ความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ที่สะท้อนผ่านโลกศิลปะ
- ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายรองรับการแต่งงานระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน ส่งผลให้กระแสการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศยิ่งถูกพูดถึงในหลากหลายวงการและภาคธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่วงการศิลปะ
- ภายใต้ผลงานศิลปะที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตไทยๆ ประเพณีวัฒนธรรมไทยสีสันสดใส “ธนพล ดาทุมมา” ศิลปินรางวัลชนะเลิศ ประเภทศิลปินใหม่หรือสมัครเล่นจากเวทีการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ครั้งที่ 11 กลับสอดแทรกประเด็นเรื่องเพศไว้ได้อย่างกินใจ
หลังร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านสภาและเตรียมประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ประเทศไทยก็กลายเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่มีกฎหมายรองรับการแต่งงานระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน ส่งผลให้กระแสการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศยิ่งถูกพูดถึงในหลากหลายวงการและภาคธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่วงการศิลปะที่เปิดกว้างให้ศิลปินและผลงานศิลปะที่สะท้อนเรื่อง ความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ออกมาอย่างหลากหลายมิติ
UOB Art Around ชวนไปพูดคุยกับ 4 ศิลปินที่เล่าเรื่อง ความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ผ่านงานศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งศิลปะจัดวาง งานปักผ้า งานคอมมิค ไปจนถึงภาพเขียน งาน VDO พร้อมแรงบันดาลใจที่อยากให้ความแตกต่างหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติในทุกสังคม
“ไจโกะ-วีรญา ยามันสะบีดีน” ศิลปินชายข้ามเพศ
ไจโกะ-วีรญา ยามันสะบีดีน คือศิลปินรุ่นใหม่ที่โดดเด่นด้วยผลงานสัจนิยม (Realistic) เขามักหยิบยกประเด็นเรื่องสงคราม การเมือง มาเล่าโดยใช้ความน่ารักของตัวการ์ตูนมิกกี้เมาส์เป็นสัญลักษณ์ โดยหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ไจโกะสนใจในประเด็นเรื่องสงคราม ความรุนแรง มาจากชีวิตวัยเด็กที่ถูกบูลลี ล้อเลียนเรื่องเพศสภาพ และนั่นก็ได้กลายเป็นทั้งแรงบันดาลใจในผลงานศิลปะ รวมทั้งความพยายามพิสูจน์ตัวเองให้คนในครอบครัวและคนรอบข้างยอมรับการตัดสินใจเป็นชายข้ามเพศ ไจโกะย้ำว่าก่อนที่จะให้คนอื่นยอมรับ สิ่งที่ยากและเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกก็คือ การยอมรับและเคารพในตัวของเราเอง
“ทุกเพศมีความยาก มีข้อจำกัดของตัวเองอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวันหรือการทำงาน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องโฟกัสว่าเราเป็นเพศที่สามแล้วเราจะมีขีดจำกัด อย่างตัวผมเองไม่ได้โฟกัสว่าตัวเองเป็นใคร แต่ผมโฟกัสว่าผมกำลังทำอะไร หน้าที่ของผมคือทำอะไร แล้วลงมือทำมันให้เต็มที่เท่านั้น”
ล่าสุด ไจโกะ กำลังสร้างผลงานที่ชื่อว่า In This Room เล่าประเด็นสงครามผ่านโรบอร์ตมินนี่เมาส์ตัวแทนของเพศหญิงสะท้อนความความเท่าเทียมทางเพศระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ซึ่งในสงครามผู้ชายมักได้รับเลือกให้เป็นทหาร แต่ในมุมมองของไจโกะ ทุกเพศควรได้รับสิทธิ์ที่เท่าเทียมกัน แม้แต่โรบอร์ตมินนี่เมาส์ผูกโบว์แดงที่อยากไปร่วมรบ เป็นตัวแทนของเพศหญิงที่มีความแข็งแกร่งเหมือนชาย อยากจะเป็นทหารเหมือนกัน และมีความอดทนไม่ต่างจากชายเช่นกัน
“บุ๊ง-รักษิต จิตบูรณะชาติ” Illustrator เป็นเจ้าของคอมมิค Koong.bg
เปิดประตูสู่โลกคอมมิคสุดน่ารักที่มีสองหนุ่ม แดน และ คราม ตัวละครหลักที่จะมาสื่อสารความรักอันแสนเรียบง่าย เป็นโมเมนต์ความรักที่สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน โดยมี Koong.bg หรือ “บุ๊ง-รักษิต จิตบูรณะชาติ” สถาปนิก และ Illustrator เป็นเจ้าของคาแรคเตอร์สุดน่ารัก มีทั้งเวอร์ชันภาษาไทยและอังกฤษเผยแพร่ลงใน Webtoon และ Instagram ซึ่งตอนนี้มีผู้ติดตามเกือบ 1 แสนคน
Koong.bg ได้พัฒนางานคาแรคเตอร์ แดน และ คราม จากลายเส้นสื่ออารมณ์ยุ่งเหยิงจนมาลงตัวที่ความรักฉบับเรียบง่ายสดใส สื่อให้เห็นว่าความรักไม่ว่าเพศไหนก็สวยงามได้ และไม่จำเป็นต้องผ่านการเรียกร้องที่เจ็บปวดเสมอไป “พ่อแม่ที่เข้าใจมีอยู่จริง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทำให้เห็นถึงความเจ็บปวดของการไม่ยอมรับ เราอยากเห็น LGBTQ+ แบบที่มีความรักที่แฮปปี้ ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ค่อยเห็นความสุขของคนกลุ่มนี้ในสื่อที่หลากหลายแค่นั้นเอง”
สำหรับผลงานคอมมิคนั้น Koong.bg ใช้ชื่อเรื่องว่า Pointillism แปลตรงตัวก็คือ “เม็ดสี” หมายถึงความแตกต่างหลากหลายของผู้คนที่มีหลายเฉดสี Koong.bg ย้ำว่ามนุษย์ไม่จำเป็นต้องชอบในสิ่งเดียวกันถึงจะรักกัน ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ทำให้คนเรารักกันก็คือ “รักในความต่างของกันและกัน” ซึ่งนี่เป็นคีย์สำคัญในคอมมิคชายรักชายสุดสดใสของ Koong.bg
โอ๊ต มณเฑียร : ศิลปินนักเล่าเรื่องที่นำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศ
โอ๊ต มณเฑียร ศิลปินนักเล่าเรื่องที่นำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศและความสัมพันธ์ของมนุษย์ผ่านผลงานศิลปะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น บทกวี วรรณกรรม ศิลปะจัดวาง การวาดรูปเปลือย ศิลปิน Performance art ศิลปินมัดเชือกชิบาริ และล่าสุดกับนิทรรศการเดี่ยวเต็มตัวของเขา Country Home Sheriff นิทรรศการกลิ่นอายคาวบอยที่จะพาไปสู่การปะทะระหว่างความเป็นชายในแบบฉบับพ่อ และความเป็นชายที่กลายเป็นมรดกตกทอดสู่ลูกนั่นก็คือ “โอ๊ต มณเฑียร”
“นิทรรศการนี้อุทิศให้กับคุณพ่อผู้ชอบเรื่องราวของคาวบอย เมื่อคุณพ่อเสียเราได้มีโอกาสกลับมาเปิดตู้เสื้อผ้าของพ่อ แล้วจัดการความทรงจำถึงคุณพ่อผ่านนิทรรศการ ได้มานั่งทบทวนถึงความทรงจำระหว่างความเป็นชายของพ่อกับเรา ซึ่งหลังจากคุณพ่อเสียเราก็กลายมาเป็นผู้ชายคนเดียวในบ้าน ก่อนหน้านี้งานศิลปะของเราจะเป็นสไตล์เควียร์ มีความเป็นผู้หญิงสูง เพราะเราไม่อยากจะแตะความเป็นชาย เรารู้สึกไม่อิน แต่สุดท้ายเมื่อพ่อเสียเราก็เลยได้มานั่งตกตะกอนกับความเป็นเพศชายนี้ใหม่ เพราะพ่อก็อยู่ในเรา พ่อก็คือเราอย่างเลี่ยงไม่ได้”
โอ๊ตเล่าถึงคีย์หลักของนิทรรศการ Country Home Sheriff ที่ตีความคำว่า “คาวบอย” ในแบบฉบับพ่อกับแบบฉบับของโอ๊ตที่นำความเป็นเกย์ เซ็กซ์ ซึ่งถูกสอดแทรกอยู่ในวัฒนธรรมคาวบอยมาปะทะสังสรรค์อยู่ในนิทรรศการ โอ๊ตกล่าวว่านิทรรศการที่มีบทสนทนาเรื่องเพศแบบเปิดเผยเช่นนี้ถือว่ายังใหม่ในแกลเลอรีเมืองไทย แม้เนื้อหาเรื่องเพศ ภาพเปลือยจะได้รับการยอมรับในวงการศิลปะไทยมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
“ในนิทรรศการนี้เราจะเห็นคาวบอยใช้บ่วงบาศมัดชิบาริผู้ชายแทนที่จะเป็นสัตว์ มีความโป๊เปลือยเพราะนี่คือคาวบอยในการตีความของเรา ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนแกลเลอรีที่เปิดกว้างงานอีโรติก อาจจะมีน้อย ต้องขอบคุณแกลเลอรียุคใหม่ที่เข้าใจว่าเรื่องเพศนั้นมีหลายประเด็น และถ้าเราสื่อสารบ่อยๆ ทำให้เป็นเรื่องปกติ เรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเพศก็จะกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม”
ธนพล ดาทุมมา : ศิลปินรางวัลชนะเลิศ ประเภทศิลปินใหม่หรือสมัครเล่นจากเวทีการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ครั้งที่ 11
“ตอนคุณพ่อเสีย เราตั้งใจจะบวชให้ท่าน แต่กลับโดนปฏิเสธ พอโตขึ้นเราก็เลยอยากใช้งานศิลปะที่เราทำ บวชหน้าไฟ ให้ท่านแทน”
ภายใต้ผลงานศิลปะที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตไทยๆ ประเพณีวัฒนธรรมไทยสีสันสดใส “ธนพล ดาทุมมา” ศิลปินรางวัลชนะเลิศ ประเภทศิลปินใหม่หรือสมัครเล่นจากเวทีการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ครั้งที่ 11 กลับสอดแทรกประเด็นเรื่องเพศไว้ได้อย่างกินใจ ธนพลใช้ผลงานศิลปะเป็นสื่อกลางเล่าเรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเพศมาตั้งแต่สมัยเรียนจนมาเป็นศิลปินมืออาชีพเต็มตัว แม้ตัวเธอเองบอกว่าไม่ได้ตั้งใจจะเล่าเรื่องเพศ อยากหนีไปเล่าในประเด็นอื่น แต่สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นความเป็นตัวตนที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในผลงานศิลปะของเธอ
“ผลงานที่ทำส่วนใหญ่จะเล่าเกี่ยวกับเรื่องตัวเอง ซึ่งความจริงไม่ได้ตั้งใจจะโฟกัสไปที่เรื่องเพศ หรือเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมอะไร แต่เป็นเรื่องที่ทัชใจเรา จนรู้สึกอยากจะเล่าสิ่งนั้นออกมา เช่น ภาพงานศพของเพื่อนที่ทำงานคาบาเรต์ เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ผู้ตายอยากให้เพื่อนๆ มาส่งด้วยชุดคาบาเรต์ งานที่ออกมาจึงเป็นภาพของเหล่านางโชว์สีสันสดใสที่มาร่วมงานศพ ภาพนั้นมีหลากหลายอารมณ์ทั้งเศร้า สุข ความเจ็บปวดรวมอยู่ด้วยกัน อีกภาพที่บีบใจเรามากๆ คือภาพงานบวชหน้าไฟให้พ่อ คุณพ่อเสียตอนเราเด็กๆ ตอนนั้นเราตั้งใจจะบวชให้พ่อ แต่สุดท้ายทางวัดไม่ให้บวช อาจจะด้วยเราตุ้งติ้งหรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้ โตขึ้นมาเลยอยากใช้ภาพที่เราทำบวชให้พ่อแทนตัวเองที่บวชไม่ได้”
นอกจากประเด็นในเรื่องเพศที่จะได้เห็นในผลงานของธนพลแล้ว เธอยังใช้เทคนิคการปักผ้าซึ่งเป็นวัสดุหนึ่งของชีวิตเข้ามาสร้างสรรค์งานแทนการวาดภาพ ธนพลใช้ทั้งเศษด้าย เศษผ้า เครื่องประดับจริงที่ใช้ในชุดคาบาเรต์ ชุดนางโชว์ เธอให้เหตุผลว่าทำให้งานดูมีความพริ้วไหว วิบวับจับตา สื่ออารมณ์ได้ชัดเจนขึ้น และเมื่อถามต่อว่าจะทำงานที่เล่าเรื่องเพศต่อไปไหม เธอตอบชัดเจนว่า
“เคยทำงานแมสที่คิดว่าจะขายได้ดีกว่างานเรื่องเพศ หรือประเด็นสังคมที่ทำอยู่ แต่สุดท้ายก็ไม่มีแรงบันดาลใจที่จะทำให้เสร็จ เพราะไม่ใช่เรื่องที่เราอยากจะเล่าเท่ากับเรื่องของความหลากหลายทางเพศ”
Fact File
- อ่านคอนเทนต์ด้านศิลปะจาก UOB Art Around https://www.uob.co.th/uobandart/uob-art-around.page