เตรียมเปิด คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดเก็บและแสดงโบราณวัตถุระดับชาติกว่า 93,000 รายการ
- กรมศิลปากรจัดสร้างคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งใหม่ สามารถจัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 ชิ้น
- ล่าสุดเจ้าหน้าที่กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำลังดำเนินการนำโบราณวัตถุจำนวนมากกว่า 93,000 รายการ ออกจากบรรจุภัณฑ์เดิม แล้วนำขึ้นจัดแสดง
นอกจากการปรับปรุงงานพิพิธภัณฑ์สู่ระดับสากลแล้ว อีกสิ่งที่ถือเป็นวาระสำคัญของ กรมศิลปากร ก็คือการสร้าง คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งในระบบพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศนั้น คลังกลางที่จัดเก็บโบราณวัตถุระดับชาติถือเป็นคลังความรู้สำคัญที่ต้องมี ทำหน้าที่ทั้งจัดเก็บ อนุรักษ์ และจัดแสดง เพื่อให้เห็นแนวทางในการอนุรักษ์ศิลปะวัตถุระดับชาติ
สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการก่อสร้าง คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลังใหม่ในพื้นที่ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จที่นี่จะกลายเป็นอาคารคลังกลางเก็บโบราณวัตถุที่ได้มาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทย ทำหน้าที่จัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นสำคัญของชาติ พร้อมด้วยเทคโนโลยีด้านการรักษาความปลอดภัยต่อโบราณวัตถุที่ทันสมัย ที่สำคัญสร้างอย่างถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์ และเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมได้เหมือนในหลายประเทศ
คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับพิพิธภัณฑสถานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารคลังกลางเก็บโบราณวัตถุ เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ รวมทั้งสิ่งเทียมโบราณวัตถุ สิ่งเทียมศิลปวัตถุ จากอาคารคลังกลางเดิมและคลังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ 41 แห่ง รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ในสังกัดกรมศิลปากร คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แห่งใหม่นี้จะสามารถจัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 ชิ้น ภายในอาคารประกอบด้วยส่วนสำนักงานคลังกลาง ส่วนการให้บริการ ส่วนปฏิบัติการทะเบียน และส่วนห้องคลังทั้งหมด 10 ห้องคลัง พร้อมระบบรักษาความปลอดภัยแบบ Real Time และระบบป้องกันภัยทุกประเภท โดยเฉพาะอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ และการโจรกรรม พิเศษคือการจัดระบบให้เป็นคลังที่เปิดเพื่อการศึกษา (Study Collection) และคลังกึ่งจัดแสดง (Visible Storage)
ล่าสุดอัปเดทเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2565 เจ้าหน้าที่กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ดำเนินการนำโบราณวัตถุจำนวนมากกว่า 93,000 รายการ ออกจากบรรจุภัณฑ์เดิมแล้วนำขึ้นจัดแสดงหรือจัดเก็บบนชั้นเหล็ก ตู้ลิ้นชักเหล็กภายในห้องคลังต่าง ๆ โดยจำแนกการจัดเก็บโบราณวัตถุแต่ละประเภทให้เป็นหมวดหมู่ตามวัสดุเป็นหลัก ได้แก่ คลังหินและปูนปั้น คลังดินเผา คลังโลหะ คลังไม้ คลังหนังสัตว์ และคลังผ้า กระดาษ กระดูก งา และเขาสัตว์ คาดการณ์ว่า คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จะเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการภายได้ในปี พ.ศ.2565 โดยจะเปิดให้บริการแบบเยี่ยมชมหรือเข้าศึกษาค้นคว้าโบราณวัตถุ ณ สถานที่ตั้งเท่านั้น พร้อมกันนี้ยังมีส่วนงานบริการสืบค้นฐานข้อมูลทะเบียนพร้อมภาพถ่ายโบราณวัตถุ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการแบบออนไลน์ในปี พ.ศ.2566
เพิ่มเติมสำหรับการก่อสร้าง พิพิธภัณฑสถานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันนั้น ล่าสุด กิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่าได้มีการตรวจรับงานก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ งวดที่ 11 และ 12 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 30% คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2566
ทั้งนี้เมื่อการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนงานด้านการออกแบบและตกแต่งภายใน รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อรวบรวมองค์ความรู้โบราณราชประเพณีเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมศพ พระศพ และองค์ความรู้ในการก่อสร้างพระเมรุมาศ ตั้งแต่ประวัติความเป็นมา คติความเชื่อ งานสถาปัตยกรรม งานศิลปกรรมด้านต่างๆ ตลอดจนขั้นตอนต่างๆ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ