ปักหมุด 27 วัดจิตรกรรมฝาผนังสวยทั่วไทย ครบตั้งแต่ช่างหลวง ช่างชาวบ้าน ไปถึงศิลปะร่วมสมัย
Arts & Culture

ปักหมุด 27 วัดจิตรกรรมฝาผนังสวยทั่วไทย ครบตั้งแต่ช่างหลวง ช่างชาวบ้าน ไปถึงศิลปะร่วมสมัย

Focus
  • วัดในพุทธศาสนามักจะมีจิตรกรรมฝาผนังเขียนไว้ทั้งในโบสถ์ วิหาร หรืออาคารประกอบต่างๆ เช่น หอพระไตรปิฎก ซึ่งจุดประสงค์หลักเป็นการเล่าเรื่องทั้งพุทธประวัติ ชาดก ซึ่งในยุคที่คนไทยส่วนใหญ่ยังอ่านเขียนไม่ออก จิตรกรรมฝาผนังเปรียบได้กับตำราพุทธศาสนาชั้นเยี่ยม
  • จิตรกรรมฝาผนังในแต่ละแห่งแตกต่างกันออกไปด้วยฝีมือการวาดของช่าง เช่น ช่างจากวังหลวง ช่างพื้นบ้าน และนอกจากเรื่องราวในพุทธศาสนาแล้วก็มักสอดแทรกวิถีชีวิตในแต่ละท้องถิ่นลงไป

แจกเช็กลิสต์ 27 วัดทั่วไทยที่โดดเด่นด้วยงาน จิตรกรรมฝาผนัง มีให้เลือกชมทั้งผลงานช่างหลวง ช่างชาวบ้าน ซึ่งล้วนสอดแทรกวิถีชีวิต เรื่องเล่า ตำนานของในแต่ละท้องถิ่นไปจนถึงศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน เก่าแก่สุดตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายไล่มาถึงงานศิลปะโมเดิร์นเลยทีเดียว

01 วัดเกาะ : รวมพลชาวต่างชาติในสมัยอยุธยา

วัดเกาะ เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาในจังหวัดเพชรบุรีซึ่งมี จิตรกรรมฝาผนัง ที่งดงามเขียนเต็มผนังทุกด้านเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติที่หาชมยาก ในภาพเล่าถึงสถานที่สำคัญของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพาน และสถานที่ที่ทรงประทับเพื่อเสวยวิมุตติสุขหลังตรัสรู้ ไฮไลต์ของภาพจะเห็นรูปชาวต่างชาติหลากหลายชาติที่เข้ามาค้าขายในยุคนั้นซึ่งน่าสนใจว่าเพชรบุรีอาจมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาถึงถิ่น หรือช่างสกุลเพชรบุรีกลุ่มนี้เป็นชุดที่โด่งดังจนได้เข้าไปทำงานในเมืองพระนครจนรู้จักชาวต่างชาติกลุ่มต่าง ๆ เป็นอย่างดี เช่น ชาวตะวันตก ชาวอาหรับ ชาวจีน พลพรรคชาวต่างชาติเหล่านี้ถูกวาดแทนหน้าเทวดาและยักษ์แบบไทย ๆ จึงเป็นรายละเอียดของภาพที่ดูได้เพลินมาก ๆ

02 วัดสุทธิวราราม : พุทธศิลป์ในศิลปะร่วมสมัย

วัดสุทธิวราราม เป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงธนบุรีอายุกว่า 250 ปีที่ตอนนี้ถูกปรับโฉมใหม่ให้พุทธศาสนาเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่ายและสนุกขึ้นผ่านงานศิลปะร่วมสมัยที่จะได้เห็น Google, Facebook, MacBook รวมทั้งร้านสะดวกซื้อเปิดตลอด 24 ชั่วโมงซ่อนอยู่ในพุทธศิลป์เหล่านี้ด้วย

ไฮไลต์ต้องชมอยู่บนชั้น 2 ที่เปรียบได้กับแกลเลอรีใหญ่สุดเป็นผลงานการวาดภาพลงบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ของ “ทรงเดช ทิพย์ทอง” ศิลปินชาวเชียงรายที่ทำงานศิลปะเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนามาตลอด เช่น จิตรกรรมฝาผนังด้านหลังพระประธานที่วัดแม่คำสบเปิน และจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถที่วัดป่าอ้อร่มเย็น จังหวัดเชียงราย งานของทรงเดชมักเขียนด้วยสีขาวบาง ๆ เพื่อให้ผลงานดูสะอาดสว่าง และสงบ เหมือนความรู้สึกของเขาที่มีต่อพระพุทธศาสนา สำหรับงานศิลปะภายในโบสถ์วัดสุทธิวรารามแห่งนี้ ทรงเดชใช้เวลาวาดนานถึง 7 ปีซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยพระมหาสุทิตย์ อาภากโร เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม

จิตรกรรมฝาผนัง

03 วัดสุทัศนเทพวราราม : ต้นแบบภาพสัตว์หิมพานต์ที่สมบูรณ์ที่สุดในไทย

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร นอกจากจะยืนหนึ่งเรื่องขนาดความใหญ่ของพระวิหารหลวงแล้ว จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารหลวงยังได้รับการยกย่องให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยประเพณี เพราะทรงคุณค่าด้วยฝีมือบรมครูช่างสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อเข้าไปภายในพระวิหารหลวง ทุกคนจะทึ่งกับจิตรกรรมฝาผนังที่สร้างสรรค์อย่างวิจิตรจากพื้นจดเพดานว่าด้วยเรื่องประวัติพระพุทธเจ้า 27 พระองค์ รวมไปถึงเสาสี่เหลี่ยมทั้ง 8 ต้นเป็นภาพเรื่องไตรภูมิโลกสัณฐานว่าด้วยภพภูมิ โลก และจักรวาล ตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีเรื่องราวของป่าหิมพานต์และสัตว์วิเศษในจินตนาการอยู่

ภาพสัตว์หิมพานต์ในวัดสุทัศนเทพวรารามนั้นมีครบทุกวงศ์ แต่ละวงศ์วาดไว้ครบทุกสีและทุกประเภท เรียกได้ว่าหากอยากจะรู้จักสัตว์หิมพานต์และถิ่นที่อยู่ว่าแต่ละตัวมีลักษณะ ท่าทาง ความชอบ นิสัยอย่างไร ให้มาดูได้ที่วัดสุทัศน์ฯ และที่พิเศษคือนอกจากจิตรกรรมฝาผนังแล้ว เหนือกรอบประตูและหน้าต่างวัดสุทัศน์ฯ จะมีภาพชุดจิตรกรรมสีฝุ่นบนกระดาษข่อยบรรจุในกรอบไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาอย่างฝรั่งประดับอยู่เหนือช่องประตูหน้าต่างช่องละ 3 ภาพ รวม 48 ภาพ เป็นงานฝีมือชั้นสูงของช่างหลวงในราวสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 และเป็นภาพชุดจิตรกรรมที่เล่าเรื่องสัตว์หิมพานต์ที่สมบูรณ์แบบและมีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย

จิตรกรรมฝาผนัง

04 วัดภุมรินทร์ราชปักษี: วัดร้างที่ซ่อนความอลังการของ จิตรกรรมฝาผนัง

วัดภุมรินทร์ราชปักษี หรือ วัดภุมรินทร์ หลายคนอาจไม่คุ้นหูนัก หรือแม้แต่คนย่านฝั่งธนบุรีเองก็อาจจะยังไม่เคยได้ยินชื่อวัดแห่งนี้สักเท่าไร ทั้ง ๆ ที่วัดนี้มีความสำคัญและมีมาก่อนการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เหตุที่ชื่อวัดภุมรินทร์ราชปักษีถูกลืมเลือนก็เพราะวัดแห่งนี้เป็นวัดร้างไร้พระสงฆ์จำพรรษาและถูกยุบรวมไปอยู่ภายใต้การดูแลของ วัดดุสิดารามวรวิหาร ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6

จิตรกรรมฝาผนัง ของที่นี่ยังคงเอกลักษณ์ลายเซ็นของงานจิตรกรรมฉบับช่างสกุลวังหน้าในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าน่าจะวาดในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่เกินรัชกาลที่ 4 และการที่วัดเล็ก ๆ แห่งนี้ได้รับการบูรณะโดยช่างสกุลวังหน้าซึ่งเป็นกลุ่มช่างที่เลื่องชื่อของพระนครในยุคนั้นย่อมบ่งบอกถึงความสำคัญของวัดแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี 

หากเงยหน้าขึ้นมองด้านบนเหนือกรอบประตูทางเข้าวิหารจะพบจิตรกรรมขนาดใหญ่เต็มผนังเป็นเรื่องราวพุทธประวัติตอน มหาสุทัสสนสูตร หนึ่งในพระสูตรตามพระไตรปิฎก มีเนื้อความกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อพระพุทธเจ้าใกล้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในป่าเขตเมืองกุสินารา ครั้งนั้นพระอานนท์ได้กราบทูลขอพระองค์ว่าอย่าเสด็จปรินิพพาน ณ นครขนาดเล็กแห่งนี้เลยเพราะเกรงว่าจะไม่สมพระเกียรติ พระพุทธองค์จึงทรงเล่าถึงความยิ่งใหญ่ของนครแห่งนี้ในอดีตว่าเคยเป็นที่ตั้งของ “นครกุสาวดี” มี พระมหาสุทัสสนะ เป็นกษัตริย์ผู้สร้างความเจริญรุ่งเรือง มีปราสาท โรงทาน มีเมืองบริวารมากถึง 84,000 เมือง มีกำแพงและต้นตาลล้อมรอบถึง 7 ชั้น โดยทั้งกำแพงและต้นตาลล้วนแล้วแต่เป็นทอง เงิน แก้วไพฑูรย์ แก้วผลึก แก้วโกเมน แก้วบุษราคัม และรัตนะ ซึ่งถ้าดูตามภาพที่ปรากฏจะพบว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวในมหาสุทัสสนสูตรเป็นอย่างมาก

จิตรกรรมฝาผนังไม่ได้สลักแค่ความเชื่อด้านพุทธศาสนา มากไปกว่าความสวยงาม จิตรกรรมฝาผนังยังใส่เรื่องราวของวิถีชีวิต ภูมิประเทศในยุคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และในภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภุมรินทร์ราชปักษีจะพบ ต้นตาล เป็นองค์ประกอบภาพอยู่หลายแห่ง สื่อถึงความนิยมในสมัยโบราณเรื่องเสียงของต้นตาลยามเมื่อต้องสายลมจะคอยประโคมเสียงไพเราะราววงมโหรีกำลังขับกล่อมเมืองและในมหาสุทัสสนสูตรเองมีกล่าวถึงป่าตาลที่ห้อมล้อมไว้ด้วยกันถึง7 ชั้น

จิตรกรรมฝาผนัง

05 วัดดุสิดาราม : ที่สุดของภาพนรกภูมิสายโมเดิร์น

จิตรกรรมของวัดดุสิดารามเป็นผลงานฝีมือช่างเขียนในสมัยรัชกาลที่ 1 เทียบได้กับภาพเขียนในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์แห่งวังหน้าซึ่งอยู่ในยุคเดียวกัน ไฮไลต์ของจิตรกรรมฝาผนังชุดนี้ซ่อนอยู่ด้านหลังพระประธานเป็นภาพเมืองนรกขนาดใหญ่ที่ผสมผสานเรื่องความเชื่อในด้านพระพุทธศาสนาและความสวยงามของงานจิตรกรรมได้ชวนขนลุก โดยเฉพาะรูปเปรตตัวสูงที่ดูน่าสะพรึงไม่น้อยกว่าเปรตวัดสุทัศน์ฯ ดูแล้วก็ให้รู้สึกเกรงกลัวบาปขึ้นมาทันที

โดยปกติแล้วภาพขุมนรกตามวัดต่าง ๆ อาจจะมีแค่กระทะทองแดง ต้นงิ้ว หรือพระมาลัยท่องแดนนรกที่ไม่ได้เน้นฉากของภูตผีที่อยู่ในนรกมากนัก แต่ภาพจิตรกรรมนรกภูมิขนาดใหญ่ชิ้นนี้ได้วาดความทรมานของนรกแต่ละขุมอย่างชัดเจน ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงผลของการทำบาปแต่ละประเภทว่าหากพุทธศาสนิกชนกระทำความผิดบาป เมื่อตกนรกไปแล้วจะต้องเจออะไรบ้าง การใช้ลายเส้นและรูปแบบที่ไม่ได้วาดตามขนบของภาพนรกไทยแบบประเพณีทำให้ภาพนรกลายเส้นโมเดิร์นชิ้นนี้ดูน่ากลัวและสมจริงจนยกให้เป็นหนึ่งในภาพนรกภูมิที่ต้องห้ามพลาดชมในเมืองไทย

06 วัดพลับพลาชัย : จิตรกรรมสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

วัดพลับพลาชัย หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดโคก วัดคอก หรือ วัดโคกอีแร้ง เนื่องจากที่บริเวณหน้าวัดแห่งนี้เคยเป็นลานประหารนักโทษในช่วงรัตนโกสินทร์อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งทัพของรัชกาลที่ 1 ก่อนจะเดินทางไปสระพระเกศาที่วัดภูเขาทองเพื่อทำพิธีพระกระยาสนาน (อาบน้ำ) เมื่อครั้งที่เสด็จกลับจากเขมรมาปราบจลาจลในธนบุรี และเสด็จสถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์

ภายในอุโบสถมีภาพ จิตรกรรมฝาผนัง บอกเล่าเรื่องราวของปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ทรงยกทัพกลับมาจากการศึกที่เขมร ปราบจลาจลที่ธนบุรี และเสด็จไปสระพระเกศาก่อนเถลิงถวัลย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวสำคัญที่เกิดขึ้นต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น การอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระแก้ว และการอัญเชิญพระพุทธศรีศากยมุนีมาไว้ที่วัดสุทัศนเทพวรารามเป็นต้น

07 วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร : ภาพดาวเสาร์และปริศนาธรรมของ “ขรัวอินโข่ง”

วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร เดิมชื่อวัดบรมสุข โดดเด่นด้วยภาพ จิตรกรรมฝาผนัง ผลงานศิลปินไทยผู้โด่งดังในรัชกาลที่ 4 นั่นคือ “ขรัวอินโข่ง” ในอุโบสถมีภาพปริศนาธรรมที่ขรัวอินโข่งตั้งใจจะหลีกขนบการวาด จิตรกรรมฝาผนัง แบบเดิมที่ต้องเป็นชาดกหรือพุทธประวัติเท่านั้น เช่น ภาพเรือกำปั่นเดินทางข้ามห้วงวัฏสงสารแทนการเวียนว่ายตายเกิด ไฮไลต์คือภาพดอกบัวขนาดใหญ่ที่เคยถูกนำไปเป็นภาพแสตมป์ไทยมาแล้วในแสตมป์ชุดพิเศษบันทึกภาพจิตรกรรมฝาผนังสำคัญของไทย

ความโดดเด่นของขรัวอินโข่งคือมีการใช้เทคนิคการเขียนรูปแบบตะวันตกไม่ว่าจะเป็นเปอร์สเปกทีฟ แสง เงา เข้ามาผสมผสานกับความอ่อนช้อยแบบไทย รวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับการตีความภาพ การเขียนภาพแบบไม่ต้องยึดหลักสมดุลที่ต้องมีแกนกลางภาพและความเท่ากันของฝั่งซ้ายและขวาเหมือนงานเขียนจิตรกรรมตามขนบเดิม เป็นต้น

นอกจากปริศนาธรรมที่ให้ผู้ที่เข้ามาชมเป็นผู้ตีความหมายเองแล้ว ภาพชุดนี้ยังสะท้อนถึงเทคโนโลยี วัฒนธรรมของซีกโลกฝั่งตะวันตกได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ เทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์ซึ่งรัชกาลที่ 4 ให้ความสนพระทัยเป็นอย่างมาก ในเรื่องดาราศาสตร์นั้นขรัวอินโข่งได้วาดภาพการดูดาว วงแหวนของดาวเสาร์ และหอดูดาวที่เริ่มมีในไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ลงไปด้วย

08 วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร: ภิกษุปลงอสุภะ

เดินข้ามเลาะเลียบคลองโอ่งอ่างในกรุงเทพฯมาเรื่อย ๆ จะเจอวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร หรืออีกชื่อที่คนนิยมเรียกคือ “วัดเชิงเลน” หรือ “วัดตีนเลน” วัดโบราณที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และในราวพ.ศ.2328 ได้รับการยกสถานะเป็นพระอารามหลวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระราชทานนามว่า วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ซึ่งเป็นอีกวัดที่มีไฮไลต์ลับ ๆ น่าชม น่าศึกษาเยอะมาก

เริ่มจากพระอุโบสถที่ดูเรียบง่ายแต่สวยงามด้วย จิตรกรรมฝาผนัง ดอกไม้ร่วงสีทองเต็มผนัง เป็นลวดลายดอกไม้ร่วงผสมกับกรอบสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดที่วาดเชื่อมต่อกันทั้งผนัง นับเป็นการใช้รูปทรงเรขาคณิตมาผสมผสานกับลวดลายดอกไม้ของจีนแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างศิลปะจีนกับตะวันตกที่เริ่มเข้ามาในประเทศไทยช่วงการบูรณะวัดแห่งนี้ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 และอีกไฮไลต์ประจำพระอุโบสถคือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเขียนสีบนกระจกวงรีติดไว้อย่างเรียบง่าย เป็นจิตรกรรมที่น้อยแต่มากด้วยความหมายของปริศนาธรรมเรื่องการเกิด แก่ เจ็บตาย แต่ละภาพเป็นรูปภิกษุกำลังปลงอสุภะเพื่อให้เห็นว่าความตายเป็นสิ่งธรรมดาของมนุษย์โดยจะมีภาพความตายของมนุษย์แตกต่างกันออกไปในแต่ละกรอบ

09 วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร: เทพชุมนุมเขียนชื่อโยมอุปัฏฐาก

รู้หรือไม่ว่าพระบางแห่งล้านช้างเคยประดิษฐานอยู่ที่กรุงเทพฯ และวัดที่เคยมีการสร้างหอพระบางคือ วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร (วัดสามปลื้ม หรือ วัดนางปลื้ม) ตั้งอยู่ริมถนนจักรวรรดิและซอยวานิช (สำเพ็ง) และเป็นวัดโบราณที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

นอกจากประวัติพระบางแล้ว อีกจุดเด่นของที่นี่คือพระอุโบสถที่มี จิตรกรรมฝาผนัง รูปเทพชุมนุมวาดแปลกกว่าเทพชุมนุมวัดอื่นตรงที่ตามปกติเทพชุมนุมจะนั่งเป็นระเบียบเรียงชั้นพรหม แต่ที่นี่วาดเป็นเทวดานางสวรรค์เหาะเหินเดินอากาศในท่าทาง เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับที่แตกต่างกันออกไปบ้างถือพัด บ้างถือกระถางดอกไม้มงคล บ้างถือธง บ้างถือแค่ดอกไม้โดยมีทั้งดอกบัวไทยและดอกโบตั๋นของจีนปะปนกันไป ที่โดดเด่นสะดุดตาคือมีการใส่ชื่อผู้ที่อุปถัมภ์วัดลงไปในริ้วผ้าสีขาวที่ติดอยู่กับเทวดาแต่ละองค์ซึ่งโดยปกติแล้วชื่อโยมอุปัฏฐากวัดจะนิยมเขียนตามแนวฝาผนังหรือกำแพงวัดมากกว่า

10 วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร : มาสเตอร์พีซของ “สมเด็จครู”

วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร มีชื่อเดิมว่า วัดสมอราย เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาทั้งยังเคยเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 2 เมื่อครั้งทรงผนวชและรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งที่ยังทรงผนวชเป็นพระวชิรญาณภิกขุ วัดแห่งนี้ยังเป็นหนึ่งในตำนานพระกริ่งและเป็นหนึ่งในผลงานอันทรงคุณค่าของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือ “สมเด็จครู”ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบพระอุโบสถ กำแพงแก้ว และสะพานนาคหน้าอุโบสถเมื่อครั้งมีการบูรณะวัดครั้งใหญ่

นอกจากสถาปัตยกรรมแล้ว ในส่วนของจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถถือว่าเป็นไฮไลต์ โดยภาพทั้งหมดมาจากภาพต้นแบบที่ “สมเด็จครู” ร่างขึ้นก่อนจะส่งต่องานให้ช่างชาวอิตาลี คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) เป็นผู้วาดโดยใช้เทคนิคเขียนสีบนปูนเปียก เล่าเรื่องชาดก 13 กัณฑ์ แตกต่างจากวัดอื่น ๆ ในยุคเดียวกันด้วยการเขียนคนอย่างสมจริงอย่างที่นิยมในศิลปะตะวันตกโดยมีมัดกล้ามเนื้อสัดส่วน แสงเงา และการใช้เทคนิคการผลักระยะใกล้-ไกลเข้ามาใช้

ภาพ : นายรอบรู้

11 วัดไชยศรี: ฮูปแต้มสินไซ สุดยอดวรรณกรรมแดนอีสาน

ฮูปแต้ม” หรือ รูปแต้ม คือจิตรกรรมฝาผนังของชาวอีสานที่นอกจากปรากฏบนผนังภายในสิมหรือโบสถ์แล้ว ช่างยังแต้มหรือวาดที่ผนังภายนอกสิม เนื่องจากสิมมีขนาดเล็ก ช่างแต้มไม่สามารถวาดได้จบเรื่องจึงต้องวาดบนผนังภายนอกสิมด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องดีเพราะผู้ที่ไม่สามารถเข้าไปร่วมพิธีในสิมโดยเฉพาะผู้หญิงที่ตามขนบอีสานไม่อนุญาตให้เข้าไปภายในสิม สถานที่ที่ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบกิจของสงฆ์ จะได้มีโอกาสเรียนรู้หลักธรรมคำสอนจากฮูปแต้มภายนอกสิม

หนึ่งในฮูปแต้มที่โด่งดังได้แก่ฮูปแต้มสินไซแห่ง วัดไชยศรี จังหวัดขอนแก่น ฝีมือช่างท้องถิ่นที่เขียนเต็มพื้นที่สินให้ชมได้เพลินมาก โดย สินไซ เปรียบเสมือนมรดกทางวรรณกรรมอันล้ำค่าของชาวล้านช้าง เป็นวรรณกรรมเก่าแก่ซึ่งเดิมเป็นหนังสือเทศน์ แต่งเป็นคำกลอนโดยท้าวปางคำเมื่อพ.ศ. 2192 ต่อมามีการพิมพ์เป็นภาษาไทยและลาวอย่างกว้างขวาง วรรณกรรมเรื่องนี้นอกจากมีความงดงามทางภาษาแล้ว เนื้อหายังสนุกสนานน่าติดตามด้วยการผจญภัย “หกย่านน้ำ เก้าด่านมหาภัย” ของสินไซ ทั้งยังสอดแทรกเรื่องคุณธรรมหลายอย่าง คนอีสานส่วนใหญ่เชื่อว่า สินไซเป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้า โดยเป็นแบบปัญญาสชาดกหรือชาดกนอกนิบาต จึงไม่มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก

12 วัดภูมินทร์ : ภาพกระซิบรักบรรลือโลก

ตามหลักฐานพงศาวดารเมืองน่านระบุว่า เดิมวัดนี้ชื่อวัดพรหมมินทร์สร้างโดยเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2139โดยสร้างเป็นอาคารจตุรมุข ประดิษฐานพระประธาน 4 องค์หมายถึงพรหมวิหารสี่สมดังพระนามของพระองค์ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อวัดภูมินทร์ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ราว พ.ศ. 2410 เจ้าอนันตวรฤทธิเดชต่อมาเจ้าผู้ครองนครน่านเห็นว่าอาคารทรุดโทรมไปมากจึงได้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่และให้หนานบัวผัน จิตรกรผู้วาดภาพฝาผนังวัดหนองบัวมาวาดภาพที่วัดภูมินทร์นี้ด้วยการบูรณะและวาดภาพเพิ่มเติมนี้ใช้เวลาถึง8 ปี จึงแล้วเสร็จ

ในจำนวนภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้นอกเหนือจากภาพขนาดเล็กที่เขียนเป็นเรื่องชาดกแล้วยังมีภาพขนาดใหญ่อีกจำนวนหนึ่งตามด้านข้างของกรอบประตู หรือบริเวณใกล้เคียงกับภาพพุทธประวัติเช่นภาพแม่ชีกำลังให้อาหารแมวหรือพระเณรกำลังอ่านหนังสือบนผนังด้านทิศเหนือภาพชายสูงศักดิ์สวมเสื้อครุยสีแดงที่สันนิษฐานว่าอาจเป็นภาพของเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่านผู้ปฏิสังขรณ์วัดนี้ บนผนังทิศตะวันออกและผนังด้านใต้ 2 ฝั่งประตูเป็นภาพหญิงและชายสูงศักดิ์ในชุดพื้นเมือง

และภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดอีกภาพคือ ภาพปู่ม่านย่าม่าน หรือภาพกระซิบรักบรรลือโลก เป็นภาพบุคคลขนาดใหญ่ริมประตูด้านทิศตะวันออก ชายหนุ่มเปลือยอกเห็นรอยสักดำตั้งแต่สะดือมาจนถึงโคนขา สมดังคำเรียก ลาวพุงดำ ที่หนุ่มไหนไม่กล้าสักแสดงความกล้าหาญ หญิงสาวมักไม่ชายตามองทำท่าเกาะไหล่กระซิบกับหญิงสาวที่นุ่งซิ่นลุนตยา สวมเสื้อคลุมแบบพม่า การเกาะไหล่แบบนี้ในสมัยก่อนบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระดับสามีภรรยา ทั้งแววตา สีหน้า ท่าทางอากัปกิริยาของทั้งคู่ก็แสดงถึงความรักความผูกพันกัน

ภาพ : นายรอบรู้

13 วัดหนองบัว : ผลงานช่างไทลื้อ “หนานบัวผัน” 

วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา เป็นวัดไทลื้อเก่าแก่ในจังหวัดน่าน เดิมตัววัดตั้งอยู่ริมหนองบัวท้ายหมู่บ้าน ต่อมาราวพ.ศ. 2145 จึงย้ายมาอยู่บริเวณที่ตั้งปัจจุบันโดยกรมศิลปากรประกาศให้เป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2538 เนื่องจากมีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมไทลื้อ

ภายในวิหารวัดหนองบัวประดิษฐานพระประธานศิลปะล้านนา สีทองอร่าม ด้านข้างซ้ายมีธรรมมาสน์ไม้เก่าแก่ บริเวณด้านหลังมีภาพวาดอดีตพระพุทธเจ้า ส่วนผนังอีก 3 ด้านมีภาพจิตรกรรมเขียนอยู่เต็มโดยรอบ นักวิชาการสันนิษฐานว่าเขียนโดย “หนานบัวผัน”ซึ่งเมื่อเขียนภาพที่วัดนี้สำเร็จแล้ว ต่อมาจึงได้ไปเขียนภาพที่โด่งดังระดับโลก “ปู่ม่านย่าม่าน” ที่วัดภูมินทร์

การชมจิตรกรรมฝาผนังให้สนุกนั้นต้องรู้จักเรื่องราวและแง่มุมที่แอบแฝงอยู่ในภาพเขียน ซึ่งจะสะท้อนทั้งภาพวิถีชีวิต ภูมิทัศน์สังคม วัฒนธรรมในขณะนั้นสำหรับภาพในวัดหนองบัวนั้นจะวาดเป็นพุทธประวัติและชาดกแต่มีพระพุทธประวัติที่โดดเด่นงดงามมากอยู่บริเวณด้านบนของผนังด้านตะวันออกเหนือประตูทางเข้า เป็นภาพพระอินทร์ดีดพิณสามสายถวายพระพุทธเจ้า สื่อว่าสายที่ตึงเกินไปย่อมขาด หย่อนเกินไปย่อมไร้เสียง สายที่ขึงตึงพอดีเท่านั้นจึงบรรเลงเพลงได้ไพเราะพระพุทธองค์สดับดังนั้นจึงเกิดพระโพธิญาณตระหนักถึงทางสายกลาง ยุติการบำเพ็ญทุกรกิริยา และตรัสรู้ในกาลต่อมา

ส่วนชาดกนั้นเป็นเรื่อง “จันทคาธ” เป็นชาดกในหนังสือ ปัญญาสชาดก ปัจฉิมภาค คนเหนือเรียกว่า ค่าวธรรมจันทคาปูจี่ เป็นเรื่องยาว มีรัก โศก สนุกสนาน นิยมสอนให้ลูกหลานเอาแบบอย่าง มีทั้งความกตัญญูกตเวทีความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์สุจริต จนถึงการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

นอกจากเรื่องราวในพุทธศาสนาแล้วสิ่งที่เห็นได้ชัดจากภาพชุดนี้คือวิถีชีวิตชาวไทลื้อในอดีตตั้งแต่เรื่องการแต่งกาย รอยสัก ประเพณี การกินอยู่ ถือเป็นสมุดบันทึกประวัติศาสตร์เล่มเยี่ยมเลยทีเดียว

14 วัดคงคาราม : จิตรกรรมหัวเมืองแต่ฝีมือระดับครูช่าง

วัดคงคาราม เป็นวัดเก่าแก่ในจังหวัดราชบุรี สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วคงร้างไประยะหนึ่ง ต่อมาจึงได้รับการบูรณะในราวสมัยรัชกาลที่ 2-3 จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดคงคารามเป็นงานจิตรกรรมฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 4 อันสืบทอดจากสกุลช่างรัชกาลที่ 3 เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ-ชนะมาร ผนังด้านหลังเขียนภาพไตรภูมิโลกสัณฐาน พื้นที่ห้องระหว่างช่องหน้าต่างเขียนภาพทศชาติชาดก พื้นที่เหนือช่องหน้าต่างขึ้นไปเขียนภาพพุทธประวัติ และเหนือขึ้นไปเขียนภาพพระอดีตพุทธเจ้า

ลักษณะเด่นของจิตรกรรมแห่งนี้คือเป็นงานจิตรกรรมในหัวเมือง อันเกิดจากงานฝีมือระดับครูช่างหรือช่างจากกรุงเทพฯ ที่ออกไปรับงานตามหัวเมืองและเกิดการผสมผสานกับคติความเชื่อ วัฒนธรรมของผู้คนในหัวเมืองจนกลายเป็นงานจิตรกรรมที่มีเอกลักษณ์ของหัวเมือง จิตรกรรมแห่งนี้มีลักษณะอย่างงานช่างในกรุงเทพฯ มีการปิดทอง การตัดเส้นเล็กและเรียบสม่ำเสมอ การเขียนรูปปราสาทและอาคารบ้านเรือนที่มีอิทธิพลของศิลปะจีนผสมกับลักษณะของศิลปะยุโรป การเขียนภาพต้นไม้ ท้องฟ้า ภูเขา (เขามอ เขาไม้) ตลอดจนภาพบุคคลชั้นสูงและภาพข้าราชสำนัก การเขียนภาพชาวบ้าน ประกอบกับเทคนิคการใช้สีโดยเฉพาะสีเขียวแก่จัด จิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้จึงจัดว่างดงามสูงสุดและคัดเลือกครูช่างที่มีความรู้ความสามารถ ความชำนาญในงานจิตรกรรม และมีความเข้าใจเรื่องพระพุทธศาสนาอย่างละเอียดลึกซึ้ง (ข้อมูล : สถาบันไทยศึกษา)

15 พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ : ต้นแบบศิลปะต้นกรุงรัตนโกสินทร์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ไม่ได้มีเพียงห้องจัดแสดงโบราณวัตถุที่สำคัญของชาติเท่านั้น ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ยังเป็นที่ตั้งของ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ สถานที่ประดิษฐาน พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่เมืองที่มีเพียง 3 องค์เท่านั้นในประเทศไทย อีกสิ่งที่โดดเด่นในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ คืองานจิตรกรรมเต็มฝาผนังทั้ง 4 ด้าน เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เกี่ยวกับพุทธประวัติ วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของผู้คนในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งภาพเทพชุมนุม และภาพตอนพระพุทธเจ้าชนะมาร มีพระแม่ธรณีบีบมวยผมมีเหล่าสัตว์ต่าง ๆ กำลังสู้รบกันอยู่ในภาพ ซึ่งรวมถึงเหล่าสัตว์หิมพานต์ด้วย

เมื่อเดินเข้าไปทางด้านหลังองค์พระประธานจะพบตู้เก็บพระไตรปิฎก เป็นตู้ลายรดน้ำลายทองถมพื้นดำ มีเรื่องราวเกี่ยวกับรามเกียรติ์ ลวดลายที่โดดเด่นคือสัตว์หิมพานต์ที่ใช้เป็นพาหนะ ได้แก่ คชสีห์ ราชสีห์ และกิเลน อีกไฮไลต์ต้องชมคือฉากกั้นลับแล วาดเรื่องรามเกียรติ์ตอนยกรบโดยในภาพจะพบสัตว์หิมพานต์ที่ใช้เป็นพาหนะหลายตระกูล เช่น ปักษาวายุ สดายุ ลิงนิลพัท และกินนร เป็นต้น

ภาพ : นายรอบรู้

16 วัดบางยี่ขัน : ผลงานเลื่องชื่อของ “ครูคงแป๊ะ”

ตามประวัติเล่าถึงความเก่าแก่ของวัดนี้ที่มีมาราวพ.ศ.2172 เดิมชื่อ “วัดมุธราชาราม” บางเอกสารระบุชื่อว่า “วัดมุขธราชธาราม” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาและมีการบูรณะในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงรัชกาลที่ 2-3 พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีหน้าบันและคันทวยเป็นไม้สลัก ใบเสมาทำด้วยศิลาทรายสีแดง อยู่ในเขตพุทธาวาสที่ปัจจุบันมีถนนตัดผ่านกลางวัด แยกพระอุโบสถออกจากส่วนอื่น ๆ ของวัด ว่ากันว่าเคยเป็นถนนที่ใช้ลำเลียงสุราของโรงสุราบางยี่ขัน จึงไม่แปลกใจที่พบว่าทำไมมีถนนอยู่กลางวัดได้ ปัจจุบันเป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนละแวกนี้

จิตรกรรมฝาผนังเป็นฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของ ครูคงแป๊ะ จิตรกรเอกแห่งรัตนโกสินทร์ ฝีมือการเขียนภาพของท่านจะสอดแทรกอัตลักษณ์ความเป็นจีนอยู่เสมอเช่นเทวดาจีน ผนังระหว่างช่องหน้าต่างและประตูเป็นภาพเขียนเรื่องทศชาติชาดก ผนังเหนือขอบหน้าต่างเขียนเป็นภาพเทพชุมนุมบริเวณด้านหลังพระประธานเป็นภาพพระพุทธเจ้ายืนเหนือมหาสมุทรมีปูและปลาพอให้เห็นว่าเป็นผืนน้ำ มีสาวกขนาบซ้ายและขวาในท่าประคองอัญชลีอาจารย์สันติ เล็กสุขุม ให้ความเห็นว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในวัฒนธรรมมอญและอาจเป็นฝีมือการซ่อมในระยะหลัง

ส่วนด้านหน้าพระประธานเป็นชุดภาพทศชาติเรื่องมโหสถ เหนือขึ้นไปคือภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ และพระแม่ธรณีบีบมวยผม ภาพจิตรกรรมยังมีความสวยงามอยู่หลายจุด เช่น ผนังด้านหน้าพระประธานเป็นภาพยักษ์ผู้หญิงซึ่งต่างจากยักษ์วัดอื่นที่เป็นชาย

17 วัดป่าแดด : ภาพแรกนาขวัญและเรื่องเล่าล้านนา

จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหาร วัดป่าแดด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เขียนขึ้นเมื่อพ.ศ.2431 ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 แบบศิลปกรรมพื้นถิ่นและใช้เทคนิคสีฝุ่นเล่าเรื่องพุทธประวัติ ชาดก และพระอุปคุตจิตรกรรมฝาผนังได้รับการอนุรักษ์เมื่อ พ.ศ.2534 โดยกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรมกองโบราณคดี กรมศิลปากรจึงทำให้ภาพที่เลือนรางชัดเจนขึ้นมาก ภาพที่โดดเด่นคือภาพพิธีแรกนาขวัญ การปลูกข้าว ซึ่งสะท้อนความสมบูรณ์ของดินและน้ำ รวมทั้งยังมีเรื่องราวของวิถีชีวิตชาวล้านนาในยุคนั้นให้ได้ศึกษา และถ้าจะชมจิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดดให้สนุกแนะนำให้ติดต่อไกด์ในท้องถิ่นซึ่งมีทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนและมียุวมัคคุเทศน์เป็นเยาวชนในท้องถิ่นมาร่วมเล่าเรื่องด้วย

จิตรกรรมฝาผนัง

18 วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร: ครั้งแรกในไทยที่มีการเขียนสีน้ำมันลงผนัง

วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ตำบลหอรัตไชย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่ “นายทองดี”สมเด็จพระบรมราชชนกในรัชกาลที่ 1 สร้างขึ้นใกล้กับบริเวณนิวาสถานเดิมโดยใช้ชื่อว่า “วัดทอง” ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2310 พม่าได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแตกและวัดทองถูกพม่าทำลายกลายเป็นวัดร้างนานถึง 18 ปี เมื่อรัชกาลที่ 1ปราบดาภิเษกแล้วก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดทองของบิดาที่ถูกทิ้งร้างให้งดงามขึ้นอีกครั้ง

ไฮไลต์คือจิตรกรรมฝาผนังในวิหารซึ่งเป็นภาพเขียนสีน้ำมันฝีมือของ “มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตร”สันนิษฐานว่าภาพนี้ถือเป็นครั้งแรกในไทยที่มีการนำสีน้ำมันมาเขียนจิตรกรรมฝาผนังลงบนผนังจริง ๆ ตัวภาพเล่าถึงประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยแบ่งตามเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น เช่น การประกาศอิสรภาพ การทำยุทธหัตถี เป็นต้น

19 วัดสว่างโพธิ์ศรี : ช่างพื้นเมืองเล่าเรื่องอีสาน

วัดสว่างโพธิ์ศรี ตั้งอยู่ที่บ้านหนองแวงฮี จังหวัดกาฬสินธุ์ โดดเด่นด้วยสิมอีสานโบราณ เขียนเรื่องพระเวสสันดรชาดกอยู่รอบนอกของสิม เป็นผลงานของช่างชาวบ้านวาดโดย พระอำคา และนายจันทร์ ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีจะมีชื่อทั้งสองเขียนไว้ในภาพ แต่ละรูปเล่าเรื่องวิถีชีวิต การแต่งกายของคนในท้องถิ่น มีทั้งการกิน การละเล่น ดนตรีอีสาน เป็นรายละเอียดเล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่ในภาพ

จิตรกรรมฝาผนัง

20 วัดพนัญเชิงวรวิหาร : ภาพโต๊ะเครื่องบูชาแบบจีน

เมื่อพูดถึงวัดพนัญเชิงวรวิหาร วัดเก่าแก่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นักท่องส่วนใหญ่จะนึกถึงเฉพาะหลวงพ่อโต พระประธานองค์ใหญ่ที่สร้างก่อนก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี26 ปี ซึ่งประดิษฐานในพระอุโบสถคู่กับพระพุทธรูปทองสมัยสุโขทัย แต่ใกล้กันยังมี “วิหารเขียน” ซึ่งด้านในเขียนจิตรกรรมฝาผนังสวยงามแปลกตาเป็นรูปเครื่องโต๊ะของจีนเต็มผนังทุกด้าน แต่ละโต๊ะจะประดับดอกไม้ ผลไม้มงคลของจีน เครื่องแจกันรูปทรงต่าง ๆ แตกต่างกันออกไปทุกโต๊ะบูชา

จิตรกรรมฝาผนัง

21 วัดพระแก้ว : จิตรกรรมฝาผนังที่ยาวที่สุดในโลก

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่รู้จักกันในนาม วัดพระแก้ว ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมงานศิลปะวังหลวงในดีไซน์ของกรุงรัตนโกสินทร์แทบจะทุกสาขา และสำหรับผู้ที่สนใจงานจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดพระแก้วแห่งนี้โดดเด่นด้วยเนื้อหาของรามเกียรติ์ที่วาดเต็มผนังตลอดระเบียงคด ซึ่งรามเกียรติ์เป็นวรรณกรรมที่ได้รับอิทธิจาก“มหากาพย์รามายณะ”ของอินเดีย มาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ขึ้นเพื่อรวบรวมตั้งแต่ต้นจนจบให้สมบูรณ์ และสำหรับรามเกียรติ์บนระเบียงคดวัดพระแก้วนั้นได้รับการยกย่องให้เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่ยาวที่สุดในโลก แบ่งการเขียนภาพออกเป็นห้อง ๆ ทั้งหมด 178 ห้อง

จิตรกรรมฝาผนัง

22 วัดโพธิ์ : เรื่องเล่าตำนาน “แม่ซื้อ”

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ถือเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยที่มีสรรพวิชาให้ได้ศึกษาหลากหลายศาสตร์ และศาสตร์ต่าง ๆ ก็ประดับอยู่ตามศาลารายต่าง ๆ นอกจากตำราแพทย์แผนไทยและแผนผังกลอนกลต่าง ๆ แล้ว ที่น่าสนใจคือภาพจิตรกรรม “แม่ซื้อ” หรือเทพผู้พิทักษ์เด็กประจำวันต่าง ๆ วาดอยู่บนผนังศาลาหน้าพระมหาเจดีย์ด้านทิศใต้ หรือที่เรียกศาลาแม่ซื้อ

เรื่องแม่ซื้อ เป็นความเชื่อของคนในสมัยโบราณ ยุคสมัยที่การแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ ทารกแรกเกิดมักมีโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตตั้งแต่เป็นทารก เป็นผลให้เกิดความเชื่อกันว่า มนุษย์ที่จะเกิดมานั้นผีปั้นรูปขึ้นก่อน แล้วจึงหาวิญญาณใส่เข้าในหุ่นนั้นเพื่อสิงเข้าสู่ครรภ์มารดา และเมื่อทารกเกิดแล้วตายแต่แรกคลอด ก็เป็นเพราะผีผู้ปั้นหุ่นเห็นว่า ทารกนั้นงามชอบใจอยากเอาไปเลี้ยงจึงทำให้เด็กตายในที่สุด ส่วนทารกที่ไม่ชอบก็ปล่อยให้มนุษย์เลี้ยงเอง

ตามความเชื่อนี้เป็นผลให้เกิดพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผีนำทารกกลับคืนไป เช่น ลวงผีให้เข้าใจว่าทารกนั้นไม่น่ารัก โดยติว่าน่าเกลียดน่าชัง หรือเรียกชื่อว่า เหม็น เป็นต้น กับยังมีการให้ผู้อื่นรับซื้อเด็กไป เพื่อให้ผีเข้าใจว่า แม้แต่แม่ยังไม่รัก ไม่อยากได้ไว้ ผู้ที่ซื้อเด็กจึงมีชื่อเรียกว่า แม่ซื้อ

จิตรกรรม

23 วัดร่องเสือเต้น : อลังการจิตรกรรมฝาผนังสีน้ำเงิน

วัดสีน้ำเงินอันโด่งดังของจังหวัดเชียงราย ถือเป็นคู่ตรงข้ามกับวัดร่องขุ่นที่สีขาวทั้งหมด ทุกอย่างในวัดตั้งแต่ประตูรั้ว โบสถ์ วิหาร ล้วนเป็นสีฟ้าทั้งสิ้น รวมทั้งลวดลายของจิตรกรรมฝาผนังก็ใช้โทนสีน้ำเงินเป็นหลัก ซึ่งดูแปลกตาอย่างมาก ยิ่งกระทบแสงไฟยามค่ำคืนก็ยิ่งเหมือนสีน้ำเงินเรืองแสงอย่างไรอย่างนั้น

จิตรกรรม

24 วัดโยธานิมิต : จิตรกรรมจากสีคราม

วัดในตัวเมืองตราดที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประวัติศาสตร์พระเจ้าตากสิน เล่ากันว่าเดิมทีพระเจ้าตากสินได้มีการเกณฑ์กำลังไพร่พลจากชาวบ้านที่สมัครมาร่วมกันรบ จึงได้ปักหลักกันอยู่บริเวณนี้ สันนิษฐานจากรูปแบบสถาปัตยกรรมของพระวิหารพบว่ามีรูปแบบคล้ายคลึงกันกับช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และที่บันทึกอย่างแน่ชัดคือวัดนี้ถูกบูรณะเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะช่วงนั้นสยามได้ตั้งทัพบริเวณนี้ก่อนที่จะไปรบกับฝั่งญวนทำให้วัดได้รับการบูรณะเพิ่มเติมและได้ชื่อว่าวัดโยธานิมิต

ไฮไลต์ของวัดอยู่ด้านในพระวิหารซึ่งประดิษฐานพระประธานฝีมือช่างเมืองตราดสมัยอยุธยา พิเศษกับจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามอยู่รายล้อมแม้ปัจจุบันจะเลือนรางไปมากก็ตาม ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าภาพส่วนใหญ่มีการใช้สีครามจึงสันนิษฐานว่าภาพชุดนี้น่าจะถูกวาดขึ้นในช่วงที่สีครามเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ด้วยเรื่องของการขนส่งจากพื้นที่ค่อนข้างห่างไกลจึงเป็นไปได้ว่าจะถูกวาดขึ้นหลังจากนั้นเล็กน้อย จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องพระเวสสันดร แต่จะมีเพียง 12 กัณฑ์เท่านั้น

จิตรกรรม

25 วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร : วิถีชาวรัตนโกสินทร์

วัดสำคัญของกรุงเทพฯ ที่นอกจากจะมีผลงานภาพจิตรกรรมปริศนาธรรมสมัยใหม่ผลงานของศิลปินไทยชาวเพชรบุรี “ขรัวอินโข่ง” ผู้เป็นจิตรกรเอกที่รัชกาลที่ 4 โปรดแล้ว ในอาคารต่าง ๆ ก็มีภาพงานจิตกรรมฝาผนังที่น่าสนใจแตกต่างกันไป เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระวิหารพระไสยาสน์ ซึ่งวาดรูปต้นโพธิ์และพุทธสาวกเพื่อให้สอดคล้องเป็นฉากหลังขององค์พระพุทธไสยาสน์ ภาพจิตรกรรมระหว่างช่องหน้าต่างของหอพระไตรปิฎกที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวเนื่องกับประเพณีไทยในพุทธศาสนา เช่น พิธีอัฏฐมีบูชา ส่วนในพระอุโบสถและภายในพระวิหารพระศรีศาสดา ก็เต็มไปด้วยภาพจิตรกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เน้นไปที่ประเพณีต่าง ๆ ที่อาจจะไม่ได้จัดแล้วหรือหาชมได้ยากในปัจจุบัน

26 วัดชมภูเวก : พระแม่ธรณีสวยสุดในไทย

สังเกตไหมว่าจิตรกรรมฝาผนังฝั่งตรงข้ามพระประธานในอุโบสถมักมีการวาดรูป พระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งเป็นฉากสำคัญในพุทธประวัติตอนมารผจญ และหนึ่งในภาพวาดพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่สวยติดอันดับต้น ๆ ของประเทศนั้นอยู่ที่ผนังสกัดในอุโบสถสถาปัตยกรรมอยุธยาที่วัดชมภูเวกเป็นผลงานเด่นของ สกุลช่างนนทบุรี ช่วงสมัยอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลายระยะแรก ภาพนี้ใช้เทคนิคเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวแบบเทมเพอรา (Tempera)และที่ว่าสวยก็ด้วยจังหวะฝีแปรงที่เขียนท่าทางการบิดมวยผมพร้อมกับบิดองค์เอวได้อย่างอ่อนช้อยราวกับกำลังร่ายรำ ไม่นับรวมงานปูนปั้นพันธุ์พฤกษาบริเวณหน้าบันประดับเครื่องถ้วยที่สวยมากเช่นกัน

นอกจากนี้ในอุโบสถหลังเก่าเป็นโบสถ์มหาอุตม์ที่มีทางเข้าทางเดียวไฮไลต์ห้ามพลาดชมคือจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างนนทบุรีซึ่งนอกจากพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่อยู่ท่ามกลางหมู่มารผจญหลากหลายชาติพันธุ์แล้วอีกเอกลักษณ์ของช่างชาวบ้านฉบับนนทบุรีคือ ภาพกาก โดยเฉพาะภาพหนุ่มสาวที่กำลังพลอดรักกัน อย่าลืมมองหาภาพ ปู่เมง ย่าเมง เป็นภาพหนุ่มสาวกระซิบรักที่สนั่นคุ้งน้ำเจ้าพระยาไม่แพ้ภาพกระซิบรักบรรลือโลกวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ซึ่งปู่เมง ย่าเมงต่างนุ่งผ้าลายตารางแบบชาวมอญ นอกจากนี้ยังมีภาพประเพณี วิถีชีวิตชาวบ้านนนทบุรีในแถบนี้ที่เล่าได้อย่างสนุกแทรกอารมณ์ขัน เช่น การโปรยทานที่จะเห็นคนนำร่มกางมารับเหรียญทาน รวมทั้งมีการวาดสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะปลาหลากหลายสายพันธุ์ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนมอญริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้

27 วัดกู้ : โบสถ์เก่าที่ซ่อนภาพสรรพสัตว์ท้องถิ่น

อาคารสำคัญของที่นี่คืออุโบสถหลังเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ยังคงสถาปัตยกรรมฐานแอ่นเป็นท้องเรือสำเภาแบบอยุธยาแท้ ๆ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปแบบอยุธยาพร้อมจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างนนทบุรีที่ลดทอนภาพพุทธประวัติลง และเน้นเล่าเรื่องวิถีชีวิตท้องถิ่นให้สนุกยิ่งขึ้น เช่นพุทธปะวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จธุดงค์เจอสัตว์ต่าง ๆ ก็มีการนำสรรพสัตว์ในท้องถิ่นมาวาดใส่ลงไปเป็นสีสัน เช่น นก แพะ ม้า งู ไฮไลต์จริง ๆ คือตัวเหี้ยที่หาชมได้ยากในภาพจิตรกรรม และด้วยความที่วัดกู้เป็นวัดประจำชุมชนมอญ ดังนั้นในจิตรกรรมฝาผนังจึงมีวิถีชีวิตสัญลักษณ์ของชาวมอญแต้มลงไปเป็นสีสัน เช่น การใส่เสาหงส์ธงตะขาบซึ่งบ่งบอกสถานะของวัดว่าเป็นวัดมอญอย่างแน่แท้ เสื้อผ้าลายอย่างมอญหรืออย่างภาพวาดด่านเจดีย์สามองค์ ก็เป็นการเล่าถึงเส้นทางการเดินทัพและการเดินทางของชาวมอญมายังไทย อีกทั้งตัวเจดีย์ทั้งสามองค์ก็มีลักษณะแบบเจดีย์มอญเช่นกัน


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite