กลุ่มลูกหว้า : กับปฏิบัติการเปลี่ยนกุฏิหลังเก่า ให้เป็นโรงเรียนช่างสกุลเมืองเพชร
- จากการสำรวจของกลุ่มลูกว่าพบว่าเสาไม้ของศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณารามที่มีลวดลายไทยโบราณนั้นมีอยู่ด้วยกัน 16 ต้น (8 คู่) และมีเสาที่ลวดลายไม่ซ้ำกันอยู่ถึง 12 ต้น
- ด้วยความคิดที่ต้องการอนุรักษ์ศิลปะท้องถิ่น ทางกลุ่มลูกหว้าจึงเริ่มลอกลายจากเสาจริงและนำมาจัดแสดงไว้ที่ หอศิลป์สุวรรณาราม เพื่อจำลองให้เห็นความงดงามของลายฉบับเต็ม
นอกจากพระปรางค์ 5 ยอดแห่งวัดมหาธาตุวรวิหารแล้ว แลนด์มาร์กด้านศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดเพชรบุรีจะขาด วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร ไปเสียไม่ได้ เพราะนอกจากขนบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาที่ยังคงความสมบูรณ์ทั้งพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และหอไตรกลางน้ำแล้ว วัดแห่งนี้ยังได้ซ่อนแกลเลอรีอาร์ตเล็กๆ ฉบับท้องถิ่นเอาไว้ ก่อตั้งโดยเยาวชนคนตัวเล็กๆ ที่พยามช่วยกันรื้อฟื้น ดึงความงามแห่งอดีตกาลของ ช่างสกุลเมืองเพชร ให้กลับมาอยู่ในสปอร์ตไลต์ของปัจจุบันอีกครั้ง
ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม เรือนไม้สองชั้นที่เคยถูกทิ้งร้างมานับสิบปี ค่อย ๆ ได้รับการซ่อมแซมต่อเติม โดยเฉพาะพื้นที่หลังคาที่มีน้ำรั่วซึมจนทำให้ตัวอาคารไม้ทรุดโทรม แต่ด้วยแนวคิดการสร้างพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียนทำให้ กลุ่มลูกหว้า ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่ทำงานขับเคลื่อนงานศิลปวัฒนธรรมของเพชรบุรีมานานับ 10 ปีตัดสินใจขอซ่อมแซมกุฏิเก่าแก่ในวัดใหญ่สุวรรณารามแห่งนี้ให้เป็น หอศิลป์สุวรรณาราม พื้นที่ที่เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ ห้องทดลอง และโรงเรียนช่าง โดยหวังต่อเติมลวดลายของ ช่างสกุลเมืองเพชร ไม่ให้ต้องหายไปกับไทม์ไลน์เวลา เริ่มต้นด้วยการลอกลายไทยโบราณบนเสาศาลาการเปรียญของวัดใหญ่สุวรรณารามที่กำลังจะลบเลือนให้เป็นบันทึกหลักฐานเก็บไว้
ภริตา บุตรเจียมใจ หนึ่งในสมาชิก กลุ่มลูกหว้า ผู้ดูแลพื้นที่กิจกรรมหอศิลป์ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร บอกถึงความมุ่งหวังที่ใช้เวลา 2 ปี กว่าจะลอกลายไทยจากเสร็จทั้งหมด โดยช่วงแรก ๆ ก็ต้องขอความรู้พื้นฐานจากครูช่างประจำถิ่นที่มาสอน ก่อนฝึกฝนทำเองจนสำเร็จเก็บครบทุกลายจากทุกเสา แต่ความยากของการคัดลอกลายคือ บางลายลบเลือนตามกาลเวลา แต่โชคดีที่มีหนังสือหลายเล่มที่เคยบันทึกถ่ายรูปเก็บลวดลายเดิมไว้ ทางกลุ่มเลยพยายามคัดลอกลายจากหนังสือ เพื่อเติมเต็มลายที่ขาดหายไปร่วมด้วย และไม่เพียงแค่การบันทึกลวดลายเพื่อเก็บหลักฐานความเป็นเมืองแห่งสกุลช่างของเพชรบุรีในอดีตเท่านั้น ทางกลุ่มยังได้นำลวดลายจากเหล่านั้นมาต่อยอดสร้างการเรียนรู้ใหม่ นำลวดลายบนเสามาดัดแปลงต่อยอดสู่การรับรับรู้ของนักท่องเที่ยว กลายเป็นกิจกรรมเวิร์คช็อปและของที่ระลึกต่าง ๆ ตอนนี้ทางกลุ่มได้นำลายมาทำเป็นถุงผ้า โคมไฟ ที่มีกว่า 10 ลาย รวมทั้งยังได้ลอกลายจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดที่เป็นรูปสัตว์ เช่น แมว มาทำต่อยอดเป็นของที่ระลึกให้ระลึกถึงช่างกุลเมืองเพชรด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้จากการสำรวจของกลุ่มลูกว่าพบว่าเสาของศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณารามที่มีลวดลายไทยโบราณนั้นมีอยู่ด้วยกัน 16 ต้น (8 คู่) และมีเสาที่ลวดลายไม่ซ้ำกันอยู่ถึง 12 ต้น ด้วยความคิดที่ต้องการอนุรักษ์ศิลปะท้องถิ่น จึงเริ่มลอกลายจากเสาจริงและนำมาจัดแสดงไว้ที่หอศิลป์สุวรรณารามเพื่อจำลองให้เห็นความงดงามของลายฉบับเต็ม โดยภริตาเล่าว่าตนเองมีความสนใจด้านการฉลุลายจึงศึกษาลายของเสาไม้ที่นี่มากว่า 10 ปี ซึ่งลวดลายบนเสาแต่ละต้นแม้มีลักษณะคล้ายกัน แต่มีรายละเอียดที่แตกต่าง ที่ทำให้เสาแต่ละต้นมีการผูกลายเฉพาะที่ไม่ซ้ำกัน
“การได้มาทำกิจกรรมบนหอศิลป์ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร ถือเป็นอีกแนวทางในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมของช่างเพชรบุรี เพราะหลังจากเปิดมาก็มีนักท่องเที่ยวที่มาวัด หรือมากินก๋วยเตี๋ยวน้ำแดงฝั่งตรงข้าม เข้ามาชมงานและทำกิจกรรมเรียนรู้เรื่องลายเหล่านี้มากขึ้น ในฐานะผู้สอนก็รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาและเผยแพร่ศิลปะของช่างโบราณ” ภริตากล่าว
ครูจำลอง บัวสุวรรณ์ อาจารย์ผู้ก่อตั้ง กลุ่มลูกหว้า เพชรบุรี ที่ทำกิจกรรมสืบสานศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ เล่าถึงการเติมเต็ม ที่จะสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นนอกห้องเรียนว่า ทางกลุ่มเริ่มก่อตั้งและทำกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมในเพชรบุรีมาตั้งแต่ พ.ศ.2549 ต่อมาจึงเกิดการทำศูนย์เรียนรู้ที่หอศิลป์ในวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร และพื้นที่บริเวณเขาวังเคเบิลคาร์ ซึ่งเด็กๆ หลายคนพอเรียนจบ ก็กลับมาช่วยทางกลุ่มในการทำงานเพื่อสืบสานวัฒนธรรมในพื้นที่ต่อ
สำหรับการเรียนรู้ในช่วงแรกจะสอนให้เยาวชนทำธงลายฉลุ จากนั้นมีการพาเด็กไปออกงาน เพื่อให้ผู้สนใจได้เรียนรู้การฉลุลายโบราณของช่างเพชรบุรี แต่ปัญหาในช่วงนั้นเกิดจากเครื่องมือในการสอนมีไม่เพียงพอ ทำให้การเรียนรู้ยังไม่ประสบความสำเร็จ จนหลังจากนั้นได้เปลี่ยนการเรียนรู้มาเป็นการตัดพวงมโหตร ที่เครื่องมือที่ใช้ในการสอนมีเพียงพอ ราคาไม่สูงมาก ทำให้คนทุกวัยเข้าถึงได้ โดยยุคนั้นยังไม่มีใครสนใจเรื่องพวงมโหตรมากนัก แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีการเรียนรู้แพร่หลายมากขึ้น
“หลังจากช่วงแรกเราทำงานแบบตั้งรับมาตลอด ก็เริ่มทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยใช้พื้นที่หอศิลป์ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร และเขาวังเคเบิลคาร์ สำหรับเปิดสอนผู้ที่สนใจ หรือนักท่องเที่ยวที่อยากทดลองทำ โดยค่าใช้จ่ายในเรื่องกระดาษและอุปกรณ์ต่าง ๆ มาจากผู้ที่สนใจและต้องการบริจาคเพื่อสนับสนุน”
ด้วยความโดดเด่นด้านลวดลายของสกุลช่างเมืองเพชรที่มีเอกลักษณะเฉพาะตัว เพราะลายส่วนใหญ่ไม่ได้เขียนหรือสลักไว้อย่างโดดเดี่ยว แต่อยู่ร่วมกับลวดลายอื่น ๆ ที่ผูกเข้าด้วยกัน เช่น การวาดลวดลายของเสือ ช่างจะวาดเสือให้อยู่ในป่าที่อ่อนช้อย แต่จะไม่วาดแค่เสือตัวเดียวมาโดด ๆ โดยเฉพาะลวดลายที่เกี่ยวกับไตรภูมิ หรือป่าหิมพานต์ ที่ค่อนข้างมีความโดดเด่นในการเล่าเรื่อง ซึ่งผสมลายเถาและลายกนกเปลวที่มีรูปแบบดัดแปลงมาจากความเป็นธรรมชาติ ลายพวกนี้นิยมมากในกลุ่มช่างช่วงกรุงศรีอยุธยารุ่งเรือง แต่เสื่อมหายไปช่วงที่มีลวดลายของจีนเข้ามา
“ตอนนี้การทำงานเผยแพร่ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น พยายามขยายไปสู่ผู้ใหญ่และนักท่องเที่ยวมากขึ้น จึงได้ขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหารใช้พื้นที่กุฏิเก่าที่ปิดร้างกว่า 20-30 ปี มาทำเป็นหอศิลป์ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มาเรียนรู้ และนักท่องเที่ยวที่มาชมวัดก็ได้มีกิจกรรมเรียนรู้เพิ่มขึ้น”
สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจ สามารถมาร่วมทำกิจกรรมได้ที่ หอศิลป์ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร ที่มีงานฉลุลาย พวงมโหตร รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางกลุ่มจะเวียนนำมาจัดแสดง และยังมีการสอนรำของครูศิลปินในท้องถิ่นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์อีกด้วย ซึ่งแม้กิจกรรมเหล่านี้จะไม่ใช่การเปิดโรงเรียนสร้างช่างสกุลเมืองเพชรยุคใหม่โดยตรง แต่อย่างน้อยการที่ทำให้เรื่องราวของช่างสกุลเมืองเพชรยังคงถูกพูดถึง จับต้องได้ และอยู่ร่วมในกระแสธารของความพ็อปร่วมสมัยได้อย่างไม่เคอะเขินนั่นก็เท่ากับเป็นการต่อลมหายใจให้คนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยวไม่ลืมว่าครั้งหนึ่งเพชรบุรีเคยรุ่งเรืองและเฟื่องฟูด้วยศิลปะความงามของ…สกุลช่างเมืองเพชร
Fact File
- ติดตามกิจกรรมของ กลุ่มลูกหว้า www.facebook.com/lookwagroup
- หอศิลป์สุวรรณาราม ตั้งอยู่ที่ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหารอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เปิดให้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 9.00-16.00 น.
- นอกจากหอศิลป์สุวรรณารามแล้วทางกลุ่มลูกหว้ายังมีกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับช่างเมืองเพชรอยู่บริเวณสถานี เคเบิลคาร์ พระนครคีรี (เขาวัง)