
Golden Boy ประติมากรรมสำริดอายุ 1,000 ปี ที่สมบูรณ์ที่สุดจากสมัยเมืองพระนคร
- ประติมากรรมสำริด Golden Boy ถูกขายจากประเทศไทยให้พ่อค้าวัตถุโบราณชาวต่างชาติราคา 1 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2518 และต่อมาได้มีการบริจาคให้กับ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The MET
- พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันพบว่าโบราณวัตถุดังกล่าว ถูกลักลอบนำออกนอกราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย จึงได้ถอดโบราณวัตถุ Golden Boy รวมทั้ง ประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่า ออกจากบัญชีของพิพิธภัณฑ์และส่งคืนกลับประเทศไทยในวันที่ 20 พฤษภาคม 2567
กล่าวกันว่าหากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ประเทศฝรั่งเศส มีโมนาลิซ่าเป็นงานชิ้นเอก พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The MET ก็มี Golden Boy เป็นไฮไลต์ที่ต้องเข้าชม เพราะนอกจากความงามของประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์ และการตกแต่งด้วยการกะไหล่ทองซึ่งยังคงอยู่แม้ผ่านเวลามานับพันปีแล้ว “Golden Boy” ยังเป็นจิ๊กซอว์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่จะเชื่อมโยงและอาจจะตอบคำถามถึงความรุ่งเรืองทางเทคโนโลยีในอดีตที่สั่งสมอยู่ในแหล่งอารยธรรมในฝั่งอีสานใต้ได้ชัดเจนขึ้นอีกด้วย

“Golden Boy” พระศิวะแห่ง The MET
Golden Boy ชื่อนี้คือประติมากรรมสำริดชิ้นเอกรูปบุนุษยืน ศิลปะลพบุรี ที่เคยจัดแสดงอยู่ที่ The MET ถือเป็นประติมากรรมสำริดชิ้นที่สมบูรณ์ที่สุดที่หลงเหลือมาจากสมัยเมืองพระนคร ซึ่งตามข้อมูลของ The MET ได้ระบุว่าประติมากรรมชิ้นนี้เป็น พระศิวะ สมัยเมืองพระนครแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 1,000 ปีมาแล้ว สร้างด้วยเทคนิคสำริดกะไหล่ทอง ประดับตกแต่งด้วยการฝังเงินโดยใช้เทคนิคการเจาะผิววัตถุให้เป็นร่องเพื่อฝังโลหะหรืออัญมณีมีค่า ความสูง 1 (รวมเดือย) 128.9 เซนติเมตร

แม้ทาง The MET จะตีความว่าประติมากรรมชิ้นนี้คือ “พระศิวะ” แต่ท่าทางของพระหัตถ์ทั้งสองนั้นแตกต่างจากประติมากรรมพระศิวะที่มักจะมีสัญลักษณ์ต่างๆ ประกฎ เช่น พระเนตรที่สามบนพระนลาฎ ซึ่งนั่นก็อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าประติมากรรมองค์นี้อาจสื่อถึงบุคคลในสถานะเทพ หรืออาจถูกสร้างเพื่อเป็นรูปเคารพของกษัตริย์ หรือรูปเคารพในศาสนสถานประจำราชวงศ์ก็เป็นได้ โดยในเบื้องต้นหลังจากที่ประเทศไทยได้รับมอบประติมากรรมจาก The MET คืนสู่ประเทศไทย ทางสำนักพิพิธภัณฑ์ก็จะตั้งทีมในการศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลอย่างละเอียดต่อไป

ทั้งนี้ John Guy ภัณฑารักษ์ แผนกศิลปะเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองชิ้นนี้ ถือเป็นหนึ่งในประติมากรรมทางศาสนาประเภทรูปเคารพที่สำคัญในแผ่นดินใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีสภาพการเก็บรักษาเกือบสมบูรณ์ แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ไม่มีจารึกใดๆ ที่จะปรากฏเป็นเบาะแสในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดได้เลย ทว่าสิ่งที่ชัดเจนคือ ประติมากรรมชิ้นนี้ทำหน้าที่เป็นรูปเคารพทางศาสนาที่สำคัญในเทวสถานในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17

John Guy ยังกล่าวเสริมว่า รูปหล่อสำริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งเป็นของวัฒนธรรมเขมรในสมัยเมืองพระนครของกัมพูชาอยู่ในจุดสูงสุดถูกค้นพบที่ปราสาทแม่บุญตะวันตก ในสระน้ำที่คนขุดขึ้น ณ เมืองพระนคร เป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ มีขนาดความยาว 3 เมตร แต่สำริดรูปพระศิวะGolden Boy องค์นี้โดดเด่นกว่าทั้งในแง่ของคุณภาพของประติมากรรม และความประณีต มีการตกแต่งรอยผูกที่ชายผ้าด้านหน้าและปมผ้าด้านหลังสะท้อนเรือนร่างที่สวมใส่อยู่ พร้อมเครื่องประดับ พาหุรัด กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า กรองคอ และ มงกุฎ เป็นส่วนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ และเฉพาะส่วนพระเนตรของพระศิวะล้อมด้วยเงิน และพระเนตรดำอาจเคยมีหินคริสตัลฝังอยู่ รวมทั้งหนวดและเคราก็มีร่องรอยการประดับตกแต่งด้วยการฝังวัตถุเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ นิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ การวางเท้าของ Golden Boy นั้นมีความพิเศษตรงที่สองเท้าเหลื่อมกัน นั่นอาจบ่งบอกถึงการเคลื่อนไหว หรือหมายถึงเทพที่กำลังเคลื่อนไหว ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน

ประติมากรรมรูปสตรีชันเข่าคือใคร
ประติมากรรมอีกชิ้นที่ทาง The MET ส่งมอบกลับไทยพร้อมกันในวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 คือ ประติมากรรมรูปสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ เป็นศิลปะเขมรในประเทศไทยสมัยเมืองพระนครแบบบาปวน สร้างราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 หรือเทียบอายุประมาณ 1,000 ปีมาแล้ว สร้างด้วยเทคนิคสำริด ประดับตกแต่งด้วยการฝังเงิน มีร่องรอยกะไหล่ทอง ประดับด้วยเพชรพลอย บริวเวณดวงตาและคิ้วมีร่องรอยการฝังด้วยวัตถุที่น่าจะเป็นแก้วสีดำ

ในส่วนใบหน้านั้นค่อนข้างเหลี่ยม คิ้วโก่ง ตามองตรง ทรงผมหวีรวบไม่สวมกระบังหน้า เอวคอด รูปร่างสมส่วน ในส่วนการแต่งกายนั้น ผ้าถุงด้านหน้าค่อนข้างเว้า ขมวดเป็นปมและมีชายขมวดหนึ่งชาย ชายผ้าด้านล่างคลี่ออกเป็นหางปลา เป็นรูปแบบของประติมากรรมสำริดที่นิยมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเมื่อ 1,000 ปีที่แล้ว
ทาง The MET ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าประติมากรรมชิ้นนี้ชัดเจนว่าเป็นสตรีในราชสำนัก เพราะมีกิริยาท่าทางการสักการะตามธรรมเนียม ได้แก่ ท่านั่งโดยพับขาข้างหนึ่งไว้ข้างใต้ (เท้ามองเห็นได้จากด้านหลัง) มีลักษณะเป็นธรรมชาติ และปฏิบัติตามมารยาทในการนั่งต่อหน้าพระราชวงศ์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยังคงพบเห็นอยู่ในปัจจุบันในประเทศไทย
Fact File
ประติมากรรมสำริดทั้ง 2 ชิ้นจะจัดแสดงให้ประชาชนได้เข้าชม ณ ห้องลพบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป และที่พิเศษคือจะมีการจัดแสดงร่วมกับประติมากรรมสำริดรูปบุรุษจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็น “ฝาแฝด” กับGolden Boy
