เบื้องหลัง การซ่อมเอกสารโบราณ สมุดไทย คัมภีร์ใบลานอายุกว่า 100 ปี
Arts & Culture

เบื้องหลัง การซ่อมเอกสารโบราณ สมุดไทย คัมภีร์ใบลานอายุกว่า 100 ปี

Focus
  • หอสมุดแห่งชาติ ถือเป็นหน่วยงานหลักในการจัดเก็บ อนุรักษ์เอกสารโบราณที่มีอายุนับ 100 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในหมวดหนังสือสมุดไทยและคัมภีร์ใบลานนั้นมีมากกว่า 200,000 รายการที่อยู่ในการดูแล
  • นิทรรศการ “เกร็ดความรู้จากเอกสารโบราณ” จัดแสดงสมุดไทยและคัมภีร์ใบลานหาชมยาก พร้อมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการจารใบลานในอดีตและวิธีการซ่อมเอกสารโบราณ
  • การซ่อมเอกสารโบราณ เป็นภารกิจหลักของกลุ่มงานซ่อมสงวนรักษาหนังสือซึ่งต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญและความพิถีพิถัน

นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้ในการให้บริการการอ่านและสืบค้นเอกสารความรู้ในรูปแบบต่างๆแล้ว หอสมุดแห่งชาติ ยังเป็นหน่วยงานหลักของกรมศิลปากรในการจัดเก็บ อนุรักษ์ และ การซ่อมเอกสารโบราณ ที่มีอายุนับ 100 ปีขึ้นไปนับตั้งแต่แรกเริ่มดำเนินการในนาม “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” เมื่อ พ.ศ. 2448 ณ ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง

ซ่อมเอกสารโบราณ
สมุดไทยดำโคลงภาพฤาษีดัดตน

“เกร็ดความรู้จากเอกสารโบราณ” นิทรรศการล่าสุดของหอสมุดแห่งชาติจึงได้นำหนังสือสมุดไทยและคัมภีร์ใบลานหาชมยากเช่น สมุดไทยดำเรื่องลิลิตโองการแช่งน้ำ และสมุดไทยดำโคลงภาพฤาษีดัดตน มาจัดแสดงให้ผู้สนใจได้ชมฉบับจริง พร้อมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการจารใบลานในอดีต รวมทั้งวิธีการทำสำเนาจารึก ภาพเก่าเล่าเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านเอกสารโบราณของหอสมุดแห่งชาติจากอดีตถึงปัจจุบัน และที่น่าสนใจคือการเปิดทุกขั้นตอนเบื้องหลัง การซ่อมเอกสารโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสมุดไทย คำภีร์ใบลาน ซึ่งเป็นเอกสารโบราณเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี โดยผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 18 มกราคม พ.ศ. 2565 ณ ห้องวชิรญาณ 2-3 อาคาร 2 ชั้น 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ

การซ่อมเอกสารโบราณ
ห้องจัดแสดงนิทรรศการ “เกร็ดความรู้จากเอกสารโบราณ”

“กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก เป็นหน่วยงานหลักในการจัดเก็บ ดูแล และอนุรักษ์เอกสารโบราณ ที่มีอายุนับ 100 ปีขึ้นไป ประกอบด้วยจารึก คัมภีร์ใบลาน และหนังสือสมุดไทย โดยเฉพาะในหมวดหนังสือสมุดไทยและคัมภีร์ใบลานนั้นมีมากกว่า 200,000 รายการที่อยู่ในการดูแลและเราดำเนินการอนุรักษ์เรื่อยมานับตั้งแต่มีการก่อตั้งหอสมุดแห่งชาติ โดยหนังสือสมุดไทยที่เก่าแก่ที่สุดของสำนักหอสมุดแห่งชาติ คือ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ พุทธศักราช 2223 ส่วนคัมภีร์ใบลานนั้นก็เก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาเช่นกัน เช่น คัมภีร์ที่จารในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ.2148-2153) และสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2154-2171)” ศิวพร เฉลิมศรี นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ให้ข้อมูลถึงภารกิจการอนุรักษ์และ การซ่อมเอกสารโบราณ

การซ่อมเอกสารโบราณ
คลังเก็บเอกสารโบราณ

เอกสารโบราณที่ผ่านการทำความสะอาดและซ่อมแซมแล้วจะเก็บรักษาในคลังเอกสารโบราณที่ควบคุมอุณหภูมิระหว่าง 24-25 องศาเซลเซียส และควบคุมความชื้นไม่เกิน 50-60% นอกจากนี้ยังมีเครื่องจับปริมาณฝุ่นซึ่งจะร้องเตือนเมื่อมีค่าฝุ่นสูงกว่าปริมาณที่กำหนด และระบบดับเพลิงอัตโนมัติด้วยโฟมที่เป็นอันตรายต่อเอกสารโบราณน้อยกว่าน้ำ

“เอกสารโบราณที่อยู่ในรายการที่ต้องซ่อมแซมยังมีอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งเราก็ดำเนินการเรื่อยมา โดยทางกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึกจะพิจารณาว่าเอกสารรายการใดต้องส่งซ่อมแซม โดยหลักๆ ที่ต้องดำเนินการก่อนคือเอกสารที่มีเนื้อหาสำคัญและเป็นหัวข้อที่มีผู้ใช้บริการบ่อย เช่น จดหมายเหตุ และเอกสารที่ชำรุดมากต้องรีบซ่อมอย่างเร่งด่วน โดยก่อนส่งซ่อมเราจะจัดทำสำเนาไว้ก่อนในรูปแบบสื่อโสตทัศนวัสดุ เช่น ไมโครฟิล์ม และดิจิทัล” ศิวพรกล่าวเพิ่มเติม

การซ่อมเอกสารโบราณ
ใบลานและเหล็กจาร

ในการอนุรักษ์เอกสารโบราณนั้นเป็นภารกิจของ กลุ่มงานซ่อมสงวนรักษาหนังสือ โดยในนิทรรศการได้มีการจัดแสดงตัวอย่าง การซ่อมเอกสารโบราณ แบบต่าง ๆ เช่น การเชื่อมใบลานที่ฉีกหักและเสริมส่วนที่ขาดหายไปด้วยกระดาษสา การซ่อมสมุดไทยขาวโดยการหยอดเยื่อกระดาษสาและการเสริมกระดาษสาให้มีความหนาเท่าสมุดไทย รวมไปถึงวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน

“กลุ่มงานซ่อมสงวนรักษาหนังสือมีเจ้าหน้าที่ประจำ 6 คนโดยงานหลักๆคือ การซ่อมเอกสารโบราณ การซ่อมและอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานและสมุดไทยอายุมากกว่า 100 ปี ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพชํารุดในหลายลักษณะเช่น ฉีกขาด เนื้อกระดาษขาดหาย เปื่อยยุ่ย มีร่องรอยของแมลงและเชื้อรา เรามีหน้าที่หยุดยั้งหรือชะลอการชํารุดเสื่อมสภาพที่จะเกิดขึ้น และซ่อมแซมเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้กลับคืนใกล้เคียงสภาพเดิมโดยไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต่อรูปแบบและเนื้อวัสดุ นอกจากนี้กระบวนการที่ใช้ในการซ่อมสามารถแก้ไขให้กลับดังเดิมได้หรือนำมาซ่อมใหม่ได้หากเกิดปัญหาในอนาคต” อุษา สาริกบุตร นายช่างพิมพ์ชำนาญการ กลุ่มงานซ่อมสงวนรักษาหนังสืออธิบาย

การซ่อมเอกสารโบราณ
อุษา สาริกบุตร สาธิตการซ่อมสมุดไทยขาว

อุษาได้สาธิตวิธีการซ่อมแซมสมุดไทยเบื้องต้นโดยเริ่มจากการแช่แข็ง (Deep Freezing) โดยการนำสมุดไทยบรรจุในถุงพลาสติกอย่างหนาและปิดให้มิดชิดไม่ให้อากาศเข้าและนำไปแช่แข็งในเครื่องทำความเย็นที่อุณหภูมิ -13 ถึง -30 องศาเซลเซลเซียสเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อยเพราะแมลงโดยเฉพาะมอดหนังสือจะตายถ้าอยู่ในอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันและในระยะเวลาที่เหมาะสม หลังจากนั้นนำมาวางในอุณหภูมิห้องอีกประมาณ 1 สัปดาห์โดยยังไม่เปิดปากถุงเพื่อปรับสภาพอากาศภายในและนอกถุง

การซ่อมเอกสารโบราณ
ขั้นตอนทำความสะอาดแห้งโดยใช้แปรงขนนุ่มและเครื่องดูด (Suction)

จากนั้นเป็นขั้นตอนการทำความสะอาดแห้งโดยทางกลุ่มงานซ่อมสงวนรักษาหนังสือได้นำเครื่องดูดฝุ่นมาดัดแปลงทำเป็นเครื่องดูด (Suction) เพื่อดูดสิ่งสกปรก เช่น เชื้อราและฝุ่นต่างๆลงไปทางปลายท่อไม่ให้ฟุ้งกระจาย เจ้าหน้าที่จะใช้แปรงขนนิ่มปัดฝุ่นโดยพลิกเปิดเล่มสมุดขึ้นทีละแผ่นและปัดฝุ่นละอองออกจากหน้ากระดาษจากด้านในสู่ด้านนอกไปในทางเดียวกัน เมื่อทำความสะอาดหมดทั้งเล่มจึงนำไปผึ่งในตู้ดูดความชื้น

ขั้นตอนทำความสะอาดเปียกโดยใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ซับให้ทั่วทุกแผ่นและทั้งเล่ม

“ขั้นตอนต่อไปคือการทำความสะอาดเปียกเพื่อขจัดสิ่งสกปรกที่ฝังแน่นในเนื้อกระดาษด้วยการใช้สำลีชุบเอทิลแอลกอฮอล์ 75% ค่อยๆซับให้ทั่วทุกแผ่นและทั้งเล่ม แต่กระบวนการนี้ใช้กับสมุดไทยขาวเท่านั้น ส่วนสมุดไทยดำจะไม่ใช้เนื่องจากสมุดไทยดำนั้นเคลือบด้วยผงถ่านและมักเขียนดินสอขาวและเปลือกหอยมุกจึงอาจทำให้ข้อความเลอะเลือนได้ เมื่อซับทั้งด้านหน้าและหลังเสร็จแล้วจะทิ้งไว้จนกว่าจะแห้ง สำหรับ การซ่อมเอกสารโบราณ เราจะทำงานบนโต๊ะกระจกยาวประมาณ 2 เมตรเพราะต้องกางสมุดไทยออกทั้งเล่มซึ่งส่วนใหญ่มีประมาณ 50 หน้าเป็นอย่างต่ำ” อุษากล่าว

หนังสือสมุดไทยเป็นภูมิปัญญาของคนสมัยโบราณในการนำเปลือกไม้ต่างๆเช่น เปลือกข่อยเปลือกปอ และเปลือกสา มาทำเป็นกระดาษโดยเนื้อกระดาษค่อนข้างหนาและมีความเหนียวทนทานโดยทั่วไปมี 2 สี คือ สีดํา เรียกว่า สมุดไทยดํา เพราะย้อมกระดาษเป็นสีดํา และสีขาวเรียกว่า สมุดไทยขาว เพราะคงสีไว้ตามธรรมชาติรูปเล่มคือการนำกระดาษมาพับเป็นกลีบกลับไปกลับมาลักษณะคล้ายผ้าสไบของผู้หญิงสมัยก่อนจนเป็นสมุดขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าไม่มีการเย็บเล่ม ส่วนความหนาและความกว้างยาวตามความต้องการของผู้ใช้ กลีบหนึ่งคือรอยพับ 2 หน้าและเขียนได้ทั้ง 2 ด้าน มักใช้บันทึกเรื่องราวทางศาสนา เช่น ไตรภูมิชาดก พงศาวดาร ตำรา และวรรณคดี

เสริมความแข็งแรงส่วนที่ชำรุดด้วยกระดาษสาทำมือ

กระบวนการต่อไปเป็นการซ่อมส่วนที่ชำรุดขาดหายให้เกิดความแข็งแรงด้วยกระดาษสาเพราะมีความเหนียวและเยื่อกระดาษไม่มีฤทธิ์เป็นกรด

“สำหรับสมุดไทยขาวเราจะใช้กระดาษทำมือสีธรรมชาติเนื่องจากมีเยื่อกระดาษที่ช่วยยึดเกาะกับเอกสารเดิมและมีสีกลมกลืนกันโดยนำมาทบให้มีความหนาเท่ากับสมุดไทยเล่มที่จะซ่อม (โดยเฉลี่ยประมาณ 8 ชั้น) จากนั้นนำกระดาษสามาทาบและวาดตามรอยแผลด้วยดินสอ ต่อไปใช้เข็มปรุตามรอยที่วาดและค่อยๆฉีกตามรอยปรุ เราจะเอาเยื่อกระดาษสาไปเกาะกับเนื้อสมุดไทยส่วนที่ขาดหายทีละชั้นๆโดยการทากาวเมทิลเซลลูโลส โต๊ะที่ใช้จึงต้องเป็นโต๊ะกระจกเพราะเราจะผนึกงานตอนที่ยังไม่แห้ง เป็นงานที่ต้องทำอย่างใจเย็นเพราะเล่มหนึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์” อุษา อธิบายขั้นตอนที่ต้องใช้ความพิถีพิถันและความอดทนซึ่งเป็นหัวใจของ การซ่อมเอกสารโบราณ

สมุดพระมาลัยที่ชำรุดอย่างหนักและรอการซ่อมแซม

คนไข้ที่อยู่ในอาการสาหัสอีกรายที่กำลังรอการรักษาคือสมุดพระมาลัยซึ่งเป็นหนังสือสมุดไทยที่นิยมสร้างให้มีขนาดใหญ่กว่าสมุดธรรมดา ส่วนใหญ่จะมีขนาดกว้าง 13 เซนติเมตรและยาว 66 เซนติเมตร และมักมีภาพวาดประกอบ

“เล่มนี้เราเพิ่งได้รับมาและชำรุดเสียหายมาก ความชื้นทำให้หน้ากระดาษเกาะติดกันเป็นปึก มีเชื้อราจำนวนมาก บางหน้ามีภาพวาดลงสีด้วยทำให้เกาะกันแน่นและปรุป่น ถ้าซ่อมเสริมความแข็งแรงน่าจะต้องใช้กระดาษถึง 20 ชั้นขึ้นไป เล่มนี้น่าจะใช้เวลาซ่อมเป็นปี สมุดพระมาลัยส่วนใหญ่เป็นเอกสารโบราณที่สำคัญ บางเล่มเป็นตำรายาหายาก” อุษากล่าว

ขั้นตอนการทำความสะอาดใบลานโดยใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ซับให้ทั่วทุกใบ

ในส่วนของคัมภีร์ใบลานจะใช้กระดาษสาในการซ่อมแซมและเสริมส่วนที่ขาดหายไปเช่นกันแต่นิยมใช้กระดาษสาที่ผลิตด้วยเครื่องจักรเนื่องจากมีความบางและความเหนียวอีกทั้งเยื่อกระดาษเรียบเสมอกันทั้งแผ่น โดยเริ่มจากการแกะใบลานออกมาทีละแผ่นเพื่อทำความสะอาดด้วยสำลีชุบเอทิลแอลกอฮอล์75% เมื่อแห้งแล้วจึงเพิ่มความชุ่มชื้นให้ใบลานเก่าที่กรอบและเปราะโดยการใช้สำลีชุบน้ำมันมะกอกพอหมาดทาบนใบลานไปในทางเดียวกัน จากนั้นนำมาตากที่อุณหภูมิห้องปกติให้แห้งและนำเข้าตู้ดูดความชื้น

ใช้น้ำมันมะกอกทาพอหมาดเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ใบลานเก่าที่กรอบและเปราะ

ขั้นตอนการซ่อมแซมส่วนที่ขาดหายไปคือการใช้กระดาษสาตัดให้มีขนาดใหญ่กว่ารอยขาดเล็กน้อยและเสริมทีละแผ่นโดยการทากาวเมทิลเซลลูโลสจนกว่าจะมีความหนาเท่าใบลาน หากใบลานปรุพรุนทั้งแผ่นและอาจฉีกขาดได้ง่ายต้องเสริมความแข็งแรงด้วยการเคลือบด้วยกระดาษสาโดยทากาวเมทิลเซลลูโลสให้ทั่วทั้งใบลานและใช้กระดาษสาอย่างบางปิดทับหน้าใบลานทั้งแผ่น จากนั้นทากาวบนกระดาษสาและเกลี่ยให้ทั่วเพื่อให้เรียบติดกับใบลาน

“การเสริมกระดาษสาให้มีความหนาเท่าใบลานเฉลี่ยประมาณ 4-5 ชั้น คัมภีร์ใบลาน 1 คัมภีร์มีจำนวนผูกของใบลานไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่ประมาณ 10 ผูกและที่เราเคยเจอมากสุดคือ 35 ผูก คัมภีร์ใบลานเสียหายและถูกทำลายไปมากนอกจากปัจจัยเรื่องสภาพแวดล้อมและการเก็บรักษาแล้ว สาเหตุสำคัญคือมนุษย์เรานี่แหละเพราะมีความเชื่อว่าคัมภีร์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงมักนำไปทำเป็นพระผง” อุษากล่าว

ใบลานและอุปกรณ์ที่ใช้ในการจารใบลาน

คัมภีร์ใบลานเป็นเอกสารโบราณที่บันทึกลายลักษณ์อักษรที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาโดยการจารตัวหนังสือลงบนใบลานด้วยเหล็กจารจึงมีความคงทนอยู่ได้นับร้อยปีขึ้นไป เมื่อจารจบแต่ละบทจะใช้เส้นเชือกขนาดเล็กที่เรียกว่า สายสนอง ร้อยใบลานแต่ละแผ่นให้เป็นผูก ส่วนมากผูกหนึ่งจะมีประมาณ 24 ใบลาน แต่เนื่องจากคัมภีร์แต่ละเรื่องมีความสั้น-ยาวไม่เท่ากันทำให้จำนวนผูกต่างกันไป

สมุดไทยดำลายพระหัตถ์ภาษาอังกฤษและภาษาไทยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากเอกสารโบราณที่นำมาจัดแสดงชั่วคราวในนิทรรศการแล้ว ผู้สนใจสามารถชมนิทรรศการถาวร ณ ห้องนิทรรศการและห้องบริการเอกสารโบราณอาคาร 2 ชั้น 4 ในวันและเวลาราชการโดยจัดแสดงเอกสารโบราณทรงคุณค่าอีกจำนวนมาก เช่น สมุดไทยที่ปรากฏลายพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 4-6 คัมภีร์ใบลานที่จารด้วยแบบอักษรต่าง ๆ เช่น อักษรขอม อักษรมอญ อักษรเทวนาครี อักษรปัลลวะ และอักษรธรรมล้านนา

ซ่อมเอกสารโบราณ

นอกจากนี้ยังจัดแสดงศิลาจารึก เช่น ศิลาจารึกปราสาทพนมรุ้ง (ประมาณ พ.ศ.1701-1800) และศิลาจารึกเสาแปดเหลี่ยมจากศาลสูง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี (ประมาณ พ.ศ.1314) และตู้พระธรรมที่ประดับตกแต่งด้วยลายรดน้ำปิดทองที่นิยมเรียกว่า ตู้ลายทองซึ่งสร้างขึ้นอย่างวิจิตรตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์

Fact File

  • นิทรรศ “เกร็ดความรู้จากเอกสารโบราณ” จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 18 มกราคม พ.ศ. 2565ณ ห้องวชิรญาณ 2-3 อาคาร 2 ชั้น 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน กรุงเทพฯ
  • ห้องนิทรรศการและห้องบริการเอกสารโบราณ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น.
  • สำนักหอสมุดแห่งชาติให้บริการสืบค้นข้อมูลเอกสารโบราณในระบบออนไลน์ซึ่งประกอบไปด้วยฐานข้อมูลจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย และตู้พระธรรมสามารถสืบค้นได้ผ่านเว็บไซต์ http://manuscript.nlt.go.th
  • รายละเอียดเพิ่มเติมโทร.02-280-9828-32 หรือคลิก https://www.nlt.go.th/

อ้างอิง

  • หนังสือ ความรู้ด้านการซ่อมอนุรักษ์หนังสือสมุดไทย โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร พ.ศ.2554
  • หนังสือ ความรู้ด้านการซ่อมอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร พ.ศ.2556

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม