เที่ยวสุโขทัย ฉบับเมืองคราฟท์ กับ 3 สตูดิโอที่ดึงตัวตนสุโขทัยมาทำเวิร์คช็อป
- สตูดิโองานคราฟท์ 3 แห่งในเมืองสุโขทัยพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งเพื่อจุดประกายไฟศิลปะหลังร้างนักท่องเที่ยวเนื่องจากสถานการณ์โควิด
- กะเณชาแกลลอรี ชวนปั้นและเขียนลายสังคโลกซึ่งเป็นของดีของขึ้นชื่อของสุโขทัย ในขณะที่สวนปั้นสุขชวนหาความสุขง่ายๆ จากการปั้นดิน และบ้านพิมพ์พระลักษมณศิลป์พาไปเรียนรู้พุทธศิลป์ของสุโขทัยผ่านการพิมพ์พระ
เที่ยวสุโขทัย ไปไหนดี? คำตอบนั้นไม่ได้มีแต่เมืองเก่า โบราณสถาน แต่สุโขทัยยังเป็นเมืองที่โดดเด่นด้วยเรื่องงานคราฟท์ เช่นเดียวกับ 3 สตูดิโอพิกัดสุโขทัยเหล่านี้ที่ Sarakadee Lite จะพาไปปักหมุด เที่ยวสุโขทัย ฉบับหยุดความวุ่นวายแล้วมาเติมไฟศิลปะในตัวคุณกัน
ปั้นความสุขด้วยดิน 1 กิโลกรัม
ห่างจากใจกลางอำเภอเมือง สุโขทัย ประมาณ 7 กิโลเมตรคือ สวนปั้นสุข สตูดิโอเซรามิกของ ครูปุย ภารุจีร์ บุญชุ่ม ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณบ้านสวนร่มรื่นของครอบครัว เรียกว่าคนมาเรียนต้องตั้งใจมาเพราะไม่มีป้ายบอกทางใดๆ ทั้งสิ้นต้องสอบถามปักหมุดโลเกชันกันให้ดี แต่บอกได้เลยว่ามาแล้วคุ้มเพราะคนสอนๆด้วยใจและคนเรียนจะใช้เวลาที่นี่นานแค่ไหนก็ได้
“เราแค่สอนเทคนิค ใครอยากปั้นอะไรก็บอกเราจะสอนให้” ครูปุย กล่าวอย่างอารมณ์ดี
สตูดิโอที่นี่เปิดมา 7 ปีแล้วแต่เป็นที่รู้จักกันเฉพาะกลุ่มคนที่หลงใหลเซรามิก ความชื่นชอบในงานเซรามิกของครูปุยก่อตัวขึ้นเมื่อครั้งเรียนอยู่ที่วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการผลิตเซรามิกของประเทศไทย
“อยู่ที่ลำปางทำให้เราได้เห็นเซรามิกหลายแบบ หลายเทคนิคทั้งแบบมือ แบบฟรีแฮนด์ สีเลอะๆ รูปทรงบิดๆเบี้ยวๆ จึงสนใจอยากลองทำดูจึงไปลงเรียนคอร์สสั้นๆที่ศูนย์อุตสาหกรรมเครืองปั้นดินเผา เริ่มแรกก็เรียนเรื่องการทำแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ หลังจากนั้นก็เรียนแบบครูพักลักจำ ไปขอคำแนะนำคุณครูบ่อยๆ หลายๆ เรื่องเช่น เรื่องการผสมดิน การทำน้ำเคลือบ เรียนรู้มาเรื่อยๆตลอด 4 ปีที่เรียนอยู่ที่ลำปาง”
หลังเรียนจบครูปุยจึงกลับบ้านที่สุโขทัยและเรียนเพิ่มเติมกับ ครูอนุรักษ์ บุญคง ผู้ก่อตั้งโมทนาเซรามิค สตูดิโอชื่อดังแห่งหนึ่งของสุโขทัยเพราะสนใจเทคนิคการทำน้ำเคลือบที่มีเอกลักษณ์จากนั้นจึงเปิดสตูดิโอของตัวเองเมื่อ 7 ปีที่แล้ว
“ยิ่งค้นหา ยิ่งสนุก ยิ่งลองทำ ยิ่งหลงใหลเพราะศาสตร์ของเซรามิกเป็นสิ่งที่เหนือการคาดเดา ด้วยปัจจัยประกอบไม่ว่าจะเป็นดิน ฟ้า อากาศ การรอคอยผลงานที่จะออกมาจากเตาเผา คือ การลุ้นทุกครั้งว่ารูปทรงจะเป็นดั่งที่ปั้นไว้ น้ำเคลือบจะให้สีตามที่หวังไว้หรือไม่ยิ่งลุ้นก็กลายเป็นยิ่งเพิ่มเสน่ห์ให้งานเซรามิก”
เวิร์คช็อปเซรามิก “ปั้นอะไรก็ได้” ที่สวนปั้นสุข ครูปุยจะเตรียมดินให้คนละ 1 กิโลกรัม สำหรับปั้นสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นถ้วยกาแฟพร้อมจานรอง จานหรือชามและเศษดินเหลือจะปั้นเป็นต่างหู หรือตุ๊กตาตัวเล็กๆสำหรับเกาะปากแก้วก็ได้ ใช้เวลาอยู่ในสตูดิโอได้ทั้งวันตามใจคนเรียน ครูปุยคิดค่าสอนรวมวัสดุอุปกรณ์ราคา 350 บาท ต่อคน หลังเผาและเคลือบแล้วจะส่งผลงานไปให้ภายหลัง
ครูปุยกล่าวว่าเทคนิคการปั้นขึ้นอยู่กับผู้เรียนว่าต้องการแบบไหน แบบแป้นหมุนเหมาะกับทำปั้นแก้ว และจานรอง และควบคุมจำนวนดินได้ง่ายกว่า ส่วนแบบบีบมือจะควบคุมจำนวนดินได้ยากกว่าและทำให้ดินหนาบางไม่เท่ากัน เหมาะกับทำตุ๊กตา ส่วนแบบ slab ที่รีดดินเป็นแผ่นเหมาะกับปั้นจาน ควบคุมความหนาบางของดินได้แต่เวลาประกอบชิ้นส่วนอาจจะรั่วและบิดเบี้ยวได้ง่าย
2 ชั่วโมงกับการปั้นแก้วกาแฟแบบบีบมือพร้อมคำแนะนำอย่างใจเย็นของครูปุย ในที่สุดก็ได้แก้วกาแฟแบบบูดๆเบี้ยวๆ ดินหนาบางไม่เท่ากัน แต่ทำให้ค้นพบว่าดินก้อนเดียวก็สร้างความสุขได้
ภายในสตูดิโอมีโชว์ผลงานเซรามิกของครูปุยไม่ว่าจะเป็นชุดน้ำชา ถ้วยกาแฟ จาน ชาม กรวยดริป และตุ๊กตา และขายในราคามิตรภาพมากๆ
หากสนใจเรียนการปั้นเซรามิก ควรติดต่อล่วงหน้า 1 วันเพื่อจัดเตรียมอุปกรณ์ ที่ Facebook: Pann Sook Ceramics หรือ โทร 089-484-9136
เล่าเรื่องพระพิมพ์และลองพิมพ์พระ
บ้านพิมพ์พระลักษมณศิลป์ เป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับพระพิมพ์โดยเฉพาะที่ค้นพบในสุโขทัย ณรงค์ชัย โตอินทร์ ผู้ก่อตั้งกล่าวว่าน่าจะมีมากกว่า 1,200 แบบที่ขุดค้นพบในบริเวณเมืองเก่าสุโขทัยและศรีสัชนาลัย โดยพระพิมพ์ยุคต้นสุโขทัยได้รับอิทธิพลแบบขอม ต่อมาเป็นแบบล้านนาที่พระมีรูปทรงอิ่มเอิบบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ จนถึงสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ที่การปั้นพระมีลักษณะอ่อนช้อย แขนยาวเสมอหัวเข่าและยุคปลายที่ผสมผสานระหว่างสุโขทัยและอยุธยาและหน้าพระออกแนวเคร่งขรึม
ภายในสตูดิโอจัดแสดงรูปภาพของพระพิมพ์แบบต่างๆ ตลอดจนคติความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างเมืองและการสร้างพระพิมพ์ รวมถึงศิลปวัตถุที่ค้นพบในสุโขทัย
“กิจกรรมพิมพ์พระของเราจะให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวในเรื่องเทคนิควิธีการทำ โดยจะเน้นเรื่องของประวัติศาสตร์ศิลปะมากกว่าที่จะให้ความรู้ในเรื่องอภินิหาร ประเภทยิงไม่ออกฟันไม่เข้า เพราะว่าคนโบราณไม่ได้เชื่อเรื่องนี้” ณรงค์ชัยกล่าว
จากนั้นผู้มาเยือนจะได้ลองกิจกรรม DIY พิมพ์พระ โดยณรงค์ชัยจะเตรียม แม่พิมพ์ ดินและอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คัตเตอร์ แป้งฝุ่น และผ้าเช็ดมือ ไว้ให้พร้อมสรรพโดยแม่พิมพ์พระที่ใช้มี 2 แบบ ได้แก่ พระนางพญาเสน่ห์จันทร์ และพระร่วงประทานพรกรุหม้อแกงทอง
“ในวงการนักสะสมพระเครื่องพระนางพญาเสน่ห์จันทร์ถือเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ที่มีความงดงามมากสร้างเมื่อ พ.ศ.1893 ในสมัยพระยาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ 1) และประมาณ พ.ศ. 2502 กรมศิลปากรค้นพบพระพิมพ์นี้ในองค์เจดีย์ที่วัดตาเถรขึงหนัง ตอนที่ค้นพบเล่ากันว่าได้กลิ่นหอมของว่านเสน่ห์จันทร์ซึ่งหญิงสูงศักดิ์โบราณจะนำว่านชนิดนี้ไปผสมกับสีผึ้งและน้ำมันจันทน์นำมาปะพรมตัวให้หอมจึงเป็นที่มาของชื่อ”
ส่วนพระร่วงประทานพรกรุหม้อแกงทอง ณรงค์ชัยเล่าว่าชื่อนี้มีที่มาจากภาษาท้องถิ่นหมายความว่าตรงไหนก็ตามแต่ในเมืองสุโขทัยถ้าเราไปทอดแหหาปลาตรงไหนจะได้ปลาติดแหมาแน่ๆ จึงมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์
“เมื่อ 50 ปีที่แล้วที่วัดมหาธาตุด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้านหน้าเจดีย์ติดกับต้นมะพร้าว จะมีตระพัง (สระน้ำ) ขนาดเล็ก เล็กจนไม่น่าเชื่อว่าจะมีปลาเยอะขนาดนั้น ถ้าเราไปหากินตรงไหนไม่ได้เราจะมาที่ตระพังนี้ทอดแหหาปลาจะได้ปลากลับไปคนละ 1 ตัวเสมอพอมีการบูรณะเจดีย์องค์นี้ทำให้กรุพระพิมพ์แตกออกมาจึงเรียกว่า พระร่วงเจริญพรกรุหม้อแกงทอง ตามความเชื่อของคนท้องถิ่น เชื่อว่าใครได้ครอบครองพระองค์นี้ถึงคราวยากก็จะไม่ยาก ถึงยามจนก็จะไม่จน จะมีกินอยู่เสมอ”
กิจกรรมพิมพ์พระเริ่มจากปั้นดินให้เนื้อดินเข้ากันดี จากนั้นนำเนื้อดินขนาดพอเหมาะกับพิมพ์แยกออกมาปั้นให้เป็นลักษณะเส้นยาวมีความกว้างพอกับพิมพ์แล้วนำดินใส่ลงไปในพิมพ์ ตัดเนื้อดินส่วนเกินออก แล้วกดเนื้อดินให้แน่น จากนั้นใช้เศษดินปั้นเป็นแท่งขนาดพอเหมาะติดลงไปที่เนื้อดินที่เรากดอัดไว้ในพิมพ์ เนื้อดินเหนียวด้วยกันจะช่วยดึงดินในพิมพ์ออกมาได้ง่ายขึ้น จากนั้นทางบ้านพิมพ์พระจะนำไปจัดการเผาในเตานาน 8 ชั่วโมงและจัดส่งให้ภายหลัง
พิมพ์พระเสร็จแล้ว ณรงค์ชัยยังสาธิตวิธีการจุดไฟโดยปั่นไม้ที่ปักอยู่ในรูบนไม้อีกท่อนหนึ่งให้เสียดสีจนเกิดประกายไฟ และการยิงธนู ผู้เรียนทดลองทำได้โดยณรงค์ชัยรับหน้าที่ถ่ายภาพนิ่งและวิดิโอให้ด้วยอย่างรู้มุมกล้องรับรองว่าภาพออกมาสวยงาม
เวิร์คช็อปพิมพ์พระพร้อมอุปกรณ์และของว่างราคาคนละ 300 บาท ติดต่อได้ที่โทร 089-643-6219 หรือ Facebook: Banpraphim luksamonart
ปลากาดำหน้ายิ้มกับเครื่องสังคโลก
มาเยือนถิ่นเครื่องสังคโลกทั้งที ไม่ควรพลาดปักหมุดที่ ชุมชนบ้านใหม่ตระพังทอง ในตำบลเมืองเก่าใกล้กับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยที่เป็นชุมชนหลักในการผลิตเครื่องสังคโลก และหนึ่งในสตูดิโอของชุมชนที่ดำเนินการโดยคนรุ่นใหม่ที่นักท่องเที่ยวสามารถชื่นชมได้ทั้งงานสังคโลกแบบดั้งเดิมและแบบร่วมสมัยคือ กะเณชาแกลลอรี
บริเวณอาณาเขตของกะเณชา เต็มไปด้วยผลงานศิลปะเซรามิกรูปพระพิฆเนศในหลากหลายอิริยาบถและหลายขนาดทั้งแบบประเพณีและแบบร่วมสมัยเพื่อสอดคล้องกับชื่อของแกลลอรีเนื่องจากเจ้าของ สันติ และ หทัยรัตน์ พรมเพ็ชร เป็น “ลูกช้าง มช” หรือ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สันติเป็นลูกชายของ สุเทพ พรมเพ็ชร หนึ่งในผู้บุกเบิกการอนุรักษ์การผลิตเครื่องสังคโลกแบบโบราณและเจ้าของสตูดิโอชื่อสุเทพสังคโลกที่รู้จักกันดี ภายหลังจากเรียนจบคณะศึกษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สันติและภรรยา หทัยรัตน์ตัดสินใจแตกหน่อธุรกิจโดยเปิดสตูดิโออีกแห่งเมื่อ 17 ปีที่แล้วเพื่อสร้างสรรค์งานแนวร่วมสมัย
ด้วยพื้นฐานการผลิตสังคโลกแบบสุโขทัยที่เรียนกับพ่อบวกกับการเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องเทคนิคการปั้นและเคลือบเซรามิกแบบตะวันตกและแบบรากุของญี่ปุ่น สันติจึงพัฒนาน้ำเคลือบแบบใหม่จนได้สีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือสีเทอร์ควอยซ์ สี ox blood (เลือดวัว) สีอมประกายเงินและประกายทอง และสร้างพื้นผิวให้ดูแปลกตาโดยผสมเศษขี้เลื่อยหรือเส้นผมและเผาที่อุณหภูมิสูงระดับสโตนแวร์จึงมีความแข็งแรง
“เครื่องสังคโลกปกติใช้เทคนิคการเผาแบบ reduction แต่เราผสม 2 เทคนิคคือ reduction และ oxidation เพื่อให้เกิดสีใหม่ๆ บางชิ้นเราเคลือบน้ำเคลือบส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือไม่เคลือบแต่ให้เกิดเงาจากสนิมเหล็กแทน เราใช้ดินสุโขทัยเพราะมีค่าออกไซค์เยอะเวลาเผาได้สีเหมือนสนิมโลหะและใช้ดินดำจากอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่เพราะทนไฟสูง” สันติกล่าว
นอกจากนี้เครื่องสังคโลกของที่นี่ไม่ว่าจะเป็นจาน ชาม ถ้วยกาแฟ ดริปเปอร์กาแฟ ได้นำลวดลายดั้งเดิมเช่น ลายปลากาดำ ดอกบัว และเครือเถามาจัดวางองค์ประกอบใหม่หรือตัดทอนลง
“เอกลักษณ์ในรูปปลาของเราจะเป็นปลากาดำระบายหน้าดำและเป็นปลาที่มีรอยยิ้ม เพราะว่าสุโขทัยเป็นเมืองรุ่งอรุณแห่งความสุข ปลาของเราจึงมีรอยยิ้มทุกตัว” หทัยรัตน์ เสริม
ผู้สนใจสามารถลองเวิร์คช้อปวาดรูปลงบนจานสังคโลก หรืออยากจะลองปั้นดินเป็นรูปทรงต่างๆก็ได้ในราคา 500 บาท ต่อคน ต่อ 1 กิจกรรมซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง (ราคานี้รวมอุปกรณ์และอาหารว่าง) เมื่อวาดหรือปั้นเสร็จแล้วทางแกลลอรีจะจัดส่งผลงานภายหลังเผาและเคลือบเสร็จแล้วไปให้
กะเณชา แกลลอรี เปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน เวลา10.00-16.00 น. โทร. 089-999-4402 หรือ Facebook: กะเณชาสังคโลก กรุงสุโขทัย (หากสนใจเวิร์คช็อปกรุณานัดหมายล่วงหน้า)