เปิดบ้าน จิม ทอมป์สัน : ตามรอยอดีตซีไอเอ ราชาผ้าไหม และนักสะสมตัวยง
Arts & Culture

เปิดบ้าน จิม ทอมป์สัน : ตามรอยอดีตซีไอเอ ราชาผ้าไหม และนักสะสมตัวยง

Focus
  • พิพิธภัณฑ์ บ้านจิม ทอมป์สันกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังปิดไปร่วม 2 เดือนจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่การกลับมาครั้งนี้ยังต้องเผชิญกับตัวเลขนักท่องเที่ยวที่หดหายจำนวนมาก
  • สิ่งที่น่าสนใจของพิพิธภัณฑ์ คือหมู่เรือนไทยและศิลปโบราณวัตถุล้ำค่าซึ่งเป็นของสะสมของเจมส์ เอช. ดับเบิลยู. ทอมป์สัน อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอ ผู้ที่ต่อมากลายเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมผ้าไหมไทย และถูกตั้งคำถามมาตลอดว่าเขาเป็นสายลับหรือไม่
  • ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์ยังมีร้านอาหารไทยซึ่งเมนูไฮไลต์ช่วงสุดสัปดาห์คือ ข้าวแช่ตำรับชาววังที่หาทานยากเต็มทีนอกฤดูร้อน

กลับมาเปิดให้บริการแล้วสำหรับ พิพิธภัณฑ์ บ้านจิม ทอมป์สัน ของนายห้างผ้าไหมไทยยุคบุกเบิก จิม ทอมป์สัน หลังจากที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้ปิดให้บริการไปร่วม 2 เดือน จากสถานการณ์โรคโควิด-19 แต่การกลับมาครั้งนี้ต้องยอมรับเลยว่ายังคงเงียบเหงา เพราะเดิมทีที่นี่เคยเป็นสถานที่ปักหมุดลำดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น แต่เมื่อน่านฟ้าระหว่างประเทศยังไม่เปิด จึงทำให้จำนวนผู้เข้าชมลดลงอย่างน่าใจหาย

จิม ทอมป์สัน

จากจำนวนผู้เข้าชมประมาณ 500 คนต่อวันในช่วงโลว์ซีซั่น และแตะที่จำนวน 1,000 คนต่อวันในช่วงไฮซีซั่น แต่ ณ ปัจจุบันเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา ตัวเลขลดลงไปที่ประมาณ 10 คนต่อวันในช่วงวันธรรมดาและ 40 คนในช่วงสุดสัปดาห์ โดยจำนวนนี้เป็นคนไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยและทำงานในประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน ถือเป็นโอเอซิสใจกลางกรุงเทพฯที่ซ่อนตัวอย่างสงบบริเวณสุดซอยเกษมสันต์ 2 (ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ) และเป็นคอมเพล็กต์ที่ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้า (ขณะนี้กำลังจัดโปรโมชั่นลดราคาถึง 50%) และหอศิลป์ (ปัจจุบันปิดปรับปรุงและคาดว่าจะกลับมาเปิดให้บริการในปลายปีนี้)

จิม ทอมป์สัน

“เรากำลังหารือกับพิพิธภัณฑ์และศูนย์ศิลปะอื่นๆในเขตปทุมวัน เช่น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร Yelo House และหอศิลป์ ของจุฬาฯ เพื่อจัดเป็นโปรแกรมพาชมแหล่งศิลปะที่อยู่ในบริเวณรอบๆ นี้เพื่อเป็นการโปรโมตการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมโดยเน้นที่นักท่องเที่ยวไทย” นัทธีรา อยู่มงคล ผู้จัดการอาวุโสของพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สันกล่าว

จิม ทอมป์สัน
ภาพถ่าย จิม ทอมป์สัน ประดับอยู่ในห้องนอนของเขา

บ้านไทยที่เคยเป็นศูนย์กลางวงสังคมคนเด่นคนดังในบางกอก

เสน่ห์ของพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน คือหมู่เรือนไทยซึ่งปลูกด้วยเรือนไม้สักเก่า6 หลังบนเนื้อที่ 1 ไร่ ริมคลองแสนแสบอันเป็นที่พำนักของ เจมส์ เอช. ดับเบิลยู. ทอมป์สัน อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอ ผู้ที่ต่อมากลายเป็นคนบุกเบิกอุตสาหกรรมผ้าไหมไทยให้โด่งดังไปยังต่างแดนภายใต้แบรนด์ จิม ทอมป์สัน จนได้รับฉายาว่า “ราชาผ้าไหมไทย” รวมทั้งยังคงถูกสงสัยมาตลอดหลังการหายตัวไปว่า…หรือเขาคนนี้จะเป็นสายลับ

จิม ทอมป์สัน
การทำผ้าไหมริมคลองแสนแสบในอดีตกับชุมชนบ้านครัว

จิม ทอมป์สัน เคยทำงานเป็นสถาปนิกที่นิวยอร์กก่อนที่จะสมัครรับราชการทหารในกองทัพบกอเมริกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาจึงมีความสนใจในสถาปัตยกรรมของหมู่เรือนไทยมาก หมู่เรือนไทยที่เห็นในอาณาเขตบ้านจิม ทอมป์สัน เป็นเรือนไทยที่เขาซื้อต่อมาจากเจ้าของบ้านเดิมหลายแห่งในประเทศไทย และได้รับการปรับปรุงบางส่วนให้มีลักษณะการใช้สอยตามวิถีคนตะวันตกได้อย่างสอดคล้องและกลมกลืน โดยสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ.2502

จิม ทอมป์สันอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ที่เคยได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “ศูนย์กลางวงสังคมคนเด่นคนดังในเมืองบางกอก” จนกระทั่งเขาหายสาบสูญอย่างลึกลับขณะไปพักผ่อนที่คาเมรอนไฮแลนด์ ประเทศมาเลเซียเมื่อ พ.ศ.2510

จิม ทอมป์สัน

นอกจากเขาจะตกหลุมรักเมืองไทยจนกลายเป็นบ้านหลังที่ 2 แล้ว เขายังชื่นชอบศิลปวัตถุและโบราณวัตถุของไทยและแถบภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จิม ทอมป์สันมักใช้เวลายามบ่ายวันอาทิตย์ตระเวณตามตรอกซอกซอยแถวเวิ้งนครเกษมที่เป็นแหล่งค้าของเก่าและในจังหวัดอยุธยาเพื่อเก็บสะสมชิ้นงานทั้งประติมากรรม จิตรกรรม และเครื่องกระเบื้องเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นคอลเล็กชันส่วนตัวที่หายากและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้

บ้านจิม ทอมป์สัน

อดีตสถาปนิกและเจ้าหน้าที่ซีไอเอผู้พลิกโฉมวงการผ้าไหมไทย

ผู้ที่สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์มีมัคคุเทศก์นำชมเป็นรอบๆละประมาณ 30 นาทีโดยมีภาษาไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และจีนกลาง (ภายในพิพิธภัณฑ์ห้ามถ่ายรูป)

สกาวรัตน์ พิมพ์ศักดิ์ หรือ ตาล เป็นมัคคุเทศก์ภาษาฝรั่งเศสแต่วันนี้รับหน้าที่พาเราชมพิพิธภัณฑ์กล่าวว่า ปกติเธอนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าชมวันละประมาณ 6 รอบ แต่หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันนำชมวันละ 1-2 รอบเท่านั้น จึงอยากชักชวนให้นักท่องเที่ยวไทยได้ลองมาสัมผัสประสบการณ์ที่นี่ซึ่งจัดแสดงศิลปวัตถุล้ำค่ามากมายและหมู่เรือนไทยที่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2539 จากสมาคมสถาปนิกสยาม

บ้านจิม ทอมป์สัน

“นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ให้ความสนใจสถาปัตยกรรมบ้านทรงไทย เช่น การปลูกเรือนโดยไม่ใช้ตะปูทำให้บ้านทั้งหลังสามารถรื้อถอนและปลูกใหม่ได้ไม่ยาก การมีธรณีประตูและการตั้งศาลพระภูมิ คุณจิมเป็นคริสเตียนโปรเตสแตนต์และอยู่เมืองไทยมา 22 ปี แต่ในการก่อสร้างบ้านไทยท่านก็ยึดวันและเวลาที่เป็นมงคลฤกษ์ตามโหราศาสตร์ไทย มีการตั้งศาลพระภูมิทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อไม่ให้เงาของบ้านบังศาล และในห้องนอนคุณจิมหันหัวเตียงไปทางทิศใต้ตามความเชื่อแบบไทยว่าเป็นสิริมงคล” ตาลให้ข้อมูล

บ้านจิม ทอมป์สัน
ห้องนอนของจิม ทอมป์สัน

จิม ทอมป์สันเลือกสร้างบ้านไทยหลังนี้ตรงข้ามกับ ชุมชนบ้านครัว มุสลิมจาม ผู้เป็นลูกหลานจากกองอาสาจามสมัยสงครามเก้าทัพ ชาวบ้านครัวมีความสามารถในการทอผ้าไหมด้วยสีธรรมชาติ แต่นายห้างจิมก็ได้เข้ามาปรับโฉมโดยเพิ่มการย้อมด้วยสีเคมีให้มีเฉดสีสดใสและหลากหลายมากขึ้นเพื่อเข้าสู่ตลาดสิ่งทอระดับโลก ผ้าไหมแต่ละผืนยังติดป้ายชื่อคนทอและสถานที่การผลิตเป็นการสร้างเรื่องราวและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าโดยเริ่มตีตลาดที่สหรัฐอเมริกาบ้านเกิดของจิม ทอมป์สัน เอง จากนั้นผ้าไหมไทยแบรนด์จิม ทอมป์สันก็ได้ไปปรากฏโฉมบนนิตยสาร Vogue ตามมาด้วยการได้รับเลือกให้เป็นผ้าสำหรับตัดชุดสำหรับละครบรอดเวย์เรื่องThe King and I

บ้านจิม ทอมป์สัน
บริเวณห้องรับแขกของเรือนใหญ่

“เรือนหลังแรกจากเดิมที่เป็นเรือนยกพื้นสูง คุณจิมสร้างห้องชั้นล่างให้เป็นห้องต้อนรับแขกที่เดินทางมาทางรถยนต์ นอกเหนือจากทางหน้าบ้านหลักที่มีท่าน้ำเพราะท่านเห็นว่าต่อไปคนจะเดินทางด้วยรถยนต์มากขึ้น ในห้องนอนก็มีห้องน้ำในตัว และสุขภัณฑ์อำนวยความสะดวก เรือนใหญ่ดีดตัวบ้านให้สูงและตีฝ้าเพื่อปิดทางเดินสายไฟ ส่วนไม้แกะสลักใต้กรอบหน้าต่างที่เรียกว่า‘หย่อง’ ซึ่งปกติแผ่นไม้ด้านในจะเรียบและโชว์ลวดลายแกะสลักวิจิตรไว้ด้านนอก ท่านก็กลับด้านเอาด้านที่แกะสลักหันเข้าบ้านเพื่อให้คนในบ้านและแขกที่มาได้ชื่นชมฝีมือช่าง” ตาลอธิบาย

บ้านที่เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว

ประตูไม้เก่าของโรงรับจำนำใช้เป็นประตูเชื่อมไปยังบริเวณพื้นที่ส่วนตัวของจิม ทอมป์สัน

ด้วยทักษะการเป็นสถาปนิก จิม ทอมป์สัน สามารถมิกซ์แอนด์แมทซ์ของเก่า ของสะสมมาจัดวางในบ้านได้อย่างลงตัว โคมไฟระย้าที่ได้มาจากพระตำหนักเก่าแก่หลังหนึ่งแขวนห้อยจากเพดานสูง ในขณะที่ตุ๊กตาแกะสลัก ‘นัต’ จากเมียนมา ซึ่งเชื่อว่าเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ตั้งประดับตรงช่องหน้าต่าง ประตูลายรดน้ำจากวัดแห่งหนึ่งในอยุธยาได้นำมาใช้ประกอบเป็นประตูสำหรับห้องๆ หนึ่ง

ส่วนประตูซี่กรงไม้สีดำทรงจีนของโรงรับจำนำแห่งหนึ่งที่จิม ทอมป์สันได้มาจากย่านค้าของเก่าแถวเวิ้งนครเกษม ถูกใช้เป็นประตูเชื่อมไปยังบริเวณพื้นที่ส่วนตัวของเขา ส่วนด้านข้างประตูโรงรับจำนำประดับด้วยโลหะสัมฤทธิ์จากเขมรอายุนับพันปี

ห้องเบญจงค์

ในห้องนอนของแขกมีโต๊ะเครื่องแป้งสไตล์วิคตอเรียน แต่ขาโต๊ะตัดสั้นเพื่อให้พอเหมาะกับส่วนสูงของคนไทยที่นิยมนั่งพื้นส่องกระจก ส่วนบริเวณห้องนั่งเล่นของเรือนใหญ่มีโคมไฟตั้งโต๊ะรูปทรงแปลกตาเพราะจิม ทอมป์สันดัดแปลงมาจากกลองโดยกลับหน้ากลองลงทำเป็นฐานและส่วนลำตัวกลองเป็นโครงติดหลอดไฟแทน ห้องถัดไปมีโต๊ะหมู่บูชาแบบจีนในขณะที่ผนังประดับด้วยผ้าปักลายเทพชุมนุมโดยช่างชาวเมียนมา

ระเบียงที่เชื่อมถึงกันในบ้านแต่ละหลังมีหลังคาปิดและประดับตกแต่งด้วยศิลปวัตถุล้ำค่า เช่น ผ้าพระบฏอายุ 200-400 ปีจำนวนกว่า100 ชิ้น ซึ่งเป็นผืนผ้าที่มีการเขียนภาพเรื่องราวเกี่ยวกับ พระพุทธเจ้า พุทธประวัติ หรือทศชาติชาดกหรือข้อคติธรรมคําสอนของพระพุทธเจ้า แต่จิม ทอมป์สันได้เมาท์กรอบเสริมด้วยผ้าไหมเพื่อความแข็งแรงและสวยงาม

“ผ้าพระบฏเป็นงานสะสมชุดแรกๆ ของคุณจิม ในขณะที่ท่านเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆและเห็นผ้าพระบฏเหล่านี้ถูกทิ้งไว้ตามใต้ถุนวัดจึงขอซื้อและนำมาเก็บรักษาไว้” มัคคุเทศก์สาวกล่าว

ผ้าพระบฏจัดแสดงรอบบริเวณระเบียง

ของสะสมที่เป็นยิ่งกว่าใจรักโดยส่วนตัว

ซอมเมอร์เซต มอห์ม นักเขียนชาวอังกฤษซึ่งเคยเป็นแขกในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ บ้านจิม ทอมป์สัน เมื่อ พ.ศ.2502 หลังจากบ้านสร้างเสร็จไม่นานเคยเขียนถึงงานสะสมของจิม ทอมป์สันไว้ว่า

“จิม ทอมป์สันยังเห็นว่าของสะสมของเขาเป็นยิ่งกว่าใจรักโดยส่วนตัว เขาเริ่มมองเห็นว่าศิลปวัตถุเหล่านั้นเป็นวิธีหนึ่งที่จะเก็บรักษาสมบัติล้ำค่าของชาติที่เหลืออยู่ไม่มากนักไว้ไม่ให้สูญหายทำลายไปจนหมดสิ้น”

กาสำหรับใส่ไวน์เขียนลายเทพพนมและนรสิงห์

ไฮไลต์ของงานสะสมอีกอย่างคือเครื่องเบญจรงค์อายุ 200-400 ปี ที่น่าสนใจคือ กาสำหรับใส่ไวน์เขียนลายเทพพนมและนรสิงห์โดยช่างชาวจีนโดยมีที่เติมไวน์อยู่ด้านล่างและเมื่อกลับก้นของกาลงตัวไวน์ไม่ไหลย้อนลง ใช้เก็บไวน์เวลาเดินทางด้วยเรือสำเภาและไวน์จะไม่โดนอากาศทำให้รสชาติไม่เปลี่ยน นอกจากนี้ยังมีเครื่องกระเบื้องลายน้ำทองอย่างวิจิตรและเครื่องกระเบื้องลายครามสมัยต้นรัตนโกสินทร์

ห้องทำงานของจิม ทอมป์สัน

“คุณจิมสะสมพระพุทธรูปจำนวนมาก ในห้องทำงานของท่านมีพระพุทธรูปหินปูนสมัยทวารวดีซึ่งท่านชอบมากโดยอ้างอิงจากไดอารีที่ท่านเขียน ท่านจึงนำมาไว้ที่ห้องทำงานโดยบอกว่าเมื่อเห็นแล้วทำให้จิตใจสงบ”

นอกจากหมู่เรือนไทยและศิลปวัตถุที่จัดแสดงแล้ว อีกโซนที่ทำให้ที่นี่เหมือนไม่ได้ตั้งอยู่กลางใจเมืองหลวงคือ บริเวณสวนซึ่งเกิดจากการชื่นชอบเดินป่าของจิม ทอมป์สัน ที่นี่ร่มรื่นด้วยต้นไม้เมืองร้อนหลากสายพันธุ์และเป็นจุดยอดนิยมอีกจุดหนึ่งของนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจสำหรับดีไซเนอร์หลายคนในการออกแบบลายผ้าให้แบรนด์ จิม ทอมป์สัน

ข้าวแช่นอกฤดูร้อน

ในส่วนของร้านอาหาร Jim Thompson A Thai Restaurant ได้นำข้าวแช่ เมนูฮิตและขายดีในช่วงหน้าร้อนกลับมาเป็นเมนูไฮไลต์ที่ให้บริการเฉพาะในช่วงวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ในราคาชุดละ 590 บาท (ไม่รวมภาษีและค่าบริการ) สำหรับรับประทานที่ร้านและราคาชุดละ 1,350 บาทสำหรับกิฟท์เซ็ตบรรจุในปิ่นโตห่อด้วยผ้าไหมลายเอกลักษณ์ของแบรนด์จิม ทอมป์สัน แนะนำให้จองล่วงหน้าเพราะมีจำนวนจำกัดในแต่ละวัน

“แต่เดิมช่วงพีคเราสามารถจำหน่ายข้าวแช่ในช่วงฤดูร้อนได้ถึง 70 เซ็ตต่อวันสำหรับทานที่ร้าน และแบบสั่งกลับบ้าน 50-70 เซ็ต แต่หลังการระบาดของโควิด-19 ยอดขายลดลงอย่างมากและตอนนี้เราเตรียมไว้ประมาณ 10 เซ็ตต่อวัน” นัทธีรา กล่าว

ข้าวแช่พร้อมเครื่องเคียง 7 ชนิด

เอกลักษณ์ของข้าวแช่ที่นี่คือใช้ข้าวเสาไห้ 2 สีคือ สีขาวและสีชมพูจากดอกบานไม่รู้โรย แช่มาในน้ำลอยดอกมะลิอบร่ำควันเทียนข้ามคืนให้มีกลิ่นหอมเย็น เสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียงตำรับชาววัง 7 ชนิด ได้แก่ ลูกกะปิที่กวนหลายชั่วโมงจนเนื้อเนียน พริกหยวกสอดไส้กุ้งและไก่สับห่อด้วยแหไข่เป็ด หอมแดงสอดไส้เนื้อปลาช่อนแดดเดียว ปลาเค็มชุบแป้งทอดจากเนื้อปลาอินทรีย์ผสมไก่บดและไข่ขาว ไชโป๊วผัดหวาน ปลายี่สนผัดหวาน และพริกแห้งสอดไส้ปลาช่อน โดยมีข้าวเหนียวมูนใบเตยคู่กับมะม่วงปิดท้ายเป็นของหวาน

ยำส้มโอ
ชุดปิ่นโต

อีกเมนูเด็ดคือยำส้มโอ (ราคา 160 และ 260 บาท) ที่ใช้ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่เพราะเนื้อไม่แข็งมากและรสหวานเหมาะมาทำเป็นยำเพราะเนื้อไม่เละเป็นน้ำ น้ำยำมีส่วนผสมของกะทิ น้ำตาลโตนด และมะนาว นำมาเคี่ยวให้เข้ากันออกรสเปรี้ยวหวานและเผ็ดเล็กน้อยจากน้ำพริกเผา ส่วนช่อม่วงไส้ไก่ (ราคา 160 และ 260 บาท) เป็นอีกเมนูเครื่องว่างไทยที่ไม่ควรพลาด

Fact File

  • พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน ในซอยเกษมสันต์ 2 กรุงเทพฯ (บีทีเอส: สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ) เปิดทุกวันระหว่างเวลา 11.00-18.00 น. ส่วนร้านอาหารเปิดตั้งแต่ 10.00-20.00 น.
  • ค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ 200 บาท และ 100 บาทสำหรับอายุ 10-22 ปี ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีเข้าชมฟรี
  • รายละเอียดเพิ่มเติม โทร 02-2167368 www.jimthompsonhouse.com
  • ชมนิทรรศการออนไลน์ถึงประวัติ จิม ทอมป์สัน ได้อีกช่องทางบน Google Arts & Culture

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว