
ที่สุด ตู้ลายทอง จากสกุลช่างครูวัดเชิงหวายกรุงศรีอยุธยา สู่รัตนโกสินทร์
- นิทรรศการ ตู้ลายทอง จัดแสดงตู้พระธรรมที่ส่วนใหญ่ประดับตกแต่งด้วยลายรดน้ำปิดทอง ภูมิปัญญางานช่างไทยตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลายถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์
- ตู้ลายทอง แต่เดิมใช้สำหรับเก็บหนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนคร ซึ่งปัจจุบันคืออาคารถาวรวัตถุ ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ และนี่เป็นครั้งแรกในรอบเกือบศตวรรษที่โบราณวัตถุเหล่านี้ได้กลับมายังสถานที่เดิมอีกครั้งในนิทรรศการตู้ลายทอง
- งานระดับมาสเตอร์พีซที่นำมาจัดแสดง อาทิ ตู้ลายรดน้ำฐานสิงห์ฝีมือครูวัดเชิงหวายสมัยปลายอยุธยา และ ตู้ลายรดน้ำแฝดทรงขาหมู4 ใบของช่างสมัยต้นรัตนโกสินทร์
ตู้ลายทอง หรือ ตู้พระธรรมที่ส่วนใหญ่ประดับตกแต่งด้วยลายรดน้ำปิดทอง จำนวน 47 ใบโดยช่างฝีมือในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งเคยใช้สำหรับเก็บหนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนครในสมัยรัชกาลที่ 6 (ปัจจุบันคืออาคารถาวรวัตถุ ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ) ได้ถูกนำกลับมายังถิ่นฐานเดิมในฐานะโบราณวัตถุทรงคุณค่า เพื่อจัดแสดงใน นิทรรศการตู้ลายทอง ณ อาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สืบเนื่องจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเล็งเห็นคุณค่าของ ตู้ลายทอง อันเป็นภูมิปัญญางานช่างไทยสมัยโบราณจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมตู้พระธรรมลายรดน้ำ หรือก็คือ ตู้ลายทอง จากวัดต่างๆ เพื่อนำมาใช้เป็นตู้ใส่หนังสือใน หอพระสมุดวชิรญาณ สำหรับพระนคร ภายในพระบรมมหาราชวังนับตั้งแต่ พ.ศ.2448 จนกระทั่งมีการย้ายหอพระสมุดฯ มาที่อาคารถาวรวัตถุ อันเป็นสถานที่ตั้งของ หอพระสมุดสำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ. 2459 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ตู้ลายทองเหล่านั้นจึงถูกเคลื่อนย้ายออกมาและยังคงทำหน้าที่เป็นตู้ใส่หนังสือเช่นเดิม
ปัจจุบันตู้ลายทองที่เคยเป็นตู้หนังสือรวมทั้งตู้ลายทองฝีมือชั้นครูของไทยจำนวนกว่า 300 ใบ ถูกเก็บรักษาอยู่ที่ หอสมุดแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี) โดยในนิทรรศการนี้ได้นำ ตู้ลายทอง ในคอลเลกชันดังกล่าวมาจัดแสดงจำนวน 47 ใบ โดยตู้ที่คัดเลือกมาส่วนใหญ่เน้นตามรายการที่ปรากฏในหนังสือ “ตู้ลายทอง ภาค 1 (สมัยอยุธยาและธนบุรี)” ที่เคยตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2523 และปัจจุบันกรมศิลปากรได้นำมาตีพิมพ์และปรับปรุงใหม่แบบปกแข็ง 4 สีทั้งเล่ม

ในนิทรรศการ ตู้ลายทอง จัดแบ่งเป็นห้องตามหัวข้อต่างๆ เริ่มจากรูปทรงของขาตู้แบบต่างๆ อันเป็นที่มาของชื่อเรียกตามรูปทรง เช่น ตู้ขาหมู และตู้ฐานสิงห์ และจัดแสดงตามลวดลายของตู้ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ รอยพระพุทธบาท รามเกียรติ์ ทวารบาล ชาดกและพุทธประวัติ
นอกจากเทคนิคลายรดน้ำปิดทองซึ่งเป็นลักษณะโดดเด่นของตู้ส่วนใหญ่ บางตู้ยังเป็นงานไม้จำหลักคือแกะสลักเป็นลวดลายและตกแต่งด้วยกระจกสี และบางตู้เป็นลายกำมะลอคือการใช้สีฝุ่นผสมน้ำรักเขียนบนพื้นไม้ที่ทาด้วยยางรักสีดำและใช้สีทองเป็นเส้นตัดเพื่อให้เห็นลวดลายเด่นชัด

ตู้ลายทองแฝด 4 ใบ งานฝีมือช่างกรุงรัตนโกสินทร์
ไฮไลต์ของนิทรรศการคือห้องที่มีหลังคาทรงโดม จัดแสดงตู้ลายรดน้ำแฝด 4 ใบ ที่ตั้งแบบหลังวางพิงกันซึ่งแต่ละใบมีความสูง 245 เซนติเมตร กว้าง 90 เซนติเมตร ส่วนลวดลายรดน้ำปิดทองเป็นศิลปะงานช่างสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่เล่าเรื่องสืบเนื่องกันทั้ง 4 ใบ เกี่ยวกับการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 1-3 จนกระทั่งถึงสมัยพระพุทธโฆษะ ตั้งแต่ พ.ศ.1-1000 และเมื่อครั้งอาคารถาวรวัตถุแห่งนี้ถูกใช้เป็นหอพระสมุดสำหรับพระนคร ตู้แฝดทั้ง 4 ใบก็ตั้งอยู่ในห้องนี้เช่นกัน นี่จึงเป็นการกลับมาเยือนสถานที่เดิมครั้งแรกในรอบกว่าศตวรรษ

“ชุดตู้แฝดทรงขาหมู4 ใบที่ตั้งพิงกัน เป็นงานช่างสมัยรัชกาลที่ 3 ลวดลายเล่าเรื่องรอยพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏในลังกาทวีปซึ่งเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยให้ความเคารพนับถือมาแต่โบราณ โดยมีสัญลักษณ์สำคัญในภาพคือ บันไดโซ่ ที่ในสมัยโบราณคนจะปีนสายโซ่นี้เพื่อขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา และที่น่าสนใจคือในลวดลายยังสอดแทรกวิถีชีวิตผู้คน เช่น คนหาบของขาย คนกำลังทำนา และแร้วสำหรับดักสัตว์ ซึ่งจะแตกต่างจากงานช่างในสมัยอยุธยา” ยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อธิบาย
ตู้ลายรดน้ำปิดทองมักเขียนลาย 3 ด้านคือด้านหน้าและด้านข้างทั้ง 2 ด้าน ส่วนด้านหลังที่มักตั้งชิดผนังนิยมลงรักหรือทาสี ดังนั้นบางตู้จึงมีการดัดแปลงโดยเปลี่ยนด้านหลังตู้ให้เป็นบานกระจกเพื่อเปิดตู้จากด้านหลังแทน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์เพราะช่วยหลีกเลี่ยงสัมผัสบานตู้ด้านหน้าที่อาจทำให้ลวดลายลงรักปิดทองลบเลือน และยังสะดวกต่อการใช้งานเพราะสามารถมองเห็นสมุดในตู้ได้จากบานกระจก

ในการอนุรักษ์ตู้พระธรรมนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดฯ ได้ทรงอธิบายไว้ในพระนิพนธ์ เรื่อง ตำนานหอพระสมุด ระบุว่า
“…อนึ่ง ตู้ไทยของโบราณมักปิดทองแลเขียนลายแต่ ๓ ด้าน ด้านหลังเปนแต่ลงรักฤาทาสี การที่จะใช้ใส่หนังสือในหอพระสมุดฯ ได้คิดแก้ติดบานกระจกเปิดข้างด้านหลังให้แลเห็นสมุดในตู้นั้นได้ แลไม่ต้องจับทางข้างบานตู้ให้ลายหมอง…”
ศิวพร เฉลิมศรี นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ในสมัยโบราณ ตู้พระธรรมสร้างขึ้นเพื่อพิทักษ์พระไตรปิฎกโดยในตู้มีชั้นวาง 3 ชั้น ไม่มีการตกแต่งลวดลายโดยนิยมแค่ลงรักแดงทึบ ชั้นบนสุดไว้สำหรับเก็บพระอภิธรรมปิฎกเรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนชั้นที่ 2 สำหรับพระสุตตันตปิฎกว่าด้วยเรื่องพระธรรมเทศนา และชั้นล่างสุดเกี่ยวกับพระวินัย”

ตู้ขาหมู ตู้ฐานสิงห์สกุลช่างครูวัดเชิงหวาย และที่มาชื่อตู้ทรงอายัด
สำหรับห้องแรกของนิทรรศการจัดแสดง ตู้ลายทอง ซึ่งขาตู้นิยมทำเป็นรูปลักษณะแตกต่างกันและมีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น ตู้ขาหมู เป็นขาตรงทรงสี่เหลี่ยมทั้ง 4 ขา ตู้เท้าสิงห์ มีการจำหลักส่วนล่างของขาตู้ให้เป็นรูปเท้าสิงห์มีนิ้วและเล็บสิงห์ ตู้ฐานสิงห์ เป็นตู้ที่ไม่มีขาแต่ตั้งอยู่บนแท่นฐานเป็นชั้นซ้อนจำหลักลายรูปขาสิงห์ และ ตู้เท้าคู้ ซึ่งขาตู้ตอนบนเป็นเสาตรงแต่ลบเหลี่ยมนอกส่วนตอนล่างของขาโค้งคู้เข้าหาส่วนกลางของตู้

หนึ่งในงานระดับมาสเตอร์พีซของสมัยปลายอยุธยาที่จัดแสดงในห้องนี้คือ ตู้ลายทองฐานสิงห์ฝีมือครูวัดเชิงหวาย ซึ่งเป็นงานช่างฝีมือชั้นสูงยุคเดียวกับตู้พระธรรมลวดลายรดน้ำปิดทองที่เป็นโบราณวัตถุชิ้นเอกของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และได้รับการยกย่องว่าเป็นตู้พระธรรมที่งดงามที่สุดในประเทศไทย
“ลวดลายกนกเครือเถาวัลย์มีความอ่อนช้อย กลมกลืนและซ้อนทับกันอย่างวิจิตรและมีความยาวกว่า 2 ชั้นครึ่ง มีสิงสาราสัตว์แทรกอยู่ตามลายกนก ถือเป็นตู้ครูของผู้เรียนจิตรกรรมไทย ฝีมือช่างสมัยอยุธยานั้นวาดเส้นกนกได้อ่อนช้อยและเคลื่อนไหว การวางลายไม่มีกฎเกณฑ์แต่เป็นไปตามจินตนาการของช่าง จังหวะกนกจึงไม่ซ้ำกัน” ยุทธนาวรากร กล่าว

อีกหนึ่งผลงานชิ้นเยี่ยมคือ ตู้ทรงอายัด ซึ่งเป็นตู้ลายรดน้ำทรงขาหมูมีลิ้นชักวาดภาพพระนารายณ์และภาพสัตว์ลายกนกโดยฝีมือช่างสมัยธนบุรี ตามประวัตินั้นแต่เดิมตู้ใบนี้อยู่ที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดสุพรรณบุรี และเมื่อครั้งกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรีได้ทอดพระเนตรเห็นความสวยงามและต่อมาได้รับมาตั้งไว้ที่ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย จากนั้นรัชกาลที่ 5 เสด็จมาทอดพระเนตรและมีรับสั่งอายัดไว้แก่กรมพระยาดำรงฯ ว่าอย่าให้แก่ใครไปเสียจึงได้เรียกตู้ใบนี้ว่า ตู้ทรงอายัด นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ส่วนงานชิ้นเอกฝีมือช่างสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นตู้ลายรดน้ำปิดทองเท้าคู้มีลวดลายกนกเครือเถาและสิงสาราสัตว์เล่าเรื่อง มโหสถชาดก
“ลักษณะลายโดยช่างสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีความสมมาตรและเป็นแบบแผนมากกว่าสมัยอยุธยาที่นิยมเขียนสด ส่วนงานช่างสมัยธนบุรีเป็นระยะคาบเกี่ยวกับสมัยปลายอยุธยาจึงสันนิษฐานว่าช่างฝีมือในสมัยธนบุรีอาจจะเป็นช่างฝีมือในสมัยอยุธยาสืบมาเนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันมาก ตู้ที่เราระบุว่าเป็นฝีมือช่างสมัยธนบุรีจึงเป็นตู้ที่มีจารึกระบุไว้แน่ชัด” ยุทธนาวรากร กล่าว
“ตู้ฐานสิงห์เป็นที่นิยมในสมัยอยุธยา ส่วนตู้เท้าคู้นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับช่างฝีมือในการเลือกทำขาตู้แบบต่างๆ” ศิวพรกล่าวเพิ่มเติม

ลวดลายเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ทวารบาลและชาดก
งานศิลปกรรมไทยสมัยอยุธยาตอนปลายและต้นกรุงรัตนโกสินทร์นิยมเขียนลายภาพยกทัพรบจากเรื่องรามเกียรติ์ซึ่งลวดลายของตู้ลายทองก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ตอนจองถนนในศึกมัยราพณ์ ตอนโมกขศักดิ์ในศึกกุมภกรรณ ตอนศรพรหมาสตร์ในศึกอินทรชิต นอกจากนี้ยังมีรูปทวารบาลโดยนิยมเขียนเป็นรูปเทวดาเต็มเนื้อที่ของตู้พระธรรมเพื่อเป็นเทพพิทักษ์
“ในพระพุทธศาสนา เจดีย์มี 4 ประเภท คือ ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์ และอุเทสิกะเจดีย์ ดังนั้นการสร้างตู้พระไตรปิฎกหรือตู้พระธรรมเปรียบเหมือนการสร้างเจดีย์อย่างหนึ่งเพื่อพิทักษ์พระธรรมคัมภีร์” ยุทธนาวรากร กล่าว

อีกหนึ่งเรื่องราวที่นิยมนำมาเขียนเป็นลวดลายลงบน ตู้ลายทอง คือการเล่าเรื่องชาดกซึ่งมีทั้งนิบาตชาดก หรือชาดกที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก 547 เรื่องโดยเรื่องที่นิยมคือเรื่องทศชาติชาดก และชาดกนอกนิบาตอีก 50 เรื่องซึ่งไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก เช่นเรื่องพระสุธน-มโนราห์ และเรื่องสังข์ทอง
“เรื่องที่พบไม่บ่อยนักคือเรื่องท้าวอุเทน แต่มีอยู่ 1 ตู้ที่เล่าเรื่องนี้โดยสังเกตได้จากรูปที่มีพระราชเทวีคลอดลูกบนต้นไทร นอกจากนี้ยังมีตู้อีก 4 ใบที่เล่าเรื่องโสวัตซึ่งเราก็เพิ่งเห็นชัดเจนเมื่อนำตู้มาจัดแสดงในนิทรรศการนี้”

เหรียญที่ระลึกและเหรียญราชอิสริยาภรณ์ในรัชกาลที่ 5
นอกจาก นิทรรศการตู้ลายทอง แล้ว อาคารถาวรวัตถุยังจัดแสดง นิทรรศการ เหรียญที่ระลึกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นำเสนอเหรียญแบบต่างๆที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึกในวาระสำคัญต่าง ๆ รวมไปถึงเหรียญราชอิสริยาภรณ์

เหรียญสำคัญที่จัดแสดง อาทิ เหรียญที่ระลึกสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี สร้างเมื่อ พ.ศ.2425 และ เหรียญที่ระลึกในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 18 พรรษาของรัชกาลที่ 5 สร้างเมื่อ พ.ศ. 2414 เรียกว่า “เหรียญหลักแจว” ซึ่งเป็นเหรียญเงินทรงกลมแบนและด้านหน้าเป็นพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 ผินพระพักตร์ทางด้านซ้ายของเหรียญ และพระเกศาทรงมหาดไทยหรือที่เรียกว่า ทรงหลักแจว อันเป็นที่มาของชื่อเรียกเหรียญชนิดนี้ เหรียญหลักแจวยังเป็นเหรียญที่พิมพ์พระบรมรูปของพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรกของสยาม

นอกจากนี้ยังจัดแสดงเข็มอักษรที่ระลึกเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 1 (ร.ศ.116 หรือ พ.ศ.2440) และครั้งที่ 2 (ร.ศ.126 หรือ พ.ศ.2450) ที่พระราชทานแก่ผู้ตามเสด็จและผู้อยู่รักษาพระนครไว้ติดบนแพรแถบซึ่งนับว่าเป็นเข็มที่ระลึกที่หายากมากเพราะมีจำนวนน้อย
เนื่องจากอาคารถาวรวัตถุได้สร้างขึ้นตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 เพื่อให้เป็นอาคารประกอบเนื่องในการพระเมรุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อพ.ศ.2439 หากแต่การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จทันได้ใช้ตามพระราชดำริตราบจนสิ้นรัชกาลจนล่วงมาในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 การก่อสร้างจึงแล้วเสร็จและใช้เป็นสถานที่ตั้งของหอพระสมุดสำหรับพระนคร กรมศิลปากรจึงได้อัญเชิญพระบรมรูปปูนปลาสเตอร์รัชกาลที่ 5 ฉลองพระองค์เต็มยศจอมพล ซึ่งพิมพ์จำลองจากพระบรมรูปหล่อสำริดในปราสาทพระเทพบิดรมาประดิษฐานในห้องจัดแสดงเหรียญ ทั้งนี้พระบรมรูปองค์นี้ยังเคยประดิษฐานในบุษบกมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทสำหรับราษฎรสดับปกรณ์อุทิศถวายพระราชกุศลในงานพระบรมศพรัชกาลที่ 5
Fact File
- นิทรรศการตู้ลายทอง และนิทรรศการเหรียญที่ระลึกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดง ณ อาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ ทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
- หนังสือ ตู้ลายทอง ภาค 1 (สมัยอยุธยาและธนบุรี) ฉบับตีพิมพ์และปรับปรุงใหม่ในรูปเล่มปกแข็งจำนวน 320 หน้า ราคา 870 บาท ซื้อได้ที่อาคารถาวรวัตถุ หรือออนไลน์ที่ https://bookshop.finearts.go.th
- ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/FineArtsDept/
