ส่องลายคราม สืบหาจีนกรุงศรีฯ : หน้าประวัติศาสตร์กรุงเก่าในลายครามที่มิอาจพลิกข้าม
Arts & Culture

ส่องลายคราม สืบหาจีนกรุงศรีฯ : หน้าประวัติศาสตร์กรุงเก่าในลายครามที่มิอาจพลิกข้าม

Focus
  • ส่องลายคราม สืบหาจีนกรุงศรีฯ หนังสือเล่มล่าสุดของ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมและสังคมจีนในไทยและนักสะสมเครื่องลายคราม
  • ส่องลายคราม สืบหาจีนกรุงศรีฯ มีจุดเริ่มจากการที่คุณพิมพ์ประไพได้พบเครื่องถ้วยจีนที่สั่งพิเศษและนำเข้าในสมัยอยุธยาจากคลังสะสมส่วนตัวต่าง ๆ จำนวนมากยังเป็นชิ้น ยังสมบูรณ์ไม่แตกบิ่น

พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ชื่อที่รู้จักกันดีในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมและสังคมจีนในไทย รวมถึงด้านเครื่องลายครามที่เธอเองก็เป็นนักสะสมคนหนึ่ง นับแต่เล่ม กระเบื้องถ้วย กะลาแตก ชีวิตเบื้องหลังสมบัติผู้ดี ที่จัดพิมพ์เมื่อ 15 ปีก่อนและเป็นที่เสาะหาจนต้องมีฉบับ e-book ออกมาในภายหลัง จากนั้นคอเครื่องถ้วยจีนก็รอคอยผลงานแนวนี้เล่มใหม่ของเธอ และล่าสุดกับ ส่องลายคราม สืบหาจีนกรุงศรีฯ ซึ่งมีจุดเริ่มจากการที่คุณพิมพ์ประไพได้พบเครื่องถ้วยจีนที่สั่งพิเศษและนำเข้าในสมัยอยุธยาจากคลังสะสมส่วนตัวต่าง ๆ รวมถึงจากที่สะสมเพิ่มขึ้นบ้างด้วยตนเอง ที่น่าตื่นเต้นจนอดนำมาเขียนเป็นหนังสือไม่ได้ก็คือ เครื่องถ้วยจีนเหล่านี้มีจำนวนมากที่ยังเป็นชิ้น ยังสมบูรณ์ไม่แตกบิ่น

คุณพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร และคอลเล็กชันเครื่องลายครามในหนังสือ

“เล่ม ‘กระเบื้องถ้วย กะลาแตกฯ’ ก่อนหน้าได้แค่เน้นชิ้นของยุคสมัยรัตนโกสินทร์เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากหาได้ง่าย แต่ในเล่ม ส่องลายคราม สืบหาจีนกรุงศรีฯถือว่าเป็นการรวบรวมเครื่องถ้วยอยุธยาที่ครบถ้วนมาก แรงบันดาลใจมาจากคอลเล็กชันของคุณประไพสิทธิ์ ตัณฑ์เกยูร นักสะสมเครื่องลายครามที่ไล่ตามเก็บตั้งแต่ยุคสนามหลวง เวิ้งนครเกษม นานกว่า 60 ปี ด้วยความที่เป็นของที่ต้องสั่งทำจากจีน กว่าจะเสร็จส่งมาถึงกรุงศรีอยุธยาได้ก็ใช้เวลา 2-3 ปี โชคดีที่ยังพอมีเครื่องลายครามจีนหลงเหลือด้วยธรรมเนียมการสะสมที่ผู้ดี ขุนนางรัตนโกสินทร์นิยมเก็บรักษาสะสม ทำให้คนไทยรุ่นหลังยังพอมีให้ชื่นชน”

ส่องลายคราม สืบหาจีนกรุงศรีฯ
ชุดเครื่องลายครามที่นำมาจัดแสดงในงานเสวนาวันเปิดตัวหนังสือ
ส่องลายคราม สืบหาจีนกรุงศรีฯ

แม้ ส่องลายคราม สืบหาจีนกรุงศรีฯมิใช่หนังสือเล่มแรกที่ว่าด้วยเครื่องถ้วยจีนสมัยอยุธยา แต่เล่มก่อนหน้าเน้นนำเสนอเพียงการศึกษาเศษชิ้นที่หลงเหลือตามแหล่งขุดค้นในกรุงเก่า มิใช่ชิ้นและชุดที่ยังสมบูรณ์ อีกทั้งผู้เขียนเองก็ตั้งใจศึกษาค้นคว้าเขียนเพื่อเป็นประโยชน์ทางการศึกษาแก่บุคคลทั่วไป มิใช่เพียงแต่นักสะสม โดยได้ข้อมูลวิชาการใหม่ ๆ ที่ออกมามากมายในช่วง 20 ปี หลังจีนเปิดประเทศมาประกอบ

“ของนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะแบบที่สั่งทำพิเศษ อย่างเครื่องถ้วยชามจากจีน รวมถึงผ้าลายอย่างจากอินเดีย ล้วนสะท้อนความมั่งคั่งของอยุธยา และยิ่งมีคุณค่าขึ้นด้วยเอกลักษณ์พิเศษ อย่างลวดลายไทย ไม่ว่าจะเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ และลายก้านต่อดอก ที่ปรากฏทั้งในลายผ้าและลายถ้วยชาม” คุณพิมพ์ประไพผู้ที่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมไทยกับจีนบอกกล่าว

ส่องลายคราม สืบหาจีนกรุงศรีฯ
ตัวอย่างเครื่องลายครามสมัยอยุธยาที่ยังคงสมบูรณ์

“สำหรับดิฉัน ข้าวของจากอยุธยาเหมือนมีจิตวิญญาณของเขาเอง ส่วนตัวเคยได้ชิ้นแรกจากตลาดจตุจักรเมื่อหลายปีก่อน แล้วเหมือนเขาค่อยทยอยชวนเพื่อนเขาให้เข้ามาอยู่ให้เราครอบครองเพิ่มเติมทีละเล็กทีละน้อย ด้วยความที่พวกเขาเห็นถึงการเอาใจใส่และคุณค่า”

น่าเสียดายที่นิทรรศการพิเศษที่นำเครื่องลายครามหลายชิ้นที่ปรากฏในหนังสือมาจัดแสดงมีได้เพียงแค่วันเดียว ณ สยามสมาคม ประกอบงานเปิดตัวหนังสือเมื่อต้นปี พ.ศ. 2565 แต่คลิปเสวนาประกอบในหัวข้อ “ชมโก๋วต้ง มองอดีตจีนกรุงศรีฯ” ยังสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/3CYNTeD

ล่าสุดหนังสือที่จัดพิมพ์อย่างประณีต และประกอบด้วยภาพของเครื่องถ้วยชามครั้งกรุงศรีฯ หายากเล่ม ส่องลายคราม สืบหาจีนกรุงศรีฯ ได้รับรางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสารคดี ประเภทศิลปวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ฯ จากการประกวดหนังสือดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2565 จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ และเล่มต่อไปที่นักจีนวิทยาคนสำคัญของไทยผู้นี้กำลังจะคลอดตามมา ก็คือสำนวนไทยของ A History of the Thai-Chinese ที่เจ้าตัวเคยร่วมเขียนเป็นภาษาอังกฤษ และขาดตลาดนานหลายปีแล้ว

Fact File

  • ส่องลายคราม สืบหาจีนกรุงศรีฯ โดย พิมพ์ประไพ พิศาลบุตรราคา 1,200 บาท จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย สำนักพิมพ์ Silkworm Books

Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ