
ไอคอนงานดีไซน์ Keep Calm and Carry On เริ่มใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2
- Keep Calm and Carry On คำขวัญ เรียกสติของพลเมืองช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของรัฐบาลอังกฤษ ปัจจุบันวลีนี้ได้กลายเป็นหนึ่งใน “ไอคอนแห่งงานดีไซน์” แห่งศตวรรษ
- โปสเตอร์ Keep Calm and Carry On ครั้งแรกมีถึง 2.45 ล้านใบในปีค.ศ.1939 แต่กลับถูกนำไปย่อยและทำเป็นกระดาษรีไซเคิล
Keep Calm and Carry On คำขวัญเรียกสติของพลเมืองช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของรัฐบาลอังกฤษ ปัจจุบันวลีนี้ได้กลายเป็นหนึ่งใน “ไอคอนแห่งงานดีไซน์” แห่งศตวรรษ และเป็นสโลแกนยอดฮิตสู้วิกฤตต่าง ๆ อย่างมีสติโดยใช้คำขึ้นต้น Keep Calm and… มาเติมคำต่อท้ายตามอัธยาศัย เช่น Keep Calm and Save NHS ไปจนถึง Keep Calm and Eat Cupcakes ประโยคขายคัปเค้กยอดฮิต


สโลแกนนี้เริ่มโด่งดังในปี ค.ศ. 2001 เป็นทั้งคำปลอบขวัญ ปลุกกำลังใจ เรียกสติ และชักชวนให้ทำอะไรในแง่บวก เหมาะสำหรับช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยประโยคนี้คือ 1ใน 3 สโลแกนชวนเชื่อที่พิมพ์เป็นโปสเตอร์ช่วงระหว่างปลายเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม ค.ศ.1939 สร้างขึ้นโดยกระทรวงสารสนเทศ (Ministry of Information) ส่วนอีก 2 สโลแกน คือ “Your Courage, Your Cheerfulness, Your Resolution Will Bring Us Victory” และ “Freedom is in Peril; Defend it with all Your Might”

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองของรัฐบาลอังกฤษ นำโดยนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล ปลอบขวัญชาวอังกฤษที่โดนเยอรมนีถล่ม ต่อมา ปี ค.ศ.1949 สโลแกนนี้ปรากฏเกี่ยวเนื่องกับโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองในนิยายเรื่อง “1984” เขียนโดย จอร์จ ออร์เวลล์ โดยในนิยายใช้ชื่อกระทรวงเป็น Ministry of Truth แต่การแจ้งเกิดที่แท้จริงของวลีที่กลายเป็นคำคมยอดฮิตนี้กลับใช้เวลาเนิ่นนานมาจนถึงยุคมิลเลนเนียม เหตุผลเพราะแรกเริ่มต้นฉบับโปสเตอร์ของสโลแกนนี้ ตีพิมพ์ 2.45 ล้านใบในปี ค.ศ. 1939 นั้น ไม่ได้ถูกแจกจ่ายไปในวงกว้าง และในปี ค.ศ.1940 รัฐบาลอังกฤษต้องแก้ปัญหาขาดแคลนกระดาษจึงต้องเอาโปสเตอร์สองล้านใบนั้นมาย่อยและทำเป็นกระดาษรีไซเคิล โปสเตอร์ต้นฉบับที่เหลืออยู่จึงมีเพียงไม่กี่ใบ

จนกระทั่ง ในปี ค.ศ. 2000เจ้าของร้านหนังสือ Barter Books ที่ Alnwick,Northumberland พบโปสเตอร์หนึ่งใบพับแทรกอยู่ในหนังสือที่เขาซื้อมาแบบเหมาเข่ง จากนั้นจึงส่งไปพิมพ์ซ้ำเป็นโปสเตอร์กระดาษไซซ์ออริจินัล 1 แสนใบ พิมพ์ลงบนถ้วยกาแฟ เสื้อยืด แผ่นรองเมาส์ ผ้าเช็ดมือและโปสต์การ์ด ผลตอบรับคือขายดิบขายดี และทำให้คำขวัญนี้กลายเป็นไอคอนของงานดีไซน์ โดยพื้นหลังของโปสเตอร์ใช้สีแดง มีโลโก้มงกุฎแห่งราชบัลลังก์อังกฤษอยู่กึ่งกลางด้านบนตัวอักษรสีขาวตัวใหญ่ “KEEP CLAM AND CARRY ON” และแบบตัวอักษรที่ใช้ในโปสเตอร์ก็ถูกเรียกว่า คีปคาล์ม ฟอนต์ (Keep Calm Font)
Fact File
- ถ้าอยากสัมผัสบรรยากาศเมื่ออังกฤษเข้าสู่สงครามครั้งที่สอง ในช่วงปี ค.ศ. 1940 ซึ่งเส้นเวลาเหลื่อมกับแคมเปญชวนเชื่อจากรัฐบาลลองดูภาพยนตร์เรื่อง “Dunkirk” ปฏิบัติการดันเคิร์ก เหตุการณ์สำคัญในสนามรบที่ฝ่ายอังกฤษต้องหนีให้รอดจากกองทัพนาซีเยอรมนีกำกับโดย คริสโตเฟอร์ โนแลนและ Darkest Hour (ฉบับปี ค.ศ. 2011) กำกับโดย โจ ไรท์ นำแสดงโดย แกรี โอลด์แมน ในบท นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล ที่ต้องตัดสินใจว่าจะเจรจาหย่าศึกกับฮิตเลอร์หรือไม่ เพราะอังกฤษถูกถล่มยับเยินมากแล้ว
- นิยายเรื่อง 1984 เขียนโดย จอร์จ ออร์เวลล์ นิยายเก็บบรรยากาศสังคมการเมืองในยุคสงครามเย็นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง พล็อตเรื่องเป็นโลกสมมติที่ประชาชนถูกครอบงำด้วยอำนาจเบื้องสูงที่เต็มไปด้วยความไม่ชอบธรรม
อ้างอิง
