งแต่งเครื่องโต๊ะภายใต้พระราชบัญญัติตรวจตัดสินชิ้นเครื่องโต๊ะที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน

“ชุดเครื่องโต๊ะเป็นเครื่องบูชาอย่างไทยแกมจีน ได้รับความนิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 5 จนมีพระราชบัญญัติเพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาความงามและตั้งแต่งเครื่องโต๊ะ ถือเป็นของเล่นหรือของสะสมอย่างเดียวในประเทศไทยที่มีกฎหมายรองรับ ชุดเครื่องโต๊ะที่ตั้งจัดแสดงชิ้นที่น่าสนใจคือ บานลับแล ที่ตั้งอยู่ตรงกลาง เพราะกรอบเป็นไม้จำหลักฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระสังฆราชแพ” ธนพันธุ์ ขจรพันธุ์ นักสะสมและนักเล่นเครื่องโต๊ะ อธิบาย

วัตถุชิ้นเอกและเก่าแก่ที่สุดในคอลเลกชันเครื่องถ้วยวัดสุทัศน์ คือ “จานลายครามลายเครือเถาดอกไม้” ผลิตในสมัยจักรพรรดิหย่งเจิ้น (ยงเจิ้ง) (ครองราชย์ พ.ศ. 2265-2278) ในราชวงศ์ชิงของจีน ใต้จานมีตราประทับภาษาจีนอ่านว่า “ต้าชิงหย่งเจิ้งเหนียนจื้อ” แสดงว่าเป็นชิ้นงานเตาหลวงของพระองค์
“จุดเด่นคือเป็นเครื่องถ้วยเตาหลวง ที่ทางราชสำนักจีนออกแบบลวดลายและรูปทรง กำหนดขนาดและส่งขุนนางไปควบคุมการผลิตนับตั้งแต่ปั้นดินจนสำเร็จเป็นชิ้นงานสมบูรณ์ หากชิ้นใดมีตำหนิ บิดเบี้ยวไม่ได้มาตรฐานก็ทุบทำลายทิ้ง หรือบางชิ้นถ้าดีมากเกินไปจนเกรงว่าช่างจะทำอีกไม่ได้ก็ทุบทิ้งเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุว่าหากพระจักรพรรดิประสงค์จะได้ของชิ้นนั้นอีกและทำไม่ได้จะทำให้ภัยมาถึงช่างได้ ดังนั้นเครื่องถ้วยนี้จึงเป็นของที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และบริบทแวดล้อม นอกจากนี้รัชสมัยจักรพรรดิหย่งเจิ้นสั้นเพียงแค่ 12 ปีเศษ จึงทำให้เครื่องถ้วยในรัชกาลพระองค์มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับรัชกาลอื่น และยิ่งเป็นเครื่องถ้วยเตาหลวงก็ยิ่งน้อยกว่าน้อย จานใบนี้เป็นของเตาหลวงเพียงใบเดียวที่หาดูได้ในประเทศไทยได้อย่างใกล้ชิด แต่ก่อนเคยอยู่ในห้องบรรทมของสมเด็จพระสังฆราชแพและทรงถนอมรักษาไว้อย่างดี” ธนพันธุ์กล่าวเพิ่มเติม

อีกหนึ่งชิ้นทรงคุณค่าของ พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช คือ “แจกันลายนักปราชญ์” ที่ได้รับพระราชทาน “ชิ้นไหมทอง” ในรัชกาลที่ 5 ว่าเป็นชิ้นโปรดและประทับครั่งพระปรมาภิไธย “จปร” ที่ใต้ฐาน และชุดหายากคือ “ชิ้นเครื่องโต๊ะลายกอบัวสี” ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ถวายให้วัด

ห้องที่ชา จัดแสดงการจัดชุดน้ำชารูปแบบต่างๆ มากกว่า 300 ชุด แสดงให้เห็นถึงศิลปะ การสะสม และเล่นที่ชา ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัชกาลที่ 5 อันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของการจัดชุดชาแบบไทย โดยเริ่มจากการสะสมปั้นชาจีนก่อนแล้วจึงสรรหาถ้วยชามาจัดเป็นชุดและจัดวางในถาดเดียวกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏในวัฒนธรรมจีน โดยมีการนำมาใช้ทั้งในชีวิตประจำวันและมีการประกวดประชันกันในหมู่นักสะสม

“ห้องที่ชาของ วัดสุทัศน์ สมบูรณ์และสวยงามที่สุดในประเทศไทย” กมล บูรณกุล ผู้เชี่ยวชาญและนักสะสมเครื่องถ้วยกล่าว “ที่ชาของวัดบางชุดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่ส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3-5 การจัดที่ชามีปั้นชาสำหรับชงชาทำจากดินเผาเมืองอี๋ซิง ประเทศจีน เพราะมีแร่จื่อซา เมื่อเผาแล้วได้เนื้อแกร่ง แต่มีรูพรุนเล็กๆ ที่น้ำผ่านไม่ได้ แต่อากาศผ่านได้ ทำให้สามารถซึมซับกลิ่นหอมของชาในปั้นได้ ยิ่งชงเยอะก็ยิ่งอร่อยมากขึ้น ส่วนถ้วยชาที่นิยมมาจากเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น ประเทศจีน หรือเรียกถ้วยกังไส มีลักษณะบางเหมือนกระดาษและดังเหมือนกระดิ่ง การจัดที่ชาแบบไทยมีหลายแบบ เช่น “ชุดถ้วย 4 อย่างสยาม” คือ ถ้วยมีฝา 4ใบและปั้นสาย 1ใบในถาดเดียวกัน หรือสำหรับต้อนรับแขกหลายคนก็มี “ชุดดาวล้อมเดือน” คือ ถ้วยมีฝา 8 ใบวางเรียงล้อมรอบปั้นสาย 1 ใบตรงกลางตั้งบนถาด”
นอกจากนี้ยังมีที่ชาลายจากวรรณคดีไทย เช่น เรื่องหลวิชัยคาวี ที่เขียนแบบจากไทยและสั่งผลิตที่จีน และชุดที่ชาขนาดจิ๋วซึ่งเป็น “ชุดของเล่นเจ้าฟ้า” สำหรับเจ้านายพระองค์เล็กในราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่นิยมการเล่นของจิ๋ว เช่น บ้านตุ๊กตา สำรับอาหารจิ๋ว เป็นต้น


คัมภีร์ใบลานเก่าแก่ตั้งแต่ยุคพระนเรศวรจนถึงพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับสมบูรณ์
ส่วนกุฏิเรือนแถวฝั่งตะวันออกของ พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช เป็นห้องจัดแสดงเอกสารโบราณ ประกอบด้วย “คัมภีร์ใบลาน” จารด้วยอักษรขอมเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา “พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทย” ที่เริ่มจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาบาลีด้วยตัวอักษรไทยเพื่อให้เข้าถึงคนทั่วไปได้ง่าย “พระนิพนธ์พระธรรมเทศนาของสมเด็จพระสังฆราชแพ” ที่จารในใบลานและแสดงในโอกาสสำคัญๆ และ “ผ้าห่อคัมภีร์และสมุดไทย” โดยผ้าห่อคัมภีร์ของ วัดสุทัศน์ ส่วนมากเคยเป็นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์

“หนึ่งในคัมภีร์ใบลานที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยจัดแสดงที่นี่ คือ คัมภีร์อธิบายไวยากรณ์ภาษาบาลี โดยปีที่สร้างคือ พ.ศ.2148 ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คอลเลกชันตู้พระธรรมลายรดน้ำของวัดมีหลายสิบใบ แต่เก็บรักษาไว้ที่คลังโบราณวัตถุ แต่ชิ้นเด่นที่เลือกมาจัดแสดง คือ ตู้ลายรดน้ำสำหรับเก็บคัมภีร์ใบลาน เป็นตู้ขาสิงห์เขียนลายเรื่องรามเกียรติ์ มีจารึกปีที่สร้างคือ พ.ศ.2433 และช่างเขียนคือ เจ้ากรมแดง (หมื่นศิริธัชสังกาศ) ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่เขียนภาพพระสุนทรีวาณี” พระครูปลัดสุวัฒนสารคุณ ให้ข้อมูล
“พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยครั้งแรกของโลก” ในรูปเล่มหนังสือสมัยใหม่ครบทั้ง 3 หมวด คือ พระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม เกิดจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ในโอกาสทรงครองราชย์ครบ 25 ปีใน พ.ศ.2436 และนับเป็นจุดเริ่มต้นการใช้อักษรไทยในเอกสารทางพุทธศาสนาแทนอักษรขอมมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการพิมพ์ซ่อมสร้างบางคัมภีร์ที่ตกหล่นให้สมบูรณ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2473 จนมาถึงสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ทรงดำริที่จะให้แปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยให้ครบถ้วนเพื่อให้คนทั่วไปศึกษาได้โดยง่ายและโครงการแปลเริ่มเมื่อปลาย พ.ศ.2483 ในพระบรมราชูปถัมภ์ของรัชกาลที่ 8 แต่ต้องหยุดชะงักไปชั่วคราวเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราชแพ จนกระทั่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นประธานดำเนินการต่อทำให้ “พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับสมบูรณ์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์” ได้ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2500 ในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ นับเป็นโครงการที่ใช้เวลาดำเนินการถึง 16 ปี

ใน พ.ศ.2557 ระหว่างดำเนินโครงการจัดสร้าง พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) กรมศิลปากรได้สำรวจจัดทำทะเบียนโบราณวัตถุจำนวนมากพร้อมกับเจ้าหน้าที่จากกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ เพื่อจัดทำทะเบียนคัมภีร์ใบลานและพบคัมภีร์ใบลานประเภทพระไตรปิฎกจารด้วยอักษรขอมเป็นภาษาบาลีถึง 7,500 ผูก และยังพบคัมภีร์ใบลานจารด้วยอักษรขอมเป็นภาษาไทยที่ส่วนใหญ่เป็นพระนิพนธ์พระธรรมเทศนาของสมเด็จพระสังฆราชแพทั้งที่เขียนเป็นเส้นจารและเส้นเขียนหมึกด้วยปากกาคอแร้งจำนวน 82 กัณฑ์ และแสดงเทศนาในโอกาสสำคัญ เช่น แสดงถวายรัชกาลที่ 7 ใน พ.ศ. 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 14 วัน เพื่อบำรุงพระราชหฤทัย


สำหรับคอลเลกชันผ้าห่อคัมภีร์ของ วัดสุทัศน์ ส่วนมากเป็นผ้านำเข้าจากอินเดีย ซึ่งเคยเป็นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงเป็นผ้ายศพระราชทานแด่ขุนนางในราชสำนักสยามสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเจ้าของเสียชีวิต ทายาทมักนำมาถวายวัด โดยบางผืนมีข้อความระบุชื่อผู้อุทิศถวายหรือชื่อผู้วายชนม์ตามธรรมเนียมปฏิบัติในอดีตและวัดได้นำมาใช้ประโยชน์เป็นผ้าห่อคัมภีร์ใบลานที่เสื่อมสภาพได้ง่าย ผ้าที่นำมาจัดแสดงแบ่งได้เป็น “ผ้าไหมทอยกลายด้วยเส้นใยโลหะ” ที่ทำจากทองคำ เงิน และโลหะอื่นๆ โดยส่วนมากเป็นผ้าที่สั่งทอจากรัฐคุชราตของอินเดีย เช่น ผ้าไหมทอยกลายด้วยไหมทองสันนิษฐานว่าสั่งมาเพื่อใช้ตัดเสื้อยศพระราชทานแก่ขุนนาง เนื่องจากสีและลายเหมือนกับเสื้อเข้มขาบที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานแก่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และ “ผ้าลายอย่าง” คือผ้าเขียนลายและผ้าพิมพ์ลายตามตัวอย่างที่ไทยออกแบบและส่งไปผลิตที่อินเดีย รวมไปถึง “ผ้าปักและงานถัก” ด้วยวัสดุโลหะที่คงรูปแบบงานปักแบบราชสำนักที่ใช้ดิ้นและเลื่อมปักบนผ้ากำมะหยี่และผ้าสักหลาดด้วยลวดลายก้านแย่ง
Fact File
- พิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 9.30-16.30 น.
- ค่าเข้าชม: คนไทย 50 บาท และ ชาวต่างชาติ 200 บาท
- ยกเว้นค่าเข้าชมสำหรับ นักเรียนและนักศึกษาถึงระดับปริญญาตรี (สวมเครื่องแบบ/แสดงบัตร) ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป พระภิกษุ สามเณร และ ผู้พิการ
- รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/watsuthatmuseum
