ศิลปะ การเมือง และเรื่องผู้ลี้ภัยในมุมมอง อ้าย เวยเวย
Arts & Culture

ศิลปะ การเมือง และเรื่องผู้ลี้ภัยในมุมมอง อ้าย เวยเวย

Focus
  • Law of The Journey หนึ่งในนิทรรศการที่เป็นไฮไลต์ของ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2020 หรือ BAB 2020 จัดแสดงที่ หอศิลปกรุงเทพฯ
  • Law of The Journey สร้างสรรค์โดย อ้าย เวยเวย (Ai Weiwei) ศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาวจีน ที่นำศิลปะมาแสดงออกทางการเมือง เล่าเรื่องปัญหาสังคม และหนึ่งในประเด็นระดับโลกที่เขาสนใจคือการอพยพลี้ภัย

เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2020 หรือ BAB 2020 มาถึงแล้ว โดยปีนี้ได้รวบรวมผลงานศิลปะกว่า 200 ชิ้น จาก 82 ศิลปินทั่วโลกมาจัดแสดง ในคอนเซ็ปต์หลัก Escape Routes หรือ ศิลป์สร้างทางสุข ซึ่งชวนศิลปินทั้งไทยและต่างชาติมาบอกเล่า ตีความคำว่า Escape ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเรื่องภาวะโลกร้อน คนพลัดถิ่น การอพยพ การเมือง สังคม การไหลเททางวัฒนธรรม โควิด-19 เพศสภาพ ซึ่งไม่ได้โฟกัสเฉพาะแค่ประเด็นในเมืองไทย แต่ยังได้นำเหตุการณ์และบริบทของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเดินทางมาเล่าให้ฟังพร้อมๆ กัน โดยหนึ่งในศิลปินไฮไลต์ได้แก่ อ้าย เวยเวย (Ai Weiwei) 

อ้าย เวยเวย

ในมิติของการเมืองและสังคม อ้าย เวยเวย ถือเป็นศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาวจีนที่ทั่วโลกจับตา จากการที่เขาใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางในการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคม โดยเฉพาะรัฐบาลจีนได้อย่างเสียดสีและแสบสัน ชนิดที่เรียกว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากันไปเลย

สำหรับงาน BAB 2020 ในปีนี้ชิ้นงานที่ อ้าย เวยเวย เลือกนำมาจัดแสดงคือผลงานที่มีชื่อว่า Law of The Journey (2016) เรือเป่าลมสีดำขนาดใหญ่ซึ่งกำลังบรรทุกร่างผู้ลี้ภัยไร้ใบหน้า ที่กำลังจัดแสดงอยู่กลางห้องนิทรรศการชั้น 9 หอศิลปกรุงเทพฯ บอกเล่าเรื่องของผู้ผลัดถิ่นและการอพยพ อีกหนึ่งประเด็นที่เขาให้ความสำคัญและออกมาเคลื่อนไหวอยู่เสมอ โดย Law of The Journey เกิดจากการที่เวยเวยได้เดินทางไปเยี่ยมและคลุกคลีกับค่ายผู้ลี้ภัย 40 แห่งใน 20 ประเทศ ซึ่งผู้ลี้ภัยในเรือเป่าลมเป็นตัวแทนของผู้ลี้ภัยออกจากบังคลาเทศ อิรัก ซีเรีย ตุรกี ฉนวนกาซา เม็กซิโกและประเทศต่างๆ นอกจากนี้ยังมีวิดีโอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนผู้อพยพอยู่บริเวณผนังทางเข้าที่ช่วยบอกเล่าความรู้สึกที่เกี่ยวเนื่องกับการ Escape ของผู้ลี้ภัยให้เข้าใจเข้าถึงมากขึ้น

อ้าย เวยเวย

ขนาบข้างของชิ้นงานหลักเป็นภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์จัดแสดงอยู่เต็มผนังด้านหนึ่ง ส่วนอีกฟากเป็นงานกราฟิกชื่อ Odyssey ที่ผสมผสานเรื่องของประเพณีและความร่วมสมัยของเหตุการณ์การเมืองเข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้หลักของอักษรภาพอย่างไฮโรกลิฟของอียิปต์หรือจิตรกรรมฝาผนังมาใช้ในการเล่าเรื่อง ซึ่งดัดแปลงออกมาเป็นวอลเปเปอร์ภาพกราฟิกสีขาวดำ ที่มีความยากในการหาวัสดุที่เหมาะสม

อ้าย เวยเวย

เนื้อหาของชิ้นงานบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการอพยพ สงครามและการต่อสู้กับสภาพอันเลวร้าย ปะปนกันทั้งที่เกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบัน เสมือนการพูดในเชิงที่ว่าเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นผ่านเส้นเวลามาโดยมีจุดร่วมในเรื่องเดียวกัน นั่นคือเรื่องการอพยพ อำนาจ และผู้ถูกกระทำ สำหรับใครที่กำลังรอคอยจะได้ชมผลงานของอ้าย เวยเวยอยู่ นี่ถือเป็นโอกาสทองที่จะได้ชมผลงานของเขาที่แม้ภายนอกจะดูง่าย สบายตา เดินเรื่องด้วยสิ่งที่หลายๆ คนคุ้นเคย แต่เบื้องหลังอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวที่ต้องมาดูใกล้ๆ ให้เห็นกับตาจริงๆ 

นอกจากที่ หอศิลปกรุงเทพฯ แล้ว ถัง คอนเทมโพรารี่ อาร์ต (Tang Contemporary Art ) ชั้น 2 อาคารริเวอร์ซิตี้ แบงค็อก ยังได้จัดแสดงงานนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในเมืองไทยของ อ้าย เวยเวย ในชื่อนิทรรศการ Year of the Rat รับชมได้ในวันที่ 29 ตุลาคม – 10 ธันวาคม 2563

ภาพ : Courtesy Ai Weiwei Studio ถ่ายภาพโดย Preecha Pattaraumpornchai

Fact File

  • บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 (Bangkok Art Biennale) จัดแสดง 29 ตุลาคม 2563 ถึง 31 มกราคม 2564 ใน 10 สถานที่สำคัญใจกลางกรุงเทพมหานคร
  • ผลงานของอ้าย เวยเวย จัดแสดงที่ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
  • รายละเอียดเพิ่มเติม Facebook : BkkArtBiennale 
  • เว็บไซต์ : www.bkkartbiennale.com/ 

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ