10 ไฮไลต์มรดกจาก ลพบุรี ใน อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดแสดงนิทรรศการพิเศษ อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
- ไฮไลต์ของนิทรรศการคือ พระโพธิสัตว์สำริด แห่งโนนสูง ประติมากรรมสำริดที่มีขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย ซึ่งได้มีการประกอบองค์เต็มองค์โดยหลักการสันนิษฐาน
แม้การระบาดของโควิด-19 จะทำให้ยังไม่มีนิทรรศการใหม่จากต่างประเทศหมุนเวียนมาจัดแสดงที่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งปรับปรุงใหม่เป็นห้องสำหรับจัดแสดงนิทรรศการพิเศษโดยเฉพาะ แต่ตอนนี้พระที่นั่งศิวโมกขพิมานมีนิทรรศการหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย นั่นก็คือ นิทรรศการ อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร เล่าเรื่องลพบุรีที่ไม่ได้อิงแค่ชื่อเมืองลพบุรี หรือ ละโว้ ทว่าย้อนเล่าไปตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของดินแดนตอนกลางลุ่มแม่น้ำลพบุรี ป่าสัก เรื่อยมาถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งลพบุรีมีความใกล้ชิดกับเขมร ต่อเนื่องในพุทธศตวรรษที่ 18 ที่เขมรเสื่อมอิทธิพล และเมืองลพบุรีกลับมามีอำนาจด้วยตัวเอง เรียกได้ว่าเป็นนิทรรศการที่ค่อยๆ คลี่คลายให้เห็นวิวัฒนาการ การเติบโตของอารยธรรมลพบุรี
ความใกล้ชิดกับอาณาจักรกัมพูชาของเขมร บวกด้วยอิทธิพลจากศาสนาพรหมณ์ฮินดู และพุทธมหายานทำให้ลพบุรีมีศิลปะเฉพาะตัวที่น่าสนใจ ทั้งยังมีนวัตกรรมการหล่อโลหะสำริดที่ตกทอดมากว่า 1,000 ปี ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาการในยุคนั้น ในนิทรรรศการเน้นเล่าเรื่องรวมทั้งนวัตกรรม ความเชื่อ ที่ค่อยๆ วิวัฒนาการมาเป็นเอกลักษณ์ของอารยธรรมลพบุรี สำหรับใครที่ต้องการรู้จัก อารยธรรมลพบุรีให้มากขึ้น Sarakadee Lite มีไฮไลต์นิทรรศการ อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร มาให้ได้ชมกัน
พระโพธิสัตว์สำริด แห่งโนนสูง
หลายคนที่เคยมาเยือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร น่าจะเคยเห็นเศียรพระโพธิสัตว์สำริดเศียรนี้ซึ่งจัดแสดงอยู่เป็นปกติในพิพิธภัณฑ์ แต่อาจจะไม่เคยทราบว่า พระโพธิสัตว์สำริด แห่งบ้านโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา มีส่วนอื่นๆ ที่แตกหักออกมานับรวมได้ 7 ชิ้น และเมื่อทำการตรวจสอบจึงสันนิษฐานได้ว่าพระโพธิสัตว์องค์นี้น่าจะมีความสูงอยู่ระหว่าง 310-340 เซนติเมตร นับว่าเป็นประติมากรรมสำริดที่มีขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย แสดงถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนามหายานในที่ราบสูงโคราช และวิทยาการการหล่อโลหะที่อยู่คู่กับอารยธรรมลพบุรีมาช้านาน
และสำหรับนิทรรศการ อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร นับว่าเป็นครั้งแรกที่จะมีการประกอบองค์พระโพธิสัตว์สำริดเต็มองค์ขึ้นมา ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2504 พระโพธิสัตว์สำริดองค์นี้ถูกค้นพบด้วยความบังเอิญเมื่อชาวบ้านได้ไถดินและไปโดนเจดีย์เก่าจนพังลงมาจนพบเศียรพระโพธิสัตว์สำริด ซึ่งเห็นเพียงเสี้ยวเดียวที่แตกหักก็สามารถบอกได้ถึงความงดงาม กรมศิลปากรจึงเก็บชิ้นส่วนเท่าที่พบซึ่งเหลือเพียง 20 % จำนวน 7 ชิ้นขององค์พระโพธิสัตว์ทั้งองค์ จากนั้นได้ส่งเฉพาะส่วนพระเศียรไปอนุรักษ์ที่ประเทศฝรั่งเศส และนำมาจัดแสดงเฉพาะพระพักตร์ ก่อนจะตัดสินใจประกอบองค์เต็มองค์สี่กร เห็นชัดเจนถึงความสูง ความงดงามของศิลปะในกลุ่มประโคนชัย
ประติมากรรมงู / นาค
แฟนๆ ป่าหิมพานต์ห้ามพลาด ที่ห้องนี้มีสัตว์หิมพานต์รูปร่างหน้าตาแปลกไปจากที่เราเคยได้ชมอยู่เยอะมาก แต่ไฮไลต์ที่ห้ามพลาด และก็มีโอกาสที่จะพลาดชมอย่างมากคือ พญานาคดินเผาตัวน้อย ได้มาจากบริเวณคูเมือง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่ง งู หรือ นาค เป็นสัตว์ที่เกี่ยวพันกับความเชื่อทางศาสนา ทั้งพันรอบพระศอของพระอิศวรตามความเชื่อของฮินดู ทั้งยังเป็นผู้บำรุงพระพุทธศาสนามาแต่ครั้งพุทธกาล ความเชื่อเรื่องงู และ นาค ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย สืบมาถึงไทยตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา ถึงปัจจุบัน
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทกู่สวนแตง
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทกู่สวนแตง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นทับหลังที่ถูกโจรกรรมไปจากไทยเมื่อปี พ.ศ.2507 และถูกลักลอบขายไปให้กับนักสะสมในสหรัฐอเมริกา และทางสหรัฐอเมริกาโดย นายเอเวลรี บรันเดจ ได้ตัดสินใจส่งคืนทับหลังชิ้นนี้กลับมาให้ไทยในปี พ.ศ. 2513 เรียกว่าเป็นทับหลังชิ้นแรกที่ทางไทยทวงคืนมาได้จากต่างประเทศ ตามด้วยทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ แห่งปราสาทเขาพนมรุ้ง และทับหลังปราสาทเขาโล้น ทับหลังปราสาทหนองหงส์
เศียรพระพุทธรูป วัดพระศรีสรรเพชญ์
ในโซนจัดแสดงห้องที่ 2 เต็มไปด้วยพระพุทธรูปหล่อสำริด โดยหนึ่งในไฮไลต์ห้องนี้คือ พระเศียรสำริดขนาดใหญ่ของพระพุทธรูป วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นงานสมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งหากมองในระยะใกล้องค์ประกอบเครื่องหน้าของพระพุทธรูปองค์นี้อาจจะดูผิดสัดส่วนไปนิด แต่ทางภัณฑารักษ์บอกว่านี่เป็นสัดส่วนที่ช่างได้คิดมาแล้วว่าเหมาะสำหรับการรับชมในระยะไกล ตามขนาดของพระพุทธรูปที่ค่อนข้างสูงใหญ่
ภาชนะรูปสัตว์
นอกจากสัตว์หิมพานต์แล้ว ในนิทรรศการนี้ยังมีภาชนะดินเผารูปสัตว์รูปร่างแปลกตาซ่อนอยู่ เช่น แท่นฤกษ์รูปเต่าอายุราว 900-1,000 ปี ไหใบใหญ่รูปนกฮูก หรือ นกแสก และของชิ้นเยี่ยมคือ ภาชนะดินเผารูปกระต่ายเคลือบสีน้ำตาลที่มีส่วนผสมของเหล็กออกไซด์ ผลิตจากเตาที่อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งภาชนะรูปสัตว์เหล่านี้ไม่ได้แค่เพื่อความสวยงาม แต่ยังสะท้อนความสมบูรณ์ของพื้นที่อีกด้วย
กำไลสำริด
สิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ที่อยู่อาศัยบนแผ่นดินไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์รู้จักการถลุงโลหะก็คือข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจาก สำริด หรือ สัมฤทธิ์ นอกจากกลองมโหระทึกทำจากสำริดชิ้นใหญ่แล้ว ในนิทรรศการยังมีของชิ้นเล็กจำพวก หัวธนู และเครื่องประดับจากสำริด แต่ที่อาจจะเห็นได้ไม่บ่อยคือกำไลสำริดที่มาพร้อมกับกระดูกท่อนแขนของผู้สวมใส่ซ่อนอยู่ด้านใน
สิงห์แห่งลพบุรี
สิงห์นอกจากจะได้รับยกย่องว่าเป็นเจ้าป่าแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของวีรบุรุษ พระราชอำนาจ และราชบัลลังก์ ส่วนในวัฒนธรรมทวารวดีสิงโตถือเป็นสัตว์แห่งแสงสว่าง นอกจากนี้ในศาสนาฮินดูยังมีคติที่ว่าดวงอาทิตย์นั้นกำเนิดจากการที่พระอิศวรนำสิงโต 6 ตัว ห่อด้วยผ้าแดง แล้วพรมน้ำอมฤติ อีกด้วย โดยในนิทรรศการมีประติมากรรมดินเผารูปสิงห์ที่แปลกตา รวมทั้งสิงห์คู่หล่อจากสำริดที่มีรูปทรงเฉพาะของศิลปะลพบุรีและสิงห์ดินเผาที่มีกล้ามแขนกล้ามท้องชัดเจนมาก
ยักษ์โบราณ
ในนิทรรศการมีงานรูปยักษ์ หรือ อสูร อยู่หลายชิ้นมาก เช่น ยักษ์แบบเขมรโบราณมีหน้าตาค่อนข้างต่างจากยักษ์ที่เราคุ้นเคย เช่น ประติมากรรมใบหน้ายักษ์ฝีมือช่างท้องถิ่นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเขมรโบราณซึ่งเปรียบได้กับรูปประติมากรรมอสูรยุดนาคที่หน้าประตูทางทิศใต้เมืองพระนครหลวง หรือ นครธม ของกัมพูชา นอกจากนี้ยังมียักษ์สังคโลกตาปูดโปนดุร้าย และแผ่นไม้สลักรูปยักษ์ทวารบาลอายุกว่า 300 ปี
จารึกทองคำและทองแดง
ในนิทรรศการมีจารึกที่น่าสนใจอยู่ 2 ชิ้นแต่ไม่ใช่ศิลาจารึก ทว่าเป็นการจารึกลงบนแผ่นโลหะ ได้แก่ จารึกลานทองวัดส่องคบ 1 ซึ่งเป็นจารึกสำคัญที่กล่าวถึงนามอยุธยาว่า “ศรีอโยธยา” อีกชิ้นคือ จารึกแผ่นทองแดงจากรึกนามกษัตริย์และลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ สะท้อนรูปแบบการปกครองสมัยทวาราวดี โดยจารึกทั้งสองแผ่นได้แสดงถึงธรรมเนียมการจารึกบนแผ่นโลหะมีค่าอย่างแผ่นทองคำ ทองแดง เพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาสืบมาตั้งแต่สมัยทวารวดี สุโขทัย อยุธยา จวบจนสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังใช้
คืนชีวิตประติมากรรม
ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นการนำโบราณวัตถุมาชุบชีวิตด้วยการประกอบและติดตั้งใหม่จากชิ้นส่วนที่หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ชิ้น เช่นการคืนชีวิตให้กับพระโพธิสัตว์สำริด แห่งโนนสูง โดยการนำชิ้นส่วนประติมากรรมพระโพธิสัตว์สำริดที่หลงเหลืออยู่ 7 ชิ้นมาประกอบและติดตั้งบนหุ่นจำลองขนาดเท่าจริง ตามรูปแบบการสันนิษฐานและการบูรณาการทางด้านวิชาการระหว่างภัณฑารักษ์ นักวิทยาศาสตร์ นายช่างศิลปกรรม และนักวิชาการช่างศิลป์ ดังนั้นก่อนจบนิทรรศการจึงมีการเปิดเบื้องหลังทุกขั้นตอนให้ผู้ที่ชนใจได้เข้าใจ และนำตัวอย่างของชิ้นส่วนทั้ง 7 ขนาดเท่าของจริงมาจัดวางให้ได้เห็นเรื่องเบื้องหลังการคืนชีวิตงานประติมากรรมอย่างละเอียด
Fact File
- นิทรรศการพิเศษ อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร จัดแสดงที่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 กันยายน 2564
- รัฐลวปุระ หรือ ละโว้ หรือ ลพบุรี เจริญขึ้นในภาคกลางบริเวณแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก ตรงกับพุทธศตวรรษที่ 12-18 ร่วมสมัยเดียวกับรัฐทวารวดี และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาณาจักรกัมพูชาของเขมร ผู้คนในรัฐลวปุระนับถือทั้งพราหมนณ์หรือฮินดู ร่วมกับศาสนาพุทธทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท