เปิดประตูจักรวาล ไตรโลกา ย้อนอดีตสู่ยุคก่อนประวัติศาสตร์การกำเนิดไตรภูมิ
Arts & Culture

เปิดประตูจักรวาล ไตรโลกา ย้อนอดีตสู่ยุคก่อนประวัติศาสตร์การกำเนิดไตรภูมิ

Focus
  • CREATURES OF TRILOGA  หรือ ไตรโลกา นิทรรศการที่จะพาไปรู้จักเผ่าพันธุ์ราชสีห์ ยักษ์ ครุฑ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของไตรภูมิ
  • ฮ่องเต้-กนต์ธร เตโชฬาร ศิลปินผู้สร้างจักรวาลไตรโลกาเล่าถึงการเกิดขึ้นของนิทรรศการชุดไตรโลกาครั้งแรกว่าจัดขึ้นเมื่อราว 6 ปีก่อน เน้นเรื่องราวของจตุโลกบาล

ไตรภูมิ คำนี้เป็นคำที่คนในสังคมไทยคุ้นเคย แม้หลายคนอาจจะไม่รู้ความหมายที่ลึกซึ้งแต่ก็ต้องเคยได้ยินคำนี้อยู่บ้าง เพราะไตรภูมิไม่ใช่แค่คำในพุทธศาสนา แต่ยังเป็นรากของศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนงในวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากเมื่อศิลปินรุ่นใหม่ตั้งคำถามกับแนวคิดการกำเนิดไตรภูมิแล้วหาคำตอบด้วยการนั่งไทม์แมชชีนย้อนไปสู่ช่วงก่อนประวัติศาสตร์ เพื่อตามหาว่าหากไตรภูมิมีจริง ยุคก่อนประวัติศาสตร์ไตรภูมิจะหน้าตาอย่างไร และนั่นจึงเป็นที่มาของ ไตรโลกา (Triloga) นิทรรศการที่จะพาไปรู้จักเผ่าพันธุ์ราชสีห์ ยักษ์ ครุฑ ซึ่งเป็นตัวละครเอกในไตรภูมิในแบบฉบับที่คาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นจินตนาการถึงครุฑในมุมมองวิทยาศาสตร์ที่กลายมาเป็นฟอสซิลนกยักษ์ขนาดมหึมา การตีความหมายของเผ่าพันธุ์อสูรว่าความจริงแล้วก็คือมนุษย์สายพันธุ์หนึ่งที่ดำรงชีวิตด้วยความแข็งแกร่งร่วมกับเหล่าสัตว์หิมพานต์ หรือแม้แต่ราชสีห์ทั้งสี่ตระกูลที่ตีความเชื่อมโยงกับสัตว์ยุคโลกที่มีอยู่จริง

 ไตรโลกา
ราชสีห์ 4 ตระกูล

“อย่างผมเองตอนเด็กๆ คุณตาก็เล่าเรื่อง รามเกียรติ์ ให้ฟัง จนมีชุดตัวละครและจักรวาลหนึ่งที่เรารู้จักมาตั้งแต่เด็กแล้วก็เป็นสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจมาก พอเราโตขึ้นก็เริ่มได้อ่านหนังสือว่าจักรวาลที่ครอบรามเกียรติ์อยู่คืออะไร นั่นก็คือไตรภูมิเป็นจักรวาลที่ครอบทุกสิ่งในโลกของวรรณกรรมไทย แล้วก็เป็นรากของงานดีไซน์ทุกอย่าง ยิ่งพอมาเรียนสถาปัตย์ก็จะเริ่มรู้สึกว่าไตรภูมิมันไม่ใช่แค่จักรวาลที่ครอบวรรณกรรม แต่มันเป็นแผนผังการออกแบบ คติ ความเชื่อ  เรารู้สึกว่าไตรภูมิมีทั้งความแฟนตาซีและความเป็นจักรวาลแบบวิทยาศาสตร์ มันเลยเกิดคำถามกับตัวเองว่า แล้วจุดตรงกลางของจักรวาลไตรภูมิระหว่างคนสมัยก่อนกับคนสมัยนี้คืออะไร ความแฟนตาซีแบบไตรภูมิที่มันมีความเวทมนต์นิดๆ กับจักรวาลแบบวิทยาศาสตร์ของคนรุ่นปัจจุบันมันจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ไหม และอยู่ร่วมกันอย่างไร เราจะสามารถเมิร์ชรวมหรือสร้างความสนุกจากมันได้ไหม จากการตั้งคำถามก็เลยเป็นที่มาของไตรโลกา”

 ไตรโลกา
จากซ้าย : ฮ่องเต้-กนต์ธร เตโชฬาร, ซัน-ชาคร ขจรไชยกูล

ฮ่องเต้-กนต์ธร เตโชฬาร ศิลปินผู้สร้างจักรวาล ไตรโลกา เล่าถึงการเกิดขึ้นของนิทรรศการชุด ไตรโลกา ครั้งแรกที่จัดขึ้นเมื่อราว 6 ปีก่อน เน้นเรื่องราวของจตุโลกบาลเชื่อมโยงถึงดินแดนสี่ดินแดน และมีการตีความไตรภูมิผ่านงานคาแรกเตอร์ที่มีความแฟนตาซี ต่างกับไตรโลกาชุดล่าสุด CREATURES OF TRILOGA ซึ่งเป็นซีรีส์ไตรโลกาครั้งที่ 2ที่ไม่ใช่นิทรรศการเดี่ยวของฮ่องเต้ แต่เป็นงานรวมศิลปิน จัดแสดงระหว่างวันที่ 16 กันยายน – 20 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กรุงเทพฯ พร้อมการตีความใหม่ที่ต่างจากนิทรรศการแรกอย่างสุดขั้ว

 ไตรโลกา
แผนที่มหาทวีปและถิ่นที่อยู่ของราชสีห์ตระกูลต่างๆ

“ไตรโลกาเวอร์ชันที่ 2 จะมีความเป็นประวัติศาสตร์มากขึ้นย้อนไตรภูมิไปสู่โลกยุคก่อนประวัติศาสตร์ ลองคิดว่าถ้า ณ ตอนนั้นมีไตรภูมิ ป่าหิมพานต์ ยักษ์ ครุฑ ราชสีห์ จะมีชีวิตอยู่อย่างไร ตอนแรกเราก็คิดภาพเป็นป่าหิมพานต์เพราะทุกคนรู้จัก เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูได้ มีความวิทยาศาสตร์และแฟนตาซีผสมอยู่ แต่พอเราเริ่มลงมือออกแบบก็เริ่มพูดคุย ตกตะกอนจนเจาะไปที่สิ่งมีชีวิตที่ยิ่งใหญ่ในหิมพานต์และ ไตรโลกา มานำเสนอสามจำพวก  คือ ครุฑ ยักษ์ และราชสีห์สี่ตระกูล ซึ่งเป็นพระเอกของหิมพานต์ และเป็นสามสิ่งที่อธิบายความเป็นไตรโลกาได้ครบถ้วนโดยเซตบริบทโลกเป็นยุคหิน เอาหลักทางวิทยาศาสตร์มาจับ รีดีไซน์ โดยมีศิลปิน 19 คนร่วมทีมออกแบบ”

ซัน-ชาคร ขจรไชยกูล หนึ่งในศิลปินที่ร่วมออกแบบจักรวาลไตรภูมิฉบับ ไตรโลกา เล่าถึงการคลี่คลายจากไตรโลกาเวอร์ชันแรกมาสู่เวอร์ชันปัจจุบัน ซึ่งซันก็เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่เคยได้ยินคำว่าไตรภูมิแต่ไม่รู้และไม่เคยอยากรู้ว่าไตรภูมิคืออะไร จนกระทั่งได้มาชมนิทรรศการไตรโลกาเวอร์ชันแรกซึ่งเป็นนิทรรศการเดี่ยวของฮ่องเต้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เขาอยากค้นหาความหมายของไตรภูมิมากยิ่งขึ้นและเข้ามามีส่วนร่วมในนิทรรศการครั้งนี้

 ไตรโลกา
โครงกระดูกครุฑจากการสันนิษฐาน

“ไตรโลกาคือยุคก่อนตำนานจะเกิด เราตีความไว้ที่หลังยุคน้ำแข็งหรือก็คือยุคหิน เราออกแบบแผนที่มหาทวีปเป็นตัวตั้งต้นของโลกนี้ และใช้เวลาในการพัฒนางานประมาณ 3 ปี ซึ่งศิลปินที่มาร่วมหลายคนไม่รู้จักไตรภูมิ หรือรู้ก็เพียงมีคำนี้อยู่ แต่ด้วยความที่โลกนี้เป็นของทุกคน ทุกคนจึงสามารถตีความไตรภูมิได้ ถามว่าไตรโลกาคือสามโลก มนุษย์ สวรรค์ นรกเหรอ มันคงไม่ใช่ แต่ไตรโลกามันคือโลก มันคือเรื่องของมนุษย์นี่แหละ ซึ่งพอเราตีความว่าไตรภูมิที่เราจะพูดถึงคือมนุษย์ มันจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ทุกคน แค่เกิดคนละยุคเท่านั้นเอง อย่าลืมว่าไม่ว่ายุคใดสมัยไหนความต้องการของมนุษย์ก็เหมือนกัน”

ยักษ์ในการตีความของฮ่องเต้ที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น

ฮ่องเต้ขยายความหมายของไตรโลกาฉบับ 2022 ที่แบ่งเรื่องเล่าในห้องจัดแสดงเป็นเผ่าพันธุ์ต่างๆ คือ ครุฑ ยักษ์ และราชสีห์ แค่ก้าวเข้ามาเจอโครงกระดูกครุฑขนาดยักษ์ก็ทำให้เราตื่นเต้นที่จะไปรู้จักเผ่าพันธุ์ต่อไปในจักรวาลไตรโลกาแห่งนี้แล้ว ไม่นับรวมการตีความราชสีห์สี่ตระกูลที่ไม่ใช่สิงโตจากแอฟริกา แต่เป็นการออกแบบที่ดึงคุณลักษณะเด่นของราชสีห์แต่ละตระกูลมาผนวกกับสัตว์โบราณ เช่น ติณราชสีห์ ตามคำบอกเล่าคือสัตว์กีบขนาดใหญ่ที่ดุร้ายขนาดเท่าแม่โค กินได้ทั้งพืชและสัตว์ ผู้ออกแบบจึงนำสัตว์โบราณ อย่าง แดโอดอน (Daeodon) ต้นตระกูลของฮิปโปโปเตมัสมาถอดองค์ประกอบและใส่ความดุร้ายน่าเกรงขามลงไปจนกลายเป็น ติณราชสีห์ ที่ไม่เคยเห็นในตำราไหนมาก่อน

ภาพร่างก่อนจะกลายมาเป็นชิ้นงานในนิทรรศการ

อย่างเผ่าพันธุ์อสูรหรือยักษ์ก็ใส่ความเป็นมนุษย์ลงไป เล่าตั้งแต่ยักษ์วรุณ ยักษ์ลงกา ยักษ์ป่า ยักษ์อุดร ไปจนถึงยักษ์บารัน พร้อมกับใส่ข้อสันนิษฐานเรื่องถิ่นที่อยู่ นิสัยใจคอ เสื้อผ้า อาวุธ วิถีชีวิต คล้ายกำลังฟังเรื่องเล่าของมนุษย์ยุคหินอย่างไรอย่างนั้น และก็ทำให้เราเผลอคล้อยตามว่า…ไม่แน่ยักษ์ในตำนานอาจจะมีตัวตนอยู่จริง เพียงแต่มีรูปลักษณ์ รูปร่างต่างไปจากเผ่าพันธุ์มนุษย์ปัจจุบันก็เท่านั้น เหมือนดังที่นิทรรศการได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“ก่อนจะกลายเป็นปกรณัมก็เคยเป็นตำนาน

ก่อนที่จะมาเป็นตำนานก็อาจเคยเป็นเพียงนิทานมาก่อน

และนิทานทั้งหลายในโลกล้วนมีเค้าโครงเรื่องจริงอยู่ในนั้น”

Fact File

CREATURES OF TRILOGA จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 20 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กรุงเทพฯ ผู้สนใจเข้าชมฟรี รายละเอียดเพิ่มเติม Art of Triloga


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม