นางเงือก จากวรรณคดี สุนทรภู่ สู่งานประติมากรรมคลาสสิก
- อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ริเริ่มสร้างประติมากรรมนางเงือกใน พ.ศ. 2498 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี การถึงแก่อสัญกรรมของสุนทรภู่
- งานศิลปะที่มาจากเรื่องราว พระอภัยมณี ยังปรากฏให้เห็นอีกหลายที่ เช่น เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง หาดนางรำ จังหวัดชลบุรี หาดปึกเตียน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
เมื่อราว 190 ปีก่อน จินตนาการ นางเงือก ตัวละครเอกในวรรณกรรมของ สุนทรภู่ กวีผู้มีชีวิตอยู่ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1-3) ถูกเผยแพร่ในรูปแบบนิทานคำกลอนชื่อเรื่อง พระอภัยมณี เล่าถึงความรักของเงือกสาวกับเจ้าชายรูปงาม และมหากาพย์ชีวิตสุดโลดโผน ซึ่งเริ่มแรกนิทานคำกลอน พระอภัยมณี มีคนคัดเรื่องแจกจ่ายกันไปอ่าน ก่อนจะถูกรวบรวมตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกราว พ.ศ.2376 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับที่นิทานเรื่องเงือกน้อย The Little Mermaid (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2380) ของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) กำลังเป็นที่พูดถึงในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นต้นเรื่องของตัวละคร แอเรียล ในภาพยนตร์ดังของ วอลท์ ดิสนีย์
เงือกไทยใน “พระอภัยมณี”
เรื่องราวของ พระอภัยมณี เจ้าชายรูปงาม วาจาดี เป่าปี่ไพเราะดังต้องมนต์จนชะตาชักพา นางผีเสื้อสมุทร ให้มาตกหลุมรัก และนางยักษ์ผู้แปลงกายเป็นมนุษย์สาวสวยได้ก็ลักพาตัวพระอภัยมณีไปเป็นสามีที่ถ้ำกลางทะเล แม้จะอยู่กินกันมาถึง 8 ปี และมีลูกชายด้วยกันหนึ่งคนชื่อ สินสมุทร แต่พระอภัยมณีก็รู้ว่าเมียเป็นยักษ์และตัวเองถูกกักบริเวณในถ้ำจึงได้วางแผนคิดหนี เมื่อได้เจอ นางเงือก หน้าตาเป็นหญิงสาวสวย แต่ท่อนล่างเป็นหางปลา นางเงือกจึงอาสาช่วยพระอภัยมณีและสินสมุทร หนีมาหลบภัยบน เกาะแก้วพิสดาร และได้ครองรักกับ นางเงือก ในที่สุดและให้กำเนิดบุตรชื่อ สุดสาคร
สำหรับที่มาของตัวละครนางเงือกในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี นั้น ไม่มีบทบันทึกจาก สุนทรภู่ ที่ชี้ชัดว่าได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องใดหรือบุคคลใดโดยเฉพาะ แต่มีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นการผสมผสานจากความเชื่อและตำนานเรื่องเล่านางเงือกจากฝั่งตะวันตกในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นที่มีชาวตะวันตกอยู่ในสยาม และรากวัฒนธรรมเดิมของฝั่งตะวันออก เช่น มีการใช้คำว่า “เงือก” ในความหมายถึง “นาค” หรือ “งูน้ำ” เคยปรากฏใน ลิลิตโองการแช่งน้ำ วรรณคดีเก่าแก่ของไทยสมัยพระเจ้าอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยา หรืออย่างในเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย แต่งโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมัยรัชกาลที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ปรากฏลักษณะตัวละครที่มีรูปร่างครึ่งคนเพศหญิงครึ่งปลา อีกทั้งยังมีตัวละคร นางสุพรรณมัจฉา ในวรรณคดี รามเกียรติ์ ที่สืบสานมาจากมหากาพย์รามายณะของอินเดีย เรียกได้ว่ามีตำนานเกี่ยวกับนางเงือกอยู่มากในวรรณคดีทั่วโลก ทั้งของยุโรป แอฟริกา และเอเชีย โดยตัวละคร นางเงือก มักจะถูกโยงเข้ากับเหตุการณ์น้ำท่วม มีพายุ เรือล่ม และลูกเรือที่จมน้ำโดยนางเงือกที่เก่าแก่และรู้จักกันอย่างแพร่หลายที่สุดในโลกตะวันตกน่าจะได้แก่ ไซเรน (Siren หรือ Syren) ในเทวตำนานกรีก ซึ่งเดิมมีลักษณะคนครึ่งนกก่อนจะมาเป็นคนครึ่งปลาในภายหลัง
วรรณกรรมสู่ประติมากรรม
นอกจากจะถูกเล่าขานในวรรณกรรมแล้ว นางเงือกฉบับไทยยังถูกจารึกเป็นงานประติมากรรมกลายเป็นจุดดึงดูดสำคัญของสถานที่ท่องเที่ยวด้วยงานประติมากรรมนางเงือกชิ้นสำคัญ มีทั้งงานออกแบบโดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ริเริ่มในปี 2498 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี การถึงแก่อสัญกรรมของสุนทรภู่ โดยมีนายเสวตร เปี่ยมพงษ์สานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เป็นผู้เสนอโครงการจัดทำอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ซึ่งรวมงานประติมากรรมรูปหล่อ สุนทรภู่ พระอภัยมณี นางผีเสื้อสมุทร และนางเงือก ที่ตั้งไว้ในพื้นที่บ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เพื่อเป็นอนุสาวรีย์เชิดชูกวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ และปักหมุดให้จังหวัดระยองในฐานะถิ่นกำเนิดของสุนทรภู่ตามประวัติพื้นเพบิดาและการใช้ชีวิตช่วงหนึ่งของ สุนทรภู่ บวกกับความเป็นไปได้ว่าสุนทรภู่อาจจะได้แรงบันดาลใจเกาะแก้วพิสดารจาก “เกาะเสม็ด” ระยองและทะเลแถบนี้
งานศิลปะที่มาจากเรื่องราว พระอภัยมณี ยังปรากฏให้เห็นอีกหลายที่ทั้งในแบบศิลปะประดับตกแต่งโดยช่างในท้องถิ่น หรืองานพาณิช งานเพื่อการศึกษา หุ่นขี้ผึ้ง พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม รวมถึงเป็น “แลนด์มาร์ก” ของสถานที่ท่องเที่ยวเกาะเสม็ด รูปปั้นสำริดของนางเงือกในบทบาทแม่ขนาดมหึมาบนเกาะเสม็ด หรือกระทั่งงานปั้นจากเรื่องราวผีเสื้อสมุทรกับการเผชิญหน้ากับพระอภัยมณีครั้งสุดท้ายที่หาดนางรำ จังหวัดชลบุรี หาดปึกเตียน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ฯลฯ Sarakdee Lite ขอมัดรวมพิกัดรูปปั้น นางเงือก ชิ้นสำคัญของไทยจากวรรณคดี ความเชื่อ ตำนาน สู่งานประติมากรรม
ชื่อผลงาน : นางเงือก
ผู้ออกแบบ : ศิลป์ พีระศรี
ประติมากร : สาโรจน์ จารักษ์
พิกัด : อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
วาระในการสร้าง : ปี 2498 งานฉลองครบรอบ 100 ปี มรณกาล (ครบรอบวันเสียชีวิต) ของสุนทรภู่
ต้นเรื่อง
ตัวละครนางเงือกช่วยเหลือพาพระอภัยมณีหนีจากนางผีเสื้อสมุทร ว่ายน้ำข้ามทะเลมาหลบภัยที่เกาะแก้วพิสดาร สุนทรภู่ ใช้คำว่า “เงือกน้ำ” ถือเป็นหนึ่งในตัวละครอมตะที่โด่งดังที่สุดในวรรณคดีไทย เป็นจินตนาการหญิงสาวจากท้องทะเลที่มีลักษณะครึ่งคนครึ่งปลา ที่พบเห็นได้ในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก และตัวละครนี้ยังมีทั้งเรื่องราวโรแมนติกและความลี้ลับที่เล่าขานกันไม่จบ
เกี่ยวกับประติมากรรม
รูปปั้นหล่อนางเงือกเอนกายในท่วงท่าชูหางปลาบนโขดหินกลางสระน้ำ ถ่ายทอดลักษณะหญิงสาวผมยาวเรือนร่างกลมกลึงและลีลาอ่อนช้อย มีท่อนล่างเป็นหางปลา ตามที่ระบุในนิทานคำกลอนสุนทรภู่ รูปปั้น นางเงือก เป็นหนึ่งในสี่งานประติมากรรมออกแบบโดย อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และปั้นโดยประติมากรสี่คน สำหรับรูปปั้นนางเงือกปั้นโดย สาโรจน์ จารักษ์ จัดทำขึ้นพร้อมกับการสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ 2513 บนพื้นที่กว่า 8.5 ไร่ โดยบริเวณนี้มีทั้งงานศิลปะและบ้านทรงไทยจำลองเกี่ยวข้องกับผลงานและประวัติของสุนทรภู่ สถานที่ตั้งตามประวัติเป็นบ้านเกิดบิดาของสุนทรภู่ (อ้างอิงตามบทพระนิพนธ์เรื่องชีวิตและงานของสุนทรภู่ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตีพิมพ์ปี 2456)
ชื่อผลงาน : รักแท้
ผู้ออกแบบ : หริธร อัครพัฒน์
ประติมากร : หริธร อัครพัฒน์
พิกัด : หาดทรายแก้ว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง
วาระในการสร้าง : ประติมากรรม “รักแท้” เป็นส่วนหนึ่งในโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์เพิ่มจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวบริเวณหาดทรายแก้ว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง เมื่อปี 2558
ต้นเรื่อง
เรื่องราวในตอน “พระอภัยมณีหนีผีเสื้อสมุทร” นางเงือกพาพระอภัยมณีว่ายน้ำข้ามทะเลจากถ้ำของนางผีเสื้อสมุทรมาหลบภัยบนเกาะแก้วพิสดารจนกระทั่งเกิดความสัมพันธ์ได้บุตรมาหนึ่งคนคือสุดสาคร แต่ด้วยธรรมชาติที่เป็นครึ่งคนครึ่งปลา สามารถดูแลร่างกาย พาแหวกว่ายและให้นมได้ แต่การอบรมบ่มสอนและเลี้ยงดูบุตรที่เป็นมนุษย์เต็มตัวนั้นมีพระฤาษีทรงศีลเป็นผู้อุปถัมภ์ จนกระทั่งสุดสาครเติบโตออกไปผจญภัยจนได้ช่วยพระบิดาพระอภัยมณีรบศึกสร้างเมือง โดยที่นางเงือกใช้ชีวิตตามวิถีและปฏิบัติธรรมหวังผลให้หลุดพ้นจากความโศกเศร้าและชะตากรรมอาภัพที่เกิดมาเป็นครึ่งคนครึ่งสัตว์ ซึ่งในความเชื่อทางพุทธศาสนาถือว่ายังมิได้เป็นสัตว์ประเสริฐเช่นเดียวกับมนุษย์
เกี่ยวกับศิลปะ
รูปปั้นนางเงือกอุ้มสุดสาครสูงถึง 4 เมตร งานประติมากรรมชื่อ “รักแท้” เป็นงานศิลปะที่ตีความรักแท้ของแม่ที่มีต่อลูก สถานะของแม่เงือกที่เปรียบได้กับความรักของแม่ธรรมชาติกับมนุษย์ บนเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง สถานที่ซึ่งถูกเชื่อมโยงกับวรรณคดีของสุนทรภู่ ทั้งจากพื้นเพของบิดาของนักประพันธ์และสถานที่แห่งแรงบันดาลใจของเกาะแก้วพิสดาร ฉากเหตุการณ์ตอนนางเงือกกับพระอภัยมณีที่นักประวัติศาสตร์ได้ตีความกันว่าน่าจะเป็นเกาะแก้วพิสดารคือเกาะเสม็ด เนื่องจากประวัติช่วงชีวิตวัยหนุ่มของสุนทรภู่ที่มาพำนักอยู่ในแถบนี้ แม้ว่าตีความจากความสมจริงจากเรื่องราวที่เขียนถึงมีการแล่นเรือทำมาค้าขายแล้ว เกาะแก้วพิสดารควรจะอยู่ทะเลฝั่งอันดามันมากกว่าฝั่งอ่าวไทยหรือระยอง นอกจากรูปปั้นนางเงือกบนเกาะเสม็ดแล้ว ที่ท่าเทียบเรือบ้านเพข้ามฝั่งสู่เกาะเสม็ดยังมีรูปปั้นนางผีเสื้อสมุทรนางยักษ์คู่กรณีของพระอภัยมณีและนางเงือกยืนตระหง่านต้อนรับผู้มาเยือนด้วย
ชื่อผลงาน : นางเงือกกับพระอภัยมณี
ศิลปิน : นิรนาม
พิกัด : หาดทรายแก้ว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง
ต้นเรื่อง
หลังจากพาพระอภัยมณีหนีจากนางผีเสื้อสมุทรมาพำนักที่เกาะแก้วพิสดาร เรื่องราวความรักของพระอภัยมณีกับนางเงือก ความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยแรงปรารถนา และมีความแฟนตาซีของตัวละครต่างเผ่าพันธุ์ สุนทรภู่ได้บรรยายบทรักหรือบทอัศจรรย์ไว้อย่างโลดโผน เป็นบทที่แสดงความชื่นชมลุ่มหลงและจินตนาการโรแมนติก
เกี่ยวกับศิลปะ
รูปปั้นนางเงือกและพระอภัยมณีถูกสร้างขึ้นรองรับจินตนาการและการตีความว่าเกาะเสม็ดคือสถานที่จริง หรืออย่างน้อยก็เป็นแรงบันดาลใจของสถานที่เกิดเหตุแห่งรักของคู่นี้ในวรรณคดีของสุนทรภู่ตามลักษณะของชายหาดสีขาวใสเหมือนแก้ว พ้องกับชื่อเกาะแก้วพิสดาร
รูปปั้นพระอภัยมณีในท่าเป่าปี่ และนางเงือกที่ท่อนบนเป็นหญิงสาวท่อนล่างเป็นหางปลามีเกล็ด นั่งอยู่ข้างๆ ให้อารมณ์โรแมนติกของคู่รัก สีสันสดใส ผ้านุ่งของพระอภัยมณีและท่อนล่างของนางเงือกเป็นสีเขียวครามน้ำทะเลรับกับสีของทะเลบนเกาะเสม็ด ขณะที่เครื่องประดับเป็นสีทอง
หาดทรายแก้วที่ตั้งของรูปปั้นเป็นหาดทรายสีขาวน้ำทะเลใส เป็นจุดจอดเรือที่ข้ามฝั่งมาจากท่าเรือบ้านเพ จึงเป็นจุดแรกๆ ที่ผู้มาเยือนได้สัมผัสเมื่อเข้ามาเกาะเสม็ด ซึ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด
ชื่อผลงาน : เงือกทอง
ผู้ออกแบบ : อาจารย์จิตร บัวบุศย์
พิกัด : หาดสมิหรา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
วาระในการสร้าง : 1 เมษายน พ.ศ. 2509
เกี่ยวกับศิลปะ
อีกหนึ่งประติมากรรมนางเงือกที่โด่งดังในประเทศไทยคือ เงือกทอง (Golden Mermaid) รูปหล่อบรอนซ์รมดำ รูปนางเงือกในท่ากำลังหวีผม ตั้งอยู่บนโขดหินหน้าหาดสมิหรา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ต้นเรื่องไม่ได้มาจากสุนทรภู่ แต่มาจากนิยายปรัมปราท้องถิ่น ซึ่ง นายชาญ กาญจนาคพันธุ์ ปลัดจังหวัดสงขลาและนายกเทศมนตรีเมืองสงขลา บุตรชายของ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) เคยฟังจากบิดา เรื่องราวของนางเงือกผมยาวกำลังนั่งหวีผมอยู่บนชายหาดตกใจที่เห็นชายชาวประมงเดินผ่านมารีบหนีลงทะเลจนลืมหวีทองคำ ชายชาวประมงเก็บมันไว้และเฝ้ารอเธอกลับมา แต่นางเงือกไม่เคยปรากฏกายให้เห็นอีกเลย
นายชาญริเริ่มโครงการสร้างสัญลักษณ์วัตถุประจำเมืองสงขลา สร้างด้วยงบประมาณของเทศบาล และมอบหมายให้ อาจารย์จิตร บัวบุศย์ ประติมากรชื่อดังผู้ปั้นพานรัฐธรรมนูญบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นผู้ออกแบบและปั้นหล่อด้วยวัสดุบรอนซ์รมดำ มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2509
อ้างอิง
- นิตยสารสารคดี ฉบับมิถุนายน พ.ศ. 2565/ มิถุนายน พ.ศ. 2537/ มีนาคม พ.ศ. 2551
- นิทานคำกลอนสุนทรภู่เรื่องพระอภัยมณี พิมพ์ครั้งที่ 16 สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร พ.ศ. 2544 (พิมพ์ครั้งแรกปี2507) http://bitly.ws/JxpT
- เว็บไซต์ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ https://vajirayana.org/
- www.songkhla-ht.org/
- www.เกาะเสม็ด.com