10 โบราณวัตถุไฮไลต์ Night Museum ฉลอง 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์
Arts & Culture

10 โบราณวัตถุไฮไลต์ Night Museum ฉลอง 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

Focus
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ ชวนชมโบราณวัตถุ 10 ชิ้นห้ามพลาดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์”
  • สัมผัสความงดงามของโบราณสถาน วังหน้า อดีตที่ประทับของพระมหาอุปราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ทอดน่องท่องพระนครรับลมเย็นยามค่ำคืนกับการกลับมาของ Night Museum เปิด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภาคค่ำเพื่อเฉลิมฉลอง 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ย้อนบรรยากาศไปชมอดีต “วังหน้า” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่สะท้อนแสงไฟยามกลางคืนระหว่างวันที่ 20-24 เมษายน 2565 ตั้งแต่เวลา 16.00-20.30 น. แน่นอนว่าด้วยพื้นที่พิพิธภัณฑ์ที่กว้างขวางกับห้องจัดแสดงที่ปรับปรุงใหม่สวยงามและแปลกตายามค่ำคืน ทำให้หลายคนเกิดอาการเลือกไม่ถูกว่าจะปักหมุดชมห้องไหน หรือโบราณวัตถุชิ้นไหนดี ทาง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เลยจัดเส้นทางชม 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เปิด 10 ไฮไลต์โบราณวัตถุห้ามพลาดภายในพระที่นั่งต่างๆ ของอดีตวังหน้าที่อยู่คู่กรุงรัตนโกสินทร์มากว่า 200 ปีแห่งนี้

240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

01 พระที่นั่งบุษบกเกริน

พระที่นั่งบุษบกเกริน หรือ บุษบกราชบัลลังก์ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระทวารกลางของพระที่นั่งมุขกระสัน ด้านทิศตะวันออกของหมู่พระวิมาน ตัวพระที่นั่งเป็นไม้ทรงบุษบกขนาบด้วยเกรินทั้งซ้ายขวา ตกแต่งด้วยไม้แกะสลักรูปยักษ์ ครุฑ และเทพนม ปิดทองประดับกระจก สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท หรือ วังหน้าในรัชกาลที่ 1 เพื่อใช้เสด็จออกรับขุนนาง หรือ ออกว่าราชการในท้องพระโรงหน้า โดยถัดจากพระที่นั่งบุษบกเกรินเป็นชาลาและมีอาคารทิมคดตั้งอยู่ 3 ด้านเรียกว่า “ทิมมหาวงศ์” สำหรับเป็นที่ประชุมเหล่านักปราชญ์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ต่อมาจากมุขกระสันและรื้อทิมมหาวงศ์ออก โดยมีพระที่นั่งบุษบกเกรินประดิษฐานเป็นประธานในอาคารหลังใหม่นามว่า พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย

02 พระพุทธสิหิงค์ แห่งวังหน้า

เมื่อเดินเข้ามาใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะพบกับพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ด้านในนอกจากงดงามด้วยจิตรกรรมเทพพนมเต็มผนังแล้วที่นี่ยังประดิษฐาน พระพุทธปฏิมาศิลปะสุโขทัย-ล้านนา หล่อด้วยสำริดกะไหล่ทอง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 เป็น 1 ใน 3 พระพุทธสิหิงค์องค์สำคัญของเมืองไทย

ตามตำนานกล่าวว่าแต่โบราณได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานเป็นสิริมงคลยังพระนครหลวงและเมืองสำคัญของไทยหลายแห่ง ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุโขทัย กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ราว พ.ศ. 2338 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) พระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงใหม่มาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ แห่งนี้

03 พระคเณศปางคณปติ

ในอาคารมหาสุรสิงหนาท มีโซนจัดแสดงโบราณวัตถุที่ชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับศิลปะชวาของประเทศอินโดนีเซีย ชิ้นเด่นคือรูปเคารพ พระคเณศ 4 กร ศิลปะชวาตะวันออก จากจันทิสิงหส่าหรี เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย แกะสลักจากหินภูเขาไฟเป็นรูปพระคเณศประทับบนฐานประดับหัวกะโหลกทรงอาภรณ์และเครื่องประดับรูปหัวกะโหลก รูปเคารพนี้สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-16 มีน้ำหนักร่วม 5 ตัน และค้นพบที่ศาสนสถานจันทิสิงหส่าหรี ประเทศอินโดนีเซีย และรัฐบาลฮอลันดาซึ่งปกครองเกาะชวาในขณะนั้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระคเณศองค์นี้เป็น “ปางคณปติ” หมายถึงผู้เป็นใหญ่ ผ้านุ่งและเครื่องประดับเป็นลาย “หัวกะโหลก” จึงได้รับการนับถือว่าเป็นเจ้าแห่งภูติผีและช่วยลบล้างมนตร์ดำ บริเวณใต้ท้องที่มีรูสี่เหลี่ยมนั้นสันนิษฐานว่าน่าจะเคยมีรูปหนูซึ่งเป็นพาหนะของพระคเณศประดับอยู่

04 พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะศรีวิชัย

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18 “ศรีวิชัย” คือนครรัฐที่รุ่งเรืองในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยและเกาะสุมาตรา โบราณวัตถุชิ้นสำคัญแห่งยุคศรีวิชัยที่จัดแสดงอยู่ในห้องศรีวิชัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร คือ พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี หรือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 2 กร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ค้นพบที่วัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

รูปปั้นมีเฉพาะส่วนองค์ท่อนบนส่วนพระวรกายท่อนล่างชำรุดหายไป พระโพธิ์สัตว์ปัทมปาณีเป็นรูปหนึ่งของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่นับถือในศาสนาพุทธแบบมหายานและวัชรยาน อีกทั้งโบราณวัตถุสำริดชิ้นนี้ยังเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเมืองไชยาเป็นศูนย์กลางสำคัญของพุทธศาสนาลัทธิมหายานในคาบสมุทรมลายู

05 ตะเกียงโรมันเทพเจ้าไซเลนุส

บริเวณโถงทางเดินที่เชื่อมต่อไปยังห้องทวารวดีเป็นส่วนจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้และเครื่องประดับที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างยุคก่อนประวัติศาสตร์กับยุคเริ่มประวัติศาสตร์ ไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาดคือ “ตะเกียงโรมันสำริด” ซึ่งฝาเปิดหล่อเป็นรูปพระพักตร์เทพเจ้าไซเลนุส (Silenus) ของโรมัน ด้ามหล่อเป็นลายใบปาล์มและโลมา 2 ตัวหันหน้าชนกัน เนื่องจากลวดลายสัญลักษณ์ดังกล่าวจึงคาดว่าตะเกียงนี้น่าจะหล่อขึ้นที่เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ขณะอยู่ภายใต้การปกครองของโรมันราวก่อนพุทธศตวรรษที่ 6-10 ตะเกียงถูกขุดพบที่ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และคาดว่าพ่อค้าชาวอินเดียได้นำเข้ามาในประเทศไทยเพราะตำบลที่พบตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าขายที่พ่อค้าชาวอินเดียเคยเดินทางผ่านไปมา

06 หลวงพ่อศิลาขาว ศิลปะทวารวดี

พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สะกดสายตาผู้ชมในห้องล้านนา คือ หลวงพ่อศิลาขาว พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ศิลปะทวารวดี ประทับนั่งห้อยพระบาทบนฐานกลีบบัว เป็นพระพุทธรูปที่ประกอบด้วยชิ้นส่วน 5 ชิ้นคือ พระเศียรและบั้นพระองค์ ได้มาจากวัดพระยากง จังหวัดอยุธยา ส่วนพระอุระ พระเพลา และพระบาท ได้มาจากวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม

หลวงพ่อศิลาขาว เป็นพระพุทธรูปสีหินปูนและออกขาว มีเส้นสายแร่ เชื่อว่าเดิมอยู่ที่วัดพระเมรุ นครปฐมและอัญเชิญไปที่อยุธยาบางส่วน ช่างสมัยก่อนใช้การสลักลิ่มเพื่อยึดชิ้นส่วนทั้งหมดติดกัน ในการซ่อมองค์พระได้ใช้ปูนซีเมนต์กับปูนปลาสเตอร์และใช้แท่งพลาสติกเป็นแกนหรือเดือยเพื่อยึดชิ้นส่วนต่างๆเข้าด้วยกัน พระหัตถ์ทั้งสองข้างปั้นใหม่โดยอิงรูปแบบจากพระพุทธรูปปางแสดงธรรมในยุคทวารวดี

240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

07 พระอิศวรสำริด

ในห้องสุโขทัยโดดเด่นด้วยเทวรูสำริดขนาดใหญ่ทั้งพระพรหม พระอิศวร และพระวิษณุ มีอายุกว่า 600 ปี แสดงถึงอิทธิพลของศาสนาฮินดูต่อลัทธิเทวราชาของอาณาจักรเขมรและส่งต่อสู่อาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา โดยพระอิศวรสำริด สมัยสุโขทัย (ภาพขวาสุด) อายุประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ตามประวัติกล่าวว่ารับมาจากเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพฯ สันนิษฐานว่าคือ พระมเหศวร ที่กล่าวถึงในจารึกวัดป่ามะม่วงว่า พระมหาธรรมราชาธิราชที่ 1 (พญาลิไท) โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานไว้ในหอเทวาลัยมหาเกษตรพิมานคู่กับพระวิษณุอีกองค์หนึ่ง เมื่อปีฉลู มหาศักราช 1271 ตรงกับปี พ.ศ. 1893

ทั้งนี้เทวรูปส่วนใหญ่ที่จัดแสดงในห้องนี้สร้างขึ้นเพื่อแสดงอำนาจ จึงมักมีกล้ามเนื้อที่น่าเกรงขาม แต่ช่างสุโขทัยคุ้นเคยกับการสร้างพระพุทธรูปที่นิยมพระพักตร์ยาวรูปไข่ พระอุระเพียว แขนเป็นลำเทียน ทำให้เทวรูปที่สร้างในอาณาจักรสุโขทัยมีการลดทอนกล้ามเนื้อ และเมื่อมาถึงห้องนี้หากสังเกตให้ดีจะพบว่ามีเทวสตรีเพียงองค์เดียวคือ พระอุมาเทวี เป็นเทวสตรีศิลปะสุโขทัยที่ค้นพบเพียงองค์เดียวในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีเทวรูปพระหริหระซึ่งเป็นการรวมร่างของเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดูคือ พระวิษณุ (หริ) และพระอิศวร (หระ)

240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์
ภาพจาก : พิพิะภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

08 พระหายโศก

ในห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ยังมีไฮไลต์เป็น พระหายโศก พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะล้านนาประทับขัดสมาธิเพชร มีพระรัศมีรูปดอกบัวตูม พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อย พระวรกายอวบอ้วน พระหัตถ์ขวาคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงด้านล่าง เป็นท่านั่งที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติตอน “มารผจญ” ฐานพระพุทธรูปมีลักษณะเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย จากพุทธลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงพุทธศิลป์ล้านนาแบบสิงห์ 1 กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่21 อันเป็นยุคทองของล้านนาที่นิยมสร้างพระพุทธรูปแบบฐานบัวงอนด้านหลังที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกด้วยอักษรไทย ภาษาไทย สมัยรัตนโกสินทร์ ความว่า

“พระหายโศกมาถึงกรุงเทพฯ วัน 1 11+ 5 ค่ำ (วันอาทิตย์ขึ้น 11 ค่ำเดือน 5) ปิ์มเสงยังเป็นอัฐศกศักราช 1218 ”

ในข้อความตรงกับวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2399 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 โดยชื่อ “หายโศก” สะท้อนถึงธรรมเนียมการตั้งชื่อพระพุทธรูปล้านนาที่มักตั้งตามคติความเชื่อด้านพระพุทธคุณในเชิงขจัดปัดเป่าเคราะห์ภัยอันตรายต่าง ๆ ที่อาจนำความทุกข์โศกมาสู่ผู้กราบไหว้บูชา แต่เดิมพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปของหลวงและถูกใช้ในการพระราชพิธีเท่านั้น ก่อนที่กรมพระราชพิธีจะส่งมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และจัดแสดงอยู่ที่ห้องล้านนา

240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

09 ศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยสุโขทัย

เมื่อกล่าวถึงอาณาจักรสุโขทัย โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่หลายคนนึกถึงคือ ศิลาจารึกหลักที่ 1 จัดแสดงอยู่ในห้องสุโขทัย เล่าถึงประวัติศาสตร์ว่าด้วยความเจริญรุ่งเรืองและความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักรแห่งนี้ โดยเฉพาะในประโยคที่ว่า “เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” ทำให้ศิลาจารึกหลักนี้ที่ค้นพบที่เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย จังหวัดสุโขทัยเมื่อ พ.ศ.2376 เป็นโบราณวัตถุชิ้นเอกที่ผู้ชมให้ความสนใจมากที่สุด

ศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อ พ.ศ. 2546 โดยองค์การยูเนสโกและยังเป็นหนึ่งในโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ควบคุมการทำเทียมซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 9 รายการ โดยการจำลองต้องมีขนาดไม่เท่ากับต้นแบบจริงและต้องขออนุญาตกับกรมศิลปากร ถ้าเป็นพระพุทธรูปหรือรูปเคารพต่าง ๆ ต้องประทับคำว่า “จำลอง” ถ้าเป็นโบราณวัตถุและศิลปวัตถุอื่น ต้องประทับคำว่า “สิ่งเทียม” ในจุดที่เห็นได้ชัด

ในศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นหลักฐานแสดงความเจริญรุ่งเรืองในสมัยนั้น เช่น หลักฐานการประดิษฐ์อักษรไทย ระบบชลประทาน เหตุการณ์ต่าง ๆ และเพื่อสดุดีพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง แต่หากต้องการศึกษาการก่อร่างสร้างอาณาจักรสุโขทัยอย่างสมบูรณ์ควรศึกษาจารึก 3 หลักที่จัดแสดงอยู่ในห้องเดียวกัน ประกอบด้วย จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด ที่มีการบันทึกรายชื่อบรรพบุรุษของราชวงศ์พระร่วง จารึกนครชุม ที่เป็นหลักฐานแสดงความเชื่อ ความศรัทธาและความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ และ จารึกวัดศรีชุม ที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ช่วงแรกสร้างอาณาจักร

240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

10 พระมหาพิชัยราชรถ 

ที่โรงราชรถจัดแสดง “พระมหาพิชัยราชรถ” เป็นราชรถที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2338 มีขนาดกว้าง 4.85 เมตร ความยาวรวมงอนรถ 18 เมตร (ความยาวเฉพาะตัวรถ 14.10 เมตร) สูง 11.20เมตร น้ำหนักรวม 13.70 ตัน ปัจจุบันใช้กำลังพลฉุดชักจากกรมสรรพาวุธทหารบก 216 นาย

เมื่อแรกสร้างนั้นโปรดให้สร้างขึ้นเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามโบราณราชประเพณีที่เคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพื่อเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกออกถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง นับแต่นั้นมา พระมหาพิชัยราชรถก็ถูกใช้สำหรับเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ษานุวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าในสมัยต่อ ๆ มา และใน พ.ศ.2560 ใช้ทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปัจจุบันพระมหาพิชัยราชรถได้เก็บรักษาไว้ ณ โรงราชรถ 

Fact File

  • เนื่องในโอกาส 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จึงได้เปิดพิพิธภัณฑ์ยามค่ำระหว่างวันที่ 20-24 เมษายน 2565 ตั้งแต่เวลา 16.00-20.30 น. พร้อมกิจกรรมนำชมรอบพิเศษวันละ 3 รอบ ได้แก่ 18.00 น. 18.30 น. และ 19.00 น. โดยสามารถลงทะเบียนได้บริเวณศาลาลงสรง บริเวณทางเข้าพิพิธภัณฑ์ในเวลา 16.30 น.
  • สอบถามเพิ่มเติม: โทรศัพท์ 0-2224-1333 และ 0-2224-1402 หรือ Facebook.com/nationalmuseumbangkok

Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์