พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน เปิดแสดง “ศิลปะชิ้นเอก” ครบทุกช่องทางออนไลน์ (ใหม่เอี่ยม)
- พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ณ ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.อยุธยา รวบรวมงานศิลปะชั้นสูงของไทยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “สมบัติของชาติ” และสร้างสรรค์โดยช่างฝีมือ 23 สาขาจากสถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา
- งานศิลปะชิ้นเอกบางชิ้นใช้ช่างฝีมือมากกว่า 100 คนและใช้เวลาร่วม 4 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ
- พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดินปัจจุบันเปิดช่องทางออนไลน์ทั้ง Website Youtube Facebook Instagram และ Twitter ให้ชมผลงานชิ้นเอกแบบเต็มตาเต็มจอทั้งในรูปแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว โดยมีการจัดทำข้อมูลใหม่เสริมเข้าไป
พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน เปิดช่องทางออนไลน์ทั้ง Website Youtube Facebook Instagram และ Twitter ในชื่อ “artsofthekingdom”เพื่อให้ผู้สนใจได้ชมงานชิ้นเอกที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “สมบัติของชาติ” อย่างใกล้ชิดทั้งแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวพร้อมคำบรรยายทั้งภาษาไทยและอังกฤษได้ง่ายๆ แค่เพียงปลายนิ้วคลิกในขณะที่พิพิธภัณฑ์ ยังคงปิดชั่วคราวเพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งช่องทางออนไลน์นี้เป็นการจัดทำใหม่ เน้นข้อมูลศิลปะชิ้นเอกแต่ละชิ้นอย่างละเอียดมากๆ แต่ละชิ้นมีวีดีโอแสดงถึงขั้นตอนการทำ และรายละเอียดของงานครบทุกด้าน
พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน รวบรวมงานศิลปะชั้นสูงที่สร้างสรรค์โดยช่างฝีมือ 23 สาขาสถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา ภายใต้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ งานชิ้นเยี่ยมเหล่านี้เคยจัดแสดงที่พระที่นั่งอนันตสมาคมและเป็นหนึ่งในหมุดหมายของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติว่า “ควรไปดูสักครั้งในชีวิต”
จากพระที่นั่งอนันตสมาคม พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ปัจจุบันได้ย้ายมาจัดแสดงที่บ้านหลังใหม่ณ ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.อยุธยา ผู้มาเยือนจะได้ชมงานศิลปะชิ้นเอกที่รังสรรค์จากเทคนิคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานถมทอง คร่ำ เครื่องเงินเครื่องทอง แกะสลักไม้ ปักผ้า ลงยาสี ย่านลิเภา และงานตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ บางชิ้นใช้ช่างฝีมือมากกว่า 100 คนและใช้เวลาร่วม 4 ปีจึงแล้วเสร็จ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเคยตรัสว่า คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ขอเพียงมีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกฝนก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เมื่อ พ.ศ.2519 เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการทํางานหัตถกรรมโดยไม่ทิ้งอาชีพเกษตรกรรม ขณะเดียวกันยังช่วยสืบสานและต่อยอดงานศิลปะไทยแขนงต่างๆ ไม่ให้สูญหาย
พระองค์ท่านยังพระราชทานพระราชวโรกาสให้สมาชิกในครอบครัวชาวนาชาวไร่ที่ยากจนมาฝึกอบรมงานศิลปาชีพแขนงต่างๆ โดยทรงจัดตั้งโรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 จากเต็นท์เล็กๆ ข้างกองราชเลขานุการในพระองค์ฯ ภายในสวนจิตรลดา กลายมาเป็นโรงฝึกขนาดใหญ่และยกสถานะเป็น “สถาบันสิริกิติ์” เมื่อพ.ศ.2553 ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในสร้างสรรค์ และสืบสานมรดกศิลป์ไทยและพัฒนาช่างฝีมือให้เป็นช่างหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
Sarakadee Lite ขอหยิบยกผลงานชั้นเยี่ยมบางส่วนมาให้ชมเรียกน้ำย่อยกันก่อน เมื่อสถานการณ์ต่างๆคลี่คลายและพิพิธภัณฑ์พร้อมเปิดให้บริการผู้รักงานศิลปะควรหาโอกาสไปชมผลงานจริงสักครั้ง ภายในบริเวณยังมีอาคารเรียนรู้เรื่องโขนที่จัดแสดงและสาธิตการสร้างสรรค์เสื้อผ้า หัวโขน อุปกรณ์ประกอบฉากและฉากสำคัญๆ ที่เคยใช้ในการแสดงโขนศิลปาชีพตอนต่างๆ การเดินทางง่ายใช้เวลาขับรถประมาณ 1 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ เท่านั้น
ฉากถมทองเรื่อง “รามเกียรติ์”
ช่างศิลปาชีพของสถาบันสิริกิติ์จำนวน 117 คน ใช้เวลา 1 ปี 6 เดือน สร้างฉากถมทอง 3 ฉากผูกเรื่องรามเกียรติ์โดยมีฉากสำคัญเช่น ฉากทศกัณฐ์ลงสวน ฉากลักสีดา และฉากจับม้าอุปการ ความโดดเด่นงดงามของฉากถมทองนี้คือการใช้เทคนิคการหนุนดุนลาย ทั้งส่วนของตัวละครและฉากประกอบบรรยากาศพื้นหลัง เกิดเป็นภาพที่มีมิติสวยงาม เสมือนมีชีวิต
เครื่องถมเป็นงานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมของไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีเทคนิคที่ซับซ้อนโดยเริ่มจากการตีแผ่นเงินเพื่อขึ้นรูปให้เป็นรูปทรงต่างๆ แล้วจึงทำลวดลายด้วยวิธีสลักให้พื้นผิวต่ำลงไปเป็นร่อง หรืออาจใช้วิธีเขียนลายกัดกรดโดยการเขียนลวดลายลงบนผิวเงินที่ขึ้นรูปไว้แล้ว และนำไปแช่ในน้ำกรดเพื่อกัดพื้นผิวเงินให้เป็นร่องทำให้เกิดลวดลายเหมือนการสลัก
ต่อจากนั้นจึงนำยาถมซึ่งมีสีดำที่ได้มาจากการหลอมโลหะหลากหลายชนิดมารมด้วยความร้อน แล้วถมตามร่องของลวดลายเดิมจนเต็มเสมอพื้นผิวเงิน เมื่อตะไบให้ผิวเรียบเสมอกันแล้วนำทองคำบริสุทธิ์ซึ่งผสมเป็นเนื้อเดียวกันกับปรอทมาทาบบนชิ้นงานให้ทั่ว จากนั้นใช้ความร้อนเพื่อให้ปรอทระเหิดออกไปเหลือแต่ทองคำติดอยู่ ด้วยชิ้นงานที่เป็นสีดำของยาถมและสีทองของทองคำจึงเรียกว่าถมทอง
บุษบกมาลา
บุษบกมาลาเป็นงานที่รวบรวมงานฝีมือเชิงช่างศิลป์ไทยไว้มากที่สุดชิ้นงานหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นงานเครื่องเงินเครื่องทอง คร่ำ ถมทอง ลงยาสี แกะสลักไม้และประดับตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ ช่างสถาบันสิริกิติ์จำนวน 285 คนและใช้เวลา 1 ปีในการสร้างสรรค์บุษบกมาลาที่จำลองแบบจากพระที่นั่งบุษบกมาลา มหาจักรพรรดิพิมานณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ในพระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง
ฉากจำหลักไม้เรื่อง “สังข์ทอง” และ “หิมพานต์”
ผลงานแกะไม้สักขนาดสูงและยาวกว่า 6 เมตร แสดงถึงฝีมือช่างชั้นยอดทั้งแกะสลักเป็นภาพนูนบนเนื้อไม้และแกะลอยตัวอย่างวิจิตรบรรจงโดยช่างฝีมือจำนวน 79 คนและใช้เวลากว่า 3 ปี ฉากจำหลักไม้นี้เล่าเรื่องราว 2 เรื่องโดยใช้ไม้แผ่นเดียวกัน ด้านหน้าเล่าเรื่องวรรณคดีสังข์ทอง มีตัวละครเช่นเจ้าเงาะและนางรจนากำลังเสี่ยงพวงมาลัยขนาดเท่าคนจริงแกะสลักแบบลอยตัวและตกแต่งด้วยปีกแมลงทับอย่างงดงาม
ด้านหลังผูกแบบจำหลักไม้ตามเค้าภาพของฉากด้านหน้าเรื่องสังข์ทอง โดยใช้ฉากเมืองและวิมานเดียวกัน แต่เล่าเรื่องราวของหิมพานต์ มีทั้งเขาไกรลาส เทพยดา หมู่สัตว์หิมพานต์ ทั้งจัตุบททวิบาท ครุฑ นาค และหมู่ไม้นานาพรรณยังมีรูปแกะสลักลอยตัวของกินนรและกินรีประจำฐานซ้ายขวา
เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์จำลอง
เรือพระที่นั่งนี้สร้างจำลองจากเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยฝีมือช่างจำนวน 108 คนและใช้เวลาร่วม 3 ปีจึงแล้วเสร็จ ตัวเรือสร้างด้วยเงินถมทอง ศีรษะหงส์จำหลักทองลงยาราชาวดี ตาและเขี้ยวประดับเพชร ปากห้อยพู่พุ่มทองระย้าประดับเพชร ออกหน้าหงส์ทองจำหลักลงยาฉลุซับพื้นปีกแมลงทับ หางจำหลักทองลงยา ทอดบุษบกพิมานทองคำลงยาประดับเพชร ปักฉัตรปรุทองประดับเพชรหลังและหน้าเรือ กงในจำหลักไม้โมกอย่างประณีตฉลุปิดทอง
ในหมู่เรือพระที่นั่งจำลองยังมีอีก 2 ลำที่สร้างอย่างวิจิตรไม่แพ้กัน คือเรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณโดยสร้างจำลองจากเรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งกิ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 มีหัวเรือเป็นรูปพญาครุฑยุดนาค อีกลำคือเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชยสร้างจำลองจากเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชยซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งรองในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่เสียหายจากระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เหลือเพียงโขนเรือที่เก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี
ฉากปักไหมน้อยเรื่อง “อิเหนา”
อีกหนึ่งชิ้นงานที่ใช้เวลานานมากกว่า 4 ปีด้วยเทคนิคการปักผ้าแบบโบราณที่เรียกว่า “ปักซอย” ช่างปักจำนวน 143 คน บรรจงปักเรียงด้วยเส้นไหมที่ละเอียดที่สุดที่เรียกว่า “ไหมน้อย” ไล่ระดับสีและแสงเงาให้เกิดเป็นภาพที่มีมิติงดงาม
ฉากปักไหมน้อยเรื่องอิเหนา มีความยาวเกือบ 10 เมตร และสูงกว่า 5 เมตร ใช้วิธีการปักโดยหนุนตัวภาพให้นูนขึ้นอย่างสมจริงด้วยไหมน้อยย้อมสี สอดดิ้นเลื่อมเงิน-ทองและลูกปัดสี ฉากผูกแบบปักรวม 18 ตอนของเรื่องอิเหนา ผู้ชมจะเห็นภาพพระมหาปราสาท ศาลบนเขาอันวิจิตร ขบวนพยุหยาตรา มวลหมู่นกและธรรมชาติ
พระที่นั่งพุดตานคร่ำทอง
พระที่นั่งพุดตานคร่ำทองสร้างจำลองแบบพระที่นั่งพุดตานจำหลักไม้วังหน้า ทรงชั้นพระที่นั่งสร้างด้วยเทคนิคเงินถมตะทอง ฐานชั้นล่างของพระที่นั่งรายระยะด้วยครุฑยุดนาค ชั้นสองรายรูปเทพยดาประนมกร ราวพนักถมทองซับปีกแมลงทับ หัวเสา ลูกกรงจำหลักฉลุทองคำ กระดานพิงถมทองรูปนารายณ์ทรงครุฑ รองรับด้วยฐานสิงห์ลายหน้ากระดานล่าง รูปนกกรวิก แกมสลับพุ่มเข้าบิณฑ์ทองและดอกประจำยาม ผลงานชิ้นนี้ใช้ช่างฝีมือ 98 คนและใช้เวลาจัดทำ 2 ปี
สีวิกากาญจน์
สีวิกากาญจน์ หรือในภาษาสามัญเรียกว่าเสลี่ยงหรือคานหาม เป็นพระราชยานสำหรับเจ้านายฝ่ายในที่สูงศักดิ์ระดับสมเด็จพระราชินี สีวิกากาญจน์องค์นี้จำลองจากสีวิกากาญจน์ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นผลงานช่างฝีมือจำนวน 160 คนจากหลายแขนงตั้งแต่เครื่องเงินเครื่องทอง แกะสลักไม้ ตกแต่งปีกแมลงทับ และลงยาสี เพื่อใช้ในการศึกษาและอนุรักษ์งานพระราชยานคานหามอย่างโบราณ
บทร้อยกรองงานคร่ำทอง
บทร้อยกรอง ศิลป์แผ่นดิน เป็นงานคร่ำทองที่นำแบบตัวอักษรลายพระหัตถ์ประดิษฐ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มาตกแต่งด้วยการลงคร่ำทองอย่างประณีตงดงาม
คร่ำเป็นงานช่างศิลป์ไทยที่เกือบสูญหายแต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้ทรงฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ คร่ำเป็นการประดิษฐ์ลวดลายด้วยการฝังเส้นเงินหรือเส้นทองคำลงบนโลหะที่เป็นเหล็กด้วยเทคนิควิธีโบราณ โดยการทำผิวหน้าของเหล็กให้ขรุขระด้วยการสับเป็นเส้นตัดไปมาตามทิศทางต่างๆ ซึ่งเรียกว่า “สับเหล็ก” เมื่อฝังเส้นเงินหรือเส้นทองลงไปตามลวดลายบนเหล็กที่สับแล้ว หนามเหล็กที่เกิดขึ้นจะทำหน้าที่คล้ายหนามเตยยึดเส้นเงินหรือเส้นทองไว้ตามลวดลาย
ห้องปีกแมลงทับ
เมื่อเข้ามาภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ชั้นแรก ผู้ชมจะตื่นตากับโคมไฟระย้ารูปหงส์และพญานาคตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ ผนังห้องตกแต่งด้วยแผ่นสานย่านลิเภาสอดด้วยปีกแมลงทับ เช่นกัน ปีกแมลงทับทั้งหมดที่ใช้มาจากแมลงทับที่ทิ้งตัวตายตามธรรมชาติ มีสีสวยเหลือบเงาไม่ว่าจะเป็นเขียวเหลือบน้ำเงินหรือสีทองแดงเหลือบเหลือง
แมลงทับเป็นแมลงที่วงจรชีวิตสั้นเมื่อถึงฤดูกาลก็จะตายตามธรรมชาติ ตกอยู่ตามต้นไม้ที่เป็นอาหารเช่นต้นมะขามเทศเป็นจำนวนมาก ปีกยังมีสีสวยงามตามธรรมชาติและมีความคงทน ไม่จืดจาง นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติที่เหนียวสามารถตัดเป็นเส้นใหญ่น้อยได้ตามต้องการ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงจึงมีพระราชดำริให้ใช้ปีกแมลงทับทำเป็นเครื่องประดับประเภทต่างๆ และให้ทดลองตัดปีกแมลงทับเป็นเส้นเล็กๆ เพื่อสอดสลับลายกับย่านลิเภาเกิดเป็นงานประณีตศิลป์ซึ่งยังไม่มีผู้ใดเคยประดิษฐ์มาก่อน นับเป็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์โดยแท้
สุพรรณเภตรา
สุพรรณเภตราขึ้นรูปเป็นเรือสำเภาถมทอง เสาคร่ำทอง ใบเรือเป็นทองคำฉลุลายโปร่งด้านหน้าสำเภาทองคำลงยาสลักหน้าอสุรกุมภัณฑ์ ทิ้งสมอทองคำลงยาสลักรูปหนุมานและสุพรรณมัจฉา ช่องกาบด้านข้างสำเภาทองคำลงยาฉลุโปร่งซับปีกแมลงทับ ด้านท้ายเรือทองคำลงยารูปนกวายุภักษ์บัลลังก์กัญญาเรือเป็นแบบบุษบกจีนคร่ำเงิน-คร่ำทอง ใช้เวลา 1 ปี 5 เดือนในการสร้างด้วยฝีมือช่างจำนวน 73 คน
Fact File
- Website: www.artsofthekingdom.com
- Youtube: Artsofthekingdom
- Facebook: Artsofthekingdom
- Instagram: @artsofthekingdom
- Twitter: @AOK_Museum