ถอดรหัสดีไซน์ “โอลิมปิกปารีส” สะท้อนเอกภาพ ความเท่าเทียม และเสรีภาพ
Arts & Culture

ถอดรหัสดีไซน์ “โอลิมปิกปารีส” สะท้อนเอกภาพ ความเท่าเทียม และเสรีภาพ

Focus
  • โอลิมปิก ปารีส 2024  หรือ Paris 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม-11 สิงหาคม ค.ศ. 2024 โดยเป็นการกลับมาเป็นเจ้าภาพในมหกรรมกีฬาโลกของเมืองหลวงแห่งฝรั่งเศสอีกครั้งในรอบ 100 ปี
  • “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ”ซึ่งเป็นปรัชญาหลักแห่งชาติของฝรั่งเศสได้ถูกนำมาใช้เป็นคีย์ในการจัดมหกรรมโอลิมปิก โดยสอดแทรกผ่านสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่นตราสัญลักษณ์ เหรียญรางวัล และจำนวนตัวเลข

เจาะลึกงานดีไซน์ที่ถูกซ่อนไว้ใน โอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 33 โอลิมปิกปารีส 2024 (Paris 2024 Olympics) ที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการกลับมาเป็นเจ้าภาพในมหกรรมกีฬาโลกของเมืองหลวงแห่งฝรั่งเศสในรอบ 100 ปี และเป็นครั้งแรกที่กรุงปารีสจะได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันพาราลิมปิกฤดูร้อนต่อเนื่องในวันที่ 28 สิงหาคม – 8 กันยายน 2567

UOB Art Around ชวนไปถอดรหัสงานดีไซน์ที่มีนัยของเอกภาพ ความเท่าเทียม เสรีภาพของมนุษยชาติ อันเป็นหัวใจสำคัญในงาน โอลิมปิกปารีส 2024 ครั้งนี้กัน

โอลิมปิกปารีส

มาสคอตที่สื่อถึง เอกภาพ ความเท่าเทียม เสรีภาพของมนุษยชาติ

มาสคอตมหกรรมกีฬาส่วนใหญ่มักออกแบบเป็นรูปสัตว์ชนิดต่างๆ แต่ Paris 2024 ฉีกกรอบเดิมๆ ด้วยการนำเสนอมาสคอตชื่อ “ฟรีจีส (Phryges)” โดยได้แรงบันดาลใจมาจากหมวกที่เรียกว่า “หมวกฟรีเจียง (Phrygian cap)” ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเสรีภาพตั้งแต่ยุคโรมัน โดย “ฟรีจีส” มาสคอต Paris 2024 มีรูปทรงสามเหลี่ยมโดยมีสีแดงเป็นสีหลักและแซมด้วยสีขาวและน้ำเงินตามเฉดสีของธงประเทศฝรั่งเศส ส่วนมาสคอตของพาราลิมปิกต่างกันตรงที่ข้างหนึ่งสวมขาเทียมสำหรับนักวิ่ง

โอลิมปิกปารีส

เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ตราสัญลักษณ์ Paris 2024

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกใช้ตราสัญลักษณ์เดียวกัน ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส ซิลแว็ง บัวเยร์ (Sylvain Boyer) ผ่านองค์ประกอบหลัก 3 สิ่งคือ “มารีอานน์” “เหรียญทอง” และ “คบเพลิง” โดยทั้งหมดเพื่อสื่อถึง “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” อันเป็นปรัชญาหลักแห่งชาติของประเทศฝรั่งเศส

ดีไซเนอร์ออกแบบโดยเล่นกับพื้นที่ว่าง เพื่อให้เกิดรูปทรงของคบเพลิงและใบหน้าของสตรีที่ชื่อว่ามารีอานน์ ซึ่งเป็นตัวแทนของเสรีภาพ นอกจากนี้การใช้สัญลักษณ์มารีอานน์ยังย้อนไปถึงประวัติศาสตร์การแข่งขันโอลิมปิกในปี 1900 ณ กรุงปารีสซึ่งเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้นักกีฬาหญิงเข้าร่วมการแข่งขันอีกด้วย

ส่วนคบเพลิงและเปลวไฟที่โชติช่วงยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นกล้าหาญของมวลมนุษยชาติ และการส่งต่อคบเพลิงในกีฬาโอลิมปิกที่จัดต่อเนื่องมายาวนานร่วมศตวรรษเป็นสิ่งที่เชื่อมผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกัน

ส่วนสีทองสื่อถึงเหรียญทองที่เป็นตัวแทนความเป็นเลิศทางด้านกีฬา อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความเสมอภาคว่าในการแข่งขันกีฬานั้นเปิดโอกาสให้นักกีฬาทุกคนได้แสดงศักยภาพ ความแข็งแกร่งอดทน ความพากเพียรและความกล้าหาญเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะอันสูงสุดนอกจากนี้ ตัวอักษรคำว่า “Paris 2024” ยังได้แรงบันดาลใจจากศิลปะอาร์ตเดโค (art deco) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในช่วงเวลาเดียวกับที่ปารีสเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเมื่อปี 1924

โอลิมปิกปารีส

สตรีเหล็กหอไอเฟล แผนที่ฝรั่งเศสทรงหกเหลี่ยม เบื้องหลังการออกแบบเหรียญรางวัล

เบื้องหลังความพิเศษของเหรียญรางวัล Paris 2024 จำนวนทั้งสิ้น 5,084 เหรียญ คือ การใช้ “เศษชิ้นส่วนเหล็กของหอไอเฟล” มาเป็นองค์ประกอบหลักประดับอยู่ตรงกลางด้านหลังของทุกเหรียญ ออกแบบสร้างสรรค์อย่างประณีตโดยช่างจิวเวลรีของ โชเมต์ (Chaumet) แบรนด์เครื่องประดับชั้นสูงในเครือ LVMH Group

ชิ้นส่วนเหล็กของหอไอเฟลได้รับการตัดเป็น “รูปทรงหกเหลี่ยม” ตามลักษณะของปารีสที่นอกจะได้รับฉายาว่า “นครแห่งแสงไฟ” (La Ville-lumière) แล้วยังมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “หกเหลี่ยม” (L’Hexagone) ชิ้นส่วนนี้นำมาประกอบลงตรงกลางด้านหลังของเหรียญรางวัลด้วยเทคนิค claw setting ซึ่งนิยมใช้ในการสร้างสรรค์เครื่องประดับชั้นสูง ทั้ง 6 มุมของเหล็กหอไอเฟลยึดติดด้วยกรงเล็บ (Claw) ในลวดลายที่เรียกว่า กลู เดอ ปารี (Clous de Paris) มีลักษณะเหมือนพีระมิดปลายแหลมและมี 3 สี คือ ทอง เงิน และทองแดง ตามชนิดของเหรียญรางวัล

ด้านหน้าเหรียญรางวัลมีความแตกต่างกัน สำหรับของโอลิมปิกนั้น ด้านหน้าเป็นรูปเทพีไนกี (Nike) และฉากหลังของเทพีเป็นป้อมปราการอะโครโพลิสแห่งเอเธนส์ (Acropolis of Athens) และสนามกีฬาพานาทิเนอิก (Panathenaic Stadium) ซึ่งเป็นหนึ่งในสนามกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก สร้างตั้งแต่สมัยกรีกโบราณและเป็นสนามกีฬาหลักของการแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่ที่จัดขึ้นครั้งแรก นอกจากนี้ทางด้านขวาของฉากหลังยังมีหอไอเฟล เพื่อเชื่อมประวัติศาสตร์โอลิมปิกสมัยใหม่ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน

สำหรับด้านหน้าของเหรียญพาราลิมปิกนั้นได้แรงบันดาลใจมาจาก “มุมมองข้างใต้หอไอเฟล” และบนเหรียญยังมีคำว่า “Paris” และ “2024” เป็นอักษรเบรลล์สากลสำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็นและยังเป็นการรำลึกถึง หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille) ชาวฝรั่งเศสผู้ประดิษฐ์อักษรเบรลล์ ตรงขอบของเหรียญยังปั๊มนูนด้วย

จากเอกภาพในยุคกรีกโบราณ สู่งานดีไซน์คบเพลิง

คบเพลิงโอลิมปิก Paris 2024 ได้ซ่อนนัยแห่งความเสมอภาค ออกแบบโดย มัตเญอร์ เลออานเนอร์ (Mathieu Lehanneur) ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส ตัวคบเพลิงที่ทำจากเหล็กรีไซเคิล 100% ให้มีความสมมาตรทั้งแนวตั้งและแนวนอน โดยลวดลายเป็นลักษณะคล้ายวงกระเพื่อมบนผิวน้ำที่สะท้อนกับแสงแดด อันสื่อถึงการส่งต่อคบเพลิงผ่านมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกรวมถึงอาณานิคมโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศส และที่สำคัญคือ “แม่น้ำแซน” แม่น้ำสายหลักในกรุงปารีสซึ่งเป็นสถานที่จัดพิธีเปิดการแข่งขัน

ทั้งนี้ในการแข่งขันกีฬาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ ประเพณีการส่งต่อคบเพลิงเป็นการส่งสารถึงความพยายามสร้างเอกภาพให้กับมวลมนุษยชาติ การออกแบบในครั้งนี้จึงเน้นลายเส้นที่โค้งมนให้ความรู้สึกสงบและอ่อนโยน อีกทั้งแฝงความหมายถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความสามัคคีอันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอันเป็นเป้าหมายหลักของการแข่งขัน

โอลิมปิกปารีส

2,000 ชั่วโมงกับรายละเอียด “เกมที่เปิดกว้าง” โปสเตอร์โอลิมปิกและพาราลิมปิก

ผลงานโปสเตอร์ “เกมที่เปิดกว้าง” ถูกรังสรรค์โดย อูโก กัตโตนี (Ugo Gattoni) ศิลปินนักวาดภาพประกอบชาวฝรั่งเศส ที่ถนัดแนวภาพแบบแฟนตาซีและเซอร์เรียลลิสต์ กัตโตนีได้ใช้เวลากว่า 2,000 ชั่วโมง ในการออกแบบรายละเอียดต่างๆ ได้แก่ ตราสัญลักษณ์ แลนด์มาร์กของปารีส สนามกีฬา ชนิดกีฬา และคาแรกเตอร์กว่า 4 หมื่นตัว นำมาผสานบนผลงาน โดยกัตโตนีได้คำนึงถึงจิตวิญญาณแห่งความเท่าเทียมกัน และเลือกที่จะไม่สร้างความแตกต่างระหว่างโอลิมปิกและพาราลิมปิกในการออกแบบโปสเตอร์

ความพิเศษของโปสเตอร์โอลิมปิกครั้งนี้คือเป็นครั้งแรกที่มีการนำเอาเทคนิคการวาดภาพแบบ “diptych” มาใช้ในการออกแบบโปสเตอร์ หมายถึง การนำภาพเดี่ยว 2 ภาพที่มีความสัมพันธ์กันมารวมเข้าเป็นภาพหนึ่งเดียวโดยภาพของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะอยู่ด้านซ้ายมือ และสำหรับพาราลิมปิกจะอยู่ด้านขวา ศิลปินนำเสนอปารีสออกมาในรูปแบบของเมืองที่เต็มไปด้วยสีสันและความหลากหลายตามสโลแกนที่ว่า Paris 2024 คือ “เกมที่เปิดกว้าง”

#ParaEmojis2024 อีโมจิ 4 ลายพิเศษสำหรับนักกีฬาคนพิการ

อีโมจิ (Emoji) หรือรูปสัญลักษณ์ที่ใช้ในการสื่อสารในโลกดิจิทัลมีมากกว่า 3,000 รูปแบบ แต่อีโมจิที่เกี่ยวเนื่องกับผู้พิการนั้นยังมีเพียงไม่กี่แบบ เช่น แขนและขาเทียม หูใส่เครื่องช่วยฟัง ไม้เท้า คนนั่งรถวีลแชร์ ผู้พิการทางสายตาและสุนัขนำทาง และผู้พิการทางการได้ยิน

ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ Paris 2024 จึงได้เสนอให้เพิ่มอีโมจิอีก 4 รูปแบบเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการ ได้แก่ ฟุตบอลผู้พิการทางสายตา กรีฑาผู้พิการ ว่ายน้ำผู้พิการ และวีลแชร์เทนนิส

โตนี เอสตองเกต์ (Tony Estanguet) ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน Paris 2024 กล่าวว่า “กีฬาเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเท่าเทียมและการเปิดใจกว้างต่อผู้อื่น นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ความสามารถทางการกีฬาของเหล่าผู้พิการจะได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาสัญลักษณ์สากล”

Fact File

อ่านคอนเทนต์ด้านศิลปะจาก UOB Art Around : https://www.uob.co.th/uobandart/uob-art-around.page