เปิดโบสถ์ วัดสุทธิวราราม วัดเก่าแก่อายุกว่า 250 ปีที่ถูกเปลี่ยนเป็นแกลเลอรีอาร์ต
- วัดสุทธิวราราม วัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุงเกือบจะตอนปลาย สร้างในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช
- ผลงานภาพจิตรกรรมร่วมสมัยที่วัดสุทธิฯ สร้างสรรค์โดย ทรงเดช ทิพย์ทอง ศิลปินชาวเชียงรายที่ทำงานศิลปะเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนามาตลอด
เปิดประตูอุโบสถ วัดสุทธิวราราม วัดเก่าแก่สมัยกรุงธนบุรีอายุกว่า 250 ปีที่ตอนนี้ถูกปรับโฉมใหม่ให้พุทธศาสนาเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่ายและสนุกขึ้นผ่านงานศิลปะร่วมสมัยที่จะได้เห็น Google, Facebook, MacBook รวมทั้งร้านสะดวกซื้อเปิดตลอด 24 ชั่วโมงซ่อนอยู่ในพุทธศิลป์เหล่านี้ด้วย
เมื่อเอ่ยถึงวัดภาพจำที่หลายคนนึกถึงคือ ศิลปะแนวไทยประเพณีเล่าเรื่องพุทธประวัติหรือพุทธชาดกที่ประดับอยู่บนผนังพร้อมเหล่าเทวดานางฟ้าในรูปแบบศิลปะความอ่อนช้อยแบบดั้งเดิม แต่นั่นไม่ใช่จิตรกรรมฝาผนังที่อุโบสถหรือโบสถ์ของ วัดสุทธิวราราม วัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุงเกือบจะตอนปลาย สร้างในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช (ราว พ.ศ.2514) โดยสายสกุล ณ สงขลา และเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) จากนั้นก็มีการบูรณะเรื่อยมารวมทั้งมีการสร้างโบสถ์หลังใหม่ตามแบบรัตนโกสินทร์นิยม
สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าประวัติศาสตร์วัดคือการใส่ความคิดสมัยใหม่ผ่านงานพุทธศิลป์ ที่มีทั้งประติมากรรมรอบอุโบสถ และจิตรกรรมภายในอุโบสถบอกได้เลยว่าเป็นงานพุทธศิลป์ที่โมเดิร์นมากๆ ฉีกกรอบเดิมที่ว่าจิตรกรรมฝาผนังต้องเล่าเรื่องพุทธประวัติแบบประเพณีนิยม แต่กลับกลายมาเป็นผลงานปริศนาธรรมที่มีลายเส้นที่แตกต่างจากงานจิตรกรรมฝาผนังแบบเดิมๆ
ไฮไลต์ต้องชมอยู่บนชั้น 2 ที่เปรียบได้กับแกลเลอรีใหญ่สุดเป็นผลงานการวาดภาพลงผืนผ้าใบขนาดใหญ่ของ “ทรงเดช ทิพย์ทอง” ศิลปินชาวเชียงรายที่ทำงานศิลปะเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนามาตลอด เช่นที่จิตรกรรมฝาผนังด้านหลังพระประธานวัดแม่คำสบเปิน และจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดป่าอ้อร่มเย็น จังหวัดเชียงราย ซึ่งงานของทรงเดชมักใช้วิธีเขียนสีเพียงขาวๆ บางๆ เพื่อให้ผลงานดูสะอาดสว่างสงบ เหมือนความรู้สึกของเขาที่มีต่อพระพุทธศาสนา และสำหรับงานศิลปะภายในโบสถ์วัดสุทธิวราราม แห่งนี้ ทรงเดชใช้เวลาวาดนานถึง 7 ปี ริเริ่มโดยพระมหาสุทิตย์ อาภากโร เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม
เมื่อเปิดประตูโบสถ์เข้าไปจะพบกับภาพไฮไลต์คือภาพ “พุทธจักษุ: ดวงตาแห่งการตื่นรู้” เป็นภาพพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าขนาดใหญ่อยู่ด้านหลังพระประธาน ส่วนผนังฝั่งตรงข้ามคือภาพ “วัฏสงสาร” เล่าถึงการเวียนว่ายตายเกิด ความลุ่มหลง กิเลสต่างๆ ซึ่งในภาพนี้พิเศษตรงที่ใส่วัฏสงสารที่เป็นเรื่องราวของคนในยุคปัจจุบันแนะนำให้ค่อยๆ ไล่รายละเอียดของลายเส้น ถ้าสังเกตดีๆ จะพบกับเทคโนโลยีสิ่งของต่างๆ ที่เราๆ ในปัจจุบันต่างก็ติดยึดลุ่มหลง ถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์สมัยใหม่ลงไปในงานพุทธศิลป์ร่วมด้วย
สำหรับ วัดสุทธิวราราม ถือได้ว่าเป็นวัดที่สนับสนุนศิลปะร่วมสมัยมาโดยตลอด เช่นถ้าย้อนกลับไปใน พ.ศ.2562 หากยังจำกันได้วัดสุทธิวรารามเคยปิดโบสถ์จัดงาน “โพธิเธียเตอร์ : แก่นเดิม เปลือกใหม่ของพุทธศาสน์” กับครั้งแรกในอุโบสถวัดที่ไม่ได้ให้เข้าไปไหว้พระแต่ให้เข้าไปสนุกกับงานศิลปะรูปแบบใหม่ Projection Mapping จัดเต็มแสง สี เสียง และเรื่องราวพุทธประวัติที่สนุกแบบไม่ต้องท่องจำ
การเปลี่ยนวัดเป็นอาร์ตแกลเลอรีที่มีทั้งงานศิลปะถาวรและศิลปะหมุนเวียนเหล่านี้แม้จะต้องอาศัยการตีความจากผู้ชมอยู่บ้าง และแน่นอนว่าประสบการณ์ของผู้ชมแต่ละคนแตกต่างกัน ผู้ชมแต่ละคนอาจจะเข้าใจที่ศิลปินต้องการสื่อสารไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมจะได้แน่นอนคือความกล้าที่จะเดินเข้าวัด ถ่ายรูป ตั้งข้อสงสัย และอาจจะกลับบ้านไปขบคิดหาคำตอบต่อว่าแล้วความหมายของรูปเหล่านั้น…แท้จริงคืออะไร
Fact File
ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับวัดสุทธิวราราม คลิก www.facebook.com/Watsuthi2424