3 นักสะสมเบอร์ต้นของไทย กับเส้นทางและแรงบันดาลใจกว่าจะเป็นนักสะสม
Arts & Culture

3 นักสะสมเบอร์ต้นของไทย กับเส้นทางและแรงบันดาลใจกว่าจะเป็นนักสะสม

Focus
  • ว่ากันว่าโลกของนักสะสมเข้าแล้วยากที่จะออก เพราะของสะสมไม่ได้ถูกตีด้วยเรื่องของมูลค่าหรือราคาเสมอไป แต่ของสะสมยังมีคุณค่าทางจิตใจ รวมทั้งประวัติศาสตร์ที่มาพร้อมกับของสะสมชิ้นนั้นๆ
  • RCB Auctions’ Talk คืองานทอล์คครั้งแรกของ RCB Auctions บริษัทประมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่จัดประมูลมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 39 ปี
  • ความเอ็กซ์คลูซีฟของงาน RCB Auctions’ Talk ในครั้งนี้คือการชวน 3 นักสะสมเบอร์ต้นของไทยที่มีมุมมองต่อการสะสมที่แตกต่างกันมาร่วมกันแชร์ประสบการณ์และความหลงใหลที่ทำให้พวกเขาออกจากวงการนักสะสมไม่ได้

ว่ากันว่าโลกของ นักสะสม นั้นเปี่ยมไปด้วยความหลงใหล ใครได้ลองเข้ามาแล้วก็ยากที่จะออก เพราะของสะสมไม่ได้ถูกตีด้วยเรื่องของมูลค่าหรือราคาเสมอไป แต่ของสะสมยังมีคุณค่าทางจิตใจ ความสุนทรีย์ที่ได้ชื่นชม รวมทั้งความท้าทายที่ได้ออกตามหาเรื่องเบื้องหลัง ประวัติศาสตร์ที่มาพร้อมกับของสะสมชิ้นนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสะสมแสตมป์ งานศิลปะ ภาพเก่า ขวดน้ำหอม กล่องไม่ขีด รถยนต์ ไปจนถึงการสะสมศิลปวัตถุโบราณอย่างของแอนทีคซึ่งเป็นของสะสมที่กำลังเป็นกระแสในกลุ่มนักสะสมรุ่นใหม่ เช่นเดียวกับ 3 นักสะสมเบอร์ต้นของไทยที่ได้มาร่วมพูดคุยถึง “เบื้องหลังความหลงใหลที่ชวนให้สะสม” ใน RCB Auctions’ Talk งานทอล์คเปี่ยมแรงบันดาลใจในการสะสมที่เพิ่งจัดไปเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่ RCB Auctions ชั้น 4 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ซึ่งนี่ถือได้ว่าเป็นงานทอล์คแรกของ RCB Auctions ประมูลโบราณวัตถุและศิลปวัตถุแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่จัดประมูลมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 39 ปี 

RCB Auctions

ความเอ็กซ์คลูซีฟของงาน RCB Auctions’ Talk ตอน “เบื้องหลังความหลงใหลที่ชวนให้สะสม” ก็คือการชวน 3 นักสะสมเบอร์ต้นของไทยที่มีมุมมองต่อการสะสมที่แตกต่างกันมาร่วมกันแชร์ประสบการณ์และความหลงใหลที่ทำให้พวกเขาออกจากวงการนักสะสมไม่ได้ เริ่มจาก ธนพันธุ์ ขจรพันธุ์  นักสะสมเครื่องโต๊ะ เครื่องกระเบื้องที่เริ่มเล่นเครื่องกระเบื้องด้วยความคุ้นชินจากการเศษกระเบื้องที่งมเจอรอบบ้านในเขตกรุงเก่าพระนครศรีอยุธยา วีรวิชญ์ ฟูตระกูล นักสะสมและอินฟลูเอนเซอร์ที่ชวนคนรุ่นใหม่ออกเดินทางไปค้นหาจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ไทยในยุครัชกาลที่ 4 ถึง รัชกาลที่ 5 และ เอกรินทร์ เปรี่ยนไทย นักสะสมศิลปวัตถุโบราณไทย-จีน ซึ่งเริ่มต้นเข้าวงการนักสะสมจากธุรกิจร้านแอนทีคของครอบครัว 

ใครที่พลาดโอกาสฟัง RCB Auctions’ Talk ตอน “เบื้องหลังความหลงใหลที่ชวนให้สะสม” ไป Sarakadee Lite ขอเก็บตกแรงบันดาลใจ และเบื้องหลังเส้นทางกว่าจะเป็นนักสะสมของพวกเขามาฝากกัน

RCB Auctions

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้าสู่วงการนักสะสม

ธนพันธุ์ : เท่าที่จำความได้ประมาณ 4-5 ขวบ ตอนนั้นเริ่มหยิบเศษกระเบื้องสมัยราชวงศ์หมิงมาเล่นแล้วเพราะบ้านอยู่ที่อยุธยา สมัยนั้นบริเวณรอบเกาะเมืองจะมีเรือประดาน้ำที่งมถ้วยชามจากจุดสำคัญต่างๆ เช่น ป้อมเพชร ฝั่งตรงข้ามวัดพนัญเชิงขึ้นมา บ้านผมอยู่ติดน้ำทำให้เห็นและเล่นของพวกนี้มาตั้งแต่เด็ก และในยุคคุณทวด คุณปู่ ก็ได้ซื้อเศษกระเบื้อง เครื่องถ้วยชามต่างๆ ที่เรือประดาน้ำดำขึ้นมาเก็บไว้ ก็เลยมีเศษกระเบื้องเยอะมากในบ้านผม ทั้งพวกเครื่องโต๊ะ เครื่องลายคราม ชุดน้ำชา เครื่องกระเบื้องจีนสยาม ทำให้ผมโตมากับสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยของสะสม และก็จุดประกายทำให้ผมสนใจเครื่องกระเบื้อง เครื่องโต๊ะมาตั้งแต่นั้น 

วีรวิชญ์ : ประมาณ 20-30 ปีก่อนตอนที่คนยังส่งจดหมายและกระแสนิยมสะสมแสตมป์บูมมาก ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่สะสมแสตมป์ จำได้ว่าราวๆ 7 ขวบ ทีนี้ในแสตมป์หนึ่งดวงไม่ได้จบแค่ความสวยงาม แต่บนแสตมป์ยังมีพวกรูปประวัติศาสตร์ ผมก็เริ่มสนใจว่ารูปเหล่านั้นคืออะไร จากภาพบนแสตมป์ก็เลยขยายมาเป็นเริ่มหาซื้อหนังสือเก่า หนังสือโบราณมาอ่าน เริ่มสะสมรูปถ่ายโบราณโดยเฉพาะของเก่า ภาพเก่าในสมัยรัชกาลที่ 4-5 และจากสะสมแสตมป์ตอนเด็ก ผมก็เริ่มต้นเข้าสู่วงการนักสะสมแบบจริงจังตั้งแต่อายุ 15 โดยเน้นสะสมของเก่ายุครัชกาลที่ 4 – รัชกาลที่ 5 ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้นอกจากหายาก มีมูลค่าแล้ว ยังเป็นจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ที่บอกเล่ายุคเริ่มต้นการเปิดประเทศของไทย

RCB Auctions’ Talk

เอกรินทร์ : คุณพ่อผมทำธุรกิจร้านแอนทีคมาราวๆ 50 ปี ทำให้ผมคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้เห็นของสะสมโบราณมาตั้งแต่เด็ก แต่เริ่มแรกก็ยังไม่ได้เป็นนักสะสมอย่างเต็มตัว แต่ก็เริ่มมองแล้วว่าของสะสมเป็นสิ่งที่ทั้งซื้อไว้สวยงาม ลงทุนได้ เก็บไว้ได้ เป็นมูลค่าที่จับต้องได้ เป็น Passion investment อย่างหนึ่งที่เติบโตมาจากกาลเวลา ผมเคยทำงานอื่นสักพักก่อนที่จะมาช่วยธุรกิจแอนทีคของคุณพ่อ และเมื่อได้เข้ามาสัมผัสจริงๆ แล้วก็เลยเข้าใจว่า “วงการนักสะสม เข้าแล้วออกยาก” อย่างที่เขาว่าไว้จริงๆ และก็เริ่มสะสมของตัวเอง โดยจะชอบสะสมแนวศิลปวัตถุโบราณของไทยและจีน อาทิ เครื่องเบญจรงค์ เครื่องเงินถมทอง ป้านน้ำชา เครื่องทองเซี่ยงไฮ้  เครื่องกระเบื้องลายครามจีน เครื่องกระเบื้องลายสี งานไม้แกะสลัก หยกจีน ตุ๊กตาจีน ประมาณนี้

RCB Auctions’ Talk
เอกรินทร์ เปรี่ยนไทย

ของสะสมชิ้นแรกที่จุดประกายให้เป็นนักสะสม

ธนพันธุ์ : ที่เริ่มมาซื้อเป็นของตัวเองจริงๆ ก็ตอนเรียนมัธยมก็เก็บเงินจากค่าขนม เลิกเรียนก็ไปเดินอยู่แถวเวิ้งนาครเกษมซึ่งสมัยก่อนเป็นย่านของเก่า ก็ได้ซื้อกระถางธูปลายครามมาใบหนึ่ง ซึ่งทุกวันนี้กระถางธูปใบนั้นก็ยังใส่อยู่ในชุดเครื่องโต๊ะที่ผมตั้งเล่นอยู่ทุกวันนี้ แต่สารภาพว่าตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่าจะได้มาเล่นเครื่องโต๊ะ เพราะเครื่องโต๊ะจะเล่นได้ต้องมีของหลายอย่าง แต่เราไม่มีเงิน มีเงินเท่านั้นพันกว่าบาทเราก็ซื้อแค่กระถางธูปใบเดียว

วีรวิชญ์ : จากที่ตอนเด็กๆ สะสมแสตมป์ หนังสือเก่า แต่ของสะสมที่ตัดสินใจซื้อแบบจริงจังชิ้นแรกเลยคือรูปถ่ายโบราณชุดหนึ่ง เป็นงานบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 7 ไปเจอมาในร้านหนังสือเก่า ตอนนั้นผมก็ยังสะสมอะไรไม่เป็นหรอก แต่เขาบอกว่าชุดนี้น่าสะสมมากเลยนะ มันหายาก ผมก็ถามไปว่าเท่าไร เขาบอก 11,000 บาท ผมเรียนอยู่ ม.4 ได้ค่าขนมไปโรงเรียนวันละ 50 บาท ก็ไม่รู้ว่าจะซื้อยังไง ก็ตัดสินใจกลับบ้านขอเงินคุณแม่ ขอซื้อสิ่งนี้ ซึ่งก็ต้องขอบคุณคุณแม่มากที่ให้เงินผมตอนนั้นที่ต่อยอดให้ผมสะสมรูปถ่ายของสยามประเทศตั้งแต่นั้นมา ทำให้ผมอยากศึกษารูปถ่ายโบราณมาตั้งแต่นั้น แม้รูปในสมัยก่อนจะคมชัดสู้สมัยนี้ไม่ได้ แต่คุณค่ากับเสน่ห์มันต่างกันมาก

เอกรินทร์ : อย่างที่บอกว่าบ้านผมทำธุรกิจของแอนทีค ผมก็คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้ เท่าที่จำได้คือแจกันลายครามที่ซื้อต่อคุณพ่อผมเองมา ตอนนั้นมีลูกค้าชาวจีนมาขอซื้อแต่คุณพ่อไม่ได้ขายไป ผมเลยขอซื้อต่อพ่อมา แล้วภายหลังก็นำแจกันใบนี้ไปขาย มันก็เริ่มเห็นแล้วว่าของเก่ามันก็ทำกำไรได้ เริ่มต้นจากการได้เงินได้กำไร เราก็เริ่มหยิบจับทุกวันก็เริ่มเห็นเสน่ห์ ความสวยงาม แล้วก็เริ่มศึกษา ทีนี้ก็เริ่มเป็นหลงใหล คลั่งไคล้ บ้าสมบัติไปเลย ผมอาจจะเริ่มจากธุรกิจในครอบครัวก่อน แต่พอได้จับต้องทุกวันก็เริ่มหลงใหลไปแล้ว

RCB Auctions’ Talk
วีรวิชญ์ ฟูตระกูล

ของสะสมที่ชวนให้หลงใหลที่สุด

ธนพันธุ์ : เพื่อนๆ มักบอกว่าผมชอบเล่นของที่ตกพื้นแล้วแตก ผมเป็นคนที่บ้าเครื่องกระเบื้องมาก มีเท่าไรก็หมดไปกับสิ่งนี้ ผมหลงใหลในวิธีการสร้างสรรค์ การผลิตเครื่องกระเบื้องเหล่านี้ ถ้าเราศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าดั้งเดิมเครื่องกระเบื้องมันมาจากหินในภูเขานี่แหละ ระเบิดมาแล้วก็มาผ่านกระบวนการต่างๆ ขึ้นรูป เขียนลาย เผา ควบคุมอุณหภูมิ ขนส่งจากจีนมาถึงสยาม กระบวนการเหล่านี้ เทคนิคในการผลิตมันเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์มากสำหรับยุคนั้น พอเราเห็นความอัศจรรย์ของกระบวนการผลิตจนกระทั่งมันมาเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของแผ่นดินหนึ่งแล้วมันก็ยิ่งทำให้เราติดงอมแงม มันเหมือนเราติดนิยายที่วางไม่ลง 

วีรวิชญ์ : ผมชอบเล่นรูปถ่ายโบราณเป็นหลักและก็จะได้ยินมาตั้งแต่เด็กว่ามีคอลเล็กชันรูปถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 ที่สมบูรณ์ที่สุดเป็นของนักสะสมท่านหนึ่ง คือเราก็อยากเห็นคอลเล็กชันนี้มานานมาก จนกระทั่งได้มาทำคลิปเกี่ยวกับการสะสมลงในโซเชียลมีเดีย ก็มีลูกสาวของนักสะสมท่านหนึ่งติดต่อมาว่า คุณพ่อมีรูปถ่ายที่ดีที่สุดของเมืองไทย ผมก็นึกถึงท่านนี้เลย แต่เขาก็ยังไม่บอกว่าเป็นใคร ผมก็นัดเข้าไปดูที่บ้าน ไปคุยกันถึงห้ารอบเขาถึงจะเปิดภาพให้ดู เราเห็นคอลเล็กชันก็ตื่นตาตื่นใจ ไม่เคยเห็นรูปเก่ายุคนั้นที่สมบูรณ์ขนาดนี้ เขาบอกราคามา 20 ล้านบาท ผมก็ขอเวลาเขา 3 วันไปขายรถ ทำทุกอย่าง เพื่อให้ได้คอลเล็กชันนี้มาและก็จัดนิทรรศการให้ได้ชมไปเมื่อปี 2566 

เอกรินทร์ : มีคำพูดหนึ่งที่มักจะได้ยินเสมอในวงการนักสะสมคือ “ของเลือกเจ้าของ” นักสะสมเป็นสื่อกลางในการส่งต่อสารบางอย่าง ของบางชิ้นหายไปเป็นร้อยปีแต่ปรากฏขึ้นอีกครั้งเพราะนักสะสมก็มี ของบางอย่างที่ไม่คิดว่าจะมี ไม่เคยเห็นในตำรา แต่วันหนึ่งกลับได้มาเจอ และเมื่อเราได้ครอบครองแล้ว สิ่งของเหล่านี้ก็เหมือนกำลังทำงานผ่านเรา ใช้ให้เราทำหน้าที่เป็นสื่อกลางสื่อสารบางอย่าง เช่นของที่ประทับใจมากชิ้นหนึ่งคือ กาน้ำถมทองทรงมะเฟือง ที่รัชกาลที่ 4 ทรงให้ทำขึ้นและส่งไปให้พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ของชิ้นนี้สูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์กว่า 140 ปี และกลับมาปรากฏอีกครั้งในปี ค.ศ.1997 ที่หอไอเฟล เจ้าของเป็นมหาเศรษฐีชาวฝรั่งเศสได้รับมรดกมา และวันหนึ่งทางริเวอร์ซิตี้ก็ได้นำของชิ้นนี้กลับมาเมืองไทย ใบนี้ไม่ยอมออกจากห้องประมูลราวๆ ครึ่งปี หลังจากได้มาเราก็ทำหน้าที่สื่อสารประวัติศาสตร์ที่เคยหล่นหายนี้อีกครั้ง 

RCB Auctions’ Talk
ธนพันธุ์ ขจรพันธุ์

Collector 101 นักสะสมต้องเริ่มอย่างไร

ธนพันธุ์ : ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่นักสะสมต้องใช้องค์ความรู้หลายอย่างทุกแขนงที่คุณมี และตามหาของทุกอย่างที่คิดว่าจำเป็นจะต้องใช้เอามารวมกัน เพราะของสะสมเหล่านี้คือวัตถุพยาน คือตัวหนังสือตัวหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์ที่ทำให้การสะสมกลายเป็นความสนุกและความท้าทาย แนะนำว่าให้ซื้อของที่เราชอบ เพราะเราต้องมองต้องอยู่กับสิ่งนั้นทุกวัน เช่น เครื่องโต๊ะชุดแรกของผม คือ ‘เครื่องโต๊ะลายครามมังกรสี่เล็บ’ ชุดนี้ผมใช้เวลารวบรวม 10 กว่าปี ตั้งแต่ราวปี 2540 แต่กว่าจะมาเป็นชุดสมบูรณ์พอที่จะตั้งเครื่องโต๊ะได้และดูไม่น่าเกลียดก็ประมาณปี 2553 และมาสมบูรณ์ครบถ้วนจนสามารถออกงานได้ งดงามพอที่จะให้เกียรติแก่ผู้ชมได้เต็มที่ก็ประมาณปี 2555-2556 จนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังตั้งใจเก็บไปเรื่อยๆ

วีรวิชญ์ : อยากให้เริ่มสะสมจากสิ่งที่เรารักก่อน เรื่องกำไรคือผลพลอยได้ ของสะสมมีตั้งแต่ถูกยันแพง หนังสือเก่าสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 มีตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันบาท มีหลายระดับราคา อยากให้สะสมในสิ่งที่เราชอบ ไม่อยากให้มองหรือให้ความสำคัญกับการลงทุนมากเกินไป ของสะสมทุกชิ้นมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในตัวมันเอง มีมูลค่าที่ตลาดอาจไม่สามารถกำหนดได้ อย่างผมที่มาเปิดร้านของแอนทีคเพราะของที่สะสมไว้เริ่มเยอะ ของสะสมต่างจากหุ้น กองทุน ตรงที่ว่าไม่ใช่ว่าซื้อวันนี้แล้วพรุ่งนี้ขายได้เลย ดังนั้นถ้าเราเริ่มต้นสะสมจากการคิดแค่ว่าจะลงทุนจะต้องได้กำไร มันจะทำให้เราไม่มีความสุขกับการสะสม เพราะถ้ายังขายไม่ได้พรุ่งนี้มันจะเริ่มเป็นทุกข์แล้ว

เอกรินทร์ : มีน้อยซื้อน้อย มีมากซื้อมาก ตามกำลังของเราเอง ตามจังหวะเวลาโอกาส แต่อันดับแรกต้องมีใจก่อน นักสะสมมือใหม่เป็นเหมือนนักผจญภัย treasure hunter นักล่าสมบัติ คือนอกจากจะตามหาของแล้วก็ต้องหาความรู้ในของนั้นๆ ออกไปสัมผัสตลาดจริง พูดคุยในตลาด ไปตามงานประมูล นิทรรศการต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสบการณ์การสะสมซึ่งตอนนี้เมืองไทยก็มีองค์ประกอบของการสะสมที่ค่อนข้างครบถ้วน 

7 ปีที่ผ่านมานี้ตลาดนักสะสมในไทยเติบโตชัดเจน เป็นแรงกระตุ้นจากสื่อโซเชียล กลุ่มนักสะสมรุ่นใหม่ จากที่เคยสะสมกันอยู่ในกลุ่มคนมีเงิน นักการเมือง ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม แต่ยุคนี้มีนักสะสมรุ่นใหม่มากขึ้น มีทั้งนักลงทุนและนักสะสมที่มุ่งเรื่องคุณค่าทางจิตใจ เมื่อก่อนตอนที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์การเงินอย่างหุ้น กองทุน พันธบัตร ของสะสมจึงเป็น Passion Investment ที่จับต้องได้ เป็นสิ่งที่ทั้งสะสมและลงทุนได้ มูลค่าเติบโตทางกาลเวลาทั้งมูลค่าในแง่ความสวยงามที่ผูกอยู่กับจิตใจ นักสะสมเหมือนดังที่เขาว่าไว้ว่าสกุลเงินที่แท้จริงบนโลกนี้คือสกุลเงินทางใจ มนุษย์เป็นผู้ที่ให้มูลค่า แม้ของสะสมจะไม่มีเงินปันผลแบบหุ้นหรือกองทุน แต่มูลค่ามันเติบโตเพราะมันผูกกับจิตใจของนักสะสมที่มีแต่จะขึ้นทุกปี ของสะสมโดยเฉพาะศิลปวัตถุโบราณ เป็นของที่มีชิ้นเดียวและหาไม่ได้ง่าย โทรสั่งก็ไม่ได้ ของสะสมจึงมีมูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆ การสะสมศิลปวัตถุโบราณจึงเปรียบได้กับการสะสมความมั่งคั่ง

หมุดหมายของการเป็นนักสะสม

ธนพันธุ์ : สิ่งที่นักสะสมกำลังทำคือการสวนทางกับกฎความเป็นจริงของโลก เราอนุรักษ์ รักษาในสิ่งซึ่งวันหนึ่งมันจะสูญสลายไปตามกาลเวลา แต่ถามว่าเราทำสิ่งเหล่านั้นไปเพื่ออะไร เราเก็บสิ่งเหล่านั้นไปเพื่ออะไร ก็เพื่อยืนยันความมีรากของเรา เราเก็บสิ่งเหล่านี้เพราะมันเป็นรากเรา ไม่ว่าของมันจะตอบแทนมาในแง่ของความรู้สึก ความมั่นคงในการลงทุน ไม่ว่าจะอย่างไรมันดีทั้งนั้น ของสะสมคือวัตถุพยานทางประวัติศาสตร์ ผมไม่เคยตั้งเป้าว่าผมจะมีความฝันอันสูงสุดในการเป็นนักสะสม แต่สิ่งที่ผมคิดอยู่เสมอคือเรามีหน้าที่ในการรักษาสิ่งเหล่านี้ให้เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมของบ้านเมืองเราต่อไปเรื่อยๆ ตามแต่กำลังของผมจะอำนวยเท่านั้นเอง ของเหล่านี้คือวัตถุพยาน คือตัวหนังสือตัวหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์ความเป็นมาเป็นไปของชาตินี้ ผมก็แค่ไม่อยากให้ตัวหนังสือมันหายไป  อยากให้ตัวหนังสือในหน้าประวัติศาสตร์มันไม่หายไปสักตัวสองตัวก็พอแล้ว

วีรวิชญ์ :  ผมว่าของที่เราสะสมถ้าเก็บไว้คนเดียวเราก็ได้ดูแค่คนเดียว แต่ถ้าเราได้เผยแพร่ให้คนอื่นได้เข้ามาชื่นชมก็อาจจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ได้ ของพวกนี้มันเป็นสมบัติของรากเหง้าของแผ่นดินของเรา จริงๆ ของเก่าเหล่านี้มีคนสนใจเยอะโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่ที่ผ่านมาอาจจะเข้าไม่ถึง ประวัติศาสตร์ไทยมันมีหลายมุมมอง อย่างเช่นภาพถ่ายโบราณก็เป็นการเล่าประวัติศาสตร์อีกแง่มุมหนึ่งที่สนุกขึ้น เข้าถึงได้มากขึ้น ความฝันสูงสุดในแง่นักสะสมของผมคืออยากมีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ส่วนตัวเปิดให้คนรุ่นใหม่และคนที่สนใจมาดู ตอนนี้ผมก็พยายามจัดนิทรรศการทุกปีเกี่ยวกับการให้ความรู้เผยแพร่ของสะสมวัตถุโบราณ เพราะของบางอย่างเราไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของ…เราแค่ได้มาชมก็มีความสุขแล้ว 

เอกรินทร์ : เป้าหมายคืออยากส่งต่อประสบการณ์ด้านการสะสมเหล่านี้ไปยังนักสะสมรุ่นต่อไป รวมทั้งส่งต่อของสะสมเหล่านี้และประสบการณ์ของผมส่งต่อไปยังรุ่นลูกต่อไป

Fact File

  • Arts & Antiques Live Auction ครั้งที่ 2 ของปี 2567 จะจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป ที่ห้องประมูล RCB Auctions ชั้น 4 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
  • ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมประมูล ทั้งในรูปแบบ on floor หรือการร่วมประมูลด้วยตนเองที่ห้องประมูล  และแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ rcbauctions.com หรือทางแอปพลิเคชัน RCB Auctions

Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม