เบื้องหลังแผนอนุรักษ์ งานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น สกุลช่างนางาซากิ วัดราชประดิษฐฯ
- ประเทศไทยมี งานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ซุกซ่อนอยู่ เป็นบานประตูหน้าต่างประดับมุกอายุกว่า 156 ปี มากถึง 114 ชิ้น ในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
- ความโดดเด่นของงานประดับมุกสกุลช่างนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น คือการทำมุกให้บาง 0.07-0.08 มิลลิเมตร มีการลงสีที่ด้านหลัง และโปรยผงเงิน ผงทอง
“บานประตูประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นที่วัดราชประดิษฐฯ นี้ เป็นงานศิลปะชั้นเยี่ยม มีอายุที่ชัดเจนด้วยหลักฐาน ทางญี่ปุ่นเพิ่งจะแจ้งมาไม่นานนี้ว่าได้นำ งานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ที่วัดราชประดิษฐฯ นี้ไปเป็นตัวกำหนดอายุ งานประดับมุก ที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งประเทศ”
งานประดับมุก เป็นหนึ่งในแขนงงานช่างที่ขึ้นชื่อของไทยมาแต่โบราณ และหลายคนก็อาจจะเคยเห็น งานประดับมุก จนชินตา ไม่ว่าจะเป็นพุทธศิลป์ เครื่องเรือน จานชาม แต่ทราบหรือไม่ว่านอกจากประเทศไทยแล้วในเอเชียยังมีจีน เวียดนาม เมียนมา ลาว ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่โด่งดังเรื่องงานประดับมุกเช่นกัน และก็แทบไม่น่าเชื่ออีกว่าประเทศไทยจะมี งานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ซุกซ่อนอยู่ เป็นบานประตูหน้าต่างประดับมุกอายุเก่าแก่กว่า 156 ปี และมีจำนวนมากถึง 114 ชิ้น ประดับอยู่ในพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร หรือ วัดราชประดิษฐฯ ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงพระและเณรผู้ปิด เปิดพระวิหารเท่านั้นที่มีโอกาสได้เห็นความงามของงานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นเหล่านี้
ความบังเอิญในดวงตาไก่ สู่การทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ตัวตน
ย้อนกลับไปราวปีพ.ศ. 2555 ทางวัดราชประดิษฐฯ นำโดย พระครูอุทิจยานุสาสน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐฯ เริ่มมองเห็นถึงความทรุดโทรมของงานไม้ประดับมุกซึ่งถูกตรึงอยู่กับบานประตู หน้าต่างของพระวิหารหลวง จึงมีความคิดที่จะซ่อมแซมอนุรักษ์แต่ด้วยทางวัดไม่ได้มีความชำนาญในด้านศิลปะ งานช่าง จึงต้องมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย
“พระครูต้น (พระครูอุทิจยานุสาสน์) ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ซึ่งตอนแรกก็มีการสงสัยกันว่าอาจจะเป็นงานประดับมุกของช่างเวียดนาม เพราะที่เมืองเก่าอย่างเว้ก็มีงานประดับมุกอยู่เยอะ แต่ก็มาสะดุดกับงานประดับมุกที่เป็นภาพวิถีชีวิตซึ่งมีลักษณะการแต่งกายคล้ายกับชาวญี่ปุ่นจึงสอบถามไปทางสถานทูตญี่ปุ่น และก็ต้องถือว่าเป็นโชคดีที่ในช่วงนั้นกรมศิลปากรของไทยกับทางประเทศญี่ปุ่นมีการทำข้อตกลงร่วมกันในการดูแลศิลปวัฒนธรรม ทางกรมศิลปากรจึงได้พาผู้เชี่ยวชาญด้านมุกคือ อาจารย์ยามาชิตะ และผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยคือ คุณโยโกะ ฟูตากามิ มาดูงานประดับมุกที่วัด อาจารย์ยามาชิตะเห็นก็ตกใจ ไม่นึกว่าจะมีงานญี่ปุ่นที่นี่”
พระมหาอนุลักษ์ชุตินนฺโท หนึ่งในคณะทำงานอนุรักษ์บานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่ความร่วมมือระหว่างสองประเทศ แต่การมาดูแค่ครั้งแรกของผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคนยังไม่ได้นำไปสู่การอนุรักษ์ซ่อมแซมในทันที พระครูอุทิจยานุสาสน์เสริมว่าขั้นตอนต่อมาซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งก็คือ การพิสูจน์ว่างานประดับมุกและแผ่นไม้ประดับรักลายนูนรวมทั้ง 114 ชิ้นนี้เป็นฝีมือของช่างชาวญี่ปุ่นจริงๆ
“การประชุมครั้งแรกเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น ทางเราส่งตัวอย่างรูปถ่ายบานไม้ประดับมุกไปให้ และทางญี่ปุ่นก็ทำการศึกษาและมาประชุมร่วมกัน ในบรรดารูปที่ส่งไปก็มีลายสัตว์ปีกต่างๆ ดอกไม้ วิถีชีวิต ซึ่งผลออกมาตรงกันข้ามกับที่ทางคณะทำงานคาดหวังไว้ ผู้เชี่ยวชาญทางญี่ปุ่นบอกกับเราว่าลูกตาไก่ในลักษณะนี้ไม่ใช่งานช่างญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นจะไม่เขียนลูกตาไก่เฉียงลักษณะนี้ ไก่แบบนี้น่าจะเป็นของประเทศจีน อาตมาเข้าที่ประชุมก็รับฟัง แต่คณะทำงานเราไม่มีความรู้เรื่องงานมุกญี่ปุ่นอย่างถ่องแท้จึงไม่สามารถค้านหรือแสดงความคิดเห็นอะไรได้
“ณ ขณะนั้นหลังจากเลิกประชุม ทางผู้ที่ดูแลคือคุณโยโกะบอกว่าเราเหลือเวลาไม่ถึง 15 นาทีพิพิธภัณฑ์จะปิด ทางเราจะเข้าไปชมไหม ตอนนั้นคือห่อเหี่ยวใจแล้วว่าเรามาถึงที่ แต่เขาก็พูดกึ่งปฏิเสธว่าเหมือนจะไม่ใช่งานญี่ปุ่น เราก็เดินไปในพิพิธภัณฑ์อย่างไม่ค่อยสบายใจเท่าไรนัก พอดีสุดสายตามีห้องหัวมุม อาตมามีความรู้สึกว่าอยากเดินไปดู ตอนนั้นมีทีมจากทางกรมศิลปากรก็เดินไปด้วยกัน เดินไปถึงห้องนั้นก็รู้สึกตกใจเพราะมีฉากภาพวาดฉากใหญ่มากเป็นภาพพื้นสีขาวแล้วก็มีสัตว์ปีกเหมือนที่วัดเรา มีนกกระเรียน นก และที่สำคัญคือมีไก่ เราก็ตรงไปที่ไก่เลย…
“มันก็เหมือนไก่ที่เป็นงานประดับมุกในวัดเราเลย โดยเฉพาะลูกตาซึ่งถกเถียงกันในที่ประชุม อาตมาก็เปิดรูปในโทรศัพท์มือถือเพื่อเทียบ ลูกตาก็เหมือนไก่บนบานประตูประดับมุกของเรา อาตมาจึงมองไปที่คำบรรยายเล็กๆ ใต้ภาพ เขาบอกว่าภาพนี้วาดโดยพระที่เมืองนางาซากิในช่วงระยะเวลาซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 อาตมาก็ตกใจเรียกเจ้าหน้าที่กรมศิลป์ว่ามันอย่างไรเรียกคุณโยโกะมาด้วย เพราะข้อมูลที่ทางเรามีเบื้องต้นคือบานไม้ประดับมุกที่วัดราชประดิษฐฯ นั้นรัชกาลที่ 4 ทรงสั่งทำจากเมืองนางาซากิ คำถามแรกคือไหนว่าไก่นี้ไม่ใช่ไก่ญี่ปุ่นไง ทำไมคนญี่ปุ่นถึงได้วาดไก่แบบนี้ คุณโยโกะเองก็ตกใจเหมือนกันเธอก็รีบถ่ายรูปแล้วก็ส่งเข้าที่ประชุมอีกครั้ง ส่วนตัวอาตมาคิดว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ เพราะภาพนี้เป็นชิ้นงานของนิทรรศการหมุนเวียน และบังเอิญว่ามาหมุนเวียนจัดแสดงช่วงที่พวกเราไปประชุมพอดี”
หลังจากจากนั้นไม่กี่เดือนทางญี่ปุ่นก็แจ้งกลับมาว่า สันนิษฐานว่างานบานไม้ประดับมุกของวัดราชประดิษฐฯ เป็นงานจากช่างมุกแห่งเมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่นจริงซึ่งในช่วงนั้นงานประดับมุกของนางาซากิที่เป็นเมืองท่าสำคัญ น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน
ความโดดเด่นของงานประดับมุก สกุลช่างนางาซากิ
“งานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นชุดนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะในเมืองไทยเองงานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นเท่าที่ปรากฏก็มีแค่ที่วัดราชประดิษฐฯ วัดนางชี พระนครคีรีจังหวัดเพชรบุรี และลับแลที่พระราชวังบางปะอิน อีกทั้งเทคนิคการทำมุกแบบนี้ก็ปรากฏอยู่แค่บางเมืองในญี่ปุ่น ไม่ได้เป็นงานศิลปะที่แพร่หลายไปทั่วประเทศโดยเทคนิคประดับมุกแบบนี้ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ราวๆ ประมาณช่วงรัชกาลที่ 5และหลังจากที่ญี่ปุ่นมีการปิดประเทศเพราะสงคราม งานประดับมุกแบบนี้ก็เหมือนจะสิ้นสุดลงไปในช่วงนั้น”
ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงความสำคัญของ งานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ที่มีทั้งบานประตูและหน้าต่าง โดยถ้าย้อนประวัติศาสตร์งานประดับมุกจะพบว่าเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของเมืองนางาซากิ โดยเฉพาะในฝั่งยุโรปมีการค้าขายงานประดับมุกผ่านบริษัทการค้าของฮอลันดา
“งานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นชุดนี้เป็นงานในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยทรงสั่งตรงจากญี่ปุ่น สันนิษฐานว่ารัชกาลที่ 4 ทรงเห็นงานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นแบบนี้ที่วัดนางชี ซึ่งมีมาก่อน เป็นเทคนิคเดียวกันคือการทำมุกบางและเขียนสี พระองค์จึงรับสั่งให้ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (จ๋อง) ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการในราชสำนัก เป็นกรมท่าซ้ายดูแลการค้าซีกของจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เข้าใจว่าพระยาโชฎึกราชเศรษฐีไปเห็นงานมุกเข้าก็เลยสั่งมาที่วัดนางชี ส่วนที่วัดราชประดิษฐฯ แตกต่างตรงที่เป็นงานสั่งมาเฉพาะ กำหนดขนาดว่าจะติดตั้งที่บานประตู หน้าต่าง ส่วนที่วัดนางชีนั้นสันนิษฐานว่าเดิมเป็นบานลับแลและนำมาแปลงติดเข้าที่ประตูหน้าต่าง จึงถือว่างานประดับมุกวัดราชประดิษฐฯ เป็นชิ้นงานที่มีความพิเศษมาก”
ด้านพระครูอุทิจยานุสาสน์กล่าวเสริมและบอกว่าแม้ตอนนี้ยังค้นไม่เจอหลักฐานว่าบานประตูมุกชุดนี้เดินทางมาไทยอย่างไร วันไหน และเดินทางนานกี่วัน แต่หลักฐานสำคัญในการกำหนดอายุงานชุดนี้คือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงนิพนธ์เอาไว้ว่าบานประตูมุกชุดนี้นี้ท่านพระยาโชฎึกราชเศรษฐีสั่งมาตรงกับ พ.ศ. 2408 และนั่นทำให้ทางญี่ปุ่นแจ้งมาว่าได้นำศิลปะมุกชุดวัดราชประดิษฐฯ ซึ่งมีหลักฐานบอกอายุที่ชัดเจนมาเป็นตัวกำหนดอายุงานประดับมุกที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งประเทศ เพราะงานประดับมุกฝีมือช่างโบราณของญี่ปุ่นโดยเฉพาะสกุลช่างนางาซากินั้นเสียหาย และสูญหายจากผลกระทบของสงครามไปจำนวนมาก อีกทั้งงานประดับมุกที่วัดราชประดิษฐฯ ถือเป็นลอตใหญ่มากที่ไม่คิดว่าจะมาอยู่ที่เมืองไทย เพราะงานมุกของนางาซากิส่วนใหญ่ถูกส่งไปขายยังยุโรป เป็นข้าวของเครื่องใช้ แต่ก็ไม่ได้เป็นงานชิ้นใหญ่อย่างบานประตูหน้าต่างที่สั่งทำจำเพาะขึ้น
สำหรับความโดดเด่นของงานประดับมุกจากนางาซากินี้พระมหาอนุลักษ์ชุตินนฺโทบอกว่าแค่วัสดุที่ใช้ก็ต่างจากงานมุกไทย เช่น ใช้เปลือกหอยเป๋าฮื้อมาทำมุก กาวจากหนังวัว ต่างจากแถบไทย เมียนมา เวียดนาม ที่ใช้หนังควาย ด้าน ธนาวัฒน์ ตราชูชาติ หัวหน้ากลุ่มงานช่างหุ่น ช่างปั้นลาย และช่างมุก สำนักงานช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่าแตกต่างจากไทย โดยงานประดับมุกของไทยจะใช้เปลือกหอยที่มีความหนา ส่วนที่นางาซากิจะใช้เทคนิคทำให้เปลือกหอยบางราว 0.07-0.08 มิลลิเมตรเมื่อเปลือกหอยบางได้ที่จะเกิดความโปร่งแสงก็จะสามารถระบายสีด้านล่างขึ้นมาสีก็จะสามารถสะท้อนเกิดความสวยงาม อีกทั้งใช้ผงเงิน ผงทองมาบดและโรยลงไปเพื่อให้เกิดความแวววาวสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการกรีดให้เป็นเส้นลวดลายลงบนเปลือกหอย ส่วนเรื่องราวก็จะเน้นไปที่ทิวทัศน์ ภาพวิถีชีวิต มีดอกไม้ สัตว์มงคลอยู่บ้าง เป็นภาพเหมือนจริง ซึ่งต่างอย่างชัดเจนกับงานประดับมุกของไทยที่เน้นงานอุดมคติหรือเหนือจริง เน้นวาดลวดลายไทย เช่นที่นิยมคือ ลายกนก พุดตาล ใบเทศ
“เหตุที่งานของญี่ปุ่นบางมากส่วนหนึ่งมาจากฟังก์ชันการใช้งาน งานประดับมุกของญี่ปุ่นมักจะทำเป็นภาชนะข้าวของเครื่องใช้ ส่วนของไทยจะเน้นประดับอาคาร ผนัง ประตู หน้าต่าง ดังนั้นจึงต้องใช้เปลือกหอยที่มีความแข็งแรงมากว่า เป็นมุกที่ต้องหนา จะมีที่คล้ายกับงานมุกไทยคืองานมุกเวียดนามแต่เขาจะใช้มุกคนละแบบกับเรา
“ด้านเทคนิคโรยผงเงิน ผงทอง ทางญี่ปุ่นใช้ทองคำเปลว ทองคำแท่งมาบดเป็นผง ซึ่งเทคนิคแบบนี้จะไม่เจอในมุกไทย ตัวลวดลายบอกชัดเจนถึงสภาพแวดล้อมของเมืองที่เป็นที่อยู่ของช่างนั่นก็คือเมืองท่าชายทะเลนางาซากิ บนหน้าต่างแต่ละบานก็จะมีรูปบ้านเรือนริมทะเล วิถีชีวิตชาวประมง การเดินเรือ ชาวบ้านที่ใส่ชุดญี่ปุ่น บ้านเรือนในยุคนั้นซึ่งมีอยู่จริง และถ้าสังเกตดีๆ หน้าตาของแต่ละคนจะมีคิ้ว ตา วาดลงไป เรียกว่าผสมทั้งงานมุกและจิตรกรรม ส่วนด้านบนของแต่ละบานจะเป็นนกกระเรียน ดอกไม้ มีนกแปลกๆ มีไก่ ส่วนตรงกลางของหน้าต่างแต่ละบานเป็นภาพบนรัก เป็นศิลปะแบบรักลายนูนซึ่งได้สั่งทำมาพร้อมบานมุกก็จะเป็นภาพสิ่งมงคลต่างๆ”
และในฐานะที่ธนาวัฒน์รับราชการทำงานด้านช่างมานานถึง 24 ปี ผ่านงานอนุรักษ์มุกไทยมามากมาย ต่อเมื่อถามถึงภาพไฮไลต์ที่เป็นที่สุดของงานประดับมุกทั้ง 114 ชิ้น ธนาวัฒน์พาเราเดินตรงไปที่บานประตู
“ภาพมาสเตอร์สำหรับผมยกให้บานประตู เป็นภาพที่ถ้ามองขึ้นไปเป็นลักษณะที่สมบูรณ์มากๆ เป็นต้นสน ใบสน เป็นพุ่ม เป็นชั้น เหมือนต้นสนจริงๆ มาก อีกทั้งช่างได้กรีดเส้นเล็กๆ เป็นใบสนลงบนมุก ถือเป็นชิ้นงานที่ละเอียดมากๆ”
มากกว่างานช่างคือวิทยาศาสตร์การอนุรักษ์
เนื่องจากงานประดับมุกชุดนี้เป็นศิลปะญี่ปุ่นที่ไม่ได้แพร่หลายในไทย อีกทั้งกลุ่มอนุรักษ์ของไทยเองก็ยังไม่เคยทำงานอนุรักษ์มุกญี่ปุ่นมาก่อน โปรเจกต์ครั้งนี้จึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมศิลปากร กับสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (Tokyo National Research Institute for Cultural Properties:TNRICP) โดยในระยะที่ 1 ได้นำตัวอย่างบานไม้ประดับมุกออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปศึกษารายละเอียดส่วนประกอบของศิลปวัตถุชิ้นนั้น ณ สถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ต่อมาใน ระยะที่ 2 เป็นการส่งตัวแทนจากกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและสำนักช่างสิบหมู่รวมถึงตัวแทนจากโรงเรียนช่างฝีมือในวัง ไปร่วมศึกษาแนวทางการอนุรักษ์ ณ สถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นและตอนนี้เข้าสู่ระยะที่ 3 คือขั้นตอนการอนุรักษ์ซึ่งเริ่มจาก พ.ศ.2564-2568
“การอนุรักษ์ชิ้นงานนี้ถือว่าสำคัญมาก เราไม่ค่อยได้เจอบ่อยครั้ง ในชีวิตการทำงานอนุรักษ์มา 10 ปี ผมเองยังไม่เคยเจองานอนุรักษ์มุกญี่ปุ่นซึ่งต่างจากการอนุรักษ์มุกไทย วิธีการซ่อมแซมจึงต้องทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์งานมุกจากญี่ปุ่น อีกทั้งบานไม้ประดับมุกเหล่านี้มีสภาพค่อนข้างทรุดโทรมและชำรุดมาก ในเชิงวิทยาศาสตร์ความท้าทายของการอนุรักษ์ครั้งนี้คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นมุกญี่ปุ่นจริงๆ หรือเปล่าซึ่งทางทีมญี่ปุ่นเขาไม่ได้ดูแค่เชิงช่างหรือศิลปะ แต่เขาต้องตรวจสอบให้แน่ชัดไปถึงองค์ประกอบทางเคมี แร่ธาตุที่อยู่ในเนื้อไม้ว่าเป็นไม้สนของญี่ปุ่นจริงๆ
“ส่วนในเชิงอนุรักษ์ นี่คือชิ้นงานนี้ที่มีความเปราะบางมาก แต่ละบานมีวัสดุสามอย่างเป็นอย่างน้อยคือไม้สน ยางรัก และเปลือกหอย วัสดุเหล่านี้มีคุณสมบัติการยืดหดตัวที่แตกต่างกัน เช่น ไม้สนเมื่อมาอยู่ที่บ้านเราซึ่งอุณหภูมิสภาพอากาศไม่เหมือนญี่ปุ่น เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น เดี๋ยวฝน การโก่งตัว การเสื่อมสภาพก็เกิดขึ้น ถ้าเปรียบกับคนไข้ถือว่ามีอาการน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ดังนั้นโจทย์คือจะอนุรักษ์อย่างไรให้คงสภาพที่ดี เราคงไม่สามารถทำให้เรียบอย่างเดิมได้ แต่เราจะคงสภาพวัสดุทั้งหมดอย่างไรให้อยู่ในสภาพที่ดีและสิ่งสำคัญคือทุกชิ้นต้องนำมาติดมาเฉิดฉายอยู่ที่เดิม เราจะติดอย่างไร และรักษาอย่างไรไม่ให้พังหลังผ่านขั้นตอนการอนุรักษ์ไปแล้ว”
สรรินทร์ จรัลนภา นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้ซึ่งร่วมเดินทางไปศึกษาวิจัยร่วมกับทีมนักอนุรักษ์ของญี่ปุ่นชี้ให้เห็นถึงความท้าทายนี้ สรรินทร์กล่าวว่าบานประตูมุกเหล่านี้แม้หลายชิ้นจะดูว่าสวยงามสมบูรณ์ แต่สภาพภายในไม่ต่างจากคนไข้อาการโคม่า
“คนไข้คนนี้ผมมองว่าอาการหนัก แต่ยังต้องกลับมาเฉิดฉายต่อ แม้หน้าตาจะยังสะสวยอยู่ แต่ลึกๆ คือสภาพแย่ บางชิ้นได้ตายไปเรียบร้อยแล้ว ยิ่งชิ้นที่อยู่นิ่งๆ ในมุมเงียบๆ ไม่ได้ใช้งานก็จะถูกปลวกกินด้านในสภาพไม้เปื่อยยุ่ยมาก เรื่องการอนุรักษ์เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของวัสดุศาสตร์ ทุกวัสดุที่ประกอบอยู่มีผลต่อการชำรุดทั้งสิ้น เช่น การหดตัวของไม้สนที่ถูกตรึงกับไม้พื้นของประตูหน้าต่างซึ่งเป็นไม้ต่างชนิดกัน ส่วนนอตที่ตรึงบานไม้เหล่านี้เองก็มีการยืดหดตัวไม่เท่ากัน หากนอตเป็นสนิมเวลาขยายตัวก็ไปดันพื้นไม้หรือมุกให้แตกไปอีก ยิ่งส่งผลให้ชิ้นงานเปราะบางมากขึ้น ที่ผ่านมางานชุดนี้เคยผ่านการซ่อมแซมมาก่อน แต่เป็นการซ่อมที่ไม่ได้มีองค์ความรู้ เช่น ใช้เทปแปะลงไป ใช้กาวทา บางชิ้นนำยางทารักลงไป เติมวัสดุต่างๆ ซึ่งไม่ได้แมตช์กับวัสดุดั้งเดิม ก็จะยิ่งทำให้ชิ้นงานชำรุดมากยิ่งขึ้น”
สำหรับขั้นตอนการอนุรักษ์นั้น เริ่มจาก สำรวจตรวจสภาพ ทำแมปปิ้งหรือ แผนผังการเสื่อมสภาพ เช่น งานชิ้นนี้มีรอยซ่อมตรงไหน ชำรุดตรงไหน ของเดิมคือแบบไหน เพื่อที่จะนำไปวางแผนการอนุรักษ์ หลังจากแผนผังการเสื่อมสภาพแล้วก็สู่ขั้นตอนการทำความสะอาดพื้นผิว กำจัดแมลง ซึ่งก็มีทั้งพื้นผิวภายนอกจากการชำรุดจากการหลุดร่อน ผิวเป็นคลื่น และก็มีการชำรุดจากแสงอัลตราไวโอเลตซึ่งไปทำลายพื้นผิวของมุกทำให้พื้นผิวมุกมีรอยแตกขนาดเล็กที่ตาเปล่ามองไม่เห็น รวมทั้งทำให้พื้นผิวมุกกลายเป็นลักษณะด้านไม่มันวาวอันเกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลตไปทำปฏิกิริยากับพื้นผิว บางแผ่นยางรักมีการแตกลายมาก ดังนั้นขั้นตอนการทำความสะอาดจึงต้องมีการประเมิณและวางแผนอย่างละเอียด เช่น ไม่ใช้สารเคมีที่มีน้ำเป็นส่วนผสม กำจัดแมลงโดยใช้ก๊าซในโตรเจนในถุงสุญญากาศ แม้แต่การเช็ดก็ต้องอาศัยความระมัดระวังและมีน้ำหนักมือที่เท่ากันในการเช็ดทำความสะอาดแต่ละจุด
หลักจากทำความสะอาดจึงเข้าสู่การเสริมความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งสรรินทร์กล่าวว่าเป็นขั้นตอนที่มีความซับซ้อนทั้งเรื่องการใช้วัสดุและสารเคมี เช่น การจะผนึกเปลือกหอยที่หลุดออกมาต้องดูว่าจะใช้ยางรักประเภทไหน หรือกาวประเภทไหน สารเคมี หรือสารทำละลายตัวไหนที่เหมาะสม ซึ่งการจะได้คำตอบนี้ต้องผ่านกระบวนการทดลองในห้องแล็บเพื่อทดสอบผลก่อนที่จะนำมาใช้งานจริง
“งานประดับมุกญี่ปุ่นมีทั้งชั้นพื้น และชั้นรักที่ค่อนข้างบางมาก ชั้นพื้นเป็นวัสดุอีกแบบหนึ่ง ชั้นรักก็เป็นวัสดุอีกแบบ ดังนั้นขั้นตอนอนุรักษ์จึงจำเป็นต้องเลือกกาวให้เหมาะกับวัสดุแต่ละชั้น หรืออย่างพื้นไม้สนญี่ปุ่นที่ถูกแมลงกัดกินชำรุดก็ต้องเลือกวัสดุที่จะใช้อุด เช่น ผงไม้สนจากญี่ปุ่นผสมยางรัก เรียกว่าเป็นการผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตรการอนุรักษ์ในการเลือกสารเคมี เทคนิค และงานทางด้านช่าง”
อย่างที่กล่าวไปว่างานอนุรักษ์ครั้งนี้มีความซับซ้อนและต้องระวังอย่างมาก ทางทีมอนุรักษ์จึงได้สร้างห้องปฏิบัติการขึ้นภายในวัดเพื่อสะดวกแก่การขนย้าย ซึ่งห้องนี้ต้องควบคุมทั้งเรื่องแสง ความชื้น อุณหภูมิที่ไม่ไปทำร้ายชิ้นงาน อีกทั้งตัววัสดุสำหรับบรรจุภัณฑ์ก็ต้องมั่นใจว่าไม่ปล่อยไอระเหยทำร้ายชิ้นงาน ทั้งยังต้องป้องกันแมลงและปลวกได้ เพราะขั้นตอนการอนุรักษ์นั้นจะยาวนานถึง 5 ปี
“ถือว่าเป็นความโชคดีที่เรามีโอกาสได้ทำงานกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ซึ่งเป็นเทคนิคที่แตกต่างกับงานอนุรักษ์ที่เราเคยทำมา นักวิทยาศาสตร์ที่โน่นเขาศึกษาลึกไปถึงเนื้อไม้ เช่นในขั้นตอนการพิสูจน์ว่าเป็นงานประดับมุกของญี่ปุ่นจริงไหมเขาเริ่มวิเคราะห์จากตัวไม้ เพราะไม้สนแบบนี้มีทั้งที่จีนและญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นไม้สนญี่ปุ่นจริงๆ คำตอบจึงต้องดูลึกไปที่ธาตุ โดยเฉพาะธาตุสตรอนเชียม (strontium)เพื่อเช็กไอโซโทป เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ที่ดูว่าต้นสนดูดซับธาตุสตรอนเชียมเท่าไร เพราะญี่ปุ่นมีงานศึกษาวิจัยเลยว่า ต้นสนที่เกิดในญี่ปุ่นจะมีค่าสตรอนเชียมเท่านี้ ส่วนต้นสนที่เกิดในจีนจะมีค่าสตรอนเชียมเท่านี้ ซึ่งผลจากการวิเคราะห์พบว่าไม้สนที่ใช้ในงานบานประตูที่วัดราชประดิษฐฯ มีค่าสปอนเชียมเท่ากับที่ญี่ปุ่น
“หรืออย่างรักก็เช่นกัน ยางรักมีทั้งรักไทย รักญี่ปุ่น รักเมียนมารักเวียดนาม แต่พอใช้วิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบก็ยืนยันชัดเจนว่ารักที่ใช้เป็นรักลูชิโอ ซึ่งเป็นรักของทางญี่ปุ่นจริงๆ นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ศึกษาเรื่องขององค์ประกอบโลหะของสีที่ทาอยู่ที่เปลือกหอย ซึ่งพบว่าสีที่ใช้มีทั้งองค์ประกอบของโลหะและสีที่มาจากกลุ่มพืช ตรงนี้จะทำให้ทีมอนุรักษ์สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับแผนการอนุรักษ์เลือกวัสดุ เคมี สารต่างๆ ที่จะนำมาใช้ได้อย่างถูกต้อง”
วิทยาศาสตร์ไม่เพียงช่วยให้นักอนุรักษ์สามารถวิเคราะห์และวางแผนการทำงานได้ถูกต้องเท่านั้น แต่วิทยาศาสตร์การอนุรักษ์ยังช่วยตอกย้ำถึงความสำคัญของงานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นชุดนี้ที่มากกว่าความสวยงาม ความประณีตของงานช่างและยังบ่งบอกถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
“นอกจากรักญี่ปุ่นแล้วในชิ้นงานชุดนี้มีรักที่มาจากหลากหลายแหล่งที่มา ทั้งรักไทย รักเมียนมารักจีน จึงสันนิษฐานว่างานประดับมุกลอตนี้น่าจะเป็นลอตใหญ่ที่ทางช่างต้องไปกว้านซื้อรักจากหลายที่เพื่อทำงานชิ้นนี้ส่งกลับไทย ถือได้ว่าเป็นสิ่งเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ไทยเรามีความสำคัญที่สามารถสั่งงานชิ้นพิเศษสุด ดีที่สุดจากช่างญี่ปุ่น เมื่อได้มาก็นำมาประดับอยู่ในพระอารามหลวงสำคัญของประเทศ เป็นหน้าเป็นตาทั้งของไทยและญี่ปุ่น จึงสรุปผลว่า บานประตูประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นที่วัดราชประดิษฐฯ นี้ เป็นงานศิลปะชั้นเยี่ยม มีอายุที่ชัดเจนด้วยหลักฐาน ทางญี่ปุ่นเพิ่งจะแจ้งมาไม่นานนี้ว่า ได้นำงานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น ที่วัดราชประดิษฐฯ นี้ไปเป็นตัวกำหนดอายุงานประดับมุกที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งประเทศ”
พระครูอุทิจยานุสาสน์กล่าวทิ้งท้าย ซึ่งในตอนนี้กลางปี พ.ศ. 2564 ทางทีมอนุรักษ์ได้ทยอยถอดงานประดับมุกที่ตรึงกับบานหน้าต่างออกบางส่วน เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการอนุรักษ์ โดยคาดว่าจะทำการถอดส่วนประตูเป็นชิ้นส่วนสุดท้าย เพราะถือเป็นงานขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ความชำนาญอย่างสูง ซึ่งแม้แนวทางการอนุรักษ์จะเป็นการคงสภาพเดิมให้มากที่สุด และไม่สร้างงานชิ้นใหม่ แต่หลังจากผ่านขั้นตอนการอนุรักษ์ ชาวไทยจะได้เห็นสีสัน ลวดลาย ความแวววาว และความประณีตของงานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นที่ถือได้ว่าเป็นชิ้นงานหาชมยากอย่างที่อธิบดีกรมศิลปากรได้กล่าวไว้
“แนวทางหลักสำหรับการอนุรักษ์คือการอนุรักษ์งานฝีมือดั้งเดิมให้มากที่สุด ส่วนที่ชำรุดก็ปรับให้แข็งแรง ไม่มีการเติมเข้าไป ตามที่ได้ศึกษาข้อมูลเราพบว่า งานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น เหลือตัวอย่างเพียงไม่กี่ชิ้น และที่วัดราชประดิษฐฯ ก็ถือว่าเป็นแหล่งใหญ่ของงานประดับมุกศิลปะญี่ปุ่น สกุลช่างนางาซากิ ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด”
Fact File
- กรมศิลปากรมีข้อตกลงตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรกับสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (Tokyo National Research Institute for Cultural Properties:TNRICP) ในการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น จึงได้มีการสำรวจบานไม้ประดับมุกวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร โดยกรมศิลปากรได้ร่วมดำเนินการสำรวจพร้อมกับสถาบันวิจัยฯเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 สิ้นสุดปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
- สำหรับชิ้นงานไม้ประดับมุกศิลปะญี่ปุ่นและแผ่นไม้ประดับรักลายนูนนี้มีทั้งหมด114 ชิ้น แบ่งเป็นประตู และหน้าต่าง โดยในหนึ่งช่องประตูหน้าต่างประกอบด้วยชิ้นงาน 6 ชิ้น คืองานประดับมุก 4 ชิ้น และอีก 2 ชิ้นคืองานรักลายนูน