ครั้งแรกกับนิทรรศการ ผ้าพระเวสโบราณ งานสะสมของ ม.ล.ภาวินี สันติศิริ
- ม.ล.ภาวินี สันติศิริ (ศุขสวัสดิ์) นำ ผ้าพระเวสโบราณ จำนวน 5 ผืนที่มีอายุราว 60-80 ปี ในคอลเลกชันส่วนตัวจัดแสดงเป็นครั้งแรกที่สยามสมาคมในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2564
- ผ้าพระเวส เป็นผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดกเพื่อใช้ในงานบุญผะเหวด หรืองานเทศน์มหาชาติซึ่งเป็นงานประเพณีในเดือนสี่ของชาวอีสาน
- ผ้าพระเวสโบราณ ทั้งหมดในคอลเลกชันของม.ล.ภาวินี มีจำนวน 20 ผืนโดยแต่ละผืนมีความกว้างประมาณ 1 เมตร และมีความยาวประมาณ 35 เมตร ภาพจะวาดตามแนวนอนเล่าเรื่องทั้งหมด 13 กัณฑ์ในพระเวสสันดรชาดก
นอกจากจะเป็นอินทีเรียดีไซเนอร์ นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์และหนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชื่อดัง Yothaka และ Ayodhya ม.ล.ภาวินี สันติศิริ (ศุขสวัสดิ์) ยังเป็นที่รู้จักในวงการนักสะสมของเก่าว่าชื่นชอบของโบราณที่เป็นงานคราฟต์โดยเฉพาะผ้าเก่าที่เธอมีอยู่ในคอลเลกชันนับพันผืน หนึ่งในคอลเลกชันหายากคือ ผ้าพระเวส หรือ ผ้าผะเหวด ตามสำเนียงภาษาอีสาน โดย ผ้าพระเวสโบราณ เหล่านี้มีอายุราว 60-80 ปี
ลักษณะของ ผ้าพระเวส เป็นผ้าผืนยาวเขียนภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดกเพื่อใช้ในงานบุญผะเหวดซึ่งเป็นงานประเพณีในเดือนสี่ (ช่วงเดือนมีนาคม) ของชาวอีสานคือการฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดกหรือเทศน์มหาชาติเพื่อระลึกถึงพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญทานบารมียิ่งใหญ่
ผ้าพระเวสโบราณ ในคอลเลกชันของ ม.ล.ภาวินี มีจำนวน 20 ผืน แต่ละผืนมีความกว้างประมาณ 1 เมตร และมีความยาวประมาณ 35 เมตร ภาพจะวาดตามแนวนอนเล่าเรื่องทั้งหมด 13 กัณฑ์ในพระเวสสันดรชาดกซึ่งเป็นชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนเป็นพระพุทธเจ้า
ผ้าพระเวสโบราณ เหล่านี้ไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อนเนื่องด้วยเป็นผ้าโบราณที่มีคุณค่าและหายากอีกทั้งความยาวของผ้าแต่ละผืนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่นับเป็นโอกาสดีที่ ม.ล.ภาวินี ได้คัดเลือกภาพพระเวสที่สมบูรณ์ที่สุดจำนวน 5 ผืนในคอลเลกชันของเธอให้ทางสมาคมผ้าไทยนำมาจัดแสดงเพียงวันเดียวที่สยามสมาคมในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564 ตั้งแต่เวลา 13.30- 16.00น.
“ผ้าบอกเล่าประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตผู้คน เก็บผ้าก็เหมือนเราเก็บบันทึกประวัติศาสตร์ ส่วนผ้าพระเวสนั้นแม้แต่ละผืนจะเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดกเหมือนกัน แต่วิธีการเขียน การใช้สี การเล่าเรื่อง การวางองค์ประกอบภาพแต่ละผืนก็แตกต่างกัน เหมือนหนังสือที่ไม่เหมือนกันสักเล่ม” ม.ล.ภาวินี นักออกแบบผู้บุกเบิกการนำวัชพืชอย่างผักตบชวามาสร้างสรรค์เป็นงานเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านจนเป็นที่รู้จักทั่วโลก กล่าวถึงงานสะสมที่เธอหลงใหล
ในงานบุญผะเหวด ชาวบ้านจะนำพระพุทธรูป ดอกไม้ธูปเทียน และผ้าพระเวสผืนยาวแห่ไปตามวัดเพื่อระลึกถึงช่วงเวลาที่พระเวสสันดรเสด็จกลับเมืองเชตุดรหลังบำเพ็ญทานบารมีเสร็จแล้ว ผ้าพระเวสจะถูกนำไปไปขึงรอบศาลาโรงธรรมหรือรอบสิม (โบสถ์) เพื่อประกอบการเทศน์มหาชาติ และเชื่อว่าใครฟังเทศน์ครบ 13 กัณฑ์ในวันเดียวและจัดตั้งพิธีเครื่องบูชาได้ถูกต้องจะได้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรยอันเป็นดินแดนแห่งความสุขในพุทธคติ
ม.ล.ภาวินี เริ่มสะสมผ้าโบราณมาตั้งแต่ พ.ศ.2529 แรกเริ่มได้มาจากศูนย์ช่วยเหลือผู้อพยพชาวลาวในย่านสุขุมวิทที่ก่อตั้งภายหลังสงครามกลางเมืองลาว (พ.ศ. 2496-2518) และทำให้เธอเริ่มหลงใหลในเสน่ห์ของผ้าต่างๆที่ใช้ในพิธีกรรมตั้งแต่เกิดจนตาย จากนั้นมีผู้นำผ้าโบราณจากประเทศต่างๆเช่น ลาว กัมพูชาและเมียนมา มาเสนอขายอยู่เนืองๆ
“ผ้าพระเวสก็มีคนทางอีสานที่เขาไปรับซื้อมาจากวัดเอามาให้เราดู ส่วนใหญ่เราจะมีผ้าที่เป็นงานทอแต่ผ้าพระเวสเป็นงานวาดบนผืนผ้า ในสายตานักออกแบบและดีไซเนอร์เราชื่นชอบลักษณะการวาดแบบพื้นบ้าน แบบ Naive ที่ชาวบ้านเขียน มีความใสซื่อ ธรรมชาติและเต็มไปด้วยจิตศรัทธา เรารับซื้อเพราะเสียดายด้วย ไม่อยากให้งานออกไปอยู่นอกประเทศ” ม.ล.ภาวินี กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการสะสม
นักวิชาการเชื่อว่าผ้าพระเวสเป็นต้นแบบของการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังของทางอีสาน การสร้างสรรค์ผ้าพระเวสเกิดจากจิตศรัทธาของทั้งผู้ว่าจ้างให้เขียนและช่างวาดโดยเชื่อว่าได้รับอานิสงส์เช่นเดียวกับการฟังธรรม
“บางผืนระบุปีที่วาดและชื่อผู้วาด ส่วนใหญ่ที่เราเก็บเป็นภาพวาดที่ใช้สีจากวัสดุธรรมชาติ ไม่ใช่สีเคมีอย่างที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ในภาพวาดจะเล่าเรื่องทั้ง 13 กัณฑ์ในพระเวสสันดรชาดกจึงมีทั้งฉากบนสวรรค์ ในป่าขณะบำเพ็ญทานบารมีที่มีรูปสิงสาราสัตว์มากมายโดยบางผืนก็เขียนได้ Realistic ในขณะที่บางผืนก็มีความเป็น Surrealism จินตนาการเหลือเฟือมาก
“นอกจากนี้ในฉากที่เล่าเรื่องพระเวสสันดรเสด็จกลับเมือง ช่างวาดก็จะสอดแทรกวัฒนธรรมร่วมสมัยของยุคนั้นผ่านเสื้อผ้าและทรงผมของผู้คน ในภาพภาพวาดยังถ่ายทอดความสวยงามแบบศิลปะอีสาน เช่น จุฬามณีเจดีย์ไม่ได้วาดแบบย่อมุมไม้สิบสองเหมือนในภาคกลางแต่มีทรงสูงเหมือนพระธาตุพนม”
ม.ล.ภาวินี ยอมรับว่าการที่จะนำองค์ประกอบต่างๆ ใน ผ้าพระเวสโบราณ ไปดัดแปลงกับงานออกแบบตกแต่งภายในหรือออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่เธอทำอยู่นั้นค่อนข้างยาก
“เราเคยใช้ทั้งภาพนำไปพิมพ์เพื่อใช้ตกแต่งประตูที่คลับเมด ภูเก็ต เราคิดว่าผ้าพระเวสมีความเป็น Decoration ไม่ดูเคร่งครัดเหมือนจิตรกรรมฝาผนังในวัด”
ในคอลเลกชันผ้าโบราณร่วมพันผืนนั้น ม.ล.ภาวินี กล่าวว่าในขณะนี้ได้มีการเก็บบันทึกในรูปแบบ Archive เฉพาะผ้าของประเทศลาวและกัมพูชาด้วยการให้ช่างภาพอาชีพมาบันทึกภาพเก็บไว้แต่ในส่วนข้อมูลนั้นยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ
“มีคนแนะนำให้ทำ Digital Library สำหรับคอลเลกชันผ้าที่เราเก็บสะสมไว้เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงให้ผู้ที่สนใจ เราก็คิดว่าน่าจะทำแต่คงต้องใช้เวลาพอสมควร” เธอกล่าวทิ้งท้าย
Fact File
- นิทรรศการผ้าพระเวสในผลงานสะสมของ ม.ล.ภาวินี สันติศิริ (ศุขสวัสดิ์) จัดแสดงเพียงวันเดียวที่สยามสมาคมในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2564 ตั้งแต่เวลา 13.30- 16.00น.
- ค่าเข้าชม 200 บาทสำหรับสมาชิกของสยามสมาคม, 100 บาทสำหรับนักเรียนนักศึกษา และ 400 บาทสำหรับบุคคลทั่วไป
- รายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2661-6470-3 ต่อ 201 หรือคลิก https://thesiamsociety.org/activity/pha-phra-ves-2021/