โมโก รอยสักประวัติศาสตร์ของชนเผาเมารี ที่ปรากฏบนเวทีการเมืองโลก
- นาไนอา มาฮูตา เป็นชาวเผ่าพื้นเมือง ‘เมารี’ คนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศนิวซีแลนด์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี และเป็นคนแรกที่นำ “โมโก” รอยสักเอกลักษณ์ของชนเผ่าเมารี ไปปรากฏบนเวทีโลก
- การสักโมโกเริ่มเจือจางไปโดยเฉพาะในยุคล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก ที่ทำให้แนวคิดเรื่องโมโกกลายเป็นเรื่องลบ แม้กระทั่งในหมู่ลูกหลานชาวเมารี
เมื่อเอ่ยถึงชื่อ นาไนอา มาฮูตา (Nanaia Mahuta) นามนี้อาจไม่เป็นที่คุ้นหูกันมากนัก เพราะเจ้าตัวเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงของนิวซีแลนด์ที่เพิ่งได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งจาก นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในคณะรัฐบาลชุดใหม่ และทันทีที่ภาพของเจ้าตัวปรากฏแผ่หลาอยู่บนสื่อสำนักข่าวต่างๆ ทั่วโลก ก็สามารถตรึงสายตาของผู้ที่พบเห็นได้อย่างไม่ยากเย็น ทั้งนี้สิ่งที่ทำให้ ส.ส. หญิงรายนี้โดดเด่น ไม่เพียงแต่เป็นเพราะ มาฮูตาเป็นชนเผ่าพื้นเมือง เมารี คนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศนิวซีแลนด์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง โมโก (moko) หรือ Tāmoko รอยสักอันเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า เมารี ที่ปรากฏเด่นชัดบนใบหน้าของมาฮูตา
รอยสัก ศรัทธา และรากเหง้า
แม้ว่า โมโก จะเป็นที่รู้จักและเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นในสังคมนิวซีแลนด์ยุคใหม่ที่ผู้คนเติบโต หลอมรวมและใช้ชีวิตอยู่กับชนเผ่าพื้นเมืองมายาวนานหลายสิบปี แต่รอยสักโมโกบนเวทีการเมืองระดับประเทศ ถือเป็นเรื่องที่พบเห็นได้น้อยมาก
เพราะในสายตาของคนทั่วไป ต่อให้เป็น โมโก ก็ยังถือว่าเป็น รอยสัก และรอยสักคือสิ่งต้องห้ามอันเป็นที่รู้กันอย่างไม่เป็นทางการสำหรับผู้ที่จะเข้ามาทำงานบนเวทีการเมืองทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก
เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาพลักษณ์ของการสักที่มักปรากฏคู่กับอาชญากร กลุ่มมิจฉาชีพ ความรุนแรงและยาเสพติดดังนั้น ไม่ว่าเหตุผลแห่งการสักจะดีงามเพียงใด รอยสักที่ปรากฏขึ้นบนร่างกาย ก็มักจะก่อให้เกิดทัศนคติที่ไม่น่าพิสมัยสักเท่าไรนักอย่างไรก็ตาม การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีการต่างประเทศของมาฮูตา ได้จุดประกายความหวังในใจลูกหลานชาวเมารีให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้งในการทำให้ธรรมเนียมการสักโมโกเป็นหนทางที่สร้างสรรค์ในการแสดงออกถึงวัฒนธรรมที่ชาว เมารี ภาคภูมิใจ
โมโก คือ ชีวิต ตัวตน และความเชื่อ
ตามวัฒนธรรมของชาวเผ่าพื้นเมืองเมารี โมโกเปรียบเสมือนตราประทับที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่เชื่อมโยงคนคนหนึ่งกับบรรพบุรุษ หรือแสดงถึงสถานะทางสังคม อาชีพ ประวัติความเป็นมารวมถึงลำดับเครือญาติวงศ์วานของตน
ในกรณีของมาฮูตา รอยสัก โมโก คาอูว์ (MokoKauae) ซึ่งเป็นชื่อเรียกรอยสักโมโกที่สลักอยู่บนบริเวณริมฝีปากและคาง บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของเจัาตัวว่าเป็นเครือญาติกับพระนาง เท อไทแรงกีคาฮู (Te Atairangikaahu) อดีตราชินีเผ่าเมารีผู้ล่วงลับ กับ คิงกี ตูเฮเทีย (Kingi Tuheitia) กษัตริย์ชนเผ่าเมารีองค์ปัจจุบัน โดยลวดลายด้านซ้ายและขวาบนใบหน้าบ่งชี้ถึงสายสัมพันธ์ของฝั่งบิดาและมารดาตามลำดับ
ตำนานที่มาของ โมโก
ทั้งนี้ ธรรมเนียมการสักโมโกของชาวเมารี เชื่อว่ามาจากชื่อของ รูโอว์โมโก (Rūaumoko) เทวีแห่งแผ่นดินไหวและภูเขาไฟของชาวเมารี ขณะที่อีกความเชื่อหนึ่งมาจากตำนานพื้นบ้านที่บอกเล่าเรื่องราวของ มาตาโอโร (Mataoro) ชายชาวมนุษย์ผู้ตกหลุมรักและแต่งงานกับ นิวาเรกา (Niwareka) พระธิดาของผู้ปกครองยมโลก ที่วันหนึ่ง มาตาโอโร เผลอบรรลุแก่โทสะทุบตีทำร้าย นิวาเรกา ซึ่งหลังจากคลายโทสะความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นก็ทำให้มาตาโอโรตัดสินใจไปขอรับโทษจากบิดาของภรรยาที่ยมโลก เจ้าแห่งยมโลกได้สั่งลงโทษมาตาโอโรก่อนยินยอมให้เจ้าตัวกลับไปยังโลกเบื้องบนอีกครั้ง แต่กลับไปคราวนี้ เจ้าแห่งยมโลกได้ทำการสักรอยบนร่างกายของมาตาโอโร หมายเป็นเครื่่องเตือนใจให้เจ้าตัวหลีกเลี่ยงการกระทำอันเลวร้ายในอนาคต
สำหรับการสักและการเฉลิมฉลองโมโกนี้ล้วนเป็นขั้นตอนที่มีระเบียบแบบแผนและธรรมเนียมปฏิบัติมากมาย ซึ่งหลักการสัก ผู้สักต้องกินอาหารจากท่อและงดเว้นจากการปฏิบัติด้านกามกิจและการสัมผัสน้ำใดๆ เป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ โดยผู้ชายส่วนใหญ่จะสักโมโกไว้ที่บริเวณใบหน้า สะโพกและต้นขา ขณะที่ผู้หญิงมักจะสักไว้ที่ริมฝีปากและคาง
แน่นอนว่า บรรดาชนเผ่าพื้นมืองในแถบโพลีนีเซียล้วนมีวัฒนธรรมการวาดหรือสักลวดลายลงบนร่างกายสืบทอดมานานหลายศตวรรษ แต่รอยสักโมโกของชาวเผ่าเมารีได้มีการพัฒนาจนเป็นเอกลักษณ์ ทั้งในแง่ของเทคนิคและเครื่องมือโดยสีที่ใช้ในการสักเป็นสีย้อมที่ได้จากการเผายางไม้จากต้นเคารี (kauri)ผสมกับเม่าและน้ำมันหรือสารเหลวอื่นๆ ก่อนนำไปสลักบนผิวหนังด้วยกระดูกของนกอัลบาทรอสที่ฝนจนแหลมคม โดยเริ่มมีการนำเข็มและเครื่องมือสักสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
การเลือนหายของโมโกและหนทางแห่งโอกาส
วัฒนธรรมการสักโมโกเริ่มเจือจางไปตามกระแสของกาลเวลา โดยเฉพาะในยุคล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก ที่ทำให้แนวคิดเรื่องโมโกกลายเป็นเรื่องลบ แม้กระทั่งในหมู่ลูกหลานชาวเมารี
กระนั้น ในช่วงยุค 1990s และ 2000s ที่การสักเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ทำให้การสักโมโกถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่ง และจุดประกายให้เกิดกระแสการรื้อฟื้นวัฒนธรรม ศิลปะ และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเมารี เพื่อประกาศให้ชาวโลกรับทราบอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มเป็นที่ยอมรับ แต่ก็มีรายงานข่าวประปรายปรากฏให้ได้ยินได้ฟังเสมอว่า มีชาวเผ่าพื้นเมืองในนิวซีแลนด์ได้รับการปฏิเสธไม่ให้เข้าใช้บริการในภัตตาคารหรือบาร์ต่างๆ เพราะมีรอยสักโมโกบนใบหน้า
ดังนั้น การปรากฏตัวของมาฮูตา ในฐานะบุคคลสำคัญทางการเมืองที่มีรอยสัก ‘โมโก’ บนใบหน้าอย่างชัดเจนจึงเป็นโอกาสที่จะให้คนส่วนใหญ่ได้ศึกษาเรียนรู้และเข้าใจการสักโมโก จนนำไปสู่การยอมรับความเป็นชนเผ่าเมารีที่น่าภาคภูมิใจบนเวทีโลก เนื่องด้วยสถานะของมาฮูตาจะสามารถนำพา ‘โมโก’ ไปปรากฏยังสถานที่ที่ลวดลายเหล่านี้ไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้เห็น ทั้งสถานกงสุล สถานทูต ทำเนียบรัฐบาล ตลอดจนสถานที่ราชการต่างๆ ทั่วโลก
นี่เป็นโอกาสที่จะแสดงให้เห็นว่าไม่มีเส้นแบ่งกั้น ‘ความต่าง’ และเป็นความหวังที่จะสะท้อนถึงแนวทางประชาธิปไตยที่จะยอมรับ ‘ความต่าง’ นี้ด้วยความเสมอภาคเท่าเทียม
อ้างอิง
- https://edition.cnn.com/style/article/moko-facial-tattoo-nanaia-mahuta/index.html
- https://www.tepapa.govt.nz/discover-collections/read-watch-play/maori/tamoko-maori-tattoos-history-practice-and-meanings
- https://www.zealandtattoo.co.nz/tattoo-styles/maori-tattoo/#:~:text=The%20Maori%20are%20indigenous%20people,and%20is%20considered%20highly%20sacred.&text=The%20tattooing%20would%20begin%20usually%20during%20adolescence.
- https://www.ancient.eu/article/1393/traditional-maori-tattoo-of-new-zealand/