ถ้ำลาสโกซ์ ที่สุดของแกลเลอรีอาร์ตมนุษย์ยุคหิน กับภาพเขียนสีบนผนังถ้ำอายุกว่า 19,000 ปี
Arts & Culture

ถ้ำลาสโกซ์ ที่สุดของแกลเลอรีอาร์ตมนุษย์ยุคหิน กับภาพเขียนสีบนผนังถ้ำอายุกว่า 19,000 ปี

Focus
  • ถ้ำลาสโกซ์ (Lascaux) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ในถ้ำเต็มไปด้วยภาพวาดบนผนังเป็นงานศิลปะก่อนประวัติศาสตร์ อายุเฉียด 20,000 ปี นับรวมได้ 2,000 ภาพ
  • 12 กันยายน ค.ศ.1940 ตรงกับวันค้นพบ ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำลาสโกซ์ ซึ่งเป็นภาพเขียนรูปสัตว์บนผนังถ้ำที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

“15,000 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้สร้างอะไรใหม่เลย” ปิกาสโซ ศิลปินดังแห่งศตวรรษที่ 20 กล่าวไว้หลังจากที่เขาได้เข้าชมภาพเขียนสีในถ้ำอัลตามิรา (ค้นพบ ค.ศ.1869) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสเปน และหลังจากนั้นใน ค.ศ. 1940 โลกก็ต้องตื่นตะลึงกับการค้นพบภาพเขียนสีบนผนัง ถ้ำลาสโกซ์ (Lascaux) ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นงานศิลปะก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินอายุเฉียด 20,000 ปี นับรวมได้ 2,000 ภาพ ยืนยันถึงความสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่ไม่ว่าจะผ่านมากี่หมื่นปีก็ตาม แต่ละโถงถ้ำมีทั้งภาพขนาดเล็ก ใหญ่ เปรียบเสมือนห้องแสดงภาพในแกลเลอรีขนาดมหึมา และยูเนสโกก็ได้ขึ้นทะเบียนภาพเขียนใน ถ้ำลาสโกซ์ เป็นมรดกโลก นับเป็นภาพวาดรูปสัตว์บนผนังถ้ำที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ

 ถ้ำลาสโกซ์
ภาพ : © MINISTÈRE DE LA CULTURE/CENTRE NATIONAL DE LA PRÉHISTOIRE

เมื่อประตูหอศิลป์ที่ถูกปิดมากว่าหมื่นปีถูกเปิดออก

เหตุในการค้นพบภาพวาดบนผนัง ถ้ำลาสโกซ์ นั้นต้องย้อนไปกลางฤดูร้อนเมื่อ 12 กันยายน ปี ค.ศ.1940 มาร์แชล ราวีดา (Marcel Ravidat) นักศึกษาชาวฝรั่งเศสและเพื่อนของเขาอีก 3 คน ได้ตามเข้าไปช่วยค้นหาสุนัขที่หายเข้าไปในโพรงลึกในหมู่บ้าน Vézèrevallei แคว้น Dordogne บริเวณลุ่มแม่น้ำคอร์โตซ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส พวกเขาไม่รู้มาก่อนเลยว่าวันนั้นจะเป็นวันที่ประตูหอศิลป์ในยุคหินที่ถูกปิดตายมานานนับหมื่นปีกำลังจะถูกเปิดออก หลังจากที่พวกเขาตัดสินใจลอดผ่านโพรงแคบๆ และสำรวจลงลึกไปใต้ดินจนพบโถงถ้ำขนาดใหญ่

 ถ้ำลาสโกซ์
ความยิ่งใหญ่ของภาพที่ประดับอยู่บนเพดานถ้ำ
ภาพ : © MINISTÈRE DE LA CULTURE/CENTRE NATIONAL DE LA PRÉHISTOIRE/NORBERT AUJOULAT

ภายในถ้ำไม่ว่าจะเป็นเพดานและผนัง ปรากฏภาพเขียนสีจำนวนมากทั้งภาพม้าป่า วัวไบซัน วัวป่าออรอกส์ (Aurochs)  นับรวมได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ภาพ และจากการตรวจสอบหลักฐานก็พบว่า ภาพเขียนสีในถ้ำนี้มีอายุมากกว่า 19,000 ปี และปัจจุบันก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเป็นที่เรียบร้อย

 ถ้ำลาสโกซ์
ทางเข้าถ้ำถ่ายเมื่อค.ศ.1940
ภาพ : © MINISTÈRE DE LA CULTURE/CENTRE NATIONAL DE LA PRÉHISTOIRE

สำหรับภาพเขียนสีทั้งหมดมีจำนวน 2,000 ภาพ แบ่งเรื่องราวออกเป็นภาพสัตว์ คน และสัญลักษณ์นามธรรม แต่ที่โดดเด่นจริงๆ คือภาพสัตว์ซึ่งมีมากที่สุดถึง 900 ภาพ ที่น่าประหลาดใจคือการค้นพบว่ามนุษย์ยุคหินมีการจำแนกลักษณะของสัตว์ต่างๆ ผ่านภาพวาด ทั้งยังแบ่งประเภทเป็นสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า โดยมีสัตว์ที่สามารถระบุชนิดได้มากถึง 605 ภาพ ได้แก่ ม้า วัวป่า และกวางตัวผู้ ทั้งนี้ภาพม้าถูกวาดมากที่สุดถึง 364 ภาพ รองลงมาคือกวางตัวผู้ 90 ภาพ ส่วนไฮไลต์ที่เป็นภาพจำ เป็นไอโคนิคเมื่อเอ่ยถึงถ้ำแห่งนี้อยู่บริเวณห้องโถงแรกจากปากถ้ำ ซึ่งมีภาพวาดที่โดดเด่นเป็นเซ็ตภาพรูปวัวออรอกส์ขนาดใหญ่ อันเป็นที่มาของชื่อห้องโถงที่เรียกว่า ห้องวัวป่า หรือ The Great Hall of Bulls

ถ้ำลาสโกซ์
ลักษณะของ วัวป่าออรอกส์ (Aurochs)
ภาพ : © MINISTÈRE DE LA CULTURE/CENTRE NATIONAL DE LA PRÉHISTOIRE/NORBERT AUJOULAT
กวางที่มีรายละเอียดของเขาที่ชัดเจนมาก
ภาพ : © MINISTÈRE DE LA CULTURE/CENTRE NATIONAL DE LA PRÉHISTOIRE/NORBERT AUJOULAT

ห้องนี้มีภาพเขียนสีรูปสัตว์บนผนังถ้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ ภาพวัวป่าออรอกส์ความยาวลำตัว 5.2 เมตร ยืนประจันหน้าเข้าหากันนับรวมได้ 4 ตัว โดดเด่นบนเพดานถ้ำที่ลาดโค้ง 60 องศาจากพื้นดิน รายล้อมด้วยภาพเขียนสีสัตว์ 3 ชนิด ได้แก่ ยูม้า (มีทั้งม้าป่าและยูนิคอร์นเขายาว) กวางตัวผู้ และวัวป่าสีแดง หากรวมสัตว์ทั้งหมดเฉพาะในโถงถ้ำนี้มากถึง 36 ตัว พร้อมด้วยภาพเขียนเป็นเส้นสัญลักษณ์ต่างๆ อีกรวมทั้งหมด 130 ภาพ และนอกจากภาพเขียนสีแล้ว ภายในถ้ำลาสโกซ์ยังมีภาพสลักหิน และลักษณะการแกะรอยบนหินเป็นรูปร่างต่างๆ อยู่ด้วย

ม้ายูนิคอร์น
ภาพ : © MINISTÈRE DE LA CULTURE/CENTRE NATIONAL DE LA PRÉHISTOIRE/NORBERT AUJOULAT
เทคนิคการสเปรย์สีเป็นจุดๆ
ภาพ : © MINISTÈRE DE LA CULTURE/CENTRE NATIONAL DE LA PRÉHISTOIRE/NORBERT AUJOULAT

ในด้านการถอดความหมายของภาพนั้น แม้สัญลักษณ์ ภาพเขียนรูปสัตว์ และโครงร่างของมนุษย์ในถ้ำลาสโกซ์จะบอกเล่าได้แค่เพียงว่า มนุษย์ยุคหินในเขตแดนที่เป็นฝรั่งเศสปัจจุบันมีชีวิตอยู่กับการเลี้ยงสัตว์ (บางภาพมีปลอกคอ) และล่าสัตว์ป่า แต่ยังไม่มีหลักฐานแสดงถึงการเพาะปลูกพืชผลใดๆ และยังไม่มีข้อความเป็นภาษาที่คนยุคปัจจุบันเข้าใจได้ แต่ในแง่มุมของศิลปะนั้นภาพเขียนสีชุดนี้สามารถให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ศิลปะได้อย่างน่าสนใจมาก เช่น การสร้างงานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ หรือการทำงานศิลปะเพื่อบันทึกเรื่องราวชีวิตรอบตัวล้วนมีมานับหมื่นๆ ปีไม่ต่างจากปัจจุบัน หรืออย่างในเรื่องของเทคนิค จะเห็นชัดเจนเลยว่าภาพเขียนสีในถ้ำลาสโกซ์ใช้เทคนิคที่หลากหลาย ทั้งการพ่นสี  การเพนท์ การตัดเส้น ส่วนสีก็มาจากวัสดุกำเนิดในแร่ ดิน และธรรมชาติ หรืออย่างในเรื่องขนาดของภาพ ภาพเขียนสีในถ้ำลาสโกซ์ก็มีขนาดใหญ่โตไม่แพ้คนยุคปัจจุบันแต่อย่างใด ยืนยันคำที่ปิกัสโซพูดที่เคยกล่าวไว้ว่า…

15,000 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้สร้างอะไรใหม่เลย

ลักษณะการลงสีโดยใช้เทคนิคการลงสีด้วยฝีแปรง
ภาพ : © MINISTÈRE DE LA CULTURE/CENTRE NATIONAL DE LA PRÉHISTOIRE/NORBERT AUJOULAT

Fact File

ถ้ำลาสโกซ์ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (UNESCO World Heritage) อีกทั้งเพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้สีของภาพที่ถูกปิดตายอยู่ในถ้ำมืดมานานนับหมื่นปียังคงอยู่ต่อไป ตัวถ้ำจึงไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม แต่กระทรวงวัฒนธรรมของฝรั่งเศสซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการจัดเต็มในการอนุรักษ์งานศิลปะได้ทุ่มเงินมหาศาลราว 48 ล้านยูโรสร้างถ้ำจำลองขนาดเท่าของจริง ศูนย์ศิลปะภาพเขียนในถ้ำลาสโกซ์ (Lascaux International Center for Cave Art) ตั้งอยู่ใกล้ๆ เชิงเขา ที่ตั้งของ ถ้ำลาสโกซ์  มีทางเดินเหมือนในถ้ำจริงยาวราว 800 เมตร พร้อมบันทึกทุกภาพในสัดส่วนที่เหมือนจริงตามหลักทางวิทยาศาสตร์การอนุรักษ์ เพราะทางฝรั่งเศสถือว่า ถ้ำลาสโกซ์ ไม่ใช่แค่มรดกของชาติฝรั่งเศส แต่นี่คืออาร์ตแกลเลอรีขนาดใหญ่ที่บันทึกประวัติศาสตร์สำคัญช่วงหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์ นอกจากนี้ยังมีการงานศิลปะยุคหินสุดอลังการมาเผยแพร่ในแบบ Virtual Tour ทาง https://archeologie.culture.fr/lascaux/en

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป