เทวดานพเคราะห์ ผู้เป็นเจ้าเรือนชะตามนุษย์ในตำราโบราณ
- เทวดานพเคราะห์ หมายถึง เทวดา 9 องค์ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ครองเรือนชะตาของมนุษย์ โดยความเชื่อนี้มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดู
- เมื่อความเชื่อเรื่องเทวดานพเคราะห์เดินทางมาถึงไทยก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบท และมีความเชื่อใหม่ที่ต่างออกไปว่าเทวดานพเคราะห์นั้นกำเนิดมาจาก พระอิศวร
ในช่วงวันสงกรานต์ตามธรรมเนียมโบราณมักจะมีการไหว้ เทวดานพเคราะห์ หมายถึง เทวดา 9 องค์ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ครองเรือนชะตาของมนุษย์ โดยความเชื่อนี้มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่นับถือ พระอาทิตย์ ซึ่งมีบริวารอีก 8 องค์ ที่สามารถให้โทษหรือสร้างอุปสรรคให้กับมนุษย์มากกว่าจะให้คุณ ดังนั้นตามความเชื่อจึงต้องมีผู้ควบคุมอีกชั้นนั่นก็คือ พระคเณศ เทพผู้เป็นใหญ่เหนืออุปสรรคทั้งมวล
เมื่อความเชื่อเรื่อง เทวดานพเคราะห์ เดินทางมาถึงไทยก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบท และมีความเชื่อใหม่ที่ต่างออกไปว่า เทวดานพเคราะห์ นั้นกำเนิดมาจาก “พระอิศวร” ลักษณะเทวดานพเคราะห์ของไทยจึงแตกต่างจากคติความเชื่อฮินดูต้นตำรับ อีกทั้งยังมีการนำความเชื่อเรื่องเทวดานพเคราะห์มาเชื่อมโยงกับคติความเชื่อทางพุทธศาสนามากกว่าอิงไปในหลักศาสนาฮินดู เช่นในช่วงวันสงกรานต์ คนไทยโบราณนิยมสรงน้ำ เทวดานพเคราะห์ ทั้ง 9 องค์ ผู้เป็นเจ้าเรือนชะตามนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิดจนตายตามความเชื่อโบราณ เหตุก็ด้วยในสมัยโบราณที่มักไม่นิยมนับอายุตามวันเกิด แต่จะนับอายุตามการเถลิงศักราชใหม่ในช่วง สงกรานต์ หากปีใดมีความป่วยไข้ หรือทราบว่าถึงเวลาเปลี่ยนทักษา โดยเฉพาะบรรดาเจ้านายก็จะทำการขึ้นเกยส่งเทวดาเก่ารับเทวดาใหม่ ด้วยเชื่อว่าจะนำพาสิริมงคลมาพร้อมกับศักราชใหม่
สำหรับประติมากรรมเทพนพเคราะห์ที่เรายังพอเห็นได้ก็เช่นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งนำชุด เทวดานพเคราะห์ ทั้ง 9 องค์ มาจัดแสดงในช่วงสงกรานต์ เป็นชุดที่หล่อขึ้นตามแบบเทพนพเคราะห์ของไทย มีลักษณะการแต่งกายคล้ายกับภาพเทวรูปในสมุดไทยหมวดตำราภาพเทวรูปไสยาศาสตร์ เล่มที่ 70 สำนักหอสมุดแห่งชาติ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรูปแบบของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ เพราะมีความคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมเทพบนบานประตูหน้าต่างด้านในของพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ที่เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ทรงร่วมในการควบคุมการก่อสร้าง
ความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้ คือ สามารถถ่ายทอดรูปแบบของเทพนพเคราะห์ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัวที่แสดงท่าทางและลักษณะของเทพนพเคราะห์ได้อย่างสมจริง มีชีวิตชีวา รักษาเอกลักษณ์ของเทพแต่ละองค์ไว้ได้อย่างชัดเจน สันนิษฐานว่าประติมากรรมชุดนี้ น่าจะหล่อขึ้นในราวสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โดยเปรียบเทียบลักษณะประติมานวิทยากับภาพในสมุดไทยและรูปสัตว์ที่มีความเหมือนจริงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ส่วนเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 ส่วนจะมีเทพองค์ใดและลักษณะอย่างไรบ้าง Sarakadee Lite จะพาไปรู้จักกัน
พระอาทิตย์
พระอาทิตย์เป็นเทวดานพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทวดานพเคราะห์ทั้งปวงเพราะกำเนิดจากการที่พระอิศวรทรงใช้ราชสีห์ 6 ตัว ป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีแดง พรมด้วยน้ำอมฤต มีลักษณะเป็นบุรุษมีผิวกายสีแดง ทรงราชสีห์เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มักมีอารมณ์รุนแรง ตัดสินใจไว เฉียบขาด รักอิสระ แต่ซื่อสัตย์ เป็นมิตรกับพระพฤหัสบดี และเป็นศัตรูกับพระอังคาร
พระจันทร์
พระจันทร์ เป็นเทวดานพเคราะห์ที่พระอิศวรทรงสร้างจากเทพธิดา 15 นาง บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีขาวนวล พรมด้วยน้ำอมฤตจนได้เป็นบุรุษรูปงาม มีสีผิวกายขาวนวล ทรงม้าเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออก เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มีอารมณ์อ่อนโยน เพ้อฝัน รวนเร และอาจมีเล่ห์เหลี่ยมมาก พระจันทร์เป็นมิตรกับพระพุธ และเป็นศัตรูกับพระพฤหัสบดี
พระอังคาร
เป็นเทวดานพเคราะห์ที่พระอิศวรทรงสร้างจากกระบือ 8 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีชมพูหม่น พรมด้วยน้ำอมฤตมีลักษณะของบุรุษผิวสีทองแดง ทรงกระบือเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มีอารมณ์มุทะลุ ตึงตัง ชอบใช้กำลัง ใจร้อน เป็นมิตรกับพระศุกร์ และเป็นศัตรูกับพระอาทิตย์
พระพุธ
เป็นเทวดานพเคราะห์ที่พระอิศวรทรงใช้ช้าง 17เชือก บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีเขียวใบไม้ พรมด้วยน้ำอมฤตจนได้เป็นบุรุษผิวกายสีเขียว ทรงช้างเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ ชอบพูดชอบเจรจา สุขุม รอบคอบ แต่ตื่นกลัวง่าย เป็นมิตรกับพระจันทร์ เป็นศัตรูกับพระราหู
พระเสาร์
เป็นเทวดานพเคราะห์ที่พระอิศวรทรงสร้างจากเสือ 10 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีดำ พรมด้วยน้ำอมฤต พระเสาร์มีสีกายดำคล้ำ ทรงเสือเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ พระเสาร์มีกิริยาดุดัน แข็งแรง กล้าได้กล้าเสีย บุคลิกเคร่งขรึม เป็นมิตรกับพระราหู เป็นศัตรูกับพระศุกร์
พระพฤหัสบดี
พระอิศวรสร้างจากฤษี 19 ตน บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีส้มแดง พรมน้ำอมฤตได้เป็นพระพฤหัสบดี มีผิวกายสีส้มแดง ทรงกวางเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตก เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มักทำอะไรด้วยความระมัดระวัง สุขุม รอบคอบ เมตตาปรานีต่อผู้อื่น เป็นมิตรกับพระอาทิตย์ และเป็นศัตรูกับพระจันทร์ พระพฤหัสบดีถือเป็นครูของเทพทั้งหลาย ประเพณีไทยจึงนิยมทำพิธีไหว้ครูในวันพฤหัสบดี
พระราหู
เป็นเทวดานพเคราะห์ที่พระอิศวรทรงสร้างจากหัวกะโหลก 12 หัว หรือในบางตำราว่าสร้างจากผีโขมด 12 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีทอง พรมน้ำอมฤตได้เป็นพระราหูที่มีกายสีนิลออกไปทางทองแดง ทรงครุฑเป็นพาหนะ มีวิมานสีนิลอยู่ในอากาศ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ ให้ผลในทางลุ่มหลงมัวเมา เป็นมิตรกับพระเสาร์และเป็นศัตรูกับพระพุธ
พระศุกร์
พระอิศวรทรงสร้างจากโค 21 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีฟ้าอ่อน พรมด้วยน้ำอมฤตจนเป็นพระศุกร์มีผิวกายสีฟ้า ทรงโคเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ กิริยาน่ารัก อ่อนหวาน ชอบงานศิลปะทุกประเภท เป็นมิตรกับพระอังคารและเป็นศัตรูกับพระเสาร์ อีกทั้งพระศุกร์ยังเป็นครูของเหล่ายักษ์
พระเกตุ
พระอิศวรทรงสร้างจากพญานาค 9 ตัว กายสีทองคำ ทรงนาคเป็นพาหนะ มีวิมานสีดอกบุษบา หรือก็คือสีเปลวไฟ ประจำอยู่ในทิศท่ามกลาง บางตำรากล่าวว่าพระเกตุเกิดจากหางของพระราหูซึ่งขโมยดื่มน้ำอมฤต พระอินทร์โกรธจึงขว้างจักร ตัดเอวขาด แต่ด้วยอำนาจแห่งน้ำอมฤตที่ขโมยดื่มไปทำให้พระราหูไม่ตาย หางที่ขาดนั้นกลายเป็น พระเกตุ ซึ่งจะไม่เสวยอายุโดยตรง แต่จะเข้าแทรกเพื่อบรรเทาเรื่องร้ายและส่งเสริมในเรื่องดี
Fact File
- ในสงกรานต์ของทุกปี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ จะอัญเชิญเทพนพเคราะห์ออกมาให้ประชาชนทั่วไปได้สรงน้ำขอพร ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ