ทัวร์โลกศิลปะร่วมสมัยไทยใบย่อใน บ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์
- เสริมคุณ คุณาวงศ์ ผู้ที่เป็นเจ้าของ บ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์ ไม่ได้เป็นแต่เป็นเพียงตัวท็อปของธุรกิจงานอีเวนท์ที่รู้จักกันดีด้วยโปรเจ็กต์ระดับตำนานหลายโครงการ แต่ยังเป็นนักสะสมศิลปะไทยร่วมสมัยระดับตัวยงของวงการมากว่า 3 ทศวรรษ
- บ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์ เป็นโครงการต่อเนื่องจาก ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ แหล่งรวบรวมงานประติมากรรมชั้นเยี่ยมของเสริมคุณที่เป็นแหล่งให้ข้อมูลความรู้ด้านประติมากรรมไทยร่วมสมัยสำคัญ ที่เปิดดำเนินการมาแต่ พ.ศ 2547 และเพิ่งหยุดดำเนินการในปี พ.ศ. 2565
ในเขตกรุงเทพฯ นั้นมีศิลปะสถานเปิดตัวใหม่ๆ กันไม่น้อย บ้างปรับจากตึกเก่า บ้างสวมทับกิจการเก่า บ้างตั้งอยู่ในพิกัดทางเลือก แต่มีอยู่แห่งหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ด้วยการใช้นิวาสสถานของเจ้าของเองเป็นที่จัดแสดงงาน แค่ชื่อ บ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์ ก็พอจะสื่อแล้วว่าผู้เข้าชมจะได้ประสบการณ์แนวไหน ภายในรั้วขาวของอาณาจักรส่วนตัวขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ ความอบอุ่นที่มอบให้ผู้มาเยือนไม่ได้มาเพียงจากความหนาแน่นผลงานที่จัดเรียงแบบจัดเต็มแทบทุกอณู แต่ยังมาจากการตกแต่งที่เจ้าของเตรียมไว้ต้อนรับ ให้เสมือนได้เข้าไปชมบ้านของคนคุ้นเคยได้อย่างไม่อึดอัด
เสริมคุณ คุณาวงศ์ ผู้เป็นเจ้าของ บ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์ ร่วมกับบุตรสาวทั้งสองคน ไม่ได้เป็นแต่เป็นเพียงตัวท็อปของธุรกิจงานอีเวนท์ที่รู้จักกันดีด้วยโปรเจ็กต์ระดับตำนานหลายโครงการ แต่ยังเป็นนักสะสมศิลปะไทยร่วมสมัยระดับตัวยงของวงการมากว่า 3 ทศวรรษอีกด้วย
Sarakadee Lite ขอพาผู้อ่านเดินผ่านประตูของ บ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์ สถานที่ที่เป็นทั้งบ้านและพิพิธภัณฑ์ไปพร้อมๆ กัน เข้าไปชื่นชมงานศิลปะร่วมสมัยหลากหลายประเภทและเทคนิคกว่าพันชิ้น จากกว่า180 ศิลปินไทย ในพื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตร ท้ายซอยลาดพร้าว 54 ริมคลองลาดพร้าว ที่เหมือนกับการย่อประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยของไทยให้สัมผัสได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ไล่เรียงไปตั้งแต่ยุคบุกเบิกอย่าง อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และศิษย์รุ่นแรกๆ ศิลปินแห่งชาติสายทัศนศิลป์จากหลากหลายช่วง มุมพิเศษแสดงผลงาน จักรพันธ์ โปษยกฤต, เหม เวชกร และมณเฑียร บุญมา ที่มีงานชิ้นสำคัญหาชมได้ยาก ไปจนถึงงานของคนรุ่นใหม่อย่าง ก้องกาน และ นิสา ศรีคำดี เจ้าของผลงานอาร์ตทอยที่โด่งดังระดับเอเชีย Crybaby
จาก Living Museum สู่ Live In Museum
บ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์ เป็นโครงการต่อเนื่องจาก ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ แหล่งรวบรวมงานประติมากรรมชั้นเยี่ยมของเสริมคุณที่เป็นแหล่งให้ข้อมูลความรู้ด้านประติมากรรมไทยร่วมสมัยสำคัญ ที่เปิดดำเนินการมาแต่ พ.ศ 2547 และเพิ่งหยุดดำเนินการในปี พ.ศ. 2565 โดยคัดกรองคอลเลคชันที่นั่นมาจัดแสดงที่บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งเป็นบ้านพักส่วนตัวของเสริมคุณเอง โดยใช้เวลาก่อสร้าง ตกแต่ง และจัดวงชิ้นงานนานกว่า 8 ปี
“ผมกับครอบครัวมีโอกาสไปชม The Frick Collection ที่มหานครนิวยอร์คที่รวบรวมงานศิลปะชิ้นสำคัญของยุโรปมากมาย โดยเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เห็นงานอย่างใกล้ชิ้น และมีบรรยากาศคล้ายบ้านมากกว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ เลยได้แรงบันดาลใจว่าน่าจะทำแกลเลอรีส่วนตัวที่จะเกิดขึ้นในแนวนี้ ทำนองทำ Living museum ให้มีอัตลักษณ์ของความเป็น Live In Museum ที่มีบรรยากาศความเป็นบ้านใช้อยู่อาศัยและใช้สอยจริงไปพร้อมๆ กันกับการจัดแสดงงาน” เสริมคุณกล่าว
จากการตั้งต้นจากสะสมงานประติมากรรมเป็นหลัก การสะสมของเสริมคุณได้ขยายต่อไปยังงานจิตรกรรม และเทคนิคอื่นๆ อย่างภาพพิมพ์และศิลปะติดตั้ง โดยเน้นรวบรวมงานศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยในยุคบุกเบิก ไม่นับงานกลุ่มอื่น ทั้ง หุ่นประเภทต่าง ๆ เครื่องสวมศีรษะ เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ งานฝีมือแบบไทย โบราณวัตถุ เฟอร์นิเจอร์สมัยต่าง ๆ ทั้งไทยและยุโรป ทำให้บ้านพิพิธภัณฑ์ของเขาครบครันไปด้วยงานศิลปะนานาประเภท
ทั้งนี้บ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ CUBIC BUILDING, THE RESIDENCE และ THE GARDEN OF LIFE โดยรวมมีทั้งหมดถึง 19 โซนย่อย ซึ่งแต่ละโซนมีจุดเด่นและเนื้อหาเรื่องราวของตนเอง
เปิดอาคาร CUBIC BUILDING
CUBIC BUILDING เป็นอาคาร 5 ชั้น รูปทรงคล้ายลูกเต๋าวางซ้อนทับกันไปมาตามสไตล์ศิลปะสกุล Cubism เป็นอาคารหลักในการจัดแสดงของบ้านพิพิธภัณฑ์ ทั้ง 7 โซนภายในที่อาคารที่ก่อสร้างต่อเติมขึ้นมาใหม่หลังนี้จัดแสดงนำเสนอธีมที่แตกต่างกัน ด้วยผลงานต่างยุคต่างสมัยมาวางเคียงคู่กัน
ห้องครุฑ (Grand Garuda Room) ที่ใช้เป็นห้องต้อนรับผู้เข้าชม มีงานประติมากรรมชิ้นใหญ่ที่ถอดแบบตัวครุฑขนาดใหญ่ของศิลป์ พีระศรีและลูกศิษย์ที่ติดตั้งอยู่หน้าอาคารไปรษณีย์กลางบางรัก ตั้งโดดเด่นอยู่กลางผนังด้านในคอยเป็นฉากหลัง พร้อมด้วยเสาไม้แกะสลักผลงานศิลปะของถวัลย์ ดัชนีจำนวน 8 ต้นเรียงรายอยู่ด้านล่าง ซึ่งผลงานของถวัลย์ยังมีให้ชมต่อที่ผนังฝั่งตรงข้ามด้านประตูเข้า โดยมีทั้งภาพวาดสีน้ำมันขนาด 2 เมตร และมีด 2 ชิ้นที่ล้วนมีลายเซ็นของถวัลย์ในการล้อรูปทรงเขาและเขี้ยวสัตว์อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีภาพวาดรูปครุฑ 4 ภาพจากจิตรกรรุ่นใหม่อย่างพัฒน์ดนู เตมีกุล การนำงานจากศิลปินใหม่มาสอดแทรกกับศิลปินชั้นครูในธีมเดียวกันเช่นนี้ ยับพบได้อีกหลายจุดของบ้านพิพิธภัณฑ์
ตามต่อมาด้วย ห้องพาเลอร์ (The Parlour) ห้องรับรองแขกที่ตกแต่งในสไตล์โมเดิร์น โดยนำจิตรกรรมและประติมากรรมมาผสมผสานในการตกแต่ง ด้วยชิ้นงานของศิลปินระดับชั้นครู ที่หลายท่านได้เป็นระดับศิลปินแห่งชาติ อาทิ ชลูด นิ่มเสมอ, สวัสดิ์ ตันติสุข และ ชำเรือง วิเชียรเขต โดยมีไฮไลท์คือชุดผลงานของปรีชา เถาทอง ที่เพิ่งรังสรรค์ได้ไม่นานมานี้
ไม่ไกลกันนักคือ ห้องทำงาน (The Study Room) ห้องนี้ออกแบบมาในแนว Victorian Study Room ผสมผสานระหว่างงานประติมากรรม และจิตรกรรม ของศิลปินไทยชั้นครูและชั้นนำ โดยไฮไลท์หนึ่งอยู่ที่ผลงานที่หาชมยากจำนวน 5 ชิ้น ของมณเฑียร บุญมา จากช่วงระยะเวลาการทำงานต่างๆ ของศิลปินที่มีช่วงเวลาผลิตผลงานสั้นๆ ท่านนี้
ในบรรดาห้องต่างๆ ของตึก CUBIC มี คชาเลานจ์ (Kacha Lounge) นับเป็นห้องที่มีเอกลักษณ์ต่างการตกแต่ง ห้องที่ออกแบบมาเพื่อกิจกรรมสังสรรค์ห้องนี้เล่นระดับ โดยแบ่งเป็น 2 ชั้น มีชั้นลอย และเตะตาด้วยการกรุกระจกที่เพดานห้อง พร้อมกับมีเตาผิงเป็นจุดนำสายตาไปพร้อมกับ ประติมากรรมขนาดใหญ่ชื่อ ‘คชา’ ตามชื่อห้อง ประติมากรรมสแตนเลสขนาดใหญ่ทำจากโลหะเกือบ 10,000 ชิ้น ชิ้นนี้สร้างสรรค์โดยถนอมจิตร์ ชุ่มวงค์ นอกจากนี้ยังมีผลงานบริวารคชาที่เรียงรายอยู่รอบห้องเน้นหนักไปทางศิลปะสกุลเซอร์เรียลลิสต์จากต่างยุคสมัย โดยมีตัวเอกคือภาพของ ช่วง มูลพินิจ กว่า 10 ชิ้น ในชั้นลอย
การนำชมในส่วนอาคาร CUBIC จะจบลงที่ชั้น 5 บนสุด ซึ่งมี โซนแกลเลอรี (The Gallery – Art Exhibition Room) จัดแสดงผลงานจากศิลปินไทยหลากหลายสกุล ช่วงวัย และยุคสมัย ผสมผสานทั้งเก่าใหม่ โดยเน้นหนักผลงานของศิลปินในช่วงทศวรรษ 1990s เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ไล่ตั้งแต่ยุคบุกเบิกอย่าง อินสนธิ์ วงศ์สาม และกมล ทัศนาญชลี มาจนถึงยุคร่วมสมัยอย่าง ม.ล.จิราธร จิรประวัติ, พัดยศ พุทธเจริญ, พิณรี สันพิทักษ์, ไมเคิล เชาวนาศัย, โลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี และยุรี เกนสาคู ไปจนถึงเลือดใหม่อย่าง ก้องกาน และนิสา ศรีคำดี เจ้าของผลงาน Crybaby ในห้องขนาดใหญ่และมีเพดานสูงนี้ กรุกระจกโดยรอบเพื่อรับแสงธรรมชาติ สามารถเห็นวิวอาคารรอบข้าง และมี Museum Café ให้บริการอีกด้วย
นอกจากนี้ ในอาคาร CUBIC ยังมีโซนสนับสนุนอื่นอีก 2 โซนคือ เสริมคุณ สตูดิโอ (Sermkhun’s Studio) ห้องทำงานที่รวบรวมงานศิลปะที่สร้างสรรค์โดยเสริมคุณเอง ทั้งผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ ภาพสเก็ตช์ งานวาดเส้นและงานภาพถ่ายร่วมสมัยหลายชุด และ โถงบันได ที่มีความสูงถึง 21 เมตร ใช้ไต่ขึ้นลงเพื่อเชื่อมห้องตามชั้นต่างๆ ด้วยโครงสร้างที่สลับไขว้ลดหลั่นกันไปมาจนมีรูปทรงคล้านก้นหอย รูปทรงแปลกตาประดุจเป็นงานประติมากรรมในตัวมันเองอีกชิ้น
รุ่งอรุณของศิลปะไทย
อาคาร THE RESIDENCE คือที่มาสำคัญของชื่อ ‘บ้านพิพิธภัณฑ์’ เพราะเป็นโซนที่ทางครอบครัวของเสริมคุณ คุณาวงศ์ยังใช้อยู่อาศัยจริงมานานหลายปี และสะท้อนให้เห็นตัวตนของนักสะสมสำคัญของไทยท่านนี้ว่ามีชีวิตส่วนตัวผูกพันกับการศิลปะไทยร่วมสมัยอย่างไรบ้าง ภายในบ้าน 3 ชั้นได้จัดแสดงผลงานศิลปะนานาประเภท สกุล และยุคสมัย ทั้งของไทย เอเชีย และตะวันตก รวมเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านจากหลายยุคหลากเชื้อชาติ แบ่งเป็นโซนย่อย 11 โซน เปิดให้ชมแบบที่ชมมุมส่วนตัวเกือบทั้งหมดได้อย่างเต็มที่ โดยมี ห้องมรดกไทย ห้องรุ่งอรุณของศิลปะไทย และ ห้องจักรพันธุ์ โปษยกฤต ที่เน้นศิลปะแนวไทยประเพณี และไทยร่วมสมัยในยุคแรกๆ เป็นห้องชูโรง
ห้องมรดกไทย : ท่ามกลางชิ้นงานไทยประเพณีที่มีอายุเก่าแก่มากมาย นอกจากตู้พระธรรมลายรดน้ำสมัยรัชกาลที่ 4ประดิษฐานพระพุทธรูปไม้สมัยพระเจ้าปราสาททองไว้ภายใน และบุษบกหลังงามศิลปะรัชกาลที่ 7 บรรจุพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรสมัยอยุธยาตอนปลายไว้ภายในแล้ว มุมสำคัญที่ไม่ควรใช้เวลาชมคือมุมระลึกถึงสมเด็จครู สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ซึ่งเป็นนายช่างเอกแห่งกรุงสยาม ความน่าสนใจอยู่ที่ผลงานฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านจัดวางอยู่รายล้อมพระรูปเหมือนของพระองค์ท่านที่ปั้นโดย ศิลป์ พีระศรี ในปี พ.ศ. 2466
ห้องรุ่งอรุณของศิลปะไทย : เป็นห้องที่รวบรวมผลงานของผลงานขึ้นหิ้งของศิลปินชั้นครูที่ส่วนใหญ่ล่วงลับไปนานแล้วหลายท่าน โดยเน้นไปที่ยุคที่ศิลปะสมัยเพิ่งได้รับการบุกเบิกในไทย ไม่ว่าจะเป็นงานของศิลป์ พีระศรี ผลงานของลูกศิษย์ และของศิลปินที่อยู่ร่วมสมัยกัน อาทิ เขียน ยิ้มศิริ, ประหยัด พงษ์ดำ, ประกิต(จิตร) บัวบุศย์, เฉลิม นาคีรักษ์, ชลูด นิ่มเสมอ, ช่วง มูลพินิจ, ถวัลย์ ดัชนี, , สวัสดิ์ ตันติสุข, อังคาร กัลยาณพงศ์ และ จ่าง แซ่ตั้ง แต่มุมที่ไม่ควรมองข้าม คือมุมภาพวาดที่มีลักษณะไทยของ เหม เวชกร ที่ยังอยู่ในสภาพสดและสมบูรณ์
ห้องจักรพันธุ์ โปษยกฤต : จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นศิลปินที่เสริมคุณมีความใกล้ชิดมากที่สุด จากที่เคยรับใช้ศิลปินอาวุโสท่านนี้มากว่า 10 ปี จึงได้รวบรวมผลงานในทุกประเภทของ อาจารย์จักรพันธุ์ ที่สะสมมาจัดแสดง ทั้งผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซ ภาพเหมือน วิสุตา หัศบำเรอ และภาพเกาะเสม็ด ที่วาดแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษา รวมทั้ง ภาพขุนแผนนางวันทอง ที่วาดในปี พ.ศ. 2517 และหุ่นกระบอกที่ศิลปินสร้างต่อเนื่องมาตั้งแต่วัยหนุ่ม หุ่นพระนางที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2537 และ 2538 นอกจากนี้ยังงานวรรณกรรมของ อาจารย์จักรพันธุ์ ในนามปากกาต่างๆ จัดเก็บไว้ในตู้ที่มีภาพเขียนสีน้ำยุคที่เขียนประกอบคอลัมน์ลงในนิตยสารลลนาวางไว้ด้านบน
โถงบทสนทนาของยุคสมัย
นอกเหนือไปจากสามห้องหลักของอาคาร THE RESIDENCE ที่ชูความสำคัญของเนื้อหาและเรื่องราวของผลงานที่จัดแสดงเป็นธีมหลัก ห้องอื่นๆ ที่เหลือของโซนบ้านโซนนี้ เจ้าของบ้านนักสะสมอย่างเสริมคุณเลือกที่เผยในเห็นความเป็นตัวตนและกิจกรรมส่วนตัวให้เห็นผ่านหน้าที่การใช้สอยของแต่ละห้องแต่ละมุม และไม่ลืมที่จัดวางงานศิลปะประกอบอย่างกลมกลืน และยังชี้ให้เห็นว่ามนุษย์คนหนี่งสามารถใช้งานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในชีวิตการงานได้อย่างไร
โถงบทสนทนาของยุคสมัย : เป็นห้องโถงเพดานสูงห้องนี้เน้นผลงานศิลปะจำนวนมากเคียงคู่กับเฟอร์นิเจอร์สไตล์ยุโรปหลายชิ้น เพื่อให้เกิดมุมเล็กมุมน้อยที่แต่ละชิ้นงานได้สนทนากันเอง ไปพร้อมๆ กับสำแสดงความโอ่อ่าตามแบบฉบับของบ้านของนักสะสมศิลปะ
ห้องอ่านหนังสือ: หนังสือประวัติศาสตร์ ศิลปะ ปรัชญา และการเมือง ในห้องนี้ล้วนผ่านการอ่านจากเจ้าของบ้านมาก่อน และยังเป็นห้องที่ใช้สำหรับเขียนอ่านหนังสือเป็นประจำ แม้เฟอร์นิเจอร์ฝรั่งเศสและเครื่องกระเบื้องจีนที่ใช้ประดับห้องจะมีมูลค่าไม่น้อย แต่พระเอกของห้องนี้คือตู้หุ่นขนาดใหญ่ที่บรรจุหุ่นตระกูลต่างๆ ทั้งของไทยและประเทศอาเซียน รวมถึงศีรษะโขนงานฝีมือชั้นครู ไม่นับของเก่าโบราณที่เป็นเครื่องใช้แสดงฐานะของชนชั้นสูงสยามอีกหลายสิบชิ้น ที่ไล่เรียงอายุไปได้ถึงสมัยรัชกาลที่ ที่ 4 และที่ 5
โถงพุทธศิลป์ : ไฮไลท์ของโถงที่จะเห็นได้ชัดเจนจากชานพักชั้น 2 ของตัวบ้านโถงนี้อยู่ที่การประชันกันของผลงานสองศิลปินพุทธศิลป์ร่วมสมัยชั้นนำสองท่าน ได้แก่ ปัญญา วิจินธนสาร และเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ โดยเฉพาะงานประติมากรรมของปัญญา ที่ชื่อ พิชิตมาร และงานภาพเขียนด้วยดินสอของเฉลิมชัย ที่ชื่อ พฤกษาสวรรค์ (ที่วาดไว้ตั้งแต่ปี 2527 ปีเดียวกับที่ศิลปินเดินทางไปประเทศอังกฤษ เพื่อสร้างชื่อจากการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพุทธประทีป) และไม่ไกลกันนักคือ ห้องนั่งสมาธิ ที่มีขนาดเล็กมากสำหรับนั่งสะดวกได้เพียงหนึ่งคน ที่ใช้เป็นประดิษฐานพระพุทธรูปสีขาวนวลขนาดใหญ่ ผลงานของประติมากรคนสำคัญ นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน
แต่อาคาร THE RESIDENCE ก็ไม่ลืมที่จะมีมุมผ่อนคลาย อย่าง เพนท์เฮาส์ศิลปะนามธรรม บนชั้น 3 ที่เป็นห้องพักอาศัยจริง ที่อุดมไปด้วยงานศิลปะไทยร่วมสมัยแนวนามธรรม ที่มีผลงานของประเทือง เอมเจริญ และอิทธิพล ตั้งโฉลก สองศิลปินนามธรรมชั้นครูที่เสริมคุณชื่นชอบและ บันไดลับศิลปะ ที่ซ่อนตัวเชื่อมตลอดทุกชั้นด้วยบันไดวนที่ขนาดแคบเล็กลงกว่าบันไดหลัก ที่ใช้ซ่อนงานศิลปะที่มีเรื่องราวสะท้อนสังคมการเมือง และสวนประติมากรรมบนระเบียง ที่รวบรวมงานปั้นแนวแสดงวิถีชีวิตแบบไทยๆ ของ เขียน ยิ้มศิริ
THE GARDEN OF LIFE
สวนประติมากรรมที่สะท้อนให้เห็นแนวความคิดของหลักธรรมทางพุทธศาสนาโซนนี้ อยู่ในบริเวณด้านหน้าของบ้านพิพิธภัณฑ์ ที่นอกจากจะมีต้นไม้นานาพันธ์ตกแต่งอย่างร่มรื่น ยังมีผลงานของประติมากรไทยร่วมสมัยชั้นนำหลายท่าน อาทิ ชำเรือง วิเชียรเขตต์ ช่วง มูลพินิจ ธนะ เลาหกัยกุล วิชัย สิทธิรัตน์ นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน และนภดล วิรุฬห์ชาตะพันธ์ และในบริเวณเดียวกัน ยังมีหอพระรูปทรงหลังคาจั่ว ที่ด้านในมีพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยประดิษฐานร่วมกับพระพุทธรูปจากฝีมือของจักรพันธุ์ โปษยกฤต และ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ โดยด้านหน้าและประตูของหอพระ ยังได้ศิลปินรุ่นกลางอย่างฉัตรมงคล อินสว่างมารังสรรค์ประติมากรรมขึ้นใหม่เป็นพิเศษโดยเฉพาะประดับไว้
Fact File
- บ้านพิพิธภัณฑ์คุณาวงศ์ เลขที่ 33 ซอยลาดพร้าว 54 กรุงเทพฯ โทร 061-626-4241
- รับผู้เข้าชมที่มีอายุ 13 ปี ขึ้นไป โดยการนัดหมายล่วงหน้า ผ่านทางเว็บไซต์ zipeventapp.com
- เปิดบริการเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 9.30-18.00 น.
- บัตรเข้าชมแบบปกติราคา 450 บาท สามารถเข้าชมได้ 7 โซนย่อยของอาคาร CUBIC รวมหอพระ และสวนแห่งชีวิต สามารถนำหลักฐานการซื้อบัตรมาใช้บริการได้ที่คาเฟ่บริเวณแกลเลอรี่ ชั้น 5 ของอาคาร CUBIC มูลค่า 120 บาท
- สำหรับการชมแบบรวมส่วน The Residence บัตรอยู่ในอัตรา 1,200 บาท โดยมีชุดน้ำชารวมอยู่ด้วย แต่เปิดบริการเฉพาะวันเสาร์