บทบาทสตรี และ New Normal ฉบับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกนโยบายเพื่อเปลี่ยนประเทศสู่สมัยใหม่อย่างเร่งด่วน มีการสร้างชาติ สร้างสำนึกความเป็นไทยผ่าน รัฐนิยม 12 ฉบับ เรียกว่าเป็น New Normal ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีคนไทยในยุคนั้นอย่างจริงจัง
- นอกจากเรื่องการเปลี่ยนการแต่งกาย ไว้ผม กินหมาก การสวมหมวกแล้ว จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังสร้างค่านิยมใหม่เกี่ยวกับสตรี การยกย่องภรรยา นักเรียนนายร้อยหญิง และนางสาวไทย ก็เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้เช่นกัน
เมื่อเอ่ยถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ภาพหนึ่งที่นึกถึงคืองานด้านสร้างชาติ สร้างวัฒนธรรมใหม่แบบ New Normal การเปลี่ยนประเทศสู่สมัยใหม่ให้ทัดเทียมอารยะ พร้อมเร่งสร้าง “สำนึกความเป็นไทย” อย่างเร่งด่วนชนิดที่มีนโยบายหักดิบห้ามทำในสิ่งที่เป็นวิถีที่คนทั้งประเทศนิยมปฏิบัติมาแต่ดั้งเดิม ดังตอนหนึ่งในงานปราศรัยฉลอง วันชาติ เมื่อ 24 มิถุนายน 2483 ความว่า
“การสร้างชาติก็คือการสร้างตัวของคนทุกคนในบรรดาประชากรของชาติให้ดี ถ้าเราทุกคนมีร่างกายแข็งแรง มีวัฒนธรรมดี มีศีลธรรมงาม และมีอารยธรรมดี-ดีอย่างไทยซึ่งไม่มีใครจะดีกว่าอยู่แล้ว ประกอบอาชีพให้รุ่มรวยดังนี้ ชาติไทยก็จะดีตามไปด้วยโดยมิต้องสงสัยเลย…”
จากนโยบายสร้างชาติของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นี้เองที่ทำให้เกิดคำเรียก คนไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยาม เป็น ไทย เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษจาก Siam เป็น Thailand อย่างที่ใช้ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ในรัฐนิยมฉบับที่ 4 และ 6 ยังกำหนดให้มีการยืนตรงเคารพธงชาติ เปลี่ยนเนื้อเพลงชาติจาก “ประเทศสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง…” เป็น “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย”
ส่วนในรัฐนิยมฉบับที่ 10 ยังได้กำหนดให้คนไทยแต่งกายแบบไทยอารยะ นั่นก็คือคนไทยไม่ควรนุ่งโสร่ง ไม่เปลือยกายท่อนบน ไม่ใส่หมวกแขก โพกหัว ทูนของบนศีรษะ ผู้ชายควรแต่งตัวตามแบบสากล หรือสวมกางเกงตามแบบไทยขาสั้น สวมเสื้อกลัดกระดุมให้เรียบร้อย
ส่วนผู้หญิงก็ควรไว้ผมยาวสวมเสื้อชั้นนอกให้สะอาดเรียบร้อย นุ่งผ้าถุงยาว และถ้าจะให้ครบเช็ตแต่งกายแบบไทยอารยะต้องใส่หมวกตามนโยบาย “มาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ” พร้อมกันนั้นก็ออกกฏ “ห้ามกินหมาก” ซึ่งในตอนนั้นการกินหมากถูกรัฐบาลมองว่าคือประเพณีที่เสื่อมเกียรติอย่างร้ายแรง ใครที่บ้วนน้ำหมากเลอะเทอะถือเป็นผู้ไม่มีวัฒนธรรม และยังมีการให้กระทรวงมหาดไทยในยุคนั้นห้ามประชาชนที่กินหมากติดต่อราชการเลยทีเดียว
นอกจากเรื่องการแต่งกาย การกินอยู่ ทรงผมแล้ว วัฒนธรรมและค่านิยมใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นก็คือเรื่อง บทบาทสตรี ถึงขั้นมีการออกคำสั่งให้สามียกย่องภรรยาตลอดเวลา ถ้าข้าราชการทะเลาะกับภรรยาถือเป็นการผิดวินัย และในปี พ.ศ. 2485 เรื่องสิทธิสตรีก็ก้าวกระโดดไปในขั้นเปิดรับ “นักเรียนนายร้อยหญิง” รุ่นแรก เพื่อส่งเสริมบทบาทสตรีในการป้องกันประเทศ เหตุที่จอมพลมีนโยบายส่งเสริมบทบาทสตรีเพราะคำกล่าวที่ว่า
“หยิงเปนส่วนหนึ่งของชาติ ก็ควนจะได้สร้างตนและช่วยชาติด้วยในตัว…ไครจะดูว่าชาตินั้นชาตินี้เจรินเพียงไดไนเมื่อผ่านไปชั่วแล่นแล้วก็มักจะตัดสินความเจรินของชาตินั้นตามความเจรินของฝ่ายหญิง”
และสตรีในยุคสมัย จอมพล ป. ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของงานฉลองรัฐธรรมนูญ โดยใน พ.ศ.2477 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ได้มีการจัดประกวดนางงามในชื่อ นางสาวสยาม ขึ้นในงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 เปลี่ยนเป็น นางสาวไทย ในปี 2482 หลังจากการ เปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยาม เป็น ไทย
ต้นเรื่อง : นิตยสาร สารคดี ฉบับ มิถุนายน 2557