ห้องสิน หนึ่งเดียวในไทยที่ซ่อนอยู่ใน เก๋งนุกิจราชบริหาร สถาปัตยกรรมจีนแห่งวังหน้า
Arts & Culture

ห้องสิน หนึ่งเดียวในไทยที่ซ่อนอยู่ใน เก๋งนุกิจราชบริหาร สถาปัตยกรรมจีนแห่งวังหน้า

Focus
  • เก๋งนุกิจราชบริหาร สถาปัตยกรรมจีนหนึ่งเดียวในวังหน้า (พระราชวังบวรสถานมงคล) กลับมาเปิดให้เข้าชมอีกครั้งหลังจากปิดไปร่วม 20 ปี
  • ด้านใน เก๋งนุกิจราชบริหาร ซ่อนความสวยงามของภาพจิตรกรรมฝาผนังจีนเรื่อง ห้องสิน ซึ่งพบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

แม้นักท่องประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์หลายคนจะคุ้นเคยกับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นอย่างดีแล้ว แต่บอกได้เลยว่ายังมีอีกหลายมุมใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก และหนึ่งในนั้นคือ เก๋งนุกิจราชบริหาร สถาปัตยกรรมจีนหนึ่งเดียวในวังหน้า (พระราชวังบวรสถานมงคล) ซึ่งเพิ่งจะกลับมาเปิดให้เข้าชมอีกครั้งพร้อมกับงาน Night at the Museum ในค่ำคืนที่ 17 ธันวาคม 2564 เป็นคืนแรกหลังจากที่ปิดมานานร่วม 20 ปี ที่นี่แม้จะเป็นเก๋งจีนสีขาวหลังเล็กๆ ที่อาจจะดูไม่สลักสำคัญมากนัก แต่ด้านในกลับซ่อนความสวยงามของภาพจิตรกรรมฝาผนังอิงประวัติศาสตร์จีนเรื่อง ห้องสิน ซึ่งพบอยู่ด้านในเก๋งนุกิจราชบริหาร และพบเพียงแห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย

ห้องสิน
“นาจา” ที่คนไทยคุ้นเคย
ห้องสิน
ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเต็มผนังทั้ง 4 ด้าน

เก๋งนุกิจราชบริหารเป็นสถาปัตยกรรมจีนหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ในพื้นที่วังหน้า อาคารเก๋งจีนหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สันนิษฐานว่าพระองค์โปรดให้ พระวิสูตรวารี (มลิ) รับผิดชอบการสร้างพร้อมกับพระที่นั่งบวรปริวัติซึ่งเป็นพระที่นั่งทรงที่ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว แต่ยังไม่ทันที่พระที่นั่งบวรปริวัติจะสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตก่อน จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสร้างต่อจนเสร็จ และถึงแม้ เก๋งนุกิจราชบริหาร จะเป็นเก๋งจีนหลังเล็กสีขาวเรียบง่าย แต่ด้านในกลับอัดแน่นด้วยรายละเอียดของจิตรกรรมภาพเขียนจีนเรื่อง ห้องสิน ที่บอกเล่าถึงอิทธิพลจีนต่อราชสำนักสยามในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะด้านวรรณกรรมจีนอิงพงศาวดารอย่าง สามก๊ก และ ห้องสิน ซึ่งได้รับความนิยมในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ห้องสิน
ด้านหน้าเก๋งจีน

ห้องสิน ชื่อนี้เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ขนาดยาวของจีน สันนิษฐานว่าประพันธ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง โดยประวัติผู้แต่งเรื่องห้องสินนั้นแบ่งออกเป็น 2 กระแส บ้างว่าผู้แต่ง คือ สวีจ้งหลิน ผู้มีสมญาว่า จงซานอี้โส่ว หรือ “เฒ่าสำราญแห่งเขาจงซาน” แต่ก็มีบางข้อมูลที่กล่าวอ้างว่า ห้องสินเป็นผลงานการประพันธ์ของ ลู่ซีซิง นักพรตเต๋าสมัยหมิง โดยเนื้อหาห้องสินเกี่ยวเนื่องกับสงคราม ความวุ่นวายในบ้านเมือง ธรรมะและอธรรมสู้รบกันจนต้องมีการเชิญเทวดาลงมาร่วมสู้รบด้วย มีหลักฐานชัดเจนว่าวรรณกรรม ห้องสิน เริ่มมีการแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พร้อมๆ กับการแปลเรื่อง เลียดก๊ก และ ตั้งฮั่น

ห้องสิน
(บนและล่าง) ภาพพระศาสดาทั้งสี่ทลายค่ายสังหารเซียน
เก๋งนุกิจราชบริหาร

สำหรับภาพ ห้องสิน ที่ปรากฏอยู่บนผนังด้านในของเก๋งนุกิจราชบริหารนั้นก็เป็นภาพวาดการสู้รบที่ละเอียด และวาดเต็มผนังทั้ง 4 ด้าน พร้อมกับมีชื่อภาษาจีนของเทพแต่ละองค์ รวมทั้งชื่อค่ายกล ชื่อภูเขา ชื่อถ้ำกำกับไว้ในทุกรูปตามธรรมเนียมการเขียนภาพของจีนในยุคนั้น และภาพที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีเห็นจะเป็นภาพ “นาจา” ซึ่งวาดไว้หลายภาพในหลายท่าทางการต่อสู้ ทั้งนี้แม้จะมีภาพส่วนหนึ่งรางเลือนจนแทบจะเป็นผนังเปล่า แต่ความคมชัดของลายเส้นและสีของภาพที่เหลืออยู่ยังคงชัดเจนและสวยงามมากจริงๆ

ห้องสิน
เก๋งนุกิจราชบริหาร
เทพหยานเติงเต้าเหยินมาช่วยเจียงจื่อเอี๋ย

ในเอกสารงานค้นคว้าเรื่อง “งานจิตรกรรมเรื่องห้องสิน ภายในเก๋งนุกิจราชบริหาร พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)” โดย “แพร มัธยธนา” ได้มีข้อเสนอว่าจิตรกรรมห้องสินในเก๋งนุกิจราชบริหารน่าจะเป็นผลงานของช่างเขียนจีน โดยเปรียบเทียบการวาดเครื่องแต่งกายตามแบบงิ้วจีนผสมผสานกับเสื้อผ้าจริง มีการวาดภูเขา เปลวไฟที่เป็นแบบจีน อีกทั้งยังพบว่าลักษณะการเขียนภาพเป็นการเขียนแบบเวียนซ้าย ตามธรรมเนียมนิยมของช่างจีน

เก๋งนุกิจราชบริหาร

นอกจากนี้ในงานวิจัย “ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องห้องสินในเก๋งนุกิจราชบริหาร : อิทธิพลและความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมจีนกับศิลปกรรมจีนในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” โดย ศานติ ภักดีคำ และ นวรัตน์ ภักดีคำ ยังได้ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมของภาพทั้งหมดไว้ว่า ภาพทางทิศใต้เขียนตอนบุนไทสือเดินทางไปขอให้อาจารย์ทั้ง 10 มาช่วยตั้งค่ายกลเพื่อรบกับเกียงจูแหย ไปจนถึงบุนไทสือตาย ด้านจิตรกรรมที่หน้าบันทางทิศตะวันตกแสดงการรบระหว่างเกียงจูแหยกับขงสวนผู้เป็นทหารเอกของพระเจ้าติวอ๋อง ส่วนผนังด้านตะวันออกเขียนตอนปราบค่ายจูเสียนติ้นและมีเทวดามาช่วยปราบ ผนังด้านทิศเหนือฝั่งตะวันออกเขียนตอนรบระหว่างเกียงจูแหยและเตียวแก๋ และสุดท้ายผนังด้านทิศเหนือฝั่งตะวันตก เขียนตอนรบระหว่างเกียงจูแหยกับอวนหอง

สำหรับคนที่ไม่มีความรู้ด้านวรรณกรรมจีนก็ไม่ต้องกังวล เพราะด้านในเก๋งนุกิจราชบริหารได้มีการจัดทำชุดข้อมูลแบบทัชสกรีนให้ได้อ่านเรื่องราวของห้องสินแห่งนี้ได้อย่างสนุกยิ่งขึ้นชนิดภาพต่อภาพ และสำหรับใครที่สนใจเรื่องราววัฒนธรรมจีนที่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แห่งนี้ยังมีวัตถุอีกหลายชิ้นที่ซ่อนประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีนที่มีมาเนิ่นนาน

Fact File

  • เก๋งนุกิจราชบริหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว มุงกระเบื้องหลังคาแบบจีน พร้อมประตูบานเฟี้ยมด้านหน้าแบบจีนเขียนลวดลายเครื่องแจกัน สำหรับประวัติการสร้างนั้นแม้ไม่ปรากฏชัดเจน แต่ด้วยความที่เก๋งจีนหลังนี้อยู่ติดกับกำแพงด้านนอกของพระที่นั่งบวรบริวัติ (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว) ซึ่งเป็นพระที่นั่งทรงจีนที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ พระวิสูตรวารี (มลิ) สร้างขึ้น จึงมีการสันนิษฐานว่า เก๋งนุกิจราชบริหารก็น่าจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับพระที่นั่งบวรบริวัตินั่นเอง
  • รายละเอียดการเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ คลิก www.facebook.com/nationalmuseumbangkok

อ้างอิง  

  • “งานจิตรกรรมเรื่องห้องสิน ภายในเก๋งนุกิจราชบริหาร พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)” โดย แพร มัธยธนา มหาวิทยาลัยศิลปากร (2560)
  • “ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องห้องสินในเก๋งนุกิจราชบริหาร : อิทธิพลและความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมจีนกับศิลปกรรมจีนในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” โดย ศานติ ภักดีคำ และ นวรัตน์ ภักดีคำ ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (2549)

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์