ศิลปะสถานหนึ่งเดียวในไทย ที่เปลี่ยนปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นงานศิลปะ Warin Lab Contemporary
- Warin Lab Contemporary แกลเลอรีและห้องทดลองงานศิลปะสิ่งแวดล้อมขนาดกะทัดรัด ที่อยู่ใต้เงาประวัติศาสตร์สำคัญด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไทย
- Warin Lab Contemporary แตกต่างจากแกลเลอรีอื่นๆ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะความกล้าที่จะใช้จุดยืนด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นเนื้อหาหลักในการนำเสนองานศิลปะอย่างตรงไปตรงมาตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี รวมทั้งหมด 17 นิทรรศการ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะไม่เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป เมื่อ Warin Lab Contemporary ศิลปะสถานที่ตั้งอยู่ในความร่มรื่นใต้เงาไม้ใหญ่ของเวิ้งตรอกโรงภาษี บางรัก กรุงเทพฯ ได้นำแรงบันดาลใจจากบิดาแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคนสำคัญของไทย มาเปลี่ยนเป็นนิทรรศการงานศิลปะ ซึ่งที่นี่นับได้ว่าเป็น “แกลเลอรีหนึ่งเดียวในไทย” ที่ตั้งใจบอกเล่าปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ และทำมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี UOB Art Around ชวนไปเปิดประตูแกลเลอรีในบ้านไม้สีขาวอายุกว่า 100 ปี เพื่อพูดคุยกับ สุคนธ์ทิพย์ นาคเกษม ถึงเรื่องราวเบื้องหลังห้องทดลองงานศิลปะสิ่งแวดล้อมขนาดกะทัดรัด ที่อยู่ใต้เงาประวัติศาสตร์สำคัญด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไทย Warin Lab Contemporary
“จากแต่เดิมก่อนหน้าก็ช่วยแค่ในระดับแยกขยะ แต่พอมาคลุกคลีกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็ตระหนักเลยว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่เร่งด่วนมากและกระทบกับเราทุกคนโดยตรง มันอันตรายมากถ้าคิดว่าการแก้ไขควรเริ่มจากคนอื่น การทำงานศิลปะสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมมาตลอด 3 ปี ทำให้เรายิ่งตระหนักว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกัน วงการศิลปะเองก็ช่วยผลักดันประเด็นสิ่งแวดล้อมได้”
สุคนธ์ทิพย์ นาคเกษม เจ้าของแกลเลอรีที่เพิ่งผันตัวมาทำงานด้านประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังอย่างสุคนธ์ทิพย์ยอมรับว่า Warin Lab Contemporary นับเป็นการเปิดโลกสิ่งแวดล้อมให้กับตนเองอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเรื่องศิลปะกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหมวดที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ อย่างเต็มกำลัง
งานศิลปะด้านสิ่งแวดล้อม หมวดงานศิลปะที่อาจ “ไม่สร้างกำไร”
ที่นี่แตกต่างจากแกลเลอรีอื่นๆ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะความกล้าที่จะใช้จุดยืนด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นเนื้อหาหลักในการนำเสนองานศิลปะอย่างตรงไปตรงมาตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี รวมทั้งหมด 17 นิทรรศการจากผลงานของทั้งศิลปินไทยและต่างประเทศ ซึ่งล้วนสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงพลังของศิลปะที่มีต่อสังคม
แต่ทราบหรือไม่ว่าศิลปะเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นหมวดงานที่แทบจะไม่สร้างกำไรหรือรายได้ให้ศิลปินเลยด้วยซ้ำ เพราะนอกจากเนื้อหาที่ลึกซึ้งแล้ว นักสะสมหรือผู้ซื้องานก็ยังต้องเปิดใจให้กับเนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อมที่หนักหน่วงนี้ด้วย ดังนั้นความท้าทายของแกลเลอรีที่เจาะประเด็นสิ่งแวดล้อมก็คือ “รายได้” เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ต้องใช้ระยะเวลาในการสื่อสารต่อผู้ชมเป็นอย่างมาก
รำลึก “นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล” บิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติของไทย
นอกจากเนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สะท้อนผ่านงานศิลปะแล้ว บ้านไม้สีขาวอายุกว่า 100 ปีที่เป็นที่ตั้งของแกลเลอรีก็มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมของไทยอย่างมาก เพราะนี่คือบ้านที่เชื่อมโยงกับประวัติของ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล บิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติของไทย
ในอดีตนายแพทย์บุญส่งใช้บ้านหลังนี้เพื่ออยู่อาศัย ทั้งยังแบ่งพื้นที่ของอาคารเป็นที่ทำการของ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่ท่านก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2526 ทั้งยังใช้เป็นสถานที่เก็บซากสัตว์ไว้สำหรับการศึกษาเพื่อการอนุรักษ์ก่อนที่จะย้ายไปที่อุทยานวิทยาศาสตร์ที่คลองหก การใช้สถานที่ดั้งเดิมในประวัติศาสตร์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาเปลี่ยนเป็นแกลเลอรีด้านสิ่งแวดล้อม จึงเป็นทั้งการอนุรักษ์หมุดหมายสำคัญด้านประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมไทยให้คงอยู่ และสานต่อเจตนารมณ์เดิมของพื้นที่ที่มีคุณค่าต่องานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไทย
SWAMPED: ท่วม : นิทรรศการเปิดตัวชวนคนดังสะท้อนปัญหาขยะ
แกลเลอรีWarin Lab Contemporary สร้างความฮือฮาให้วงการศิลปะตั้งแต่เปิดตัวด้วยนิทรรศการที่ท่วมท้นด้วยขยะ “SWAMPED: ท่วม” เพียงแค่เปิดประตูแกลเลอรีเข้ามาก็จะพบกับความท่วมท้นของขยะที่บางชิ้นถูกนำไปแปรรูปใหม่เสียจนผู้ชมต้องร้องว้าวว่า ขยะสามารถเปลี่ยนสถานะมาเป็นงานดีไซน์ล้ำๆ ได้ขนาดนี้ ไฮไลต์ของงานนิทรรศการแรกที่เปิดตัวไม่ใช่การจัดวางขยะเป็นงานศิลปะ แต่ยังดึงศิลปินดัง ดาราดัง มาร่วมส่งเสียงเรื่องขยะได้หลากหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะจัดวาง แสงเสียง การแสดง ไปจนถึงสินค้าดีไซน์จากขยะ สร้างสรรค์โดย 4 ศิลปิน ได้แก่ ธนวัต มณีนาวา, เพลินจันทร์ วิญญรัตน์, ทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์ และ นท พนายางกูร เป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้งานศิลปะด้านสิ่งแวดล้อมที่สาระแน่นแต่ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป
แม้จะเป็นแกลเลอรีน้องใหม่ของวงการศิลปะไทย แต่จากเสียงตอบรับที่ได้รับทั้งในและต่างประเทศ Warin Lab Contemporary ไม่เพียงบุกเบิกการทำแกลเลอรีที่นำเสนอผลงานเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อมได้อย่างโดดเด่นแล้ว แต่ยังสร้างชื่อเสียงให้กับวงการทัศนศิลป์ร่วมสมัยของไทย ซึ่งที่ผ่านมานอกจากผู้ชมทั้งในและต่างประเทศแล้วก็ยังมีแขกพิเศษจากแวดวงศิลปะและสิ่งแวดล้อมนานาชาติมาเยี่ยมชมเป็นระยะ
“เราแค่ทำของเราเล็กๆ ในประเทศเล็กๆ แต่ก็มีอะไรตื่นเต้นเข้ามา ล่าสุดก็มีภัณฑารักษ์ Cartier Foundation ที่ปารีส ติดต่อมาขอดูงานและพูดคุยกับศิลปิน ซึ่งแปลกใจว่า Warin Lab ไปเป็นที่รู้จักขนาดนั้นได้อย่างไร เพราะเพิ่งทำธุรกิจนี้มาแบบเงียบๆ ได้ไม่กี่ปี” สุคนธ์ทิพย์เล่าถึงประสบการณ์ดีๆ ที่ได้รับและทำให้แกลเลอรีแห่งนี้เปิดเชื่อมโยงทั้งฝั่งศิลปิน นักอนุรักษ์ และนักสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน
Weaving the Ocean ความสำเร็จของนิทรรศการที่ “คาร์บอนฟุตปรินต์” น้อยสุด
ผลงาน Weaving the Ocean ยังได้สร้างอาชีพใหม่ให้ชาวบ้าน เช่น คนเก็บเชือก คนล้างทำความสะอาด คนแยกเชือก และช่างทอผ้า ที่สำคัญงานชิ้นนี้ยังถูกใช้เป็นต้นแบบให้ชุมชมริมทะเลทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีวัฒนธรรมการทอผ้าและกำลังประสบปัญหาขยะเชือกในทะเล”
สุคนธ์ทิพย์ ทิ้งท้ายว่า Weaving the Ocean ไม่ได้จบแค่การลดขยะ ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลทางอ้อม เสริมรายได้ชุมชนด้วยการสร้างต้นแบบการ Upcycle เพิ่มมูลค่าขยะในระยะยาว แต่นิทรรศการครั้งนี้ยังเป็นการลดคาร์บอนฟุตปรินต์ในกระบวนการทำงานศิลปะที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถเกิดขึ้นได้จริง
Fact File
อ่านคอนเทนต์ด้านศิลปะจาก UOB Art Around : https://www.uob.co.th/uobandart/uob-art-around.page