เปิดตู้พระธรรมวัดเบญฯ ตามหา คัมภีร์ใบลานฉบับหลวง คาดมีมากกว่า 320 มัด
- กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรเดินหน้าสำรวจ อนุรักษ์ ลงทะเบียนเพื่อทำการจัดเก็บเอกสารโบราณอย่างถูกวิธีที่วัดเบญจมบพิตร
- ความน่าสนใจของเอกสารโบราณวัดเบญฯ นั้นส่วนหนึ่งเป็นคัมภีร์ใบลานที่มาจากพระราชประสงค์ในการรวบรวมคัมภีร์ใบลานสำคัญๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5
ต่อเนื่องจากการดำเนินโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณ ณ วัดไก่เตี้ย กรุงเทพฯ ที่เพิ่งจบลงไป ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565 ทางกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้เดินหน้าสำรวจ อนุรักษ์ ลงทะเบียนเพื่อทำการจัดเก็บเอกสารโบราณและ คัมภีร์ใบลาน อย่างถูกวิธีกันต่อที่ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักอนุรักษ์ผู้ชำนาญจากกรมศิลปากร เครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชนที่ผ่านการอบรมด้านงานอนุรักษ์เบื้องต้นรวมทั้งพระสงฆ์ที่มีความสามารถในการอ่านภาษาบาลีหรือขอม คาดว่าน่าจะพบ คัมภีร์ใบลานฉบับหลวง ฉบับสำคัญ
ความน่าสนใจของเอกสารโบราณวัดเบญฯ นั้นส่วนหนึ่งเป็น คัมภีร์ใบลาน ที่มาจากพระราชประสงค์ในการรวบรวมคัมภีร์ใบลานสำคัญๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อนำมาเก็บรักษาอยู่ที่วัด กับอีกส่วนคือธรรมเนียมการสร้างคัมภีร์ใบลานเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาของกษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และเจ้านายชั้นสูงในอดีต ดังนั้นด้วยความที่วัดเบญฯ เป็นวัดหลวงสำคัญการสำรวจและอนุรักษ์คำภีร์ใบลานที่วัดแห่งนี้จึงคาดว่าน่าจะพบ คัมภีร์ใบลานฉบับหลวง ที่พระมหากษัตริย์รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ต่างๆ ทรงสร้างขึ้นเก็บอยู่ โดยเฉพาะต้นฉบับคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานฉบับสมบูรณ์ชุดแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่รัชกาลที่1 ทรงสร้างขึ้นพร้อมการสร้างราชธานีแห่งใหม่ก็คาดว่าน่าจะได้เจอที่วัดเบญฯ ด้วยเช่นกัน
สำหรับคัมภีร์ใบลานวัดเบญฯ จัดเก็บอยู่ในตู้พระธรรมเก่าแก่ของพระวิหารสมเด็จ ส.ผ.(เสาวภา ผ่องศรี) คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 320 มัดและแต่ละมัดก็น่าจะมีคัมภีร์ใบลานประมาณ 10-20 ผูก มากกว่าที่พบที่วัดไก่เตี้ยประมาณ 8 เท่า คำนวณระยะเวลาในการสำรวจ แยกหมวดหมู่ และตรวจสอบสภาพเพื่อทำการอนุรักษ์ไม่ต่ำกว่า 2 เดือน ทั้งนี้ในพระวิหารสมเด็จ ส.ผ. มีตู้พระธรรมอยู่ทั้งหมด 29 ตู้ ไล่เรียงอายุคร่าวๆ เก่าแก่ราวสมัยกรุงศรีอายุธยา แต่เดิมทีในแต่ละตู้ก็มีมัดคัมภีร์ใบลานพร้อมด้วยไม้ประกับ ใบปกหน้า รวมถึงที่คั่นทำจากไม้และงาช้างกระจัดระจายอยู่ตามตู้ต่างๆ ท่านเจ้าอาวาสจึงได้ทำการแยกหมวดหมู่คัมภีร์ใบลานเหล่านี้อย่างคร่าวๆ และรวบรวมเก็บไว้ในตู้ทั้งหมด 9 ตู้ ทว่ายังไม่มีการอ่านเนื้อหาภายในอย่างครบถ้วน การเข้ามาอนุรักษ์ของกรมศิลปากรครั้งนี้จึงเป็นทั้งการอนุรักษ์และบันทึกเนื้อหาอย่างละเอียดอีกครั้ง
นอกจาก คัมภีร์ใบลานฉบับหลวง แล้ว อีกสิ่งที่น่าสนใจและควรที่จะได้รับการเก็บรวบรวมข้อมูลไปพร้อมกันก็คือผ้าห่อคัมภีร์ซึ่งแต่โบราณมักใช้ผ้าทออย่างดี หรือผ้าชิ้นพิเศษทำขึ้นถวาย ซึ่งทางวัดได้ทำการแยกเก็บผ้าห่อคัมภีร์เหล่านี้ไว้ในตู้พระธรรมทว่าผ้าเกือบทั้งหมดอยู่ในสภาพเปื่อยและขาดจนไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้ แต่ก็มีประชาชนที่ทราบข่าวเรื่องการอนุรักษ์ได้ร่วมบริจาคผ้าห่อคัมภีร์ใบลานชุดใหม่ ซึ่งเป็นผ้าไหมทออย่างดี ตัดเย็บสำหรับห่อคัมภีร์ใบลานโดยเฉพาะเพื่อให้เมื่อทำการอนุรักษ์เสร็จก็จะสามารถห่อมัดเก็บได้ดังเดิม
ด้านความคืบหน้าในการสำรวจและอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานวัดเบญจมบพิตรว่าจะพบ Sarakadee Lite จะติดตามและคอยมาอัปเดตข้อมูลความคืบหน้ามาฝากกันอีกครั้ง