พบ จารึกโบราณ บนแผ่นอิฐ วัดส้มสุก วัดที่มีจารึกมากที่สุดในไทยกว่า 200 ชิ้น
Arts & Culture

พบ จารึกโบราณ บนแผ่นอิฐ วัดส้มสุก วัดที่มีจารึกมากที่สุดในไทยกว่า 200 ชิ้น

Focus
  • กรมศิลปากร ได้ดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดี โบราณสถานวัดส้มสุก ตำบลมะลิกา อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ผลปรากฏพบ จารึกโบราณ อักษรฝักขามบนแผ่นอิฐกว่า 200 ชิ้น
  • จากการค้นพบ จารึก จำนวนมากนี้ก็ทำให้ โบราณสถานวัดส้มสุก ซึ่งเป็นแหล่งโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สุดในแอ่งที่ราบฝาง กลายเป็นวัดที่มีจารึกมากที่สุดในประเทศไทย

นับเป็นอีกการค้นพบที่น่าสนใจมาก เมื่อกรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดี โบราณสถานวัดส้มสุก ตำบลมะลิกา อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ผลปรากฏพบ จารึก อักษรฝักขามบนแผ่นอิฐหน้าวัว และอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดย จารึกโบราณ เหล่านั้นมีทั้งที่จารเป็นอักษร 1-2 ตัว จารเป็นข้อความ และภาพลายเส้นเป็นลวดลายต่างๆ รวมแล้วมากกว่า 200 ก้อน

จารึกโบราณ

จารึก เหล่านี้เป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันอิทธิพลวัฒนธรรมสุโขทัยที่แพร่เข้าสู่ดินแดนล้านนาโบราณเมื่อกว่า 600 ปีมาแล้วได้เป็นอย่างดี และจากการค้นพบจารึกจำนวนมากนี้ก็ทำให้ โบราณสถานวัดส้มสุก ซึ่งเป็นแหล่งโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สุดในแอ่งที่ราบฝาง กลายเป็นวัดที่มีจารึกมากที่สุดในประเทศไทย

จารึก

สำหรับกรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการขุดแต่งโบราณสถานวัดส้มสุก โดยใช้งบประมาณปี 2564 เพื่อดำเนินงานต่อจากระยะแรกเมื่อปี 2558 ในขณะนี้มีโบราณสถานที่ดำเนินการขุดค้นแล้ว ได้แก่ เจดีย์ประธานทรงระฆังมีช้างล้อมรอบฐานวิหารขนาดใหญ่ ซึ่งพบร่องรอยการปฏิสังขรณ์ 3ครั้ง, ซุ้มประตูโขงและอาคารใหญ่น้อยอีกประมาณ 10 หลัง ซึ่งได้พบโบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ พระพิมพ์เนื้อชินมีจารึกคาถา “จะภะกะสะ” ซึ่งเป็นคาถาที่ปรากฏในคัมภีร์วิชรสารัตนสังคหะ รจนา โดยพระรัตนปัญญาเถระภิกษุในนิกายวัดสวนดอกเมื่อ พ.ศ. 2078 และล่าสุดคือการค้นพบจากรึกโบราณ

จารึก
จารึกโบราณ

ทั้งนี้นักโบราณคดีได้จำแนก จารึกโบราณ บนก้อนอิฐที่พบออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เขียนเป็นข้อความ ส่วนใหญ่ระบุชื่อบุคคลที่อาจหมายถึงผู้ปั้นหรือผู้บริจาคอิฐก้อนนั้น ๆ และอีกกลุ่มคือจารึกที่เขียนเป็นตัวอักษร 1-2 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่พบบนอิฐหน้าวัวที่ประกอบกันเป็นเสาอาคาร มีข้อสังเกตว่าในเสาต้นเดียวกันส่วนใหญ่จะเป็นการจารึกตัวอักษรตัวเดียวกัน เบื้องต้นนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับการให้รหัสสำหรับการก่อสร้าง หรือเทคนิคการผลิต หรืออาจหมายถึงกลุ่มบุคคล กลุ่มข้าวัด หัววัด หรือศรัทธาวัดของแต่ละหมู่บ้านที่ร่วมแรงร่วมใจกันซ่อมสร้างวัดโบราณแห่งนี้ขึ้น

อย่างไรก็ตาม จารึก ทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ ซึ่งจะมีการทำสรุปรายงานผลการศึกษาทั้งหมดอย่างเป็นทางการต่อไป และล่าสุดกรมศิลปากรได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีก 1.1 ล้านบาท สำหรับการขุดค้นและดำเนินการทางโบราณคดีให้ครบถ้วน เพื่อขยายผลการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite