เมื่อสิงสาราสัตว์ในภาพวาด ถวัลย์ ดัชนี โลดแล่นในโลกดิจิทัล Immersive Art of Thawan Duchanee
- นิทรรศการ Immersive Art of Thawan Duchanee นำภาพวาดมาสเตอร์พีชของศิลปินชื่อดัง ถวัลย์ ดัชนี มานำเสนอในรูปแบบดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นครั้งแรกของโลก
- ถวัลย์ (พ.ศ. 2482- พ.ศ. 2557) เป็นศิลปินที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเลิศในการถ่ายทอดกายวิภาคของสิงสาราสัตว์ด้วยเส้นสายที่อ่อนช้อยแต่แฝงความดุดันในสไตล์กึ่งเหนือจริง
- ในนิทรรศการนำเสนอเทคโนโลยีในรูปแบบทั้ง Immersive 360 fulldome, VR Technology, Augmented Reality (AR), AR Mask และ 3D Mapping
“สถานการณ์ทั่วโลกตอนนี้เหมือนฟ้ามืด ทุกอย่างคือความเสี่ยง 100% แต่เรายอมเทหมดหน้าตัก ยอมเป็นหนี้เพราะเราอยากให้พ่อเป็นตัวแทนของวงการศิลปะไทยไปถึงระดับโลก” ดอยธิเบศร์ ดัชนี บุตรชายของศิลปินชื่อดัง ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ประจำพ.ศ.2544 ประกาศถึงความตั้งใจแรงกล้าในการจัดงานนิทรรศการ Immersive Art of Thawan Duchanee ที่นำงานศิลปะของพ่อมาผสานกับดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงกลุ่มคนหลากหลายและเหมาะกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
ถวัลย์ ดัชนีย์ (พ.ศ. 2482- พ.ศ. 2557) เป็นศิลปินที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเลิศในการถ่ายทอดกายวิภาคของสิงสาราสัตว์ด้วยเส้นสายที่อ่อนช้อยแต่แฝงความดุดันในสไตล์กึ่งเหนือจริง ในนิทรรศการซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 11 ธ.ค. 2563 – 11 ม.ค. 2564 ที่ไอคอนสยาม สรรพสัตว์ในภาพวาดของถวัลย์ไม่ว่าจะเป็น นกอินทรี เหยี่ยว เสือเขี้ยวดาบ ช้าง ม้า งู และ กระทิง จะออกมาโลดแล่นเหนือผืนผ้าใบด้วยเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมเพียงใช้สมาร์ตโฟนหรือแทบเล็ตสแกนคิวอาร์โค้ด
ตื่นตามากยิ่งขึ้นกับการรวมผลงานถวัลย์ในทุกช่วงชีวิตการทำงานมานำเสนอในรูปแบบแอนิเมชั่นความยาว 20 นาทีที่มีชื่อว่า Lightning of the Soul ฉายในโดม 360 องศาด้วยเทคโนโลยีแบบ Immersive นำเสนอเรื่อง พุทธปรัชญา ซึ่งแฝงอยู่ในงานของถวัลย์มาโดยตลอด
ต่อยอดงานมาสเตอร์พีชด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี
“อยากให้งานของพ่อ beyond around the world แต่ต้องทำอะไรใหม่จริงๆ สดจริงๆ มากกว่าแค่เอางานไปโชว์ ทำอย่างไรให้เข้าถึงคนง่ายที่สุด เด็กรุ่นใหม่มีมือถือทุกคนและเราสามารถนำเทคโนโลยีต่างๆ มาเล่นได้ สร้าง edutainment ให้เกิดแรงบันดาลใจ เป้าหมายคือ ให้งานของอาจารย์ถวัลย์เข้าไปอยู่ในใจคน” ดอยธิเบศร์ ทายาทเพียงคนเดียวของถวัลย์และผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บ้านดำที่จังหวัดเชียงราย กล่าวถึงเป้าหมายของนิทรรศการ
ดอยธิเบศร์ได้จับมือกับบริษัท Fulldome.pro ผู้นำนวัตกรรมการจัดแสดงศิลปะรูปแบบดิจิทัลที่อยู่เบื้องหลังนิทรรศการศิลปะมาแล้วทั่วโลก เช่น Burning Man, Coachella, CES ที่ลาสเวกัส การเฉลิมฉลอง 70 ปีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในเซี่ยงไฮ้ ทั้งยังมีผลงานร่วมงานกับศิลปินดิจิทัลระดับโลก อาทิ Android Jones, Liquid Art, และ Luminokaya รวมทั้งโปรเจกต์ในประเทศไทย เช่น อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ท้องฟ้าจำลอง และโรงภาพยนตร์ดาราศาสตร์ในภูเก็ต
โซน AR Art Gallery บริเวณธาราฮอลล์ ชั้น M ได้คัดสรรผลงานชิ้นเยี่ยมของถวัลย์จำนวน 20 ภาพมาทำเป็นภาพพิมพ์เพื่อให้ผู้ชมได้เล่นสนุกกับเทคโนโลยี AR ทำให้เหล่าสิงสาราสัตว์ในภาพวาดเคลื่อนไหวเสมือนมีชีวิต ผลงานในส่วนนี้เข้าชมฟรี
“ผมเคยใช้เวลาแค่ 6 วินาทีในการตวัดฝีแปรงรูปปีกนกอินทรี และใช้เวลาทั้งหมด 18 วินาทีเพื่อได้ภาพที่สมบูรณ์”
ถวัลย์เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Nation เมื่อ พ.ศ.2547 นั่นเป็นเพราะถวัลย์ทุ่มเทกับการศึกษากายวิภาคของสัตว์แต่ละชนิดอย่างละเอียดและฝึกฝนการวาดจนชำนาญ อย่างที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า
“ผมใช้เวลา 3 เดือนที่ประเทศฟิลิปปินส์เพื่อสังเกตพฤติกรรมของนกอินทรีขณะล่าเหยื่อและกินสมองลิง ผมยังเดินทางไปทะเลทรายที่อริโซน่าเพื่อสังเกตการเลื้อยคลานของงูในทะเลทราย เพราะฉะนั้นถ้าเราจะวาดรูปสัตว์เชิงสัญลักษณ์หรือเชิงเหนือจริง คุณต้องแม่นยำในกายวิภาคของสัตว์แต่ละชนิดก่อน คุณต้องวาดรูปงูให้เป็นก่อนจะวาดพญานาค ไม่งั้นพญานาคจะกลายเป็นงูก้นขบ หรือรูปสิงโตของคุณจะดูคล้ายสุนัข”
พุทธปรัชญากับ VR เทคโนโลยี
ในส่วนโดม 360 องศาที่สร้างในรูปทรงคล้ายกับอูบ (อาคารปูนชั้นเดียวทรงโดมฐานกลมมีลักษณะคล้ายเจดีย์ที่ถวัลย์สร้างไว้หลายหลังเพื่อจัดแสดงผลงานของตนเองในอาณาจักร 100 ไร่ของพิพิธภัณฑ์บ้านดำ) เป็นเหมือนโรงหนังขนาดย่อมที่ผสมผสานนวัตกรรมทางเทคโนยี VR (Virtual Reality) และ 3D Mapping กับฝีแปรงในภาพวาดของถวัลย์ พร้อมดนตรีประกอบและเสียงบรรยายที่พาผู้ชมเริ่มต้นเดินทางจากพิพิธภัณฑ์บ้านดำที่เชียงรายสู่การต่อสู้ภายในจิตใจเพื่อให้หลุดพ้นจากโลกิยะ (โซนนี้มีบัตรเข้าชมราคา 350 บาท) ด้านนอกโดมยังมีภาพอีก 22 ภาพให้ผู้ชมได้ร่วมสนุกกับเทคโนโลยี AR
“จริงๆ เราคุยกับจอร์จี้ สวามิ (Georgii Swami ประธานบริษัท Fulldome.pro) มาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ทางเขาสนใจงานของ อาจารย์ถวัลย์อยู่แล้วเพราะมีความร่วมสมัย งานของอาจารย์ถวัลย์เป็นตะวันออกแต่ถ่ายทอดในรูปแบบตะวันตก เช่น รูปหนุมานหาวเป็นดาวเดือนเป็นเรื่องแบบตะวันออก แต่เล่าในรูปแบบสากล อาจารย์ถวัลย์ยังเป็นศิลปินเอเชียคนแรกที่ทาง Fulldome นำผลงานมาสร้างสรรค์ในรูปแบบมัลติมีเดีย”
ความตั้งใจแรกของทั้งดอยธิเบศร์และ Fulldome.pro เป็นโปรเจกต์พันล้านในสเกลขนาดใหญ่และจะจัดแสดงไปทั่วโลก แต่เมื่อทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 แพลน A ที่วางไว้จำต้องพับเก็บไว้และปรับมาเป็นแพลน B ในสเกลที่ย่อมลง
“เมื่อมีโควิด เศรษฐกิจทั่วโลกพังทลาย คนทำอีเวนต์พังหมด แม้แต่พิพิธภัณฑ์บ้านดำต้องปิดไป 4-5 เดือนเพราะนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นคนจีนหายไปเลย 100% ตอนนี้สถานการณ์เมืองไทยดีขึ้นและด้วยความร่วมมือของ 3 พันธมิตรคือ บ้านดำ Fulldome และไอคอนสยาม เราเลยปรับมาเป็นแพลน B จากเดิมเราจะมีโดม 360 องศาขนาดใหญ่ 30 เมตร จำนวน3 โดมที่รองรับผู้ชมได้ 200-300 คน ต่อรอบก็ต้องย่อสเกลเหลือโดมเดียวในขนาด 15 เมตร สำหรับผู้ชมรอบละ 60 คน”
ส่งต่อแรงบันดาลใจในหลายมิติ
ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาที่เริ่มโปรเจกต์อย่างจริงจัง ดอยธิเบศร์ยอมรับว่าเป็นช่วงที่เขากดดันอย่างมหาศาลเพราะทุกอย่างจะผิดพลาดไม่ได้เลย
“เราทำงานกับแอนิเมเตอร์เป็น 100 คนทั่วโลก ทำงานข้ามโลก คุยกันตลอดเวลาทั้งภาษาไทย อังกฤษ รัสเซีย ญี่ปุ่น และจีน ส่วนซาวน์เอนจิเนียก็มาจากหลายที่ เราต้องเอาจิ๊กซอร์ทุกตัวมาต่อกันและส่งไปเรนเดอร์ที่แคนาดา เมื่อส่งกลับมาใช้เวลาดาวน์โหลดอีก 8-9 ชั่วโมง เป็นงานที่ชาเลนท์ทุกๆด้าน
“อาจารย์ถวัลย์ศึกษาพุทธปรัชญาอย่างลึกซึ้งและสามารถถ่ายทอดออกมาอย่างร่วมสมัยที่ผู้คนทั่วโลกเข้าใจ เก้าอี้ที่ท่านออกแบบโดยใช้เขาควายสื่อถึงวัฒนธรรมเกษตรกรรม หรือลักษณะโครงสร้างของอูบที่ท่านออกแบบที่บ้านดำก็มีความเป็น Futurist ท่านเป็นคนล้ำสมัยมากเพราะฉะนั้นงานของท่านจึงลงตัวมากๆเมื่อนำมาทำแบบ Immersive”
แม้สถานการณ์โควิดทั่วโลกในขณะนี้ยังไม่คลี่คลาย แต่เขาคาดหวังว่าปี พ.ศ.2564 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นและเป้าหมายต่อไปคือนำงานไปจัดแสดงที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
“คนจีนรักพิพิธภัณฑ์บ้านดำ และที่นั่นเรามีพาร์ทเนอร์ที่พร้อมจะทำงานกับเราอยู่แล้ว ปีหน้าน่าจะพอขยับไปได้”
ไม่เพียงแต่ภาพเขียนที่นำมาต่อยอดใหม่ในรูปแบบดิจิทัลมีเดีย ดอยธิเบศร์ได้เชื้อเชิญแฟชั่นและจิวเวลรีดีไซเนอร์ให้ออกแบบคอลเลคชันพิเศษที่ได้แรงบันดาลใจจากผลงานของถวัลย์ อาทิ ประภากาศ อังศุสิงห์ สร้างสรรค์ผลงานพิเศษ “ประภากาศ อังศุสิงห์ X ถวัลย์ ดัชนี”
เชฟจาก 4 โรงแรมชั้นนำ ได้แก่ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ, โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพ, โรงแรมสุโขทัย กรุงเทพ และโรงแรมเพนนินซูล่า กรุงเทพ ยังได้สร้างสรรค์อาหารสำหรับArt Exclusive Dining Show ภายใต้บรรยากาศในโดม Immersive 360 องศาโดยเชฟแต่ละท่านจะหมุนเวียนมารังสรรค์ดินเนอร์สไตล์ Fine Dining ในราคา 6,900 บาทต่อท่าน ทุกวันเสาร์ เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2563 ถึงเสาร์ที่ 9 มกราคม 2546
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช และ Immersive Art of Thawan Duchanee
Fact File
- Immersive Art of Thawan Duchanee จัดแสดงระหว่างวันที่ 11 ธ.ค. 2563 – 11 ม.ค. 2564 ที่ไอคอนสยาม
- นิทรรศการที่บริเวณ ธารา ฮอลล์ ชั้น M เข้าชมฟรี ส่วนผลงานที่ฉายในโดมImmersive 360 องศา จำหน่ายบัตรเข้าชมราคา350 บาท พร้อมรับของที่ระลึก AR Poster (มูลค่า 450 บาท) และจัดฉายเป็นรอบๆละ 20 นาทีโดยจำกัดจำนวนผู้ชม 60 คนต่อรอบ ระหว่าง 13.00 – 20.00 น. (วันจันทร์-พฤหัสบดี) และ 13:00-21.00 น. (วันศุกร์-อาทิตย์)
- รายละเอียดเพิ่มเติม www.facebook.com/immersiveartofthawanduchanee