Sanctuary Within เมื่องานศิลปะชุบชีวิตใหม่ให้วัสดุเหลือใช้จากโรงแรม
- โปรเจกต์ Art in Residence ของโรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ ได้เปิดให้ศิลปินได้เข้ามาพำนักเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อสร้างงานศิลปะที่สะท้อนมุมมองด้านความยั่งยืนของมนุษย์ สังคม และโลกใบนี้ จนกลายเป็นที่มาของนิทรรศการ Sanctuary Within ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย
- จารุพัชร อาชวะสมิต ศิลปินและนักออกแบบสิ่งทอ ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ 3 ชิ้น ที่จัดแสดงในบริเวณล็อบบีของโรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ ประกอบไปด้วยผลงานที่ชื่อว่า “Floating Forest”, “Cotton Field” และ “Paper Sky”
จากวัสดุรีไซเคิลและของเหลือใช้ของโรงแรม เช่น กระดาษจากสำนักงาน ผ้าปูที่นอนชำรุดหรือหมดอายุการใช้งาน รวมถึงชุดของใช้ห้องพักอย่างหลอดแชมพู ครีมนวด และบอดี้มิลค์ของโรงแรมซึ่งทำมาจากอะลูมิเนียม 100% เหล่านี้คือวัสดุที่ได้กลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสรรค์งานศิลปะ Sanctuary Within โดย จารุพัชร อาชวะสมิต ศิลปินในพำนัก (Artist in Residence) โครงการ Art in Resonance ของโรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ
UOB Art Around ชวนมาสัมผัสผลงานศิลปะสุดอลังการที่ศิลปินตั้งใจเปลี่ยนพื้นที่โรงแรมให้กลายเป็นอาร์ตแกลเลอรีถ่ายทอดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนจาก ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ที่มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และสนับสนุนแวดวงศิลปะไทย รวมถึงการนำศิลปะมาใช้เป็นสื่อในการขับเคลื่อนสังคม
โปรเจกต์ Art in Residence ของ โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ ได้เปิดให้ศิลปินได้เข้ามาพำนักเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อสร้างงานศิลปะที่สะท้อนมุมมองด้านความยั่งยืนของมนุษย์ สังคม และโลกใบนี้ จนกลายเป็นที่มาของนิทรรศการ Sanctuary Within ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารยูโอบี ประเทศไทย โดย จารุพัชร อาชวะสมิต ศิลปินและนักออกแบบสิ่งทอ ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ 3 ชิ้น ที่จัดแสดงในบริเวณล็อบบีของโรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ ประกอบไปด้วยผลงานที่ชื่อว่า “Floating Forest”, “Cotton Field” และ “Paper Sky”
จารุพัชร อาชวะสมิต เริ่มต้นด้วยการเข้ามาสำรวจและวิเคราะห์วัสดุเหลือใช้ของโรงแรมจนสามารถแบ่งวัสดุได้ 4 ประเภท คือ โลหะ (จากหลอดอะลูมิเนียมที่บรรจุแชมพู ครีมนวดผม สบู่ และครีมทาผิวในห้องน้ำ) กระดาษ เศษอาหาร (ผักและผลไม้) และผ้า (ผ้าปูเตียงที่ชำรุด) จากนั้นจึงนำไปสร้างงานทั้งหมด 3 ชิ้น ศิลปินรู้สึกว่าสิ่งที่สำคัญกว่าผลงานสร้างสรรค์ ก็คือการทำให้ผู้มีส่วนร่วมหรือคนรอบตัวได้ตระหนักถึงคุณค่าของวัสดุเหลือใช้ด้วยตนเองในระหว่างกระบวนการทำงานศิลปะนั้น
“ผลงานเป็นแค่ผลลัพธ์ สิ่งที่สำคัญคือการทางเดินทาง เพราะว่าคนที่ช่วยเก็บวัสดุมาสร้างชิ้นงานให้เราก็คือแม่บ้าน เมื่อก่อนเขาจะรู้สึกว่าตัวเองทำงานที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับศิลปะ แต่พอเราแสดงให้เห็นว่าของเหลือใช้ที่เขาเก็บมามันสามารถกลายมาเป็นงานศิลปะได้ ทัศนคติเขาก็เปลี่ยนไป กลายเป็นว่าเขาเข้าใจว่าเขากำลังจัดการกับของที่ยังมีคุณค่าอยู่ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทางความคิดของคนในองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จแล้ว ในการทำให้คนที่เกี่ยวข้องกับวงจรของการนำกลับมาใช้ใหม่ ตระหนักถึงเรื่องราวของชีวิตที่สองของวัสดุเหลือใช้ ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างผลกระทบด้านความยั่งยืนที่ขยายวงกว้างออกไปได้ไม่สิ้นสุด”
ไฮไลต์ชิ้นแรกคือ “Floating Forest” ได้แรงบันดาลใจจากไอเดียที่ต้องการจะพูดถึงสิ่งที่คนไม่ต้องการแล้ว สิ่งที่เราทิ้ง สิ่งที่รู้สึกว่ามันไม่มีค่า แต่จริงๆ แล้วมันมีค่า เราสามารถเก็บมันมาสร้างชีวิตที่สองได้ ซึ่งเมื่อพูดถึงการมีชีวิต เรามักนึกถึงผืนป่า เพราะป่าคือพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ ที่สร้างชีวิตและเป็นแหล่งกำเนิดชีวิต และป่าสามารถ Floating Around ไปได้ทั่วโดยผลงานชิ้นนี้ได้นำหลอดอะลูมิเนียมเหลือใช้กว่า 12,000 หลอด มาตัดเป็นเส้นและถักทอกับเส้นด้ายที่ทำมาจากขวดน้ำพลาสติก ขณะที่เศษวัสดุเหลือใช้อื่นๆ ถูกนำมาเป็นองค์ประกอบภายในชิ้นงาน ขึ้นรูปเป็นรูปทรงใบไม้ขนาดใหญ่ นำมาประกอบกันกว่า 20 ชิ้น
ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้ถูกติดตั้ง ณ บริเวณล็อบบี โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ
ผลงาน “Cotton Field” อีกหนึ่งผลงานผ้าทอที่ทำจากผ้าฝ้ายอียิปต์ ซึ่งเดิมเคยเป็นผ้าปูเตียงที่โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ แต่เนื่องจากชำรุดหรือมีตำหนิจึงไม่สามารถใช้งานต่อได้ ศิลปินจึงนำมาชุบชีวิตใหม่ผ่านกระบวนการย้อมและระบายสี โดยเลือกใช้สีธรรมชาติจากดอกอัญชันที่ปลูกในโรงแรม รวมทั้งสีจากผักผลไม้เหลือใช้ในห้องครัวโรงแรมที่สร้างความสดใสได้ไม่ด้อยไปกว่าสีเคมี โดยถูกจัดแสดงบริเวณทางเข้าหลักของโรงแรม
นอกจากนี้ จารุพัชรยังเล็งเห็นปัญหาขยะในสำนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกระดาษ เธอจึงได้รวบรวมกระดาษที่ใช้แล้วกว่า 100 กิโลกรัมในสำนักงานของโรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ มาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยการย่อยผ่านเครื่องทำลายเอกสาร และส่งไปยังช่างฝีมือในจังหวัดเชียงรายเพื่อเปลี่ยนเป็นกระดาษใหม่ที่เสริมด้วยเยื่อไผ่ 50% จากนั้นย้อมด้วยสีธรรมชาติและไปถักทอใหม่ สร้างชิ้นงานศิลปะนามธรรมที่ผสมผสานความยั่งยืนที่ชื่อว่า “Paper Sky”
จารุพัชร ย้ำว่าสำหรับเธอ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนให้กับคนในองค์กร ต้องไม่ได้มาจากการบังคับ และไม่จำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน สิ่งสำคัญคือต้องเป็นอะไรที่เข้าใจง่าย สบายๆ ทำแล้วมีความสุข อยู่บนความร่มรื่นและรื่นรมย์ ดังนั้นประตูห้องทำงานของเธอจึงเปิดอยู่ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่เธอทำงาน เพื่อให้เหล่าแม่บ้านที่ช่วยรวบรวมวัสดุ หรือใครก็ตามที่สนใจได้เข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจถึงงานที่เธอกำลังทำ
จารุพัชร ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ชีวิตที่สองของวัสดุเหลือใช้ในงานเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความร่วมมือระหว่างโรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ และธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินได้นำศิลปะมาสื่อสารในประเด็นที่ค่อนข้างหนักอย่างสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และนำมาชิดใกล้ผู้ชมในพื้นที่โรงแรม ซึ่งถ้าไม่มีโอกาส ทุนสนับสนุน และเวทีให้สร้างสรรค์ ชีวิตที่สองในนิทรรศการ Sanctuary Within ก็คงเกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน
Fact File
อ่านคอนเทนต์ด้านศิลปะจาก UOB Art Around : https://www.uob.co.th/uobandart/uob-art-around.page