เปิดจดหมายเหตุชีวิต อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ บรมครูผู้บุกเบิกงานอนุรักษ์จิตรกรรมไทย
Arts & Culture

เปิดจดหมายเหตุชีวิต อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ บรมครูผู้บุกเบิกงานอนุรักษ์จิตรกรรมไทย

Focus
  • ธีระ วานิชธีระนนท์ แห่ง 333 Galleryได้นำผลงานสะสมส่วนตัวที่เขาเก็บสะสมเอกสาร สมุดบันทึก สมุดสเก็ตช์ จดหมาย และข้าวของอื่นๆอีกมากมายของ เฟื้อ หริพิทักษ์ มาจัดแสดงในรูปแบบ Archive
  • เฟื้อ หริพิทักษ์ (พ.ศ.2453-2536) เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสต์ในเมืองไทยและอุทิศตนในการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะงานอนุรักษ์หอพระไตรปิฎก ที่วัดระฆังโฆษิตารามที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานบูรณะที่มีรูปแบบของการอนุรักษ์ศิลปกรรมที่สมบูรณ์ที่สุด
  • สิ่งที่น่าสนใจในงาน Archive คือเอกสารและผลงานของอาจารย์เฟื้อขณะใช้ชีวิตที่อินเดียในช่วง พ.ศ. 2484-2489 ในฐานะนักศึกษาที่ศานตินิเกตันเพียงไม่กี่เดือน ส่วนที่เหลือเป็นการใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในค่ายกักกันเชลยสงคราม

สมุดบันทึก สมุดสเก็ตช์ งานลอกลายจิตรกรรมฝาผนัง จดหมาย หนังสือ รูปถ่าย ฟิล์มสไลด์ โล่รางวัล เกียรติบัตร หลอดสี พู่กัน และสิ่งละอันพันละน้อยที่เคยอัดแน่นและปิดล็อกอยู่ในตู้เหล็กขนาดใหญ่ 4 ตู้และอีก 1 หีบสมบัติของ อาจารย์เฟื้อ หรือ เฟื้อ หริพิทักษ์ ได้ถูกเปิดขึ้นอีกครั้งและนำมาเรียงร้อยเรื่องราวใหม่เพื่อบอกเล่าชีวประวัติและการสร้างสรรค์งานของศิลปินผู้ล่วงลับที่ฝากผลงานยิ่งใหญ่ไว้ให้แผ่นดินมากมาย

อาจารย์เฟื้อ
ภาพถ่ายอาจารย์เฟื้อขณะศึกษาที่ประเทศอิตาลี

อาจารย์เฟื้อ (พ.ศ.2453-2536) เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสต์ในเมืองไทยและอุทิศตนในการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆโดยเฉพาะงานอนุรักษ์หอพระไตรปิฎก ที่วัดระฆังโฆษิตารามที่ใช้เวลาร่วม20 ปีและได้รับการยอมรับว่าเป็นงานบูรณะที่มีรูปแบบของการอนุรักษ์ศิลปกรรมที่สมบูรณ์ที่สุด ท่านยังเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลแมกไซไซเมื่อ พ.ศ. 2526 สาขาบริการชุมชนและได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์เมื่อ พ.ศ. 2528

อาจารย์เฟื้อ
พื้นที่จัดแสดงงาน Archive ของอาจารย์เฟื้อที่ 333 Gallery สาขาถนนสุรศักดิ์

ธีระ วานิชธีระนนท์ ผู้ก่อตั้ง 333 Gallery ที่กรุงเทพฯได้ใช้เวลาสืบค้นร่องรอยของอดีตจากเอกสารมากมาย สมุดบันทึก ผลงานสเก็ตช์ และสิ่งของต่างๆของอาจารย์เฟื้อที่เขาเก็บสะสมและรวบรวมมากว่า 8 ปี และเปิดพื้นที่บริเวณชั้น 3 ของแกลเลอรีสาขาถนนสุรศักดิ์จัดแสดงสิ่งของเหล่านี้ในรูปแบบ Archive หรือแบบจดหมายเหตุ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาชีวิต ความคิดเบื้องหลังการสร้างสรรค์และกระบวนการทำงานของศิลปินที่ได้ชื่อว่าเป็น“ครูใหญ่ในวงการศิลปะ”

จุดเริ่มต้นสะสมงาน Archive ของบรมครู

“ผมเริ่มต้นสะสมงานศิลปะ เช่นภาพสเก็ตช์และภาพสีน้ำมันของศิลปินเวียดนามระดับมาสเตอร์ อย่าง Bui Xuan Phai และ To Ngoc Van เพราะทำธุรกิจที่เวียดนามมาร่วม 30 ปี จนเมื่อ 8 ปีที่แล้วมีนักค้าของเก่าชวนสะสมงาน Archive ของอาจารย์เฟื้อ ในขณะนั้นผมยังไม่รู้ประวัติชีวิตและผลงานของอาจารย์อย่างละเอียดมากนัก แต่ผมคิดว่างานของศิลปินเวียดนามเรายังเก็บสะสมได้ งานของศิลปินไทยระดับมาสเตอร์เรายิ่งต้องสะสม” ธีระกล่าว

อาจารย์เฟื้อ
ธีระ วานิชธีระนนท์

เมื่อตัดสินใจดังนั้นธีระจึงเหมาซื้อตู้เหล็กใหญ่ 2 ตู้ที่เก็บเอกสารต่างๆของอาจารย์เฟื้อมาในราคา 2 ล้านบาท เขาใช้เวลาเป็นปีในการอ่านและศึกษาเอกสารต่างๆที่อาจารย์เก็บไว้ เอกสารและผลงานจำนวนมากอยู่ในสภาพทรุดโทรมโดยเฉพาะงานชุดภาพคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่าง ๆ ที่อาจารย์เฟื้อใช้กระดาษแก้วในการคัดลอกและปัจจุบันชำรุดกรอบเปราะแตกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆจนต้องส่งไปให้อาจารย์ขวัญจิต เลิศศิริ ผู้ที่ได้ชื่อว่า “หมอศิลปะ” ซ่อมแซมเพื่อให้กลับฟื้นคืนสภาพแข็งแรงขึ้น

อาจารย์เฟื้อ
งานคัดลอกลายจิตรกรรมฝาผนังของ อาจารย์เฟื้อ ที่ยังไม่ได้ผ่านการอนุรักษ์

“ในตู้เหล็ก 2 ตู้แรกที่ผมได้มาส่วนใหญ่เป็นงานสเก็ตช์ต่าง ๆ งานคัดลอกลายจิตรกรรมฝาผนัง ไดอารี สมุดโน้ตและจดหมายที่ท่านเขียนโต้ตอบกับคุณสมถวิล ภรรยาคนที่ 2 ของท่าน ยิ่งศึกษาชีวิตและผลงานของอาจารย์ผมก็ยิ่งประทับใจ ภาพวาดของท่านโดยเฉพาะชุดที่วาดขณะศึกษาที่ประเทศอิตาลีแสดงให้เห็นว่าฝีมือของท่านอยู่ในระดับท็อปของโลกได้เลย แต่ท่านกลับอุทิศตนในการอนุรักษ์จิตรกรรมไทยอย่างแท้จริง”

จิ๊กซอว์ที่เติมเต็มภาพชีวิตและผลงานให้สมบูรณ์ขึ้น

ในวาระครบรอบ 107 ปีชาตกาลของอาจารย์เฟื้อเมื่อ พ.ศ.2560 ธีระนำงาน Archive บางส่วนที่เขาสะสมไว้มาจัดแสดงเป็นครั้งแรกที่ 333 Gallery อาคารริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อกในช่วงเดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนเกิดของอาจารย์เฟื้อ และขณะกำลังจัดเตรียมงานเพื่อแสดงในปีถัดไปเขาก็ได้งานของอาจารย์มาเพิ่มอย่างไม่คาดคิดและช่วยต่อจิ๊กซอว์ให้การรวบรวมเอกสารหลักฐานสมบูรณ์มากขึ้น

“ก่อนจะถึงวันคล้ายวันเกิดครบรอบปีที่ 108 ของอาจารย์ (22 เมษายน พ.ศ. 2561)ไม่นาน ผมได้รับการติดต่อจากญาติของคุณถวิล (ภรรยาคนที่ 2 ของอาจารย์เฟื้อ) เพราะเห็นว่าผมเก็บงานของอาจารย์ ผมก็ไปดูที่บ้านและได้ข้าวของของอาจารย์ที่เก็บอยู่ในตู้มาอีก 2 ตู้ และอีก 1 หีบสมบัติขนาดใหญ่ ที่สำคัญคือมีชุดงานสเก็ตช์จำนวน 80 ภาพที่ท่านคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆในภาคเหนือรวมถึงงานสเก็ตช์โบราณสถานต่างๆ”

อาจารย์เฟื้อ
หีบสมบัติเก็บเอกสารและผลงานบางส่วนของอาจารย์เฟื้อ

เอกสารและผลงานจำนวนมากอยู่ในสภาพชำรุดและต้องผ่านมือ อาจารย์ขวัญจิต ช่างอิสระของไทยระดับเซียนที่ทำงานอนุรักษ์และซ่อมงานศิลปะเพื่อช่วยให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

บางส่วนของงานลอกลายจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่าง ๆ ภาพสเก็ตช์โบราณสถาน สมุดบันทึก รูปถ่าย หนังสือ พู่กันและหลอดสีที่ท่านเคยใช้ได้นำมาจัดแสดงที่แกลเลอรี นอกจากนี้ธริศา วานิชธีระนนท์ ลูกสาวของธีระและควบตำแหน่งผู้จัดการของแกลเลอรีได้ตามรอยเส้นทางงานอนุรักษ์ของอาจารย์โดยใช้เวลากว่า 1 สัปดาห์ตระเวนขับรถจากกรุงเทพฯ ล่องขึ้นเหนือเพื่อถ่ายภาพวัดต่างๆตามที่อาจารย์เฟื้อสเก็ตช์ภาพเอาไว้แล้วนำมาเทียบเคียงกับผลงานของอาจารย์ เช่นที่ วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุและวัดพุทไธศวรรย์ที่ จ.อยุธยา, วัดจามเทวี จ.ลำพูน, วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง, วัดภูมินทร์ จ.น่าน และวัดพระสิงห์ จ.เชียงราย

เทียบเคียงผลงานสเก็ตช์ของอาจารย์เฟื้อกับภาพถ่ายสถานที่จริงในปัจจุบัน (ภาพ: 333Gallery)

“แม้ปัจจุบันเรามี GPS นำทาง แต่บางวัดก็วกวนหายากกว่าจะเจอ หากลองนึกย้อนไป 40-50 ปีที่แล้วว่าอาจารย์เฟื้อต้องบุกป่าฝ่าดงแค่ไหนในการออกสำรวจไปยังวัดต่างๆเพื่อคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ไม่มีใครเหลียวแล งานสเก็ตช์ของท่านแม่นยำมากเพราะเมื่อเห็นสถานที่จริงเรารู้เลยว่าเรามาถูกที่แล้ว ภาพจิตรกรรมฝาผนังในหลายๆวัดได้เลือนรางหรือโบราณสถานบางแห่งชำรุดทรุดโทรมไปมากแต่งานของอาจารย์เฟื้อสามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการอนุรักษ์ได้เป็นอย่างดี” ธริศากล่าว

เฟื้อ หริพิทักษ์

“อาจารย์เฟื้อเป็นคนช่างเก็บ ท่านเก็บแม้กระทั่งเมนูอาหารในเรือที่ท่านเดินทางไปศึกษาต่อที่อิตาลี หรือแม้แต่บิลเงินสดซื้อโคคาโคล่า 1 กระป๋องขณะอยู่ที่นั่น เอกสารที่เก็บในตู้และในหีบมีเป็นจำนวนมากและต้องใช้เวลาในการศึกษาและเรียบเรียงเรื่องราวเพื่อย้อนรอยชีวิตและการทำงานของท่าน” ธีระกล่าวเสริมพร้อมกับเปิดหีบสมบัติของอาจารย์ที่เต็มไปด้วยแฟ้มเอกสารและสิ่งของให้ชม

ศิลปินผู้ยึดมั่นในแนวทางขบถของตัวเอง

ตั้งแต่วัยหนุ่มอาจารย์เฟื้อมีวิญญาณขบถและแนวทางของตัวเองชัดเจน เขาเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างถึงปีที่ 5 แต่ไม่จบเพราะไม่ยอมวาดรูปตามหลักสูตรของโรงเรียน

“ผมก็ไม่ได้วิเศษอะไรหรอก ผมแหกคอกออกมา อารมณ์ตอนนั้นมันรุนแรง เพาะช่างเขามีแนวของเขา มีแบบแผนชัดเจน ตามแนวการสอนของโรงเรียนที่ต้องการผลิตนักเรียนให้เป็นครูสอนศิลปะตามโรงเรียน แต่ผมไม่ยอม ผมอยากได้ศิลปะจริงๆ” อาจารย์เฟื้อเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสารสารคดีฉบับเดือนมิถุนายน2533

เฟื้อ หริพิทักษ์

อาจารย์เฟื้อจึงออกมาเรียนเขียนรูปเองกับขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิตผู้เคยใช้ชีวิตในยุโรปกว่า 20 ปีและมีความรู้งานศิลปะตะวันตกมากที่สุดคนหนึ่งในขณะนั้น และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ท่านเข้าใจเรื่องการใช้สีและการถ่ายทอดบรรยากาศซึ่งเป็นหัวใจของการเขียนแบบอิมเพรสชันนิสต์

เมื่ออาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม (ต่อมาคือมหาวิทยาลัยศิลปากร) อาจารย์เฟื้อก็ได้มาสมัครเป็นศิษย์รุ่นแรกในปี พ.ศ.2476และเข้าเรียนวิชาจิตรกรรมกับพระสรลักษณ์ลิขิต แต่เรียนได้เพียงปีเดียวก็ลาออกมาขอเรียนพิเศษกับอาจารย์ศิลป์โดยตรง

เฟื้อ หริพิทักษ์

หลังจากนั้นอาจารย์เฟื้อตั้งใจจะไปศึกษาศิลปะเพิ่มเติมที่ประเทศอิตาลี แต่ระหว่างนั้นได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจารย์ศิลป์จึงแนะนำให้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวิศวภารตี ศานตินิเกตัน ประเทศอินเดียซึ่งก่อตั้งโดยปราชญ์และมหากวี รพินทรนาถ ฐากุร

อาจารย์เฟื้อ ออกเดินทางในปีพ.ศ.2484 ด้วยเงินสนับสนุนจากภรรยาคือ ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ กฤดากร ซึ่งชีวิตรักของทั้งคู่คือตำนานของหญิงสูงศักดิ์และศิลปินไส้แห้ง อาจารย์เฟื้อไปอินเดียโดยไม่มีประกาศนียบัตรใดๆนอกจากใบรับรองที่อาจารย์ศิลป์ช่วยเขียนให้

ชีวิตที่ศานตินิเกตันและในค่ายกักกันเชลยสงคราม

อาจารย์เฟื้อ ใช้ชีวิตในอินเดียในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2484-2489 แต่เป็นการใช้ชีวิตนักศึกษาเพียงไม่กี่เดือน ที่เหลือเป็นการใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในค่ายกักกันเนื่องจากเมื่อสงครามแผ่ขยายมายังทวีปเอเซีย รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ลงนามสัญญากับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้นักเรียนไทยในอินเดียโดนจับกุมคุมขังในฐานะเชลยสงครามเพราะอินเดียเป็นประเทศในกลุ่มฝ่ายสัมพันธมิตร

เฟื้อ หริพิทักษ์

เอกสารและผลงานในช่วงชีวิตของอาจารย์เฟื้อที่อินเดียไม่ได้มีการกล่าวถึงมากนัก แต่นับว่าเป็นโชคดีของธีระที่เขาได้รับการติดต่อจากเพื่อนซึ่งเป็นนักวิชาการชาวสิงคโปร์ว่ามีนักประวัติศาสตร์และคิวเรเตอร์ชาวอินเดียชื่อ Sushobhan Adhikary ที่ทำงานที่ศานตินิเกตันเก็บเอกสารของอาจารย์เฟื้อขณะที่ท่านใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น

เฟื้อ หริพิทักษ์

“เพื่อนชาวสิงคโปร์ของผมเป็นศาสตราจารย์ที่กำลังศึกษาเรื่องนักเรียนชาวเอเชียที่ศึกษาที่ศานตินิเกตัน เขาเดินทางไปศึกษาหาข้อมูลที่นั่นและได้พบกับอาจารย์Sushobhan Adhikary ซึ่งท่านได้เก็บเอกสารและผลงานของอาจารย์เฟื้อไว้โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นงานของใคร แต่เพื่อนผมรู้ว่าเป็นงานของอาจารย์เฟื้อจึงบอกเขาว่าที่ไทยมีคนเก็บ Archive งานของอาจารย์และให้ผมเขียนจดหมายติดต่อไปหาอาจารย์ Sushobhan”

ธีระจึงเขียนจดหมายไปขอความร่วมมือจากอาจารย์ Sushobhan นำเอกสารเหล่านั้นมาจัดแสดงในนิทรรศการ 108 ปีชาตกาลของ อาจารย์เฟื้อ เมื่อ 2 ปีก่อนพร้อมทั้งเชิญเขาให้มาบรรยายในครั้งนั้นด้วย ต่อมาอาจารย์ Sushobhan ได้มอบเอกสารและผลงานทั้งหมดให้ธีระเก็บรักษาไว้ซึ่งธีระเรียกว่า “ชุดเติมเต็มที่ศานตินิเกตัน”

เอกสารและผลงานที่บอกเล่าช่วงชีวิตที่ผกผันในอินเดีย

บางส่วนของ “ชุดเติมเต็มที่ศานตินิเกตัน” ได้นำมาจัดแสดงใน Archive ครั้งนี้ด้วย เช่น จดหมายของอบานินทรนาถ ฐากุร (Abanindranath Tagore) ผู้เป็นหลานของรพินทรนาถ ฐากุร ตอบกลับจดหมายของ อาจารย์เฟื้อ ที่แสดงความจำนงเข้าเรียนที่ศานตินิเกตัน และจดหมายที่อาจารย์ศิลป์เขียนถึงนันทลาล โบส (Nandalal Bose) ผู้อำนวยการศานตินิเกตันในขณะนั้นเพื่อแนะนำตัวอาจารย์เฟื้อ (ต้นฉบับจริงไม่มีแต่อาจารย์เฟื้อคัดลอกและเก็บรักษาไว้) รวมถึงใบตอบรับอย่างเป็นทางการลงนามโดยนันทลาล โบสให้เฟื้อ ทองอยู่ (นามสกุลในขณะนั้น) เข้าเรียนที่นั่น

เฟื้อ หริพิทักษ์
ใบตอบรับอย่างเป็นทางการให้เฟื้อ ทองอยู่ (นามสกุลในขณะนั้น) เข้าเรียนที่ศานตินิเกตัน

นอกจากนี้ยังมีจดหมายต้นฉบับภาษาอังกฤษที่ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ กฤดากร ภรรยาคนแรกของท่านเขียนถึงขณะอาจารย์เฟื้ออยู่ที่อินเดียและเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายของเธอ ’รงค์ วงษ์สวรรค์เคยเขียนเล่าไว้ในงานเขียนเรื่อง “เฟื้อ หริพิทักษ์” ว่า “เฟื้อเก็บเอาไว้อย่างทะนุถนอม (โดยผนึกกาวไว้กับผืนผ้า และม้วนไว้ในกลักป้องกันแมลงกัดทำลาย)”

อาจารย์เฟื้อ
ภาพสเก็ตช์ลูกชายที่อาจารย์เฟื้อวาดขณะอยู่ที่อินเดียนำมาเข้ากรอบและจัดแสดงคู่กับภาพถ่ายเก่า

“มีหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งด้านในมีรูปดรออิ้งลูกชายของท่าน (ทำนุ หริพิทักษ์) จึงคาดว่าเมื่อได้รับจดหมายจากภรรยาซึ่งมีข้อความกล่าวถึงลูกด้วย อาจารย์เฟื้อ อาจคิดถึงลูกจึงวาดรูปนั้น” ธีระตั้งข้อสังเกต

“ในช่วงที่อาจารย์เฟื้อไปถึงอินเดียได้ไปอยู่กับอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ที่อาคารไชนีส ของ ดร.ตัน นักธุรกิจชาวจีนที่เป็นคนสำคัญในการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างจีนกับอินเดีย ช่วงที่อาศัยอยู่ที่นั่นอาจารย์เฟื้อก็ได้สเก็ตช์ภาพสมาชิกในครอบครัวของดร.ตันลงในสมุดโน้ตเล่มเล็ก ๆ ซึ่งเรานำมาจัดใส่กรอบแสดงร่วมกับภาพถ่ายของครอบครัว ดร.ตัน”

นอกจากนี้ยังมีหนังสือจำนวนหนึ่งที่อาจารย์เฟื้อนำออกมาจากค่ายกักกันเพราะมีลายเซ็นของเจ้าหน้าที่อนุญาตให้นำออกจากค่ายได้ รวมทั้งภาพสเก็ตช์ที่อาจารย์เฟื้อวาดผู้คนและทิวทัศน์ที่อินเดียนำมาจัดแสดงด้วย การเรียนที่ศานตินิเกตันแม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆแต่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์เฟื้อสนใจงานอนุรักษ์ศิลปกรรมโบราณ การเรียนการสอนของศานตินิเกตันคล้ายคลึงกับการศึกษาแบบคุรุกุลของอินเดียโบราณที่เน้นการเรียนในสภาพใกล้ชิดธรรมชาติ และท่านยังมีโอกาสติดตามอาจารย์นันทลาล โบส ไปคัดลอกภาพเขียนที่มีคุณค่าตามแหล่งโบราณสถานต่าง ๆ ของประเทศอินเดีย

อาจารย์เฟื้อ
ภาพสเก็ตช์ที่อาจารย์เฟื้อวาดในหนังสือที่เขานำติดตัวไปด้วยขณะอยู่ในค่ายกักกันที่อินเดีย

“ในบรรดาภาพสเก็ตช์ที่ได้มายังมีบางภาพที่ผมไม่แน่ใจว่าเป็นฝีมือของอาจารย์เฟื้อต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยตรวจสอบ งานสเก็ตช์ของอาจารย์จะสะอาดและมีพลัง ลงลายมือชื่อซึ่งลอกเลียนแบบยาก”

ธีระกล่าวและพาชมข้าวของอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้นำมาจัดแสดง เช่น อัลบั้มรูปถ่ายของอาจารย์ขณะเดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และร่างสุนทรพจน์ของท่านทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในพิธีรับรางวัลเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2526 รวมทั้งคลิปปิงข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ และที่สำคัญคือฟิล์มสไลด์จำนวนมากที่ท่านบันทึกภาพวัดและโบราณสถานต่าง ๆ รวมถึงงานอนุรักษ์ชิ้นเอกของท่านที่หอพระไตรปิฎก วัดระฆังโฆษิตาราม ซึ่งอาจารย์เฟื้อได้อุทิศกายถวายชีวิตในการบูรณะเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี

เฟื้อ หริพิทักษ์
อาจารย์เฟื้ออุทิศชีวิตในการอนุรักษ์ศิลปกรรมไทยและถ่ายทอดความรู้ให้ลูกศิษย์ (ภาพ: นิตยสารสารคดี)

อุทิศชีวิตเพื่องานอนุรักษ์จิตรกรรมไทย

หลังจากกลับเมืองไทยเมื่อปลายปี พ.ศ.2489 อาจารย์ศิลป์ช่วยเหลือให้อาจารย์เฟื้อรับราชการตำแหน่งครูช่างเขียน คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2490 ระหว่างนั้นท่านก็เริ่มออกสำรวจภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆและได้คัดลอกลายด้วยเกรงว่างานทรงคุณค่าเหล่านี้จะเลือนหายหรือถูกทำลาย จนกระทั่ง พ.ศ.2497 อาจารย์เฟื้อได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลอิตาลี ให้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ราชบัณฑิตยสถาน ( Accademia de Belle Arti di Roma) ที่กรุงโรม เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่มีประกาศนียบัตรใดๆติดตัวนอกจากจดหมายรับรองจากอาจารย์ศิลป์ซึ่งมีความตอนหนึ่งระบุว่า นายเฟื้อมีพรสวรรค์ที่หาตัวจับยากและเป็นศิลปินผู้อุทิศตนเพื่องานศิลปะอย่างจริงจัง

แม้ฝีมือของท่านจะเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นสุดยอดฝีมือคนหนึ่ง แต่เมื่อกลับมาอาจารย์เฟื้อกลับหันมาจับงานอนุรักษ์จิตรกรรมไทยอย่างจริงจัง ในระยะแรกอาจารย์ศิลป์ได้ทัดทานด้วยเสียดายความสามารถในการสร้างสรรค์ศิลปะแต่ในที่สุดท่านก็ยอมรับในความตั้งใจจริง

“จริงๆแล้วท่าน (อาจารย์ศิลป์) ไม่อยากให้ผมนั่งคัดลอกอะไรหรอก มันไม่ใช่งานสร้างสรรค์ศิลปะ มันเป็นการค้นคว้าโบราณศิลปะ เพราะท่านอยากให้ผมได้สร้างสรรค์ศิลปะมากกว่า แต่ผมก็บอกท่านว่า ถ้าผมไม่ทำไม่วิจัยแล้วจะมีใครไปรักษา”

อาจารย์เฟื้อได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ในนิตยสารสารคดีฉบับเดือนกรกฎาคม 2533

อาจารย์เฟื้อ

งานคัดลอกลวดลายบานประตูหอพระไตรปิฎก วัดระฆังโฆษิตาราม ของอาจารย์เฟื้อได้นำมาจัดแสดงให้ชมในครั้งนี้ด้วย หอพระไตรปิฎกนี้เคยเป็นพระตำหนักของรัชกาลที่ 1 และที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับปิดทองในอดีตจิตรกรรมฝาผนังยังเป็นผลงานของพระอาจารย์นาค บรมครูสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่ออาจารย์เฟื้อเห็นสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างหนักจึงทำเรื่องของบประมาณเร่งด่วนจากมหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2500 แรกเริ่มท่านคิดจะอนุรักษ์แค่จิตรกรรมฝาผนังแต่ท้ายสุดคือบูรณะทั้งหอไตร เรียกว่าท่านแทบจะสิงอยู่ที่นั่นเพื่อให้การบูรณะเสร็จทันพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีใน พ.ศ.2525 จนกระทั่งล้มป่วย

อาจารย์เฟื้อทำงานอนุรักษ์และถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตราบจนจากโลกนี้ไปในวัย 83 ปีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2536

อาจารย์เฟื้อ
เอกสารและสิ่งของของอาจารย์เฟื้ออีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้นำมาจัดแสดงและเผยแพร่

ธีระตั้งใจจะรวบรวมเอกสารและผลงานของอาจารย์เฟื้อในงานสะสมของเขาจัดทำเป็นหนังสือเพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการศึกษาชีวิตและงานของบรมครูโดยตั้งเป้าจะให้เสร็จทันวันครบรอบ 110 ปีชาตกาลของอาจารย์เฟื้อในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 แต่ในระหว่างนี้ผู้สนใจสามารถเข้าชมงาน Archive หรือจดหมายเหตุ ของอาจารย์เฟื้อได้ฟรีแต่ต้องนัดหมายล่วงหน้า และธีระยินดีเป็นผู้นำชมด้วยตัวเอง

Fact File

  • งาน Archive ของ เฟื้อ หริพิทักษ์ จัดแสดงที่ 333Gallery ถนนสุรศักดิ์ กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
  • สามารถนัดหมายเข้าชมล่วงหน้าได้ทางโทร. 08-1845-1371 หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: 333Gallery

อ้างอิง

  • นิตยสารสารคดีฉบับเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม พ.ศ.2533
  • สูจิบัตรนิทรรศการ “ตามชีวิตเฟื้อ หริพิทักษ์: 109ปีชาตกาล” จัดทำโดย 333 Gallery และสมาคมขัวศิลปะ เชียงราย, เดือนเมษายน พ.ศ.2562

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ชยพล ปาระชาติ
11 ปีกับช่างภาพประจำนิตยสารสาย interior ปัจจุบันเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ที่ยังมุ่งมั่นอยากให้ทุกภาพออกมางดงามที่สุดในทุกครั้งที่กดชัตเตอร์