RCB Talk: รู้จัก “เครื่องเงินไทย” จากเงินตรา สู่ของสะสมอันเลอค่าที่ซ่อนเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์
งานทอล์คจบแต่เรื่องราวประวัติศาสตร์และคุณค่าของ เครื่องเงินไทย ยังไม่จบสำหรับ RCB Auction’s Talk งานทอล์คสุดเอ็กซ์คลูซีฟเรื่องเครื่องเงินและเครื่องถมไทย ที่ทาง RCB Auctions บริษัทประมูลของแอนทีคและศิลปวัตถุชั้นนำของไทยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 งานนี้ทาง RCB Auctions ได้เชิญ พอล บร๊อมเบิร์ก (Paul Bromberg) นักวิชาการ นักสะสม และนักเขียนเจ้าของหนังสือ “Thai Silver and Nielloware” (เครื่องเงินและเครื่องถมทองไทย) มาเปิดวงสนทนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เครื่องเงินไทยโดยเฉพาะ
ย้อนไปในอดีต เครื่องเงิน สำหรับสังคมไทยนั้นเปรียบเสมือน “แบรนด์เนมสุดหรู” ที่ไม่เพียงบ่งบอกสถานะทางการเงินของตระกูลใดตระกูลหนึ่งเท่านั้น แต่เครื่องเงินยังถูกใช้บ่งบอกสถานะทางสังคมของคนผู้นั้นด้วย ถึงกับมีบทบัญญัติกำหนดไว้ว่า หากไม่ใช่ลูกพระยานาหมื่นที่มีที่ดินศักดินามากกว่า 10,000 ไร่ก็มิอาจมีเครื่องเงินไว้ครอบครองได้ ก่อนที่ต่อมาเครื่องเงินจะเฟื่องฟูและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีการใช้งานในหมู่คนชนชั้นกลางและคนทั่วไปมากขึ้น พร้อมเปลี่ยนรูปแบบจากเงินตรา เครื่องเงินที่ออกแบบเป็นข้าวของเครื่องใช้อย่างประณีต มาเป็นเครื่องประดับที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ในแง่ของวงการนักสะสม แม้ราคาของเครื่องเงินจะย่อมเยากว่า “ทองคำ” แต่งานเครื่องเงินชั้นครูฝีมือประณีตก็ยังถือเป็นของสะสมล้ำค่าที่เหล่านักสะสมต้องการและปักหมุดไว้ว่าต้องมีเก็บไว้ เพราะเครื่องเงินไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่เครื่องประดับหรือของประดับตู้โชว์ แต่การสะสมเครื่องเงินยังเป็นการอนุรักษ์สานต่อฝีมือช่างเงินโบราณของไทยที่หาได้ยากยิ่งให้คงอยู่อีกด้วย
และเพื่อให้การเสพงานศิลป์ผ่านเครื่องเงินไทยมีความสนุกมากยิ่งขึ้น Sarakadee Lite ขอพาดำดิ่งไปสู่โลกของเครื่องเงินไทย ตั้งแต่เงินตรา ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน การผลิตเครื่องเงินในประเทศไทย เทคนิคโบราณในการเปลี่ยนเครื่องเงินให้เป็นงานศิลป์ล้ำค่าที่ทำให้เครื่องเงินไทยแตกต่างและโดดเด่นเป็นความคลาสสิกที่นักสะสมยังคงมองหา
เงินตราแรกของโลกที่เรียกว่า “เงิน”
แม้เงินจะมีมูลค่าน้อยกว่าทองคำ แต่ “เงิน” กลับได้รับการขนานนามว่า เป็น “เงินตรา” แรกของโลก โดยเฉพาะในจีนและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยซึ่งในอดีตนั้นนิยมนำเงินมาขึ้นรูปเป็น “เหรียญเงิน” เพื่อใช้เป็นเงินตราแลกเปลี่ยนสินค้า โดยแหล่งผลิตแร่เงินสำคัญของโลกอยู่ในแถบอเมริกาใต้แถวเม็กซิโก โบลิเวีย สำหรับไทยนั้นมีการนำเข้าเงินจากเพื่อนบ้าน รวมทั้งมีการค้นพบเหมืองเงินอยู่ทางตอนเหนือของประเทศแถบจังหวัดน่าน แต่ก็เป็นเพียงเหมืองเงินขนาดเล็กมาก ปริมาณไม่มากพอต่อความต้องการใช้ ทำให้ในอดีตโดยเฉพาะยุคกรุงศรีอยุธยาที่การค้าต่างชาติเฟื่องฟู ต้องมีการนำเข้าเงินเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่ามูลค่าการค้าต่อปีในแถบอาเซียนในยุคที่เฟื่องฟูที่สุดในราวศตวรรษที่ 17 (ราวสมัยอยุธยา) นั้น มีมูลค่าเท่ากับเงินราว 220 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแท่งเงินจากชาวสเปนที่ขุดจากเหมืองขนาดใหญ่ในโปโตสิ (ปัจจุบันคือโบลิเวีย) โดยขนผ่านทางเรือเข้ามาในอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ ก่อนกระจายไปทั่วภูมิภาคผ่านท่าเรือต่างๆ ซึ่งในส่วนของไทยนั้นได้รับผ่านจากจีนมาอีกทอดหนึ่ง
ในช่วงแรก ความต้องการใช้ “เงิน” ของไทยมี 2 วัตถุประสงค์หลักๆ คือใช้ถ่วงดุลการค้ากับจีนและนำมาผลิตเป็นเหรียญเงินใช้ในประเทศ เช่น เงินพดด้วง ทำให้นับตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ประเทศไทยก็นำเข้าเงินจำนวนมากมาโดยตลอด และนอกจากเงินที่นำมาทำเป็นเงินตราแล้ว ไทยยังมีการสร้างสรรค์เครื่องเงินในรูปแบบข้าวของเครื่องใช้ที่นิยมมากก็เช่น กาน้ำ ถาด พาน ขัน ชุดเชี่ยนหมาก ตลับ กล่อง และกล่องยา ด้านชุดเกราะ อาวุธ และพระพุทธรูปนั้นมีบ้างแต่ยังเป็นส่วนน้อย รวมทั้งก่อให้เกิดเป็นเทคนิคการทำเครื่องเงินในแบบเฉพาะของช่างเงินไทยอีกด้วย
“ช่างเงิน” งานที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์
แม้เครื่องเงินจะเฟื่องฟูในสมัยอยุธยา แต่เครื่องเงินที่หลงเหลือมาจนกลายเป็นของสะสมจากยุคนั้นกลับมีน้อย จะเห็นได้มากอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1900 โดยเครื่องเงินและเครื่องถมในช่วงนั้นมีสัดส่วนเงินผสมอยู่ที่ประมาณ 90% ก่อนที่ใน ค.ศ. 1967 จะมีการบัญญัติมาตรฐานจากทางสมาคมเครื่องถมและเครื่องเงินไทย ว่าต้องมีสัดส่วนค่าเงินอย่างน้อย 92.5% และอาจมากถึง 96% โดยส่วนประกอบที่เหลือเป็นทองแดงผสมเพื่อให้สะดวกต่อการขึ้นรูปโค้งงอได้ตามต้องการ เพราะเงินบริสุทธิ์แท้จะอ่อนนุ่มยากต่อการขึ้นรูป
สำหรับเครื่องเงินไทยที่เด่นชัดคือเครื่องเงินที่มาในรูปแบบภาชนะสวยงาม ครอบคลุมเครื่องถมและเครื่องเคลือบลงยาที่ล้วนผลิตในประเทศไทย ภายใต้ความชำนาญการของช่าง โดย พอล เล่าว่าเครื่องเงินของไทยนั้นมีเทคนิคเชิงช่างที่เฉพาะตัว ส่วนช่างเงินของไทยเองนั้นเป็นช่างฝีมือประณีตที่ต้องอาศัยทักษะความเชี่ยวชาญจากการฝึกฝนและประสบการณ์ที่บ่มเพาะมาอย่างยาวนาน
คาร์ล บ็อค นักสำรวจ นักเดินทางและนักสะสมชาวนอร์เวย์ ซึ่งมาเยือนสยามในช่วงปี พ.ศ. 2424 – 2425 ได้บันทึกไว้ว่าตลาดเครื่องเงินของไทยในยุคนั้นนิยมเล่นพวกกาน้ำชา เชี่ยนหมาก และภาชนะ ซึ่งเครื่องเงินดังกล่าวถือเป็นสัญลักษณ์แสดงชนชั้น ขณะเดียวกัน ช่วงที่เครื่องเงินไทยรุ่งเรือง ทุกหมู่บ้านจะมีช่างเงินอย่างน้อย 1 คน ที่คอยผลิตชิ้นงานให้กับเจ้านายและกลุ่มชนชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น อับ (กล่องเชี่ยนหมาก) ชาม ต่างหู กำไล สร้อย ปิ่นปักผม เรียกได้ว่า เครื่องเงินสามารถผลิตได้ตามหมู่บ้านทั่วประเทศไทย แต่ศูนย์กลางการผลิตหลักของประเทศมีอยู่ด้วยกัน 3 แหล่งคือ ทางตอนเหนือแถบเชียงใหม่ ซึ่งได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมล้านนาโดยช่างฝีมือส่วนใหญ่เป็นช่างที่อพยพมาจากเมียนมา ต่อด้วยชุมชนเครื่องเงินภาคกลาง และทางตอนใต้ของประเทศที่นครศรีธรรมราช ซึ่งมักเป็นเงินในลักษณะของเครื่องถมที่ได้รับอิทธิพลในเรื่องของรูปทรง เทคนิค และลวดลายจากวัฒนธรรมมาเลย์
เอกลักษณ์หนึ่งเมื่อเอ่ยถึง เครื่องเงินไทย คือความโดดเด่นของลวดลายที่เป็นต้นไม้นานาพรรณ ธรรมชาติ หรือเทพปกรณัมตามความเชื่อของศาสนาพุทธหรือฮินดู แต่ภายหลังการอพยพเข้ามาของชาวจีนในช่วงศตวรรษที่ 19 ทำให้เครื่องเงินของไทยได้รับอิทธิพลด้านรูปทรง ลวดลาย และเทคนิคใหม่ ๆ จากช่างชาวจีน และทำให้เยาวราชกลายเป็นย่านผลิตเครื่องเงินของไทยอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ปัจจุบันแทบจะไม่เหลือช่างเงินอยู่ในย่านนี้แล้ว เหตุผลหนึ่งก็ด้วยความที่งานเครื่องเงินเป็นงานที่หนัก ต้องใช้ความชำนาญด้านเทคนิค ต้องใช้ความมีวินัย และอดทนมุมานะขั้นสุด ทำให้ช่างเงินชั้นครูของไทยในปัจจุบัน เหลือน้อยยิ่งกว่าน้อย ที่มีเหลืออยู่ก็แทบจะหาคนสานต่อไม่ได้แล้ว
“เทคนิคเงินโบราณ” คุณค่าที่ประเมินค่าไม่ได้ของเครื่องเงิน
การที่ช่างเงินชั้นครูมีเหลือน้อยมากแล้ว ยิ่งทำให้คุณค่าและมูลค่าของเครื่องเงินที่มีอยู่ยิ่งมีมากขึ้นตามกาลเวลา และบางชิ้นก็อาจเป็นชิ้นเดียวที่เหลืออยู่ ขณะที่หลายชิ้นก็เป็นชิ้นงานสมบูรณ์ที่อัดแน่นไปด้วยประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ สำหรับเทคนิคหลักๆ ที่ใช้ในการขึ้นรูปและลวดลายของ เครื่องเงินไทย นั้นประกอบด้วย การสลักดุน หรือ ทำลายนูน, การทำคร่ำเงิน คร่ำทอง (การเอาเงินฝังเป็นลวดลายลงในโลหะ) การลงยา (การลงสีเครื่องเงิน โดยมากมักเป็นสีน้ำเงินและสีทอง) การสลัก (ตอกให้เครื่องเงินเป็นลาย) การกะไหล่ทอง (เครื่องเงินอาบทองเพื่อเพิ่มมูลค่า) การฉลุลวดลาย, การถม (การใช้ผงยาถมผสมนํ้าประสานทองถมลงบนลวดลายที่แกะสลักบนภาชนะหรือเครื่องประดับนั้น แล้วขัดผิวให้เป็นเงางาม)
ทั้งนี้ แต่ละเทคนิคต้องอาศัยการฝึกซ้ำๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญชำนาญการ ดังนั้น ช่างเงินหนึ่งคนจึงมักมีเทคนิคการทำแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ ในส่วนของการใช้งาน พอลระบุว่า จากการสืบค้นสามารถยืนยันได้ว่าคนไทยใช้เครื่องเงินมาตั้งแต่อยุธยาช่วงปลาย (ก่อนการเสียกรุงครั้งที่สอง) ซึ่งนิยมใช้ในงานพิธีทางศาสนา และเป็นของขวัญบรรณาการ หรือเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1782 -1910 (ยุคก่อตั้งกรุงเทพมหานคร) จะเป็นช่วงที่นิยมใช้เครื่องเงินสำหรับงานพิธีทางศาสนา งานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ของกำนัล และภาชนะของใช้ทั่วไป เช่น กาน้ำชา ก่อนที่จะเสื่อมความนิยมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ตามรสนิยมที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค
ปัจจุบัน เครื่องเงินจึงไม่ใช่เครื่องใช้ที่พบเห็นได้สามัญตามบ้านเรือนไทยอีกต่อไป และการผลิตเครื่องเงินส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ก็เน้นหนักไปที่ เครื่องเงินที่เป็นเครื่องประดับเสียมากกว่า โดยรายงานจากสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทยพบว่า ไทยมีการส่งออกเครื่องประดับเงินไปยังจีนมากที่สุด ตามด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆ ในอาเซียน
ดังนั้น เครื่องเงินแท้ที่เป็นเครื่องใช้ที่มีอยู่ในขณะนี้จึงถูกจัดอยู่ในหมวดของแอนทีกที่มีคุณค่าต่อการสะสม ซึ่งคุณค่าที่ว่าก็มาพร้อมประวัติศาสตร์ และประสบการณ์ของช่างเงินที่สืบมาแต่โบราณ แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจประเมินค่าได้
อ้างอิง
เรียบเรียงเนื้อหาจาก RCB Auction’s Talk ทอล์คเรื่องเครื่องเงินและเครื่องถม พอล บร๊อมเบิร์ก (Paul Bromberg) นักวิชาการ นักสะสม และนักเขียน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Thai Silver and Nielloware” (เครื่องเงินและเครื่องถมทองไทย)
Fact File
- ติดตามกิจกรรมทอล์คเรื่องของสะสม ศิลปะวัตถุ ของแอนทีค รวมทั้งงานประมูลของแอนทีคของสะสมทั้งในรูปแบบ on floor หรือการร่วมประมูลด้วยตนเองที่ห้องประมูล และแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ rcbauctions.com หรือทางแอปพลิเคชัน RCB Auctions