ศรีเทพ 101 : คู่มือเที่ยวศรีเทพฉบับละเอียด เหมือนพกนักประวัติศาสตร์ไปด้วย
- หลังจากรอมานานถึง 31 ปี ในที่สุด ยูเนสโก ก็ประกาศผล “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” แห่งใหม่ในประเทศไทย พิกัดเมืองโบราณ ศรีเทพ ถือเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทยต่อจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
- ศรีเทพ เป็นศูนย์กลางหนึ่งของอาณาจักรทวารวดีมานานกว่า 8 ศตวรรษและอาจจะเป็นชุมชนที่มีอายุยาวนานไปเกือบ 2,000 ปี
ศรีเทพ มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของไทยได้กลายเป็นคำติดปากของคนทั่วประเทศ จากผู้เยี่ยมชมหลักร้อยเป็นหลักพันเรือนหมื่นแทบในชั่วข้ามคืน และมีท่าทีจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในฤดูกาลท่องเที่ยวหน้าหนาวที่จะถึง ด้วยตำแหน่งที่เหมาะเจาะในพิกัดอำเภอชายขอบจังหวัดเมืองรองอย่างเพชรบูรณ์ รอยต่อระหว่างภาคกลาง เหนือ และอีสาน แต่กระนั้นสำหรับคนหรือกลุ่มที่ไม่ได้ซื้อทัวร์ไป อาจสับสนได้ถึงข้อมูลที่ควรทราบ จุดสำคัญที่ควรแวะชม และกิจกรรมที่น่าแวะทำ Sarakadee Lite เลยขอพา เที่ยวฉบับ ศรีเทพ 101 มัดรวมทุกพิกัดห้ามพลาดเช็คอินใน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ แบบไม่หลง ไม่หลุด และละเอียดข้อมูลแน่นราวกับพกนักประวัติศาสตร์มาเที่ยวด้วย
มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่รอมากว่า 31 ปี
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจัดว่าเป็น 1 ใน 11 อุทยานประวัติศาสตร์ที่กรมศิลปากรคอยดูแล แม้ได้เปิดให้ชมมาแต่ พ.ศ. 2527 แต่เพิ่งมาเป็นที่รู้จักกันในหมู่สาธารณชนได้ไม่นานหลังได้เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นของการเป็นมรดกโลก (tentative list) ขององค์การ UNESCO ในปี 2562 และเป็นที่สนใจมากขึ้นจากข่าวในปีเดียวกันที่ชาวบ้านได้ต่อต้านโครงการหลุมขุดเจาะน้ำมัน STN-2 ที่อยู่ไม่ไกลนักจากจุดโบราณสถาน ด้วยเกรงว่าอาจจะส่งผลให้ไม่ผ่านการพิจารณา
กระแสความดังของศรีเทพส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ประเทศที่อาศัยรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลักอย่างไทยได้รอวันที่จะมีมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่มานานมาก ซึ่งที่ได้ล่าสุดก็คือแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงตั้งแต่ปี 2535 อย่างไรก็ตามเทียบกับเมืองประวัติศาสตร์มรดกโลกสำคัญ 2 แห่งก่อนหน้าอย่างสุโขทัยและอยุธยา สำหรับคนไทยเองความรับรู้และความเข้าใจถึงความสำคัญต่อมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่อย่างศรีเทพ ก็เป็นไปอย่างเลือนราง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เชื่อว่าน่าจะเป็นศูนย์กลางหนึ่งของอาณาจักรทวารวดีมานานกว่า 8 ศตวรรษ และอาจจะเป็นชุมชนที่มีอายุยาวนานไปเกือบ 2,000 ปี (นับอายุจนถึงปัจจุบัน)
อดีตศูนย์กลางที่กลายเป็นเพียงแค่จุดสัญจรผ่าน
อำเภอศรีเทพ ที่ตั้งของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เดิมทีเป็นแค่กิ่งอำเภอของอำเภอหลักอย่างวิเชียรบุรี (ที่ไก่ย่างลือชื่อ) เป็นเพียงทางผ่านแวะเข้าเขตเมืองเพชรบูรณ์ ก่อนไปต่อแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดอย่างเขาค้อ หรือน้ำหนาว แต่สำหรับนักประวัติศาสตร์ เขตศรีเทพที่เคยเรียกขานกันอย่างเพราะพริ้งว่า เมืองอภัยสาลี นั้น มีนัยของความรุ่มรวยทางอารยธรรม ที่ยาวนานต่อเนื่องกันตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์สืบเนื่องจนถึงยุคทวารวดี เขมร จนสุโขทัย เลยทีเดียว ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ด้วยเหตุที่ไม่แน่ชัด ซึ่งไล่เลี่ยกับการเสื่อมของอาณาจักรเขมร
ลักษณะเด่นของศรีเทพคือชัยภูมิที่อยู่กึ่งกลางของหลายอาณาจักร สะดวกต่อการเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้า จนสร้างความมั่งคั่ง นำพามาซึ่งการสร้างอารยธรรมอันหลากหลายภายในอาณาจักรเอง และที่รับมาจากข้างนอกอย่างอินเดีย เสียดายว่าโบราณวัตถุนับหลายร้อยชิ้นถูกทำลาย ขุดค้น ลักลอบนำไปขาย ตกทอดไปอยู่ในมือนักสะสมต่างประเทศ และถูกจัดแสดงอย่างกระจัดกระจายไปทั่วโลก โดยว่ากันว่าเพิ่งทำกันเป็นล่ำเป็นสันในช่วง 60 ปีก่อนนี้เอง
ด้วยเหตุที่ไม่มีสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมที่เป็นหลักฐานสำคัญแสดงความยิ่งใหญ่ให้ประจักษ์ถึงความยิ่งใหญ่ของศรีเทพ ผลงานเหล่านั้นจึงมักถูกมองข้ามและเป็นที่สนใจในวงถกเถียงกันเฉพาะหมู่นักวิชาการ จนการขุดค้นและตกแต่งตัวมหาสถูป เขาคลังนอก เสร็จสิ้นในปี 2555 เผยให้เห็นขนาดใหญ่โตโดดเด่นประหนึ่งเป็นพีระมิดขนาดย่อมของแดนสุวรรณภูมิ กระแสการพยายามปะติดปะต่อภาพรวมแสดงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรศรีเทพถึงได้ก่อตัวขึ้นมาพร้อมๆ กับที่ได้หลักฐานสำคัญในการยื่นขอมรดกโลกและคลื่นเล็กๆ ของการจัดทัวร์ในหมู่คนรักประวัติศาสตร์
เที่ยวศรีเทพให้ครบ ต้องเก็บทั้ง 3 โซน
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพและอาณาบริเวณที่ใช้ยื่นขอจดเป็นมรดกโลก มีลักษณะทางกายภาพบางประการที่ต่างไปจากแห่งอื่นอยู่พอสมควร ในแง่ที่มีโซนสำคัญถึง 3 โซนแยกออกจากกัน ได้แก่ ในเขตเมืองโบราณศรีเทพ นอกเขตเมืองโบราณ และ เขาถมอรัตน์ โดยบางทีก็ใช้ชื่อเล่นเรียกกันในหมู่คนจัดการการท่องเที่ยวว่า เขาคลังใน เขาคลังนอก และ เขาถมอรัตน์ ทั้งที่สองเขาแรกไม่ได้เป็นภูเขาตามธรรมชาติ เป็นเพียงเนินดินที่ทับถมโบราณสถานขนาดใหญ่ตามสภาพในอดีต ทั้งนี้แต่ละโซนก็มีข้อควรรู้ในการเข้าชมต่างกันไป
เขาคลังใน : โซนแรกเขตเมืองโบราณศรีเทพหรือเขาคลังใน นอกจากจะเป็นที่ตั้งหลักของอุทยานประวัติศาสตร์อันร่มรื่นด้วยต้นไม้นานาพรรณแล้ว ยังโดดเด่นด้วยสภาพการเป็นเมืองยุคทวารวดีที่มีคูน้ำล้อมรอบอย่างค่อนข้างสมบูรณ์ ภายในยังมีสระและหนองน้ำน้อยใหญ่กระจายตัวอยู่หลายสิบสระ บ่งบอกความเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประกอบด้วยสองโซน คือเขตเมืองในรูปทรงค่อนข้างกลม มีกลุ่มสิ่งก่อสร้างสามโบราณสถานสำคัญเกาะกลุ่มใกล้กันอยู่ ได้แก่ โบราณสถานเขาคลังใน ปรางค์สองพี่น้อง และ ปรางค์ศรีเทพ ส่วนอีกโซนคือเขตเมืองนอกที่เป็นผืนดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อออกไปทางด้านทิศตะวันออก ประกอบไปด้วยสระน้ำขนาดใหญ่ที่ชื่อสระแก้ว กับสิ่งก่อสร้างขนาดเล็กกระจัดกระจาย ที่ส่วนใหญ่ยังรอการบูรณะกว่า 50 แห่ง สร้างเสน่ห์เสมือนเข้าไปชมโบราณสถานที่ยังมีสภาพดิบๆ
การเยี่ยมชมในส่วนเขตเมืองชั้นในเป็นไปอย่างสะดวก เพราะมีรถรางพร้อมไกด์คอยให้ข้อมูล และพื้นที่เยี่ยมชมหลักอยู่ในระยะที่พอเดินถึงกันได้ ส่วนเมืองชั้นนอกนั้นยังไม่เป็นที่นิยม เพราะส่วนหนึ่งเป็นเขตกึ่งรกร้างรอขุดค้น และเป็นบริเวณที่พักและที่ทำงานของเจ้าหน้าที่อีกส่วนหนึ่ง
เขาคลังนอก : โซนสองเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเมืองโบราณศรีเทพ ไม่ได้มีอาณาเขตชัดเจน มีโบราณสถานที่ยังมิได้มีการขุดแต่งและบูรณะประมาณ 50 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ทางเหนือของเขตเมืองโบราณ ไฮไลต์ที่สำคัญคือโบราณสถานมหาสถูป เขาคลังนอก ที่มีฐานขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากโซนเมืองโบราณส่วนแรกราว 3 กิโลเมตร และกลายเป็นอีกจุดที่ต้องแวะชม เพราะความใหญ่โตของมหาสถูปที่มักเรียกกันว่า พีระมิดเมืองไทย ในฝั่งถนนเดียวกันห่างจากสถูปออกไปราว 2 กิโลเมตรด้วยซอยเชื่อมเดียวกัน มีโบราณสถานปรางค์ฤาษี ซึ่งมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบเขมรร่วมกันกับ ปรางค์สองพี่น้อง และ ปรางค์ศรีเทพ ตั้งใกล้กันกับวัดป่าสระแก้ว
โซนนอกเมืองนี้ส่วนหนึ่งกลายเป็นเขตทำกินของชาวบ้าน จากทางเข้าบนถนนเส้น 2219 เลยยังต้องอาศัยถนนที่ตัดผ่านเขตชุมชนในการเข้าถึงตัวเขตโบราณสถาน และมีบริเวณแวะชมได้จำกัดเฉพาะรอบๆ ตัวมหาสถูปและองค์ปรางค์เท่านั้น
ถ้ำเขาถมอรัตน์ : อยู่ห่างออกไปจากเขตเมืองในและเมืองนอกประมาณ 20 กิโลเมตร ข้ามแม่น้ำป่าสักไป ไฮไลต์สำคัญคือร่องรอยภาพสลักบนผนังถ้ำรูปพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ตามคติพุทธศาสนาแบบมหายานราวพุทธศตวรรษที่ 14 ซึ่งสันนิษฐานว่ามีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับอารยธรรมในอีกสองเขตอย่างร่วมสมัยกัน
ทัวร์ไปเช้าเย็นกลับที่พาชมศรีเทพจะไม่รวมการขึ้นไปชมถ้ำบนเขา จำเป็นต้องค้างคืนสำหรับผู้ที่เดินทางไปจากกรุงเทพฯ แต่กระนั้นการขึ้นเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ก็เป็นสิ่งที่นอกจากใช้เวลาแล้วยังต้องใช้พละกำลัง และต้องอาศัยไกด์ท้องถิ่นหรือผู้ชำนาญในการนำทางขึ้นไปชม ไม่สามารถขึ้นไปชมได้ด้วยตนเอง แต่ยังพอมีจุดแวะถ่ายรูปแบบมีวิวเห็นภูเขาเป็นฉากหลังได้ นอกเหนือจากที่สามารถเห็นภูเขาที่สูงเด่นได้ไม่ยากบนเส้นถนนจากการขับรถท่องเขตอำเภอศรีเทพเอง
เขาคลังใน : สองปราสาท หนึ่งมหาสถูป และโครงกระดูกลับ
ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวมักเลือกที่จะตั้งต้นการชมอุทยานประวัติศาสตร์ด้วยการเข้ามาในเขตเมืองโบราณตามป้ายบอก เนื่องด้วยมีสถานที่จำหน่ายตั๋ว จุดจอดรถ บริการรถรางพร้อมผู้นำชมบรรยาย ใช้เวลารอบละไม่ถึง 10 นาที ระหว่างพาชมจากจุดจอดรถไปยังทางเข้าส่วนโบราณสถาน ทั้งนี้เป็นไปตามความหนาแน่นของผู้เข้าชมในแต่ละวัน ซึ่งผู้เข้าชมจะได้รับข้อมูลเบื้องต้นภาพรวมของทั้งอุทยานฯ และเมื่อใกล้ถึงเขตโบราณสถานก็จะเห็นปรางค์องค์ใหญ่สององค์ รวมถึงเห็น มหาสถูปเขาคลังใน อยู่ถัดไปข้างใน ซึ่งเป็นที่อยู่ของบรรดาคนแคระแบกสถูป
ปรางค์ที่ว่าได้แก่ ปรางค์สองพี่น้อง และ ปรางค์ศรีเทพ ที่ตั้งอยู่ล้อกันราวกับเป็นคู่แฝด แม้จะมีรูปทรงอย่างปราสาทเขมรที่ก่อด้วยศิลาแลงเหมือนกัน แต่มีโครงสร้างที่ต่างกันออกไปบ้าง ปรางค์ศรีเทพสันนิษฐานว่าสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 เพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย และมีการปรับเป็นพุทธศาสนสถาน ลัทธิมหายานในศตวรรษต่อมา ช่วงรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ส่วนปรางค์สองพี่น้องมีจุดเด่นด้วย ทางเดินศิลาแลงรูปกากบาท ด้านหน้า เชื่อมไปกับทางเดินที่เคยเป็นจุดพบเทวรูปสุริยเทพศิลาทรายจำนวน 6 องค์ ที่กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งอยู่กระจัดกระจายไปทั่วโลก โดยอยู่ในไทย 3 องค์ (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่กรุงเทพฯ ที่ลพบุรี และที่อุทยานฯ ศรีเทพเอง)
จุดห้ามพลาดในส่วนกลางแจ้งอีกจุดคือ พระธรรมจักรหินทราย ที่มีจารึกภาษาโบราณ เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของการเปิดรับพุทธศาสนาเข้ามาในช่วงทวารวดี ซึ่งธรรมจักรที่ว่านี้หาพบได้น้อยชิ้นในไทย
ชิ้นเล็กชิ้นน้อย สอยรายละเอียด
ความเพลิดเพลินในการชมอุทยานฯ ศรีเทพส่วนเขาคลังในอีกประการก็คือบรรดาจุดเล็กจุดน้อยให้ได้เก็บในส่วนรายละเอียดกัน ซึ่งไม่เพียงแต่เหมาะกับผู้ที่สนใจงานด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ทวารวดีเบื้องต้น แต่ยังเหมาะกับการปลูกฝังเยาวชนให้มีความเข้าใจในความสำคัญของโบราณวัตถุ ในช่วงนี้ทางกรมศิลปากรได้นำชิ้นส่วนที่อยู่ในบริเวณอุทยานฯ ศรีเทพมารวมจัดแสดงในเต็นท์ไม่ไกลนักจากบริเวณทางเข้า ซึ่งแม้จะไม่ใช่ชิ้นเด่น แต่ก็ทำให้เห็นภาพความยิ่งใหญ่ของอดีตศูนย์กลางทวารวดีแห่งนี้
ส่วนชิ้นที่เด่นแม้ว่าจะมีจำนวนน้อยชิ้น แต่กลับมีเสน่ห์ไม่แพ้มรดกโลกแห่งอื่นๆ เลย แน่นอนว่าชิ้นแรกที่ห้ามพลาดคือ บรรดารูปแกะสลักคนแคระ ตรงฐานของสถูปเขาคลังใน ที่มีลวดลายลีลาต่างๆ กัน โดยเชื่อกันว่ารับอิทธิพลมาจากอารยธรรมอินเดีย โดยท่าการแบกนั้นสื่อถึงการค้ำจุน ซึ่งนอกจากรูปคนแคระแล้วยังมีสัตว์ พรรณไม้ และลายเรขาคณิตต่างๆ อีกด้วย จุดที่มีลวดลายดังกล่าวเยอะจะอยู่ด้านหลังสถูปหากนับจากเส้นทางเดินเข้ามา และเพื่อป้องกันการสึกกร่อนได้มีการสร้างเพิงหลังคาคร่อม อาจทำให้เห็นลวดลายไม่คมชัดตอนฟ้าปิดหรือช่วงเย็นอยู่บ้าง
เมื่อเป็นปรางค์อิทธิพลเขมร ก็ย่อมมีทับหลัง ซึ่ง ทับหลังรูปอุมามเหศวร จำลอง (พระอิศวรอุ้มนางปารวตี นามหนึ่งของพระอุมาเทวี) ประทับอยู่เหนือโคอศุภราช หรือ โคนนทิ ซึ่งมีอายุร่วม 1,000 ปี โดยประดับอย่างงดงามอยู่ส่วนบนขององค์ปรางค์สองพี่น้อง ไม่ไกลกันนักก็มีบ่อน้ำโบราณที่มีศิลาแลงกั้นเรียงเป็นขอบสระ เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงรูปทรงโบราณดั้งเดิมของบรรดาบ่อสระหลายสิบยุคทวารวดีในเมืองศรีเทพ
แต่ศรีเทพไม่ได้เพิ่งถือกำเนิดในยุคทวารวดี แต่สามารถย้อนไปได้ไกลถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยน่าจะมีอายุ 1,700 ปี เป็นอย่างน้อย ด้วยหลักฐานชิ้นสำคัญที่ค่อยทยอยขุดค้นเจอ อย่าง โครงกระดูกมนุษย์ ที่มีข้าวของเครื่องใช้ฝังอยู่รายรอบ รวมถึงโครงกระดูกช้าง ที่อยู่ภายใต้อาคารใกล้ทางเข้าโบราณสถาน แต่ที่กำลังเป็นที่นิยมไปชมกันคือโครงกระดูกสุนัข ที่ฝังใกล้กับโครงกระดูกหญิงสาว ซึ่งอยู่ในอาคารชั่วคราวถัดจากบริเวณโซนโบราณสถานหลังสถูปเขาคลังในไปอีกนิด
ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ร่วมสมัย
ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ บริเวณขอบด้านนอกมีจุดแวะที่คนต่างถิ่นมักไม่ค่อยรู้จัก แต่ขึ้นชื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์น่าเคารพในหมู่ชาวบ้านอำเภอศรีเทพและอำเภอจังหวัดเพื่อนบ้าน ด้วยความเชื่อกันว่าอาณาบริเวณเก่าแก่นี้อุดมไปด้วยความขลังที่สั่งสมกันมานาน ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ ตั้งอยู่ในศาลาทรงไทยที่เห็นเป็นสิ่งก่อสร้างใหม่ หลังจากย้ายมาจากพิกัดเดิมด้านนอกคันดินของอุทยานฯ ส่วนองค์เจ้าพ่อก็เป็นประติมากรรมสร้างใหม่ทดแทนองค์เดิมที่เป็นประติมากรรมเก่าแก่ที่ถูกขโมยไป หากใครมาช่วงวันขึ้น 2 ถึง 3 ค่ำ เดือน 3 จะได้พบงานบวงสรวงประจำปี ช่วงต้นปี ที่จัดอย่างใหญ่โต ถือเป็นงานสำคัญประจำอำเภอและจังหวัดเพชรบูรณ์งานหนึ่ง
เขาคลังนอก พีระมิดแห่งสุวรรณภูมิ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเห็นภาพของสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมของมหาสถูป เขาคลังนอก ย่อมสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ใครต่อใครอยากไปชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพแนวระเบียงและขั้นบันไดที่ขึ้นได้รอบทั้งสี่ทิศโดยลดหลั่นเป็นชั้นเชิงจำนวนมากมายยิ่งสร้างความตระการตา แม้ว่าล่าสุดจะไม่อนุญาตให้ขึ้นไปปีนป่ายในบริเวณฐานชั้นบนได้อย่างแต่ก่อนอีกต่อไป ด้วยความห่วงใยที่มีต่อความเปราะบางของสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ แต่กระนั้นการได้มีโอกาสเดินชมความงดงามและความมหัศจรรย์ในการสร้างอาคารศิลาแลงขนาดมหึมาอายุกว่า 1,200 ปี หลักฐานสมบูรณ์ชิ้นเอกของการรับอารยธรรมอินเดียอย่างเต็มที่ในยุคทวารวดีด้วยตาตนเองชิ้นนี้ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่า ยิ่งได้พิจารณาถึงความยากลำบากและการคำนวณการก่อสร้างให้ได้ออกมีทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส สัณฐานขนาด 63×63 เมตร และสูงถึง 20 เมตร
และด้วยตัวมหาสถูปเขาคลังนอกนี้ที่ทำให้ได้องค์ประกอบชิ้นสำคัญในการยื่นให้ศรีเทพเป็นมรดกโลก ซึ่งเพิ่งมาหลังการขุดค้นในช่วง พ.ศ. 2551 ถึง พ.ศ. 2555 ไม่นานมานี้ ก่อนหน้านี้เป็นเพียงแค่เนินดินขนาดใหญ่รกร้างหลังเขตทำกินของชาวบ้านเท่านั้น
ในส่วนการสัญจร เนื่องจากกระแสที่เพิ่งก่อตัวหลังได้มรดกโลกทำให้มีการขยายผิวการจราจรเพิ่มเลนของถนนที่เข้ามายังบริเวณ เขาคลังนอก อาจทำให้รถวิ่งทำความเร็วไม่ได้มาก และอาจต้องใช้บริการจุดจอดรถด้านนอก บางส่วนเป็นพื้นที่ของเอกชนต้องเสียค่าจอดรถต่างหากบ้าง แต่ในอนาคตทางอุทยานฯ ก็มีโครงการจะสร้างรถรางเชื่อมต่อจากโซนอุทยานฯ เขาคลังใน
ไอศกรีมคนแคระ soft power ศรีเทพ
ดูไอศกรีมแท่งรูปคนแคระและอีกหลายลวดลาย จะกลายเป็น soft power ของศรีเทพ โด่งดังไม่แพ้ตัวโบราณสถานไปเสียแล้ว เรียกว่าพอจอดรถก็ถามหากันก่อนซื้อตั๋วเลยทีเดียว หลายคนมักนึกว่าไอศกรีมที่ดูจะมีไอเดียคล้ายกับที่เคยทำมาในบางจุดท่องเที่ยวก่อนหน้านี้ในกรุงเทพฯ แต่จริงๆ แล้วผลิตกันที่เพชรบูรณ์เอง น่าสนใจที่ผู้ผลิตไอศกรีมแท่งยอดนิยมเจ้านี้คือบริษัทวิสาหกิจชุมชน Sansotrees ที่ดำเนินกิจการด้านสวนป่าเศรษฐกิจ และผลิตผลทางการเกษตรแนวออร์แกนิกในเขตอำเภอศรีเทพมาก่อนหน้าอยู่หลายปี
ไอศกรีมโบราณศรีเทพ by Sansotrees มีด้วยกันถึง 9 รส 9 สี สามรสยอดนิยมตามลำดับยอดขาย คือ มะขาม ชาไทย มะพร้าวอ่อน ส่วนอีกหกรสที่เหลือแบ่งสัดส่วนการขายกันไป ได้แก่ น้ำผึ้งมะนาว มินต์ช็อก มันม่วง นมชมพู สตรอว์เบอร์รี และช็อกโกแลต
ส่วนลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์นั้นยังวนอยู่ที่สี่แบบ ได้แก่ ลายกนกผักกูด ลายดอกไม้กลม ลายคนแคระหน้าคน และลายคนแคระหน้าสิงโต ซึ่งล้วนถอดแบบมาจากลายประดับฐานมหาสถูปเขาคลังในนั่นเอง ลวดลายดังกล่าวยังถูกดัดแปลงไปเป็นลายขนมวุ้นกะทิและผ้าทออีกด้วย นอกจากการเพิ่มปริมาณการผลิตไล่ให้ทันกับความต้องการของนักท่องเที่ยวชนิดที่ต้องผลิตกันวันต่อวันขายหมดแทบไม่เหลือเก็บแล้ว ทาง Sansotrees ยังเพิ่มจุดการจำหน่ายพร้อมตู้แช่แบบมาตรฐานให้ครบทั้งด้านหน้าทางเข้าอุทยานฯ (เขาคลังใน) ทางเข้าโซนเขาคลังนอก และที่หน้าร้านสวนป่า Sansotrees ใกล้วัดป่าสระแก้วเองแล้ว ล่าสุดยังมาฝากขายที่ร้านเบเกอรี La Montee ใกล้สถานีรถไฟสามเสน กรุงเทพฯ อีกด้วย ไม่รวมความพยายามที่จะโพรโมตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มตัวอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่นเมลอนปลอดสารในช่วงเดือนตุลาคมนี้
ที่จริงแล้วของดีของอร่อยของศรีเทพมีมากกว่านี้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นหมกหน่อไม้ทอด ขนมลูกโคนโยนเข้ากอไผ่ จ่อมหมู และขนมตาลโบราณ ซึ่งเพิ่งนำมาจำหน่ายล่าสุดในงานตลาดนวัตวิถีศรีเทพน้อยที่เพิ่งจัดไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคมในบริเวณชุมชนใกล้ เขาคลังนอก ที่ผ่านมา สามารถติดตามข่าวสารของทั้งไอศกรีมคนแคระและของดีศรีเทพว่าจะมีจังหวะการนำเสนอกันอีกครั้งเมื่อไรได้ทางเพจ
ทาง Sarakadee Lite อยากฝากไว้ว่าขนาดของอุทยานฯ ศรีเทพไม่ได้ใหญ่โตเท่าอยุธยา หรือสุโขทัย แต่ก็มีจุดเด่นเฉพาะตัว เหมาะกับคนที่อยากสัมผัสบรรยากาศงานด้านโบราณคดี เพราะหลายจุดยังอยู่ในสภาพรอขุดตกแต่ง ยังไม่นับถึงตัวภูมิทัศน์ที่ร่มรื่นราวกับป่าขนาดย่อมของอุทยานฯ เอง
เนื่องจากความนิยมที่พุ่งขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้มีการก่อสร้างและการปรับปรุงการบริการอยู่บางจุด รวมถึงวิธีการชม ล่าสุดก็ห้ามไม่ให้ปีนขึ้นไปบนฐานของมหาสถูปคลังนอก แต่ในส่วนโซนคลังในหลายจุดก็เป็นส่วนที่เปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานรากที่ประกอบขึ้นจากศิลาแลง ที่นอกจากจะสึกกร่อนง่ายยังต้องระมัดระวังในการเหยียบย่างและปีนป่ายด้วย อีกทั้งในช่วงฤดูฝนบางพื้นที่ยังเป็นดินโคลนที่มีน้ำขัง ควรเตรียมรองเท้าที่เหมาะสม
ผู้ที่ไม่พร้อมสำหรับทริปเช้าไปเย็นกลับแบบเต็มวัน การพักค้างคืนโดยผสมผสานศรีเทพกับจุดท่องเที่ยวอื่นๆ ในเขตลพบุรี เพชรบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ยอดนิยมอย่างเขาค้อ น้ำหนาว เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หรือไร่การเกษตรต่างๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
Fact File
การเดินทาง : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 240 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อยในการเดินทางไปกลับ (ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 กรุงเทพฯ-สระบุรี-เพชรบูรณ์) พอเจอแยกสาย 2219 ทางขวามือเลี้ยวเข้าขับไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร จะพบทางเข้าอุทยานฯ ซึ่งหากขับตามเส้น 2219 ต่อไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตรก็จะพบกับป้ายทางเข้าเขตเขาคลังนอก ส่วนโซนเขาถมอรัตน์ต้องขับย้อนกลับไปทางหลวงเส้น 21 ขึ้นทิศเหนือต่อไปอีกเล็กน้อยเพื่อใช้เส้น 2016 ทางซ้ายมือ
รถประจำทาง : ผู้ที่มาด้วยรถโดยสารประจำทางทั้งแบบธรรมดาและปรับอากาศจากสถานีขนส่งสายเหนือ ซึ่งมีรถเพชรบูรณ์วิ่งขึ้นล่องตลอดวัน ให้ลงที่ตลาดอำเภอศรีเทพ แล้วหารถรับจ้างเข้าสู่อุทยานฯ ต่ออีกที
เปิดบริการ: อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เปิดทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น.
ค่าเช้าชม : คนไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท และค่าจอดรถยนต์คันละ 50 บาท (ไม่นับค่าจอดในบริเวณ เขาคลังนอก ของเอกชน)
ศูนย์ข้อมูลบริการนักท่องเที่ยว : ตั้งอยู่บริเวณอุทยานฯ หน้าทางเข้าเขตเมืองโบราณชั้นในตรงจุดจอดรถและชำระค่าธรรมเนียม ซึ่งเป็นที่เดียวกับรถรางเริ่มให้บริการ ใกล้กันยังมีห้องสมุด ร้านเครื่องดื่มและของที่ระลึก รวมถึงอาคารปฏิบัติการทางโบราณคดีและอาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่มีกระดูกช้างแสดงอยู่ นอกจากนี้กรมศิลปากรก็จัดเตรียมแหล่งข้อมูลออนไลน์ไว้ทั้งในหน้าเพจหลักของกรมฯ ของอุทยานฯ รวมถึงในรูปของ QR code ผ่านแอปพลิเคชัน Fine Arts Digital Center เป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับผู้ที่มาท่องเที่ยวด้วยตนเอง แต่สนใจข้อมูลเชิงลึก
ก่อนมาชม : สำหรับคอประวัติศาสตร์สามารถศึกษาผลงานหนังสือ งานวิชาการที่ผลิตต่อเนื่องออกมาอย่างมากมายในช่วงก่อนหน้า และคาดว่าคงจะมีตีพิมพ์อีกเพื่อรับกระแส แต่ที่ไม่ควรพลาดคือ นิทรรศการพิเศษ “ศรีเทพกับมรดกโลก” ที่กรมศิลปากรจัดขึ้นเป็นพิเศษ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จนถึง 14 มกราคม 2567 ซึ่งนำงานชิ้นสำคัญมาจัดแสดงด้วย ได้แก่ พระสุริยเทพ พระกฤษณะ พระวิษณุสี่กร เศียรพระพุทธรูป เศียรพระโพธิสัตว์ และชิ้นส่วนต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งคาดว่าจะมีกิจกรรมบรรยายจากนักประวัติศาสตร์ประกอบนิทรรศการตามมา ทั้งนี้จากข่าวคราวของการที่โบราณวัตถุจากแหล่งศรีเทพและบริเวณใกล้เคียงได้อยู่อย่างกระจัดกระจายทั่วประเทศ เบื้องต้นได้มีการพูดคุยถึงโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของศรีเทพเอง เพื่อรวบรวมของสำคัญต่างๆ เหล่านั้นคืนถิ่น แต่ทั้งนี้ก็ยังเป็นโครงการระยะยาวที่ต้องใช้เวลา