เปิดห้อง อนุรักษ์บานไม้ประดับมุก ศิลปะชั้นสูงของญี่ปุ่น อายุกว่า 150 ปี ในวิหารหลวงวัดราชประดิษฐ์
- วัดราชประดิษฐ์ มีงานศิลปะโดดเด่นคือบานไม้ประดับมุกและแผ่นไม้ประดับรักลายนูนซึ่งเป็นงานศิลปะชั้นสูงของญี่ปุ่นอายุกว่า 150 ปีที่สั่งทำเป็นพิเศษเพื่อประดับตกแต่งวัดโดยเฉพาะตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4
- งานศิลปะจำนวน 94 ชิ้นกำลังอยู่ในขั้นตอนการอนุรักษ์โดยความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรกับสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
- จากการศึกษาและวิจัยรายละเอียดส่วนประกอบของศิลปวัตถุได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นแล้วว่าเป็นงานศิลปะที่ทำขึ้นในญี่ปุ่นช่วงสมัยเอโดะ
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร หรือ วัดราชประดิษฐ์ เป็นวัดที่มีพื้นที่เพียง 2 ไร่เศษ ตั้งอยู่ริมถนนสราญรมย์ หน้าพระบรมมหาราชวังทางด้านทิศตะวันออก แต่มีความสำคัญอย่างมากคือเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมื่อ พ.ศ.2407 โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นวัดสำหรับพระสงฆ์คณะธรรมยุตินิกายที่ทรงก่อตั้งและทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้่อที่ดินซึ่งเคยเป็นสวนกาแฟของหลวง
นอกจากนี้รัชกาลที่ 4 ทรงกำหนดผังอาคาร รูปแบบสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และรูปเคารพด้วยพระองค์เองจึงทำให้ วัดราชประดิษฐ์ มีรูปแบบเฉพาะ เช่น การกำหนดเขตมหาพัทธสีมารอบวัด ศาลาการเปรียญประดิษฐานบุษบกธรรมาสน์ทรงยอดมงกุฎซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระนามเดิมคือ “เจ้าฟ้ามงกุฎ” ภาพจิตรกรรมในพระวิหารหลวงเป็นภาพพระราชพิธีสิบสองเดือนแทนภาพจิตรกรรมจากชาดกและพุทธประวัติตามประเพณีนิยม และอีกหนึ่งศิลปะโดดเด่นที่แสดงถึงพระราชนิยมคือ บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น และ แผ่นไม้ประดับรักลายนูน ในพระวิหารหลวงที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการอนุรักษ์ของกรมศิลปากรร่วมกับสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นและแผ่นไม้ประดับรักลายนูนอายุกว่า 150 ปีใช้ประดับบนบานประตู 3 คู่ และบานหน้าต่างอีก 16 คู่เป็นจำนวนทั้งสิ้น 114 แผ่น (1 คู่ประกอบด้วยงานไม้ประดับ 6 แผ่น) แต่ปัจจุบันสูญหายไป 20 แผ่นจึงคงเหลือจำนวน 94 แผ่นที่ต้องอนุรักษ์ซ่อมแซมเนื่องจากเสื่อมสภาพ มีเชื้อรา แมลงกัดกินพื้นไม้ ผิวหน้าชิ้นงานมีความสกปรกจากยางรักที่เคยมีการพยายามซ่อมแซมมาแล้ว และบางบานยางรักที่ถูกทาเคลือบไว้เป็นเวลานานเกิดความหมองคล้ำไม่สดใส
ปัจจุบันโครงการอยู่ในระยะที่ 3 (พ.ศ.2564-2568) ซึ่งเป็นขั้นตอนการอนุรักษ์และมีการจัดสร้างห้องปฏิบัติการอนุรักษ์ภายในวัดเมื่อ พ.ศ. 2564 โดยมีการซ่อมแซมบานไม้ประดับและนำไปติดตั้งยังตำแหน่งเดิมแล้วจำนวน 26 ชิ้น
“ความเหมือนของงานประดับมุกของไทยกับญี่ปุ่นคือนิยมใช้เปลือกหอยโข่งและหอยเป๋าฮื้อและใช้ยางรักเป็นตัวประสานระหว่างเปลือกหอยกับพื้นงาน แต่ยางรักของไทยมีความเข้มข้นเมื่อกรีดยางรักจะสีขุ่นขาวและเมื่อเจออากาศจะสีดำ แต่ของญี่ปุ่นจะมีสีเหมือนโอวัลติน ข้นๆ และไม่เหนียวมาก ส่วนเปลือกหอยที่ใช้ประดับของไทยหนาประมาณ 1 เหรียญบาท แต่ของญี่ปุ่นบางมากประมาณกระดาษ A4 และโปร่งแสง อีกทั้งมีการฉาบสีด้านหลังและปิดแผ่นเงินแผ่นทองทับด้วย ในการอนุรักษ์จึงมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันมาก เราจึงต้องขอความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย องค์ความรู้ และขั้นตอนการอนุรักษ์ที่ถูกต้องจากทางญี่ปุ่น” อำพล สัมมาวุฒธิ อดีตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่างศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าว
ภาพไก่แบบจีนหรือแบบญี่ปุ่น : จุดพลิกผันของโครงการอนุรักษ์
อำพลเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่ร่วมเดินทางไปกับ พระวิชรธรรมเมธี ซึ่งปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสและเลขานุการ วัดราชประดิษฐ์ ในการนำบานไม้ประดับมุก 2 บานไปที่สถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ.2556 เพื่อศึกษารายละเอียดส่วนประกอบของศิลปวัตถุและแนวทางการอนุรักษ์
“ตามพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 มีบันทึกไว้ไม่กี่บรรทัดว่า การที่ปลูกสร้างทุกสิ่งทุกอย่างของวัดนั้นรัชกาลที่ 4 ทรงกะเองทั้งหมด เช่น บานหน้าต่างข้างนอกโปรดลายสลักบานประตูวัดสุทัศน์ และหลังบานโปรดลายญี่ปุ่นแบบวัดนางชี พระองค์จึงทรงรับสั่งให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (จ๋อง) ให้จัดหางานศิลปะญี่ปุ่นดังกล่าวมาให้ แต่ไม่มีรายละเอียดอะไรเพิ่มเติม เมื่อเรานำงานบางส่วนไปที่ญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อปี 2556 ทางญี่ปุ่นบอกว่าไม่น่าจะใช่งานของญี่ปุ่น เขาบอกว่ารูปไก่ที่ปรากฏในบานไม้เป็นไก่ลักษณะแบบจีนไม่ใช่ไก่แบบญี่ปุ่น เราก็ตกใจและคอตกเลยว่าเราไปผิดประเทศจริงหรือ” พระวิชรธรรมเมธี เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น
พระวิชรธรรมเมธีกล่าวเพิ่มเติมว่าในตอนนั้นรู้สึกสับสนมาก แต่เหมือนมีอะไรดลใจให้ก่อนกลับเมืองไทยได้ไปแวะชมพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งและในห้องจัดแสดงห้องหนึ่งมีภาพวาดขนาดใหญ่รูปสัตว์ปีกจำนวนหนึ่ง และหนึ่งในนั้นมีรูปไก่ที่มีลักษณะคล้ายกับรูปไก่ในบานประดับมุกของวัดราชประดิษฐ์
“อาตมาอยู่วัดราชประดิษฐ์มาตั้งแต่เป็นเณรและเห็นรูปไก่แบบนี้มาเป็นเวลานาน เมื่อดูภาพวาดในพิพิธภัณฑ์มีคำบรรยายภาษาอังกฤษเขียนว่าเป็นภาพที่วาดโดยพระภิกษุที่เมืองนางาซากิใน พ.ศ.ที่ตรงกับช่วงรัชกาลที่ 4 เราจึงขอให้ทางญี่ปุ่นช่วยศึกษางานของเราใหม่ หลังจากนั้นเป็นเวลากว่า 1 ปีเราก็ได้รับคำตอบกลับมาว่าเป็นงานที่ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากจีน ต่อมาจึงเกิดความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างกรมศิลปากรและสถาบันฯ ของญี่ปุ่น ถ้าวันนั้นเราไม่ได้ไปพิพิธภัณฑ์ ไก่นั้นก็คงถูกเข้าใจว่าเป็นไก่จีนและไม่ได้มีการอนุรักษ์ เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เทวดาจัดสรร”
โยชิฮิโกะ ยามาชิตะ (Yoshihiko Yamashita) ผู้เชี่ยวชาญด้านงานไม้ของญี่ปุ่นกล่าวว่าลายประดับมุกด้วยหอยเปลือกบางเป็นที่นิยมในสมัยเอโดะซึ่งตรงกับช่วงรัชกาลที่ 3-4 โดยเปลือกหอยบางนอกจากมีที่ญี่ปุ่นแล้วคาดว่ามีการนำเข้ามาจากจีนและคาบสมุทรเกาหลี ส่วนการระบายสีด้านหลังเปลือกหอยน่าจะใช้สีจากพืชมากกว่าจากแร่ธาตุ
“จากการศึกษาวิจัยพบว่าบานไม้ที่ วัดราชประดิษฐ์ เป็นไม้สนของญี่ปุ่นและใช้ยางรักของญี่ปุ่น ส่วนบานไม้ประดับมุกที่วัดนางชีนั้นมีอายุเก่ากว่าของวัดราชประดิษฐ์เล็กน้อย เพราะเปลือกหอยที่ใช้บางกว่าและมีการปิดซ้อนทับกันด้วย แต่ลายนกและลายผิวน้ำมีความคล้ายกันมากโดยเฉพาะเทคนิคการใช้เปลือกหอยเส้นยาวทำเป็นรูปสายน้ำ เทคนิคงานประดับมุกแบบนี้คล้ายกับงานช่างฝีมือของเมืองนางาซากิ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนในขณะนี้ว่าใช่หรือไม่ ต้องใช้เวลาศึกษาและตรวจสอบ” ยามาชิตะกล่าวพร้อมกับได้ส่งมอบบานไม้ประดับมุกและแผ่นไม้ประดับรักลายนูนจำนวน2 ชิ้นที่ได้รับการอนุรักษ์แล้วในญี่ปุ่นให้กับทางวัดเมื่อเดือนมีนาคม 2566
งานศิลปะที่สั่งทำเป็นพิเศษจากญี่ปุ่นเพื่อวัดโดยเฉพาะ
พระวิชรธรรมเมธีกล่าวเสริมว่าจากการศึกษาพบว่างานประดับมุกของวัดนางชีนั้นเป็นงานที่มีอยู่แล้วและนำมาปะเข้ากับบานไม้เดิม แต่ของวัดราชประดิษฐ์มีขนาดที่พอดีกับบานหน้าต่างและบานประตูจึงเป็นงานที่สั่งทำสำหรับวัดโดยเฉพาะซึ่งโดยปกติแล้วงานสั่งทำจำนวนมากขนาดนี้มักมาจากทางประเทศในแถบยุโรปมากกว่าทางเอเชีย
โยโกะ ฟูตะกามิ (Yoko Futagami) นักวิจัยจากสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ให้ความเห็นว่าเทคนิคการประดับมุกแบบนี้เมื่อ 150 ปีที่แล้วถือว่าเป็นเทคนิคที่ใหม่มากในยุคนั้นและลวดลายสะท้อนอิทธิพลของวัฒนธรรมจีน
“แผ่นไม้รักลายนูนสีแดงที่ติดตรงกลางบานหน้าต่างมีรูปของนักปราชญ์จีนหลายท่าน เช่น นักกวีนาม Lin Bu เพื่อสื่อถึงความเฉลียวฉลาดและความกตัญญู และมีลวดลายที่มักพบในวัดและศาลเจ้าในสมัยเอโดะ นอกจากนี้ยังมีภาพเครื่องดนตรีคล้ายพิณของจีนและญี่ปุ่น หากมองดูรวมๆ แล้วลวดลายคล้ายแบบจีน แต่ถ้าลงไปในรายละเอียดจริงๆ จะมีความเป็นญี่ปุ่น เชื่อว่าคนเขียนเป็นชาวญี่ปุ่นและเมื่อได้รับออร์เดอร์จากทางวัดราชประดิษฐ์จึงเขียนลายที่นิยมใช้ในวัดและศาลเจ้าในสมัยเอโดะ
“จากการศึกษายังพบว่าบานหน้าต่างคู่หนึ่งมีภาพแตกต่างกันและไม่ต่อเนื่อง คาดว่าเพราะเป็นออเดอร์ชุดใหญ่จึงมีการส่งให้ช่างทำหลายเจ้า แต่มั่นใจว่าทั้งหมดทำที่ญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญได้ใช้กล้องไมโครสโกปส่องเนื้อไม้แล้วยืนยันว่าเป็นไม้สนในญี่ปุ่นที่ไม่มีที่ไหนปลูก ส่วนยางรักมีหลักฐานยืนยันว่าเป็นยางที่กรีดจากต้นรักในญี่ปุ่น”
จัดสร้างห้องปฏิบัติการอนุรักษ์ภายในวัด
เมื่อเกิดสัญญาความร่วมมือด้านการวิจัยเพื่ออนุรักษ์ระหว่างกรมศิลปากรกับสถาบันฯ ของญี่ปุ่น ทางวัดราชประดิษฐ์ได้ส่งตัวแทนจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกรมศิลปากร ประกอบด้วย กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสำนักช่างสิบหมู่ รวมถึงตัวแทนจากโรงเรียนช่างฝีมือในวัง เดินทางไปฝึกอบรมการอนุรักษ์บานไม้ประดับที่ญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ.2557 ซึ่งถือเป็นระยะที่ 2 ของโครงการ
สรรินทร์ จรัลนภา นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการของกรมศิลปากร เป็นหนึ่งในตัวแทนที่เข้าร่วมในการอบรมครั้งนั้นและกลับมาถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้ให้กับนักอนุรักษ์ในโครงการพร้อมทั้งได้ปรับปรุงพื้นที่บริเวณชั้น 1 ของอาคารเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในบริเวณวัดให้เป็นห้องปฏิบัติการอนุรักษ์เมื่อกลางปี 2564 โครงการระยะที่ 3 จึงเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2568 โดยมีเป้าหมายอนุรักษ์ซ่อมแซมบานไม้ประดับมุกและแผ่นไม้ประดับรักลายนูนในส่วนที่ชำรุดและเสื่อมสภาพจำนวน 94 ชิ้น
“งาน 1 ชิ้นใช้เวลาประมาณ 5 เดือน บานไม้หน้าต่างและบานประตูมีการใช้งานจริงทำให้เกิดแรงกระแทกเมื่อเปิดปิดและชิ้นงานแตก ขอบหน้าต่างและประตูเป็นไม้สัก แต่บานไม้ประดับมุกเป็นไม้สนทำให้การหดตัวและขยายตัวไม่สัมพันธ์กัน อีกอย่างคือไม้สนเป็นไม้ที่ปลวกชอบจึงเกิดการเสียหายได้ง่าย เปลือกหอยและยางรักบางมากทำให้เกิดการหลุดล่อนเป็นแผ่น การซ่อมเริ่มจากชิ้นงานที่อาการไม่หนักมากก่อนและค่อยไปดูแลคนไข้อาการหนักเมื่อเรามีความเชี่ยวชาญมากขึ้น” สรรินทร์กล่าวถึงความเสียหายของชิ้นงาน
ในขั้นตอนการอนุรักษ์ สรรินทร์กล่าวว่าขั้นตอนแรกก็ไม่ง่ายเลย เริ่มจากการถอดบานไม้ประดับมุกและบานไม้รักลายนูนโดยเจ้าหน้าที่สำนักช่างสิบหมู่และกลุ่มวิทยาศาสตร์ฯ และพบว่าเมื่อถอดตะปูเกลียวที่ยึดติดทั้งสี่มุมแล้วก็ยังไม่สามารถนำออกมาได้จนต้องใช้เครื่องสแกนโลหะผ่านผิวหน้าตรวจหาตำแหน่งของโลหะที่ฝังอยู่ใต้ผิวงาน หลังจากนั้นเป็นการทำบันทึกและเช็กสภาพว่าแต่ละชิ้นมีความเสียหายตรงจุดไหนบ้างก่อนนำไปอบกำจัดแมลงด้วยก๊าซไนโตรเจนเป็นเวลา 1 เดือน
“ขั้นตอนการทำความสะอาดพื้นผิวใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน เราพบว่าบางชิ้นมีการซ่อมด้วยการทาแล็กเกอร์ลงไปด้วยความไม่รู้ ทำให้สีเปลือกมุกเป็นสีน้ำตาล ชิ้นไหนที่เสื่อมสภาพมากเช่นเปลือกหอยแตกเราก็ผนึกด้วยกาวหนังสัตว์ แต่ถ้าเปลือกหอยหายไปเลยเราไม่มีการเติม แต่ถมด้วยรักแทน ในการซ่อมต้องใช้ยางรักและผงไม้ของญี่ปุ่น เพราะมีความยืดหยุ่นมากกว่า หลังจากนั้นจึงมีการเคลือบพื้นผิวด้วยยางรักญี่ปุ่น” สรรินทร์อธิบาย
โครงการ อนุรักษ์บานไม้ประดับมุก ศิลปะญี่ปุ่นและแผ่นไม้ประดับรักลายนูนของวัดราชประดิษฐ์นับเป็นโครงการที่ใช้สหวิชาตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ สำนักช่างสิบหมู่ สำนักพิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุ และสำนักหอสมุด และถือเป็นองค์ความรู้ที่จะเป็นต้นแบบสำหรับงานอนุรักษ์อื่น ต่อไป
ผู้ที่ประสงค์สนับสนุนโครงการอนุรักษ์งานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นสามารถบริจาคได้ที่ บัญชีธนาคาร กรุงเทพ ชื่อบัญชี “โครงการ อนุรักษ์บานไม้ประดับมุก ศิลปะญี่ปุ่นวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม” เลขที่ 111-4-28958-8
Fact File
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหารที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี 2407 และแล้วเสร็จในอีก 9 เดือนต่อมา โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นวัดสำหรับพระสงฆ์คณะธรรมยุตินิกาย เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุติการาม” เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้เปลี่ยนเป็น “วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม” เพื่อให้เหมาะสมกับเป็นที่ประดิษฐานหลักศิลาซึ่งเป็นสีมามีจารึกคาถาบาลี และภาษาไทย ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์รวม 10 หลัก
รัชกาลที่ 4 ได้กำหนดขนาดพื้นที่ ผังอาคาร รูปแบบสถาปัตยกรรม รูปเคารพ และการประดับตกแต่งด้วยพระองค์เองและโครงร่างนี้ส่งต่อให้รัชกาลที่ 5 พระราชโอรสผู้ครองราชย์ต่อมาทรงสานต่อจนเสร็จสมบูรณ์ ในหนังสือราชประดิษฐพิพิธทรรศนา โดย พิชญา สุ่มจินดา ได้ตีพิมพ์พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ระบุเกี่ยวกับการสร้างวัดราชประดิษฐ์ของรัชกาลที่ 4 ในใจความตอนหนึ่งว่า
“การที่ปลูกสร้างทุกสิ่งทุกอย่างทรงกะเองหมดทั้งนั้น เสดจทอดพระเนตรการเสมอทุกวันไม่ได้ขาด จนการก่อสร้างล่วงไปได้เปนอันมากยังอยู่แต่การช่าง ถึงดังนั้นก็ได้ทรงกะแล้วทุกอย่าง คือ บานหน้าต่างข้างนอกโปรดลายสลักบานประตูวัดสุทัศน์ หลังบานโปรดลายญี่ปุ่นวัดนางชี ท่านก็ทรงสั่ง พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (จ๋อง) ให้ทำมา ลายเพดานโปรดอย่างวัดราชประดิษฐโบราณ และวัดสุวรรณดาราราม แต่ดาวอย่างวัดสุวรรณฯ รับสั่งว่าเปนเกือกพวงไป ทรงแก้ไขใหม่ให้เปนอย่างเช่นติดอยู่ที่วัดราชประดิษฐเดี๋ยวนี้ ลายเขียนผนังทรงพระราชดำริเอง เปนเทพชุมนุม ซึ่งเทวดามีรัศมีเปนพวกๆครั้งแรก ซึ่งวัดอื่นเอาอย่าง ดังนั้น การอันใดได้ทรงพระราชดำริตลอดทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ได้เว้นเลยเม้แต่สักสิ่งเดียว”