พิพิธภัณฑ์หัวโขน สวนนงนุชพัทยา จัดแสดงหัวโขนมากที่สุดในไทยกว่า 500 เศียร
- สวนนงนุชพัทยา เปิดจุดเช็กอินแห่งใหม่ พิพิธภัณฑ์หัวโขน รวบรวมหัวโขนแบบต่าง ๆ ไว้มากที่สุดในไทยถึง 506 เศียรซึ่งสร้างสรรค์โดยช่างฝีมือของสวนนงนุชในช่วงระยะเวลากว่า 4 ปี
- หัวโขนที่จัดแสดงแบ่งเป็น 3 ชุดคือ หัวโขนชุดอนุรักษ์แบบโบราณ หัวโขนพ่อแก่ฤษี และหัวโขนรามเกียรติ์
- นอกจากหัวโขน ทางพิพิธภัณฑ์กำลังสร้างสรรค์หุ่นกระบอกเล่าเรื่องวรรณคดีไทยโดยคาดหมายว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่รวบรวมหุ่นกระบอกมากที่สุดในไทย
สวนนงนุชพัทยา นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้เรื่องพฤกษศาสตร์ด้วยจำนวนพันธุ์ไม้เกือบ 20,000 ชนิดบนพื้นที่กว่า 1,700 ไร่ จุดเช็กอินแห่งใหม่ภายในบริเวณสวนอันกว้างใหญ่คือการตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบศิลปวัฒนธรรมไทยกับการเปิด พิพิธภัณฑ์หัวโขน ที่ทีมช่างฝีมือของสวนนงนุชใช้เวลากว่า 4 ปีในการสร้างสรรค์หัวโขนแบบต่าง ๆ ไว้มากที่สุดในไทยถึง 506 เศียร
ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์หัวโขนเด่นสะดุดตาด้วยประติมากรรมปูนปั้นขนาดสูง 4 เมตรรูปหนุมานอมพลับพลาในตอนศึกไมยราพ ส่วนบริเวณภายในเป็นห้องโถงขนาดใหญ่เรียงรายด้วยตู้กระจกที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นจำนวน 121 ตู้ ที่จัดแสดงหัวโขนและบริเวณผนังตกแต่งด้วยหินทรายที่จัดเรียงอย่างสวยงามเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวรรณคดีไทย เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน สังข์ทอง และนางสิบสอง
แรงบันดาลใจในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์หัวโขนซึ่งใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาทนั้นเกิดจากการที่ คุณโต้ง-กัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยามีโอกาสไปตกแต่งสวนให้ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรจังหวัดอยุธยา และได้เห็นความวิจิตรของหัวโขนที่ช่างฝีมือของศูนย์ศิลปาชีพได้รังสรรค์ขึ้นจึงเกิดไอเดียที่จะสร้างหัวโขนให้ได้จำนวนมากที่สุดเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปกรรมไทยชั้นสูงภายในสวนนงนุชพัทยา
“ในสวนนงนุชนอกจากจะส่งเสริมให้รักธรรมชาติ รักสัตว์แล้ว ผมอยากเสริมศิลปะไทยเข้าไปด้วยเพื่อให้เราภาคภูมิใจในความเป็นไทยและมรดกวัฒนธรรรมที่เรามี เราก็ค่อย ๆ ทำทีละนิด ๆ โดยใช้เวลา 4 ปีกว่าในการค่อย ๆ สร้างหัวโขนแต่ละเศียร ผมต้องการให้เป็นที่ที่รวบรวมหัวโขนไว้ได้มากที่สุดในโลกและโชคดีที่เจอศิลปินที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องหัวโขนมาร่วมทำงานด้วยและทุกคนให้กำลังใจว่าผมทำได้อยู่แล้ว” กัมพลกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการสร้างพิพิธภัณฑ์หัวโขน
หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนพิพิธภัณฑ์หัวโขนคือ อาจารย์พรหมินทร์ สุมานา ผู้เชี่ยวชาญงานช่างสิบหมู่ของสวนนงนุชพัทยา โดยอาจารย์จบสาขาช่างหัวโขนจากโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) และเคยทำแบรนด์ อมฤตเทวา ซึ่งเป็นสินค้าโอทอปของจังหวัดนครปฐมประเภทหัวโขนและหุ่นกระบอก
“โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หัวโขนเริ่มมาตั้งแต่พ.ศ.2560 เมื่อคุณโต้งต้องการอนุรักษ์งานหัตถศิลป์ให้เป็นสมบัติชาติและเพื่อการศึกษาโดยไม่หวังผลกำไร ขนาดของหัวโขนที่เราทำเป็นขนาดสำหรับสวมหรือที่เรียกว่าหัวใหญ่และหัวโขนทั้งหมดได้รับการรับรองจากอาจารย์ธนธรณ์ คุงจำรัส ซึ่งท่านเป็นผู้ก่อตั้งหัวโขนบ้านพรพิราพและเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยในวัง (ศาลายา) โดยเราแบ่งหัวโขนที่จัดแสดงเป็น 3 ชุดคือ หัวโขนชุดอนุรักษ์แบบโบราณ หัวโขนพ่อแก่ฤษี และหัวโขนรามเกียรติ์” อาจารย์พรหมินทร์กล่าว
หัวโขนชุดอนุรักษ์แบบโบราณมีจำนวน 24 เศียร ได้แก่ หัวโขนรูปพระอิศวรซึ่งเป็นเศียรแรกที่พิพิธภัณฑ์สร้าง หัวโขนพระพิฆเนศ หัวโขนพระราม และพระลักษณ์ หัวโขนทศกัณฐ์หน้าทอง และหัวโขนพระฤาษีกไลยโกฎิ หรือ ฤษีหน้ากวางทอง ในการสร้างสรรค์นั้นใช้การขึ้นโครงด้วยกระดาษสาปิดทับหลายชั้นลงบนหุ่นปูนปลาสเตอร์ที่เคลือบดินสอพองไว้แล้ว เมื่อเสร็จแล้วจึงถอดหัวโขนจากหุ่นและปั้นโครงหน้าด้วยขี้เลื่อยที่ผสมกาวลาเท็กซ์ จากนั้นลงดินสอพองที่ผสมกาวลาเท็กซ์เพื่อให้เซตตัวและปล่อยให้แห้งแล้วจึงขัดให้เรียบด้วยกระดาษทราย ขั้นตอนที่ละเอียดและใช้เวลาคือการตีลายประดับหัวโขนด้วยดินไทยสำเร็จรูป ต่อมาเป็นการพ่นรองพื้นครั้งแรกด้วยสีเทาตามด้วยรองพื้นอีกชั้นเป็นสีแดงที่จะช่วยขับสีทองเมื่อลงน้ำยาเฟลกซ์สีทองซึ่งเป็นสีรองพื้นสำหรับการปิดแผ่นทองคำเปลวทำให้ยึดเกาะพื้นผิวได้ดี
“ปัจจุบันเราไม่ได้ลงรักปิดทองจึงต้องใช้น้ำยาเฟลกซ์ (Flex) ซึ่งเป็นสีน้ำมันสำเร็จรูปเคลือบเงาเพื่อช่วยยึดติดแผ่นทองคำเปลว จากนั้นเป็นขั้นตอนการเขียนหน้าด้วยสีอะคริลิกและประดับพลอย ความยากง่ายขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของเศียร ถ้าเศียรใดมีความวิจิตรมากก็ใช้เวลาร่วมเดือนโดยเรามีทีมช่างฝีมือทั้งหมด 10 คน” ภูวดล ไหลสกุล หัวหน้างาน พิพิธภัณฑ์หัวโขน กล่าว
“เราใช้ทองคำเปลวแท้ในการปิดหัวโขนแต่ละเศียร ในสมัยก่อนการประดับตกแต่งใช้แก้ว กระจกสีและอัญมณี แต่ของเราใช้คริสตัลของ Swarovski แท้เพราะมีความแวววาว คุณโต้งบอกให้ใช้ของดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรายังทำประกันอัคคีภัยหัวโขนเศียรละ 30,000 บาท” อาจารย์พรหมินทร์ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
ส่วนหัวโขนของพ่อแก่หรือฤษีมีจำนวนทั้งสิ้น 108 เศียร ทำจากเรซิ่นที่ขึ้นรูปจากแม่พิมพ์ อาจารย์พรหมินทร์กล่าวว่าเพื่อให้เป็นไปตามตำนานว่ามีฤษีทั้งหมด 108 ตน อันเป็นกุศโลบายให้คนทำความดี
“หัวโขนฤษีที่เป็นที่รู้จักมีประมาณ 10 กว่าหัว แต่ที่นี่เราอยากทำให้ครบตามจำนวนที่มีระบุไว้ในตำนาน เราก็ต้องศึกษาจากหนังสือและถามผู้รู้ เช่น พ่อครูเจี๊ยบซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติหนังใหญ่ เพื่อให้ได้อัตลักษณ์ของฤษีแต่ละตน เช่น สีของกายและเครื่องประดับ เพราะส่วนใหญ่ยังไม่เคยมีที่ใดทำหัวโขนได้ครบตามจำนวน 108 เศียร ฤษีตระกูลพรหมนั้นทำยากที่สุดเพราะในหัวหนึ่งมีหลายหน้า เช่น ฤษีพรหมโลก ฤษีพรหมปรเมศฎ์ และฤษีอนันตนาคราช” อาจารย์พรหมินทร์กล่าว
ในจำนวนนี้มีหัวโขนฤษีที่น่าสนใจคือ ฤษีสุเมธ ที่ประดับตกแต่งด้วยปีกแมลงทับจากศูนย์ศิลปาชีพบางไทรที่ได้จากแมลงทับที่ทิ้งตัวตายตามธรรมชาติและมีสีสวยเหลือบเงาตามธรรมชาติ ฤษีพรหมปรเมศฎ์ ที่ตกแต่งด้วยกรรมวิธีการเขียนทองลงยาแบบโบราณของสุโขทัย และ ดาบสินี หรือฤษีหญิงหนึ่งเดียวในนี้คือนางสีดาในตอนที่นางสีดาขอตามพระรามเพื่อออกบวชดำรงเพศเป็นฤษี ดังที่ปรากฏในตอนหนึ่งของรามเกียรติ์ความว่า
“คิดแล้วจึ่งเปลื้องเครื่องประดับ สำหรับอัคเรศเสน่หา
ออกจากพระกายกัลยา ทรงเพศเป็นดาบสินี
เสด็จจากแท่นแก้วสุรกานต์ งามปานนางฟ้าในราศี
ชลนัยน์นองเนตรเทวี จรลีจากห้องอลงกรณ์ฯ”
ในหมวดของหัวโขนรามเกียรติ์มีจำนวนทั้งสิ้น 374 เศียร โดยมีไฮไลต์คือ หัวโขนทศกัณฐ์ 3 เศียร พระรามตอนเดินดงและออกบวช หนุมานตอนบวชและแผลงฤทธิ์ นอกจากนี้ยังมีหัวโขนที่เป็นตัวละครสัตว์ต่าง ๆ ในรามเกียรติ์อีกมากมาย เช่น ควายทรพาและทรพี ในตอนที่ยักษ์ตนหนึ่งชื่อนนทกาลอสูรถูกพระอิศวรสาปให้เกิดเป็นควายป่าชื่อ ทรพา โดยจะพ้นคำสาปต่อเมื่อถูกฆ่าด้วยน้ำมือของลูกชายตัวเอง ภายหลังทรพาถูกฆ่าตายหลังการต่อสู้กับลูกชายชื่อทรพี อันเป็นที่มาของคำว่าลูกทรพี หรือลูกอกตัญญู
หัวโขนปู เล่าเรื่องรามเกียรติ์ตอนทศกัณฐ์ต้องการแก้แค้นพญาพาลีที่แย่งนางมณโฑไปจนให้กำเนิดลูกชายชื่อองคต ทศกัณฐ์จึงแปลงกายเป็นปูเพื่อรอฆ่าองคตในพิธีสรงน้ำที่แม่น้ำยมนา แต่พญาพาลีผิดสังเกตและรู้ทันว่าเป็นทศกัณฐ์แปลงกายมาจึงไล่จับและใช้เชือกมัดไปให้องคตลากเล่นอยู่ถึง 7 วันจึงปล่อยตัวไป สร้างความอับอายและเจ็บแค้นให้แก่ทศกัณฐ์เป็นอย่างมาก ดังความตอนหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ว่า
“เหวยเหวยดูก่อนขุนยักษ์ ก้มพักตร์อยู่ไยไอ้โมหันธ์
นี่ฤๅชื่อว่าทศกัณฐ์ เป็นเจ้ากุมภัณฑ์ในลงกา
อาจองว่าวงศ์จัตุรพักตร์ อวดฤทธิ์สิทธิศักดิ์แกล้วกล้า
ไม่อดสูลอบแปลงเป็นปูมา เขาจับได้ที่ท่าชลาลัย”
ส่วน หัวโขนตุ๊กแก คือตัวละครชื่อสารภูที่อยู่บนเขาตรีกูฏในเรื่องรามเกียรติ์ ในตอนที่ยักษ์ชื่อ วิรูฬหก จากเมืองบาดาลเดินขึ้นเขาไกรลาสเพื่อเข้าเฝ้าพระอิศวร ตลอดเส้นทางเดินนั้นวิรูฬหกจะกราบขั้นบันไดทุกขั้นไปตลอดทางและ ตุ๊กแกสารภู จะส่งเสียงร้องและทำท่าล้อเลียนทุกครั้งทำให้วิรูฬหกโกรธมากจึงซัดสร้อยสังวาลนาคใส่ตุ๊กแกสารภูจนตาย แรงสะเทือนจากสร้อยสังวาลนาคทำให้เขาไกรลาสทรุดเอียง พระอิศวรจึงประกาศหาผู้ที่สามารถดันเขาไกรลาสให้กลับมาตั้งตรงได้และทศกัณฐ์เป็นผู้ที่แสดงอิทธิฤทธิ์ทำได้สำเร็จ ดังความตอนหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ว่า
“เมื่อนั้น จึ่งวิรูฬหกยักษา
เห็นสารภูดูหมิ่นอหังการ์ อสุรากริ้วโกรธคือไฟฟอน
แลไปไม่เห็นพระศุลี บนที่เนาวรัตน์ประภัสสร
ก็ถอดสังวาลนาคอลงกรณ์ ขว้างด้วยฤทธิรอนขุนมารฯ
ถูกเขาไกรลาสลั่นทรุด สารภูสิ้นสุดสังขาร
มิได้เฝ้าองค์พระทรงญาณ ก็กลับไปบาดาลพาราฯ”
อีกหนึ่งไฮไลต์ของ พิพิธภัณฑ์หัวโขน คือ หัวโขนช้างเผือกเอราวัณ ซึ่งเป็นพาหนะของพระอินทร์ซึ่งย่อจากจำนวน 33 เศียรเหลือ 16 เศียรเพื่อให้ได้ขนาดที่เหมาะสมกับการทำหัวโขนนี้ซึ่งใช้เวลาร่วม 3 เดือน จึงแล้วเสร็จโดยตาของช้างเอราวัณนั้นทำจากทับทิมแท้ อย่างไรก็ตามทางทีมงานกำลังสร้างประติมากรรมช้างเผือกเอราวัณ 33 เศียรสูง 8 เมตรที่จะติดตั้งด้านนอกของพิพิธภัณฑ์ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี พ.ศ.2565
นอกจากหัวโขนแล้ว ทีมช่างฝีมือกำลังสร้างสรรค์คอลเลกชันหุ่นกระบอกจากตัวละครในวรรณคดีไทยที่จะจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์โดยเสร็จไปแล้วจำนวน 10 ตัวในเรื่องพระอภัยมณี เช่น พระอภัยมณี ผีเสื้อสมุทร นางเงือก นางละเวงวัณฬา และสร้อยสุวรรณ
“เรายังไม่ได้สรุปว่าจะเอาตัวละครจากเรื่องอะไรบ้าง แต่คิดว่าจะดึงเรื่องเด่น ๆ มาทำ เช่น สังข์ทอง ลิลิตพระลอ ปลาบู่ทอง และนางสิบสอง โดยจัดแสดงหุ่นกระบอกในตู้พร้อมกับพร็อพประกอบเรื่องให้น่าสนใจยิ่งขึ้น หุ่นนั้นทำโดยการขึ้นรูปจากเรซิ่นและงานที่ประณีตและใช้เวลาคือเครื่องแต่งกายที่เราใช้ผ้าไหมไทยและผ้าไหมอิตาลีและปักผ้าด้วยสะดึงแบบโบราณ” อาจารย์พรหมินทร์กล่าว
“เราอยากทำหุ่นกระบอกให้ได้จำนวนมากที่สุดเช่นกัน” ประธานสวนนงนุชพัทยากล่าวเสริม “เสื้อผ้าของหุ่นกระบอกนั้นใช้เวลาทำนานมาก 1 ตัวใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะแล้วเสร็จ เช่นเดียวกับตอนทำหัวโขนคือเราก็พยายามทำไปเรื่อย ๆ มองไปรอบ ๆ ตัวอะไรที่เป็นไทยและทำได้ผมก็อยากจะทำให้เต็มที่”
ในการจัดแสดงหัวโขนในช่วงเริ่มต้นนี้ยังมีเพียงป้ายบอกชื่อของหัวโขนแต่ละชิ้น และบางเศียรมีข้อมูลพอสังเขปเกี่ยวกับความเป็นมาของคาแรกเตอร์นั้น ๆ ทั้งนี้ประธานสวนนงนุชพัทยากล่าวว่า ทางพิพิธภัณฑ์อยู่ในขั้นตอนจัดทำคิวอาร์โค้ดเป็นชุดข้อมูลภาษาไทย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และรัสเซีย เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
Fact File
- พิพิธภัณฑ์หัวโขน ตั้งอยู่ภายใน สวนนงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี ในโซนที่เรียกว่า สวนนงนุช 2 ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรครบวงจรและมีห้องประชุมและลานจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยผู้ที่ใช้บริการโซนดังกล่าวสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ฟรี ส่วนผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้เป็นหมู่คณะโดยติดต่อนัดหมายล่วงหน้าที่ คุณจิ๋ว โทรศัพท์ 08-7135-7466 www.nongnoochpattaya.com
- เวลาทำการ: 8.00-17.30 น. ทุกวัน
- รายละเอียดเพิ่มเติม www.nongnoochpattaya.com/th/