ในกล่องมีละคร Theatre To Go กล่องมหัศจรรย์ที่ให้คุณชมละครได้ทุกที่ด้วยเทคโนโลยี AR
- กล่องละคร Theatre To Go คือนวัตกรรมใหม่โดยกลุ่ม performing artist ชาวไทย ที่ให้ผู้ชมเลือกรับชมการแสดงผ่านโทรศัพท์มือถือ ร่วมกับกล่อง setting ผสานเทคโนโลยี AR
- กล่องละครมอบประสบการณ์รับชมที่แปลกใหม่ ทลายข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ การเดินทาง และเวลา
- นวัตกรรมกล่องละครมหัศจรรย์นี้ แสดงให้เห็นถึงความไม่หยุดนิ่งพัฒนาตัวเองของคนทำงานศิลปะการแสดงในบ้านเรา
แม้ว่าสถานการณ์วิกฤตโควิด 19 จะเริ่มฟื้นตัวจนดูเหมือนชีวิตของเราทุกคนจะกลับมาสู่ภาวะปกติอีกครั้งหนึ่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อเกิดการ disruption ขึ้นกับทุกแวดวง ทำให้เราได้เห็นถึงนวัตกรรมใหม่ๆ จากการคิดค้นแก้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่เว้นแม้แต่แวดวงศิลปะการแสดงละครเวทีและศิลปะการแสดงซึ่งมีหัวใจอยู่ที่ theatre หรือ “โรงละคร” เป็นพื้นที่หลักในการรับชม ทว่าในช่วงที่ยังมีการล็อกดาวน์ที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม เราได้เห็นคณะละครต่างๆ พยายามหา ทางรอด โดยนำเอาผลงานบันทึกการแสดงสดขึ้นแพลตฟอร์มออนไลน์สตรีมมิงให้ชม หรือกระทั่งทำการแสดงสดผ่านทางออนไลน์ก็มี จนมาถึงเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งมีการวางขายกล่องมหัศจรรย์ที่เรียกว่า Theatre To Go เกิดขึ้นจากกลุ่มศิลปินการแสดงและนักออกแบบชาวไทย นำละครเวที ศิลปะการแสดง มาบรรจุกล่องผนวกเข้ากับเทคโนโลยี AR (augmented reality) ช่วยให้ผู้ชมสามารถเสพศิลปะการแสดงได้ทุกที่ทุกเวลา เราขอพาทุกคนไปรู้จักกับนวัตกรรมเพื่อเสพศิลปะที่แปลกใหม่นี้ ที่คิดและสร้างสรรค์ขึ้นโดยคนไทย ซึ่งอาจนำพาทั้งโอกาสและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ตามมาได้อีก
“ย้อนกลับไปก่อนปลายค.ศ. 2019 คนทำงานศิลปะการแสดงและผู้ชมสามารถทำกิจกรรมร่วมกันที่โรงละคร เราสามารถส่งต่อเรื่องราวชีวิต ขับเคลื่อนความคิด ด้วยเสียงหัวเราะและน้ำตา แต่พอเกิดสถานการณ์วิกฤตโควิด 19 ชีวิตประจำวันของเรานับจากนั้นก็ถูกจำกัดด้วยมาตรการความปลอดภัย ทำให้ทุกอย่างหยุดนิ่ง ผู้ชมไม่สามารถชมละคร คนทำงานศิลปะการแสดงก็ไม่สามารถทำงานที่ตัวเองรักได้ เราเลยเกิดความคิดว่าจะทำยังไงให้คนดูได้รับประสบการณ์การชมการแสดงโดยไม่ถูกจำกัดในเรื่องของพื้นที่ การเดินทาง หรือแม้กระทั่งภาษา”
พึ่ง-ณัฐพร เทพรัตน์ คิวเรเตอร์และผู้อำนวยการของโปรเจกต์กล่องการแสดง Theatre To Go เล่าย้อนอดีตให้เราฟังถึงที่มาของ Theatre To Go Live Experience Box ซึ่งก่อนจะมาทำงานนี้เธอมีแบ็กกราวน์ที่เกี่ยวข้องกับ Theatre Design โดยเคยจัดแสดงผลงานในงาน Prague Quadrennial of Performance Design and Space งานนิทรรศการแสดงผลงานออกแบบสเปซซีนดีไซน์สำหรับการแสดง ณ สาธารณรัฐเช็ก ซึ่งทำให้เธอมองเห็นว่าในเมืองไทยนั้นยังไม่ค่อยมีการพูดถึงการทำงานเกี่ยวกับเทียร์เตอร์ดีไซน์อย่างชัดเจน เพราะส่วนใหญ่แล้วผู้กำกับ มักจะทำหน้าที่ทุกอย่าง คนทำสเปซและและซีนก็มักจะทำตามแบบหรือโจทย์ที่ผู้กำกับ วางเอาไว้ ซึ่งไม่ได้เกิดลูปของการทำงานที่เป็นระบบระเบียบสักเท่าไรจนมาเกิดโควิด 19 ขึ้นทำให้ทุกอย่างหยุดนิ่ง เธอจึงตั้งคำถามว่าหากสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกแล้วคนทำงานด้านศิลปะการแสดงจะมีชีวิตต่อไปได้อย่างไร
“ไอเดียของเราก็เลยมาจบอยู่ที่กล่องโมเดลที่ชื่อว่า Theatre To Go ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันกับนักแสดง ผู้กำกับการแสดง artistic designer แล้วก็ยังมี developer อย่าง Yay.Lol.Studio ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคที่ช่วยทำให้ภาพการแสดงบรรจุกล่องนี้เกิดขึ้นเป็นจริงได้”
ละครบรรจุกล่องผสานเทคโนโลยี AR จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา โดยณัฐพรได้เชื้อเชิญคณะละครร่วมสมัยทั้ง 5 ที่มีผลงาน active อยู่ในขณะนั้นมาทำงานร่วมกัน ซึ่งละครทั้ง 5 เรื่องได้แก่ เพลงนี้พ่อเคยร้องโดย วิชย อาทมาท The (Un) Governed Body ของ ธีระวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินศิลปาธร The Disappearance of A Dramatist, 2548 B.E. โดย เชษฐพัทธ์ เขื่อนแก้ว ตลาดปลา โดย สุรชัย เพชรแสงโรจน์ และ Single Number โดย ธนัชพร กิตติก้อง
สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่ากล่องละครมหัศจรรย์นั้นทำงานอย่างไร เราขอเล่าประสบการณ์จากการเทสต์ให้ฟังกันดังนี้ แรกทีเดียวที่ได้รับกล่องรู้สึกตื่นเต้น สัมผัสได้ถึงความพิเศษ เหมือนกับได้รับกล่องของเล่นของขวัญอย่างไรอย่างนั้น กล่องละครแต่ละกล่องจะบรรจุทั้งกล่อง setting และ prop ที่ต้องนำมาจัดวาง และทำงานร่วมกันกับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะมี QR code สแกนยิงเข้าเว็บ AR ให้ส่องรับชมร่วมกับกล่อง โดยจะมีหนังสือคู่มือฉบับย่อบอกวิธีให้ผู้ชมทำตามได้อย่างไม่ยาก นอกจากนี้ยังมีกิมมิกน่ารักอย่างการใส่ขนมถุงสุ่มให้ผู้ชมแกะกินระหว่างรับชมด้วย ทำให้เรานึกถึงในช่วงโควิดล็อกดาวน์ ซึ่งมีการจัดอีเวนต์ปาร์ตี้หรือมื้อไฟน์ไดนิงออนไลน์ส่งปิ่นโตไปให้ผู้ร่วมอีเวนต์แต่ละคนตามบ้าน แล้วเปิด zoom ร่วมรับประทานพร้อมกัน อะไรทำนองนั้น
ยอมรับว่าช่วงแรกๆ เราค่อนข้างจะขลุกขลักกับการทดลองชมและใช้กล่องนี้อยู่พอสมควร เพราะมีปัญหากับการจัดวางขาตั้งที่แถมมา กับกล่อง setting ให้ได้ระดับซิงก์กันพอดี ซึ่งทำให้รู้สึกหงุดหงิดใจอยู่บ้าง แต่พอลงล็อกแล้วก็เริ่มสนุกไปด้วยได้ การที่ดูละครผ่าน AR ก็เป็นความรู้สีกแปลกใหม่ที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นดี โดยเรื่องแรกที่ได้ดูคือ The Disappearance of A Dramatist ซึ่งเป็นละครพูดสนุกดูง่ายดี แต่กับเรื่องอื่นๆ เมื่อเปลี่ยนสไตล์การแสดงไป เราก็เริ่มรู้สึกตั้งคำถามกับช่วงความสนใจของตัวเอง และการเอาการแสดงประเภทนี้ลงกล่องแล้วนำเสนอออกมาในลักษณะเป็นอยู่ เพราะรู้สึกว่าไม่สามารถดึงดูดความสนใจของเราเอาไว้ได้เท่าที่ควร (ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะผิดที่ตัวผู้เขียนเองก็เป็นได้ คนอื่นๆ ที่ได้ชมอาจจะไม่รู้สึกเช่นนี้ก็ได้ เพราะการชมละครเป็นเรื่องของปัจเจกอยู่แล้ว)
โดยรวมแล้วเราคิดว่าการเอาละครมาลงกล่องกับ AR แบบนี้ก็เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ดี แต่ผู้เขียนคิดว่าอย่างไรเสียก็ยังชอบอารมณ์ความสดและความเชื่อมโยงระหว่างการแสดงและผู้ชมที่สัมผัสได้ในโรงละครมากกว่าอยู่ดี แต่ก็อย่างที่ณัฐพรเองว่าไว้ว่ามันอาจจะดีในกรณีที่ถ้าเกิดมีเหตุการณ์อะไรที่ต้องล็อกดาวน์และรักษาระยะห่างทางสังคมอีก ละครลงกล่องแบบนี้ก็อาจจะเป็นข้อดีสำหรับตอนนั้นก็ได้ ใดๆ เลยก็คิดว่างานนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่คนทำงานศิลปะการแสดงจะได้ลองเรียนรู้การทำงานในรูปแบบใหม่ๆ กัน ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับในอนาคต
“หลังจากที่เราเปิดให้คนสั่งกล่อง Theatre To Go ไปชมกันแล้ว ก็ได้รับผลตอบรับที่หลากหลายมากค่ะ ผลลัพธ์ที่ได้ค่อนข้างจะเหมือนกันก็คือหลายๆ คนเขาก็บอกกันว่ามันค่อนข้างจะเข้าใจยาก ด้วยประสบการณ์การรับชมตอนแรก ที่ต้องมีการสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วก็ให้กดเล่น หรืออย่างที่ละครบางเรื่องเป็นลักษณะ interactive ที่จะต้องให้เขากรอกนั่นกรอกนี่ลงไปด้วย ทำให้ผู้ชมงงว่าเขาทำถูกแล้วหรือเปล่า มันก็เลยทำให้เราได้รู้ว่า journey ของการรับชมมันยังไม่กระชับและสมูทเท่าที่ควร แต่ในแง่ดีคือทุกคนจะพูดตรงกันว่าแปลกใหม่ดี ไม่เคยดูแบบนี้ที่ไหนมาก่อนเลย เราดูละครแบบนี้กันได้ด้วยเหรอ และไม่คิดว่าคนไทยจะทำอะไรอย่างนี้ได้
“จริงๆ แล้วเราไม่คิดอยู่แล้วว่าการรับชมในรูปแบบนี้จะสามารถทดแทนประสบการณ์ในการรับชมในโรงละครได้ทั้งหมดอยู่แล้ว แต่เรารู้สึกว่ามันช่วยมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับคนดูได้ ช่วยทำให้แก้คิดถึงการชมละครได้อย่างในช่วงโควิดที่คนดูละครกันในโรงละครกันไม่ได้ หรือช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดในการเดินทางเพื่อไปชมละคร ซึ่งหากคุณอยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศนี่ก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้คุณมีโอกาสรับชม
“นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสสำหรับศิลปินผู้สร้างงานที่จะพาละครของเขาไปให้คนอื่นเห็น ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ใช่ว่าเล่นในโรงละครเพียงไม่กี่รอบแล้วก็จบไป แต่มันอาจจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถขายแล้วนำพางานชิ้นนั้นเดินทางต่อไปได้ โดยไม่ถูกจำกัดอยู่ที่ระยะทางและภาษา ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้เป็นคอนเทนต์ที่ส่งไปให้กับเทศกาลศิลปะหรือพิพิธภัณฑ์ที่ไหนในโลกก็ได้ เพื่อให้ศิลปินสามารถขายงานชิ้นนั้นได้ ตรงนี้มันก็เลยอาจจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เรานำมาใช้ในการสร้างความยั่งยืนให้กับคนทำงานทางด้านนี้ หรือแม้กระทั่งในวันหนึ่งเราก็อาจจะมีการนำเสนอศิลปะการแสดงในเมตาเวิร์สก็ได้ ซึ่งเรามองว่าดิจิทัลแพลตฟอร์มสามารถเป็นพื้นที่ให้คนทำงานทางด้านศิลปะการแสดงสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ และได้ลองทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในโรงละคร” ณัฐพร กล่าว
Fact File
- กล่อง Theatre To Go วางจำหน่ายไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2565 นี้ หนึ่งเรื่อง หนึ่งกล่อง ราคา 600 บาท มีจำหน่ายส่งตรงถึงบ้านทั้งทาง LINE Shop : https://shop.line.me/@604ietvn และ Shopee : https://shopee.co.th/nattapheungthapparat…
- Theatre To Go มีโครงการจะจัดแสดงนิทรรศการที่ Noble Play เพลินจิต ในเดือนธันวาคม 2565 รวมถึงจัดแสดงใน Thailand Country and Region Exhibition ที่ Prague Quandrennial of Performance DesignSpace (PQ2023) ณกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก 6-16 มิถุนายน 2566
- ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแสดงลงกล่องแต่ละเรื่องและอัปเดตกิจกรรมได้ที่ https://www.facebook.com/TheatreToGo.th
- Theatre To Go ได้รับการสนับสนุนโดย Sangsom ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมเพราะมีผู้ประกอบการไม่มากนักหรอกที่เห็นความสำคัญของการสนับสนุนคนทำงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมในลักษณะนี้