ถอดรหัสจิตรกรรม วัดภุมรินทร์ราชปักษี วัดร้างฝั่งธนฯ ที่โดดเด่นด้วยงานสกุลช่างวังหน้า
Arts & Culture

ถอดรหัสจิตรกรรม วัดภุมรินทร์ราชปักษี วัดร้างฝั่งธนฯ ที่โดดเด่นด้วยงานสกุลช่างวังหน้า

Focus
  • วัดภุมรินทร์ราชปักษีจะมีสถานะเป็นวัดร้างที่มีโบสถ์และวิหารขนาดเล็ก ทว่ากลับมีรายละเอียดงานศิลปะที่โดดเด่นโดยเฉพาะจิตรกรรมฝาผนัง
  • เมื่อเงยหน้าขึ้นมองด้านบนเหนือกรอบประตูทางเข้าวิหาร จะพบจิตรกรรมขนาดใหญ่เต็มผนังด้านสกัด เป็นเรื่องราวพุทธประวัติตอน มหาสุทัสสนสูตร ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานที่ถูกตั้งขึ้นมาใหม่

หากเอ่ยถึงชื่อ วัดภุมรินทร์ราชปักษี หรือ วัดภุมรินทร์ หลายคนอาจไม่คุ้นหูนัก หรือแม้แต่คนย่านฝั่งธนบุรีเองก็อาจจะยังไม่เคยได้ยินชื่อวัดแห่งนี้สักเท่าไร ทั้งๆ ที่วัดแห่งนี้มีความสำคัญ และมีมาก่อนกาลก่อนการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เหตุที่ชื่อ วัดภุมรินทร์ราชปักษี ถูกลืมเลือนก็เพราะวัดแห่งนี้เป็นวัดร้างไร้พระสงฆ์จำพรรษา และถูกยุบรวมไปอยู่ภายใต้การดูแลของ วัดดุสิดารามวรวิหาร มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6

วัดภุมรินทร์ราชปักษี

จากรูปแบบสถาปัตยกรรม “ฐาน” ของโบสถ์และวิหารที่เป็นแบบตกท้องช้าง เป็นฐานที่มีความแอ่นคล้ายเรือสำเภาซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมพิมพ์นิยมในช่วงกรุงศรีอยุธยา จึงมีการสันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะมีมาก่อนการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกับ วัดดุสิดารามวรวิหาร ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน กระทั่งมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงทำการสำรวจวัดฝั่งธนบุรีและพบว่า วัดภุมรินทร์ราชปักษีมีภิกษุจำพรรษาเหลืออยู่เพียงรูปเดียว จึงทรงรับสั่งให้รวมวัดภุมรินทร์ราชปักษีเข้ากับวัดดุสิดารามทำให้สถานะของวัดภุมรินทร์ราชปักษีกลายเป็นวัดร้างในทันที

วัดภุมรินทร์ราชปักษี
หน้าบันโบสถ์รูปนกยูงรำแพน

แม้ วัดภุมรินทร์ราชปักษี จะมีสถานะเป็นวัดร้างที่มีโบสถ์และวิหารขนาดเล็ก ทว่ากลับมีรายละเอียดงานศิลปะที่โดดเด่น เริ่มจาก หน้าบัน ของโบสถ์กับงานประดับปูนปั้นติดกระจกที่ยังคงความสมบูรณ์ของชิ้นงาน ด้านบนสุดเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ถัดลงมาเป็นรูปนกยูงรำแพนที่มีความวิจิตรงดงาม สอดคล้องกับความหมายของชื่อ “ภุมรินทร์” ที่แปลว่า นกยูง ด้านหลังของวิหารเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ซึ่งพบไม่มากนักในกรุงเทพฯ

วัดภุมรินทร์ราชปักษี
พระอัครสาวกซึ่งพิเศษด้วยงานปั้นนูนต่ำ

ถัดเข้ามาด้านในวิหารประดิษฐาน หลวงพ่อดำ พระปรางมารวิชัยสมัยกรุงศรีอยุธยา ซ้ายขวามีพระอัครสาวกซึ่งพิเศษด้วยงานปั้นนูนต่ำในลักษณะติดกับผนังด้านหลัง (วิหารและโบสถ์มีทางเข้าทางเดียว) และถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าพระประธานในวิหารองค์นี้ไม่ได้สร้างอยู่ตรงกลางตามหลักสมมาตรที่ฝั่งซ้ายและขวาต้องเท่ากันตามแบบที่เคยเห็นกันในโบสถ์วิหารทั่วไป แต่พระประธานองค์นี้กลับถูกปั้นเอียงมาฝั่งขวาของผนัง (ฝั่งขวาของพระประธาน) ซึ่งก็รับกับภาพจิตรกรรมด้านหลังองค์พระที่ตั้งใจวาดให้ไม่สมมาตรตามขนบไทยโบราณนิยม แต่เป็นการวาดโดยยึดศูนย์กลางที่องค์พระประธานเป็นหลัก ดังนั้นเราจึงได้เห็นภาพจิตรกรรมที่เอียงมาทางฝั่งขวาขององค์พระประธานเช่นกัน

วัดภุมรินทร์ราชปักษี
ด้านหลังวิหาร

และที่ถือว่าเป็นไฮไลต์จริงๆ ของวัดภุมรินทร์ราชปักษี ก็คือ จิตรกรรมฝาผนัง ที่ยังคงเอกลักษณ์ลายเซ็นของงานจิตรกรรมฉบับช่างสกุลวังหน้าในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าน่าจะวาดในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่เกินรัชกาลที่ 4 ซึ่งการที่วัดเล็กๆ แห่งนี้ได้รับการบูรณะโดยช่างสกุลวังหน้าซึ่งเป็นกลุ่มช่างที่เลื่องชื่อของพระนครในยุคนั้นก็ย่อมบ่งบอกถึงความสำคัญของวัดแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี และสำหรับใครที่อยากรู้จักวัดร้าง ภุมรินทร์ราชปักษี ให้มากยิ่งขึ้น Sarakadee Lite ขอเปิดประตูพาเข้าไปชมอย่างละเอียดผ่านไฮไลต์จิตรกรรมฝาผนังที่ไม่อยากเก็บไว้เป็นความลับของวัดร้างอีกต่อไป

วัดภุมรินทร์ราชปักษี

“มหาสุทัสสนสูตร” ภาพจิตรกรรมและข้อสันนิษฐานใหม่ที่ถูกค้นพบ

เมื่อเงยหน้าขึ้นมองด้านบนเหนือกรอบประตูทางเข้าวิหาร จะพบจิตรกรรมขนาดใหญ่เต็มผนังด้านสกัด เป็นเรื่องราวพุทธประวัติตอน มหาสุทัสสนสูตร หนึ่งในพระสูตรตามพระไตรปิฎก มีเนื้อความกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อพระพุทธเจ้าใกล้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในป่าเขตเมืองกุสินารา ครั้งนั้นพระอานนท์ได้กราบทูลขอพระองค์ว่าอย่าเสด็จปรินิพพาน ณ นครขนาดเล็กแห่งนี้เลยเพราะเกรงว่าจะไม่สมพระเกียรติ พระพุทธองค์จึงทรงเล่าถึงความยิ่งใหญ่ของนครแห่งนี้ในอดีตว่าเคยเป็นที่ตั้งของ “นครกุสาวดี” มี พระมหาสุทัสสนะ เป็นกษัตริย์ผู้สร้างความเจริญรุ่งเรือง มีปราสาท โรงทาน มีเมืองบริวารมากถึง 84,000 เมือง มีกำแพงและต้นตาลล้อมรอบถึง 7 ชั้น โดยทั้งกำแพงและต้นตาลล้วนแล้วแต่เป็น ทอง เงิน แก้วไพฑูรย์ แก้วผลึก แก้วโกเมน แก้วบุษราคัม และรัตนะ ซึ่งถ้าดูตามภาพที่ปรากฏก็พบว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวในมหาสุทัสสนสูตรเป็นอย่างมาก

วัดภุมรินทร์ราชปักษี
ภาพพระมหาสุทัสสนะไสยาสบนแท่นบัลลังก์ มีจักรแขวนอยู่เหนือแท่น
โรงทานที่ปรากฎในภาพ

เดิมทีภาพนี้ได้รับการตีความว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับจักพรรดิราช ซึ่งตรงกับพระสูตรที่เรียกว่า ชมพูบดีสูตร เนื่องจากในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชมพูบดีสูตรเป็นเรื่องราวที่ได้รับความนิยมในการนำมาเล่าและถ่ายทอดลงสู่จิตรกรรมฝาผนังโดยแฉพาะภาพจิตรกรรมบนผนังสกัดเหนือกรอบประตูด้านหน้าตรงข้ามพระประธาน ช่างไทยยุคก่อนนิยมเขียนเป็นภาพมารผจญ ไตรภูมิ หรือไม่ก็เรื่องราวจากชมพูบดีสูตร ยังไม่พบว่ามีการเขียนมหาสุทัสสนสูตรมาก่อน แต่เมื่อมีการศึกษาวัดภุมรินทร์อีกครั้งเพื่อนำความหมายของจิตรกรรมฝาผนังมาขยายความต่อยอดสู่โปรเจ็กต์ “ภุมรินทร์ราชปักษี: ต่อยอด นอกกรอบ ศิลปะไทย” ซึ่งมี อาจารย์เฉลิมพล โตสารเดช อาจารย์สาขาจิตรกรรรมไทย วิทยาลัยเพาะช่าง เป็นหนึ่งในคณะทำงาน อาจารย์เฉลิมพลได้ตั้งข้อสงสัยว่าภาพนี้น่าจะไม่ใช่ชมพูบดีสูตรอย่างที่เคยมีการตั้งข้อสันนิษฐานไว้ เพราะในภาพมีเหตุการณ์สำคัญของมหาสุทัสสนสูตรปรากฏอยู่บริเวณกลางหน้าปราสาท คือ ภาพพระมหาสุทัสสนะกำลังไสยาสบนแท่นบัลลังก์ มีจักรแขวนอยู่เหนือแท่น มีต้นตาลขนาบด้านซ้ายขวา มีภาพเหล่านางแสดงอาการโศกเศร้า และที่สำคัญคือมี ต้นตาล อยู่ข้างซุ้มประตูในแต่ละชั้นของกำแพงเมืองซึ่งแปลกไปจากภาพของชมพูบดีสูตร นี่จึงเป็นสมมติฐานใหม่ที่น่าจะเป็นไปได้ว่าภาพนี้คือ มหาสุทัสสนสูตร

“ต้นตาล” ต้นไม้วิเศษขับกล่อมเมือง

จิตรกรรมฝาผนังไม่ได้สลักแค่ความเชื่อด้านพุทธศาสนา มากไปกว่าความสวยงาม จิตรกรรมฝาผนังยังใส่เรื่องราวของวิถีชีวิต ภูมิประเทศในยุคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และในภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดภุมรินทร์ราชปักษี ก็พบ ต้นตาล เป็นองค์ประกอบภาพอยู่หลายแห่ง สื่อถึงความนิยมในสมัยโบราณเรื่องเสียงของต้นตาลยามเมื่อต้องสายลม ในมหาสุทัสสนสูตรเองก็การกล่าวถึงป่าตาลที่ห้อมล้อมไว้ด้วยกัน 7 ชั้น ซึ่งในภาพจะเห็นต้นตาลประดับประตูอยู่เพื่อให้ใบตาลยามต้องลมจะคอยประโคมเสียงไพเราะราวมโหรีกำลังขับกล่อมเมือง

ภาพพระพุทธเจ้าเปิดโลก

จิตรกรรมหลังพระประธานได้เล่าถึงเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วได้เสด็จไปประกาศพระศาสนาในแคว้นต่างๆ ทั่วชมพูทวีป ทั้งยังทรงรำลึกถึงพระมารดาซึ่งได้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่พระองค์ประสูติได้ 7 วัน ทรงดำริที่จะสนองคุณพระพุทธมารดาด้วยการเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ครั้นเมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 หรือ หลังวันออกพรรษา 1 วัน พระองค์จึงได้เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงสู่โลกมนุษย์ ในวันนั้นประชาชนต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทำบุญตักบาตรกันอย่างเนืองแน่น รับรู้ได้ถึง 3 โลก ซึ่งในภาพนี้ก็มีการวาดฉากสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรกภูมิไว้ครบถ้วนในภาพเดียว

เทพชุมนุมที่ไม่แบ่งชั้น

ฝาผนังสองด้านในวิหารอาจดูธรรมดาด้วยภาพวาด เทพพนม หรือ เทพชุมนุม เหมือนโบสถ์ วิหารทั่วไปที่นิยมวาดกัน แต่ความพิเศษของภาพนี้คือเป็นภาพเทพพนมที่ไม่แบ่งชั้นว่าเป็นเทวดา ยักษ์ หรือพรหม แต่เป็นการวาดเทพพนมที่เหล่าเทวดานั่งเคียงคู่ยักษ์หรือพรหมในชั้นเดียวกันได้ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นความแตกต่างจากวัดอื่น ๆ ที่แต่ละชั้นของภาพจะแบ่งเทวดาอยู่ชั้นเทวดา ชั้นยักษ์อยู่ร่วมกับยักษ์ ไม่ปะปนกัน

เมขลาล่อแก้ว

ด้านหลังพระประธานนอกจากจะมีการวาดสัญลักษณ์กลางวัน กลางคืน อยู่ฝั่งซ้ายและขวาแล้ว ถ้าสังเกตให้ดีจะพบภาพ นางมณีเมขลา หรือ นางเมขลา เหาะเหินอยู่กลางอากาศ ถือลูกแก้วในมือกำลังมองมายังยักษ์รามสูรซึ่งถือขวานเตรียมขว้างออกไปหมายประหารนางเมขลาเพราะเห็นแก้วแวววาว โดยตามความเชื่อของไทยโบราณมีตำนานเล่าขานว่าการที่ฟ้าแลบมาจากแสงแก้วของนางเมขลา ส่วนเสียงฟ้าร้องก็มาจากเสียงขวานของรามสูรนี่เอง

ที่สุดของภาพนรกภูมิสายโมเดิร์น

มาถึง วัดภุมรินทร์ราชปักษี แล้วก็ขอแถมท้ายด้วยจิตรกรรมของวัดดุสิดาราม ฝีมือช่างเขียนในสมัยรัชกาลที่ 1 เทียบได้กับภาพเขียนในพระที่นั่งพุทธไธสวรรย์แห่งวังหน้า ไฮไลต์ของจิตรกรรมฝาผนังชุดนี้ซ่อนอยู่ด้านหลังพระประธานเป็นภาพเมืองนรกขนาดใหญ่ที่ผสมผสานเรื่องความเชื่อในด้านพระพุทธศาสนาและความสวยงามของงานจิตรกรรมได้ชวนขนลุก โดยเฉพาะรูปเปรตตัวสูงที่ดูน่าสะพรึงไม่น้อยกว่าเปรตวัดสุทัศน์ฯ ดูแล้วก็ให้รู้สึกเกรงกลัวบาปขึ้นมาทันที

โดยปกติแล้วภาพขุมนรกตามวัดต่างๆ อาจจะมีแค่กระทะทองแดง ต้นงิ้ว หรือพระมาลัยท่องแดนนรกที่ไม่ได้เน้นฉากของภูตผีที่อยู่ในนรกมากนัก แต่ภาพจิตรกรรมนรกภูมิขนาดใหญ่ชิ้นนี้ได้วาดความทรมานของนรกแต่ละขุมอย่างชัดเจน ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงผลของการทำบาปแต่ละประเภทว่าหากพุทธศาสนิกชนกระทำความผิดบาป เมื่อตกนรกไปแล้วจะต้องเจออะไรบ้าง ซึ่งทั้งลายเส้น ทั้งรูปแบบที่ไม่ได้วาดตามขนบนรกไทยประเพณีทำให้ภาพนรกลายเส้นโมเดิร์นชิ้นนี้ดูน่ากลัวและสมจริงจนยกให้เป็นหนึ่งในภาพนรกภูมิที่ต้องห้ามพลาดชมในเมืองไทย

อ้างอิง

  • จากการสัมภาษณ์ อาจารย์เฉลิมพล โตสารเดช อาจารย์สาขาวิชาจิตรกรรรมไทย วิทยาลัยเพาะช่าง, รองศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ หัวหน้าโครงการวิจัยศิลปะกับสังคม สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ
  • คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร www.facebook.com/ThaiArchSilpakorn

Author

ชลดา ชมกลิ่น
หญิงสาวในวัยแห่งการเติบโตและเดินตามความฝัน ปรารถนาที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระและมีความสุขผ่านการผจญภัยในแต่ละวัน

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์
วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"