พราง : นิทรรศการแผนที่ลายพรางที่ว่าด้วยเขตแดน อำนาจ การอำพราง
Arts & Culture

พราง : นิทรรศการแผนที่ลายพรางที่ว่าด้วยเขตแดน อำนาจ การอำพราง

Focus
  • “พราง” (Conceal) เป็นนิทรรศการศิลปะสื่อผสมล่าสุดของ สุธี คุณาวิชยานนท์ ที่สะท้อนถึงการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรง
  • นิทรรศการนำผู้ชมย้อนกลับไปในยุคสงครามเย็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่ามกลางสมรภูมิความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจคือทุนนิยมและสังคมนิยม และต่อเนื่องมาถึงยุคปัจจุบัน
  • แผนที่ลายพรางสีต่างๆ เขียนให้มีทั้งเปิดเผย ทับซ้อน พรางตา คลุมเครือ และมิดชิด เพื่อสะท้อนถึงการซ่อนเร้นและใช้ความโปร่งใสเป็นเครื่องมืออำพรางในเรื่องที่เต็มไปด้วยความมืดลับ

ผลงาน Conceal หรือ พราง ของ สุธี คุณาวิชยานนท์ เป็นอะไรที่มากไปกว่า “อำพราง” อะไรหลายต่อหลายอย่างถูก “ปิดบัง” เอาไว้ในตัวเอง จากสีเหลือง สีแดง สีเขียว ไปจนถึงพื้นที่ (space) ที่กำกับอาณาเขตแห่งรัฐประชาชาติ (nation-state) ตอกย้ำการ Conceal มากกว่า “ความอยาก” (desire) ที่จะ “เปิดเผย” เป็นเพียง “ความอยาก”, “แว่นสี” ต่างๆ ไม่เพียงแค่กำหนดการ “มองเห็น” รัฐประชาชาติ และอะไรอื่นๆ ตามนัยทางการเมืองของสีเท่านั้น แต่ยังสร้างความหวาดวิตกต่ออนาคตที่ยังมาไม่ถึงด้วย

Conceal
ผลงานชื่อ ประเทศไทยลายอีอาร์ดีแอล (สงครามเย็น) ในนิทรรศการ “พราง”
ภาพ : ปรีชา พัทรอัมพรชัย

“พราง : แผนที่ เขตแดน ลายพราง และอำนาจ” (Conceal : Maps, Boundary, Camouflage and Power) คือชื่อนิทรรศการเดี่ยวล่าสุดของสุธี จัดแสดงระหว่างวันที่ 2 พฤษภาคม – 19 มิถุนายน 2567 ที่ ละลานตา ไฟน์อาร์ต ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 22 กรุงเทพฯ

ภายใต้ประสบการณ์รับรู้โลกการเมืองได้อย่างง่ายๆ ผ่าน “สี” เช่น Orange Revolution (พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 – มกราคม ค.ศ. 2005) เป็นต้น สีและความหลากหลายของสีที่มาจับคู่กันกับการเมืองแสดงความเข้มข้นในธงชาติ โลกการเมืองมีสีสันหลากสีบ่งบอกการแบ่งกลุ่มจนทำให้การเมืองที่มีความซับซ้อนง่ายต่อความเข้าใจ ทุกๆ คนมีอัตลักษณ์ประจำตัวตามสี ผู้คนจำนวนหนึ่งที่มีชั้นสีเคลือบ “แว่น”’ หนาๆ ก็จะมีความเข้มข้นในชีวิตทางการเมืองมาก 

Conceal
นิทรรศการ “พราง”ที่ละลานตา ไฟน์อาร์ต
ภาพ : ปรีชา พัทรอัมพรชัย

การแบ่งการเมืองออกเป็นสีๆ แสดงถึงคุณลักษณะของการเมืองในฐานะการแบ่งแยกและการกันออกไป คำว่าการเมืองแสดงถึงการกันออกไปในตัว  การเมืองแสดงคุณลักษณะของ “ความเป็นเมือง” มากกว่า “ชนบท” หรือ “บ้านนอก” จนทำให้ความเข้าใจ “ความเป็นการเมือง” (Political) (ที่ไม่ใช่แบบที่เข้าใจกันในชีวิตการเมืองทั่วๆ ไป) แบบนักคิดและนักกฎหมายอนุรักษนิยมเยอรมันในศตวรรษที่ 20 Carl Schmitt เห็นว่า “ความเป็นการเมือง” เป็นเรื่องของ “การแบ่งมิตรและศัตรู” 

Conceal
ผลงานชุด“กระดานดำ” ชื่อ Blackboard (Indonesia-Thailand-Singapore) ปี 2563
ภาพ : ธีรพล อุทุม
Conceal
ผลงานชุด“ห้องเรียนประวัติศาสตร์” ชื่อ History Class (Indonesia) ปี 2559-2563
ภาพ : ธีรพล อุทุม

ความหลากหลายของ “สี” ในการเมือง บ่งความแตกต่างมากกว่าความเป็นหนึ่งเดียวกัน รัฐประชาชาติคาดหวังมวลสมาชิกมีความเป็นเอกพันธุ์ (homogeneity) หรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กลไกการศึกษาภาคบังคับ (ดูผลงานของ สุธี คุณาวิชยานนท์, ชุด“กระดานดำ”, ค.ศ. 2001-2020 และชุด“ห้องเรียนประวัติศาสตร์”, ค.ศ. 2000 และ ค.ศ. 2006-2013) มีความสำคัญมากสำหรับการสร้างรัฐประชาชาติ เช่น ผลงานของสุธี เรื่องการศึกษาและประวัติศาสตร์ในต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้น

Conceal
ผลงานชื่อ ภาระของศิลปินไทย ปี 2553
ภาพ : สุธี คุณาวิชยานนท์

ในผลงานของสุธีที่ชื่อ ภาระของศิลปินไทย, ค.ศ. 2010 สุธีอ้างถึงประโยคของ Bruce Nauman ว่า “The true artist helps the world by revealing mystic truth.” ภาระแบบนี้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันกับ “civilizing mission” ของเหล่าอดีตเจ้าอาณานิคมที่ต้องปลดปล่อยคนพื้นเมืองออกจากความเชื่อที่งมงาย ภาระของ Nauman ในฐานะศิลปินผู้ต้องการเปิดเผยความจริง เป็นแนวทางการปฏิบัติการตามวิถีสามัญของ enlightenment นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา 

แนวทางของพวก Enlightenment ที่จะให้แสงสว่างแห่งภูมิปัญญานั้นฉายแสงไปทำลายเหล่าตำนาน ความเชื่อที่งมงาย ศาสนา ฯลฯ เจตจำนงที่จะเปิดเผยให้เห็นถึงความจริงคือพลังสำคัญของผู้คนในโลกสมัยใหม่ เมื่อนำข้อความแบบ Bruce Nauman มาใช้กับรัฐประชาชาติก็ทำให้เกิดคำถาม (ยอดนิยม) ทางแสงสว่างแห่งภูมิปัญญาว่า “What is Nation?” หรือ “ชาติคืออะไร?” ทำอย่างไรถึงจะทำให้ “mystic truth” ของ “nation-state” หมดไป? คำถาม “What is Nation?” หรือ “What is Nation-State?” เป็นเรื่องสำคัญในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ของยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ‘State’ หรือรัฐกลายมาเป็นรัฐในรูปแบบ ‘Nation-State’ หรือชาติและรัฐถูกนำมาอยู่คู่กัน

Conceal
สุธี คุณาวิชยานนท์ กับผลงานชุด “พราง”
ภาพ : ปรีชา พัทรอัมพรชัย

เมื่อคำว่า ‘Nation’ และ ‘State’ ที่ไม่เคยอยู่ด้วยกันมาก่อนนั้นต้องมาอยู่ด้วยกัน ย่อมสร้างปัญหาเป็นธรรมดา “อะไรคือรัฐ/ชาติ?”  สำหรับ Ernest Renan กับคำบรรยายอันโด่งดังใน ค.ศ. 1882 “What is Nation?” ได้หันเหไปจากความจริงเชิงประจักษ์ที่จับต้องได้ ความเป็น “ชาติ” ไม่ใช่ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ฯลฯ  สำหรับ Renan ผู้เคยคิดจะเป็นพระคาทอลิกมาก่อนเห็นว่า ‘Nation’ ดำรงอยู่ในแบบจิตวิญญาณ (spiritual) เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นรูปธรรม 

Conceal
ผลงานชื่อ นิ้วกลางอันแสนอ่อนช้อย (วงรี) ในนิทรรศการชื่อ ครึ่งหนึ่งของความจริง ปี 2553
ภาพ : สุธี คุณาวิชยานนท์

ในการสร้างรัฐประชาชาติสิ่งที่จำเป็นสำหรับ Renan คือการหลงลืม (forgetfulness) หรือไปถึงขั้น “ความไม่จริง/ผิดทางประวัติศาสตร์” (historical error) สิ่งที่ไม่จริงเหล่านี้ต่างหากที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างชาติ ความจริงไม่ได้มีความสำคัญต่อการสร้างรัฐประชาชาติเสมอไป ความจริงไม่ว่าจะเป็นทั้งหมดหรือเพียงแค่ “ครึ่งหนึ่งของความจริง” (ผลงานชุด “ครึ่งหนึ่งของความจริง”, ค.ศ. 2010 ของ สุธี คุณาวิชยานนท์) จึงไม่มีความสำคัญ ความคิดของ Renan ทรงอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดเรื่องรัฐประชาชาติในฐานะ “ชุมชนจินตนาการ (imagined community)” ของ Benedict Anderson

ปฏิกิริยาชาตินิยมขยายตัวไปพร้อมกับการขยายตัวของโลกาภิวัตน์ที่แพร่ไปพร้อมๆ กันกับเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) อันเป็นแนวความคิดที่ต้องการลดบทบาทรัฐและส่งเสริมอำนาจของเอกชน เช่น การทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเป็นของรัฐให้เป็นของเอกชน (privatization) เน้นตลาดเสรี ลดงบประมาณรายจ่ายรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยไม่ได้รับเงินจากรัฐ แต่ต้องหาเงินได้ด้วยตัวเอง เป็นต้น   

ผลงานชื่อ 12 เหตุผลทำไมคนไทยไม่กลัวโลกาภิวัตน์ ปี 2547
ภาพ : สุธี คุณาวิชยานนท์

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 สำนึกชาตินิยมทวีความรุนแรงมากขึ้นในดินแดนต่างๆ จากประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกาจนถึงประเทศยากจน ปฏิกิริยาต่อโลกาภิวัตน์ (สุธี คุณาวิชยานนท์, ผลงานชุด “12 เหตุผลทำไมคนไทยไม่กลัวโลกาภิวัตน์”, ค.ศ. 2004) มาจนถึงผลงานชุด “พราง : แผนที่ เขตแดน ลายพราง และอำนาจ”, ค.ศ. 2024 บ่งบอกถึงความวิตกกังวล ความไม่แน่นอนของระเบียบโลกใหม่ (ดูผลงาน ระเบียบโลกใหม่, ค.ศ. 2024 ของ สุธี คุณาวิชยานนท์) ผลงานชิ้นนี้นำเสนอภาพของดินแดนต่างๆ แยกออกจากกันมากกว่าที่จะอยู่เป็นพวกเดียวกันชัดเจนแบบช่วงเวลาสงครามเย็น โดยโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 21 การรวมตัวกันในทางเศรษฐกิจไม่ได้หมายความถึงการรวมตัวกันทางการทหาร 

Conceal
ผลงานชื่อ ระเบียบโลกใหม่ ปี 2024 ในนิทรรศการพราง
ภาพ : ปรีชา พัทรอัมพรชัย

จากผลงานที่ใช้ชื่อว่า “Camouflage” ใน ค.ศ. 2022 สุธีเปลี่ยนมาเป็น Conceal ใน ค.ศ. 2024 คำว่า “พราง” ไม่ได้ทรงประสิทธิภาพมากเท่ากับ “Conceal” หรือ “ปิด” หรือ “ซ่อน” สำหรับคำว่า “Camouflage” นั้นแสดงถึงการปลอมแปลง ปลอมตัว ในขณะที่ “Conceal” นั้น “ปิด” ไม่เห็นอะไรเลย แม้กระทั่งสิ่งปลอมๆ การถูกปิดกั้นจากความจริงทำให้ทุกอย่างดำมืด ความชัดเจน ความไม่แน่นอน ความไม่มั่นใจ ความไม่ไว้วางใจ ทั้งหมดนี้มีดำรงเสมอเมื่อถูกปิดกั้นจากความจริง เมื่อยังไม่สามารถเห็นแสงสว่างแห่งความจริงในอนาคตก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ความวิตกจริตจะบังเกิด 

Conceal
ผลงานชื่อ ประเทศไทยลายพรางสีแดง (ขวา) ในนิทรรศการ“พราง”
ภาพ : ปรีชา พัทรอัมพรชัย

คำว่า Conceal  อยู่ในตำแหน่งอีกด้านหนึ่งของคำว่า “ความโปร่งใส (transparency)” สำหรับคำหลังเป็นความคิดร่วมสมัยที่ได้รับความนิยมอย่างมาก หลายทศวรรษที่ผ่านมาใครๆ ก็ต้องกล่าวถึง “ความโปร่งใส (transparency)” แสงสว่างที่ฉายไปในพื้นที่ที่ดำมืดทำให้ “ รู้” ได้ว่า “เป็น อยู่ คือ” อะไร เมื่อ “รู้” ก็สามารถจัดการและควบคุมได้ เมื่อ “รู้” ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องหวาดกลัวหรือวิตกจริต (anxiety) กับความไม่รู้และความไม่แน่นอนอีกต่อไป 

“ความโปร่งใส (transparency)” ของรัฐเป็นความคิดที่สำคัญที่แพร่หลายนับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติการของรัฐกลายมาเป็นวิถีทางของการเมืองและกฎหมายที่คอยกำกับและควบคุมรัฐ กฎหมาย “freedom of information” เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมรัฐต่างๆ ความคิดเรื่อง “ความโปร่งใส” ดำเนินไปพร้อมกันกับคำ เช่น “เสรีประชาธิปไตย” “เสรีภาพของข่าวสาร” “ความไว้วางใจ” “ความจริงใจไม่หลอกลวง” ฯลฯ คำต่างๆ เหล่านี้ได้รับความนิยมเพิ่มมากยิ่งขึ้นหลังการล่มสลายของคอมมิวนิสต์หรือการสิ้นสุดของสงครามเย็น (Cold War) จนนำไปสู่การขยายตัวของ “globalization” ไปยังดินแดนต่างๆ ที่ต่างภาษาต่างวัฒนธรรมจนทำให้กิจการลงทุนจากต่างแดนต้องการความมั่นใจและชัดเจนจากเหล่ารัฐในดินแดนยากจนที่ต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ คำว่า “globalization” เป็นคำที่ใช้กันมากกว่าที่จะใช้คำว่า ‘Westernization’ หรือแม้กระทั่ง ‘Christianization’ 

พราง
ผลงานชื่อ ไทยประดิษฐ์, ปี 2557 (ซ้าย) ผลงานชื่อ ลายพราง (ประเทศไทยและเพื่อนบ้าน) หมายเลข 2, ปี 2566, (กลาง) และผลงานชื่อ แผ่นดินแม่, ปี 2557 (ขวา), (ภาพ : ปรีชา พัทรอัมพรชัย)

อุปลักษณ์ (metaphor) ของคำว่า “โปร่งใส” แสดงถึงความอยากที่จะให้ความลับดำมืดของรัฐได้รับการเปิดเผยด้วยแสงสว่างที่สาดส่องเข้าไป กรอบความคิดความสว่างของรัฐเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อความลับที่ดำมืดของรัฐในยุโรป แสงสว่างของประชาสังคม (civil society) และประชาชนจะสาดส่องไปยังปฏิบัติการของรัฐ ทุกสิ่งทุกอย่างของรัฐที่เคย “ดำมืด” จะถูกเปิดเผย  

ในศตวรรษที่ 18 เทคโนโลยีและความรู้เรื่องแสง (optic) ขยายตัวไปอย่างมาก กล้องส่องระยะไกล กล้องจุลทรรศน์ ฯลฯ ทำให้อะไรที่ไม่มีใครเคยเห็นได้กลายมาเป็นความจริงใหม่ๆ ส่วนประสบการณ์ที่ได้จากการมองผ่านหน้าต่างกระจกใสพร้อมกับสำนึกและความคิดแบบยุคแสงสว่าง (Enlightenment) ก็ทำให้โลกทัศน์แบบที่เห็นได้อย่างทะลุปรุโปร่งกลายมาเป็นระบบคิดในการมองโลก ไล่ไปจนถึงโลกที่ไม่มีอะไรปิดบัง 

กลไกของการตรวจสอบจากศาสนจักร พระ เจ้าหน้าที่รัฐ ไปจนถึงเพื่อนๆ เพื่อนบ้าน ฯลฯ หลังการปฏิรูปศาสนา (Reformation) ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ทำให้การตรวจสอบและสอดส่องชีวิตทั้งฝ่ายคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ดำเนินไปอย่างเข้มข้น การสารภาพบาป (confession) ทำให้การกระทำที่เลวร้ายถูกตรวจสอบอยู่อย่างสม่ำเสมอ พร้อมๆ กันนั้นผู้กระทำผิดก็จะต้องสำนึกในบาปจากการกระทำที่ชั่วร้าย  

พราง
รายละเอียดของผลงานชื่อ ระเบียบโลกใหม่ : แผนที่ประเทศอิสราเอล (ซ้าย) ฉนวนกาซา (กลาง) และเวสต์แบงก์ (ขวาบน) และซาอุดีอาระเบีย (ขวาล่าง), (ภาพ : สุธี คุณาวิชยานนท์)

การสอดส่องพฤติกรรมของผู้คนในยุโรปด้วยกันเองนั้นเป็นการสร้างให้ผู้คนมีระเบียบวินัยทั้งกับตัวเองและสังคม ความโปร่งใสที่สามารถเห็นทุกอย่างแบบทะลุปรุโปร่งจึงมีเป้าหมายอยู่ที่การเสริมสร้างศีลธรรมอันดีงามของสังคม ถึงแม้ว่าจะนำมาซึ่งความไม่ไว้วางใจระหว่างกันของผู้คน เพราะทุกๆ คนจะถูกสอดแนมและถูกรายงาน วิถีชีวิตภายใต้รัฐที่นักประวัติศาสตร์ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เรียกว่า ‘Confessionalized State’ นั้นไม่มีใครไว้ใจใครได้ 

ฟากฟ้าแสงสว่างไสวยังเป็นอุปลักษณ์ให้เห็นความจริงไปจนถึงศีลธรรมอันดีงาม แสงสว่างทำให้ความจริง ความดี และความงาม เป็นสิ่งเดียวกัน ในท้ายที่สุดแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เลวร้ายสกปรกไม่งดงามจะถูกเปิดเผยออกมา “สิ่งที่ถูกเปิดเผย” หรือ “aletheia” ในภาษากรีกโบราณ หรือ “สิ่งที่ไม่ได้ถูกปกปิด” หรือ “ความจริง” ในปรัชญาจากกรีกโบราณนั้นถูกนำกลับขึ้นมาใช้โดยนักปรัชญา Martin Heidegger ในคริสต์ศตวรรษที่ 20

พราง
ผลงานชื่อ ลายพราง (ประเทศไทยและเพื่อนบ้าน) หมายเลข 2, ปี 2566
ภาพ : ปรีชา พัทรอัมพรชัย

อุปลักษณ์ของคำแบบแสงสว่างนั้นเป็นหัวใจสำคัญของญาณวิทยา (epistemology) ของโลกตะวันตก การให้ความสำคัญกับแสงและการเห็นเป็นอคติทางญาณวิทยาที่เรียกว่า ‘Ocularcentrism’ ของโลกตะวันตก จากคำว่า “Theory” จนถึง “theatre” นั้น ล้วนแล้วแต่มีรากมาจากคำว่า “theõria” บ่งบอกถึงการมอง การเห็น ทัศนศิลป์ (visual art) ถูกควบคุมด้วยแสงสว่างและการมองเห็นตามคำ “visual” หรือ “ทัศน์” ผัสสะจากการเห็นสำคัญมากกว่าผัสสะแบบอื่นๆ ทัศนศิลป์เป็นโลกของ “ดูแต่ตา มืออย่าต้อง” ทัศนศิลป์ไม่ต้องการผัสสะจากหู มือ และลิ้น ฯลฯ ในโลกของทัศนศิลป์นั้น “ระยะห่าง” เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่เสมอ

ความอยากที่จะมีความโปร่งใสทางการเมืองชี้ให้เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยความมืด ความลับที่ดำมืดคือการเมืองของรัฐ การเมืองของการปกครองและการกำหนดตัดสินนโยบาย ความลับของรัฐทุกรัฐไม่ว่าจะปกครองในระบอบใดต้องการปฏิบัติการลับๆ เมื่อลับๆ ก็ย่อมไม่ต้องการความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ความลับของรัฐไปจนถึงการรักษาความลับ ไล่ไปจนถึงความต้องการความลับของรัฐอื่นๆ นั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำรงอยู่ของรัฐ 

พราง
ประเทศไทยลายพรางสีส้ม, ปี 2566 (ซ้าย) และประเทศไทยลายพรางสีเหลือง, ปี 2566 (ขวา)
ภาพ : ปรีชา พัทรอัมพรชัย

รัฐต้องการรักษาความลับ รัฐต้องปิดบังตัวเองจากปฏิบัติการลับๆ เพื่อความมั่นคง แต่รัฐกลับต้องการความโปร่งใสจากผู้คน ด้วยประสิทธิภาพของดิจิทัลเทคโนโลยีที่สามารถจับพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของผู้คนด้วยอัลกอริทึม (algorithm) ก็ทำให้สามารถประเมินและกำกับพฤติกรรมของผู้คนได้จากข้อมูลส่วนตัวที่ถูกบันทึกผ่านเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ความเป็นส่วนตัวที่เคยเป็นความลับส่วนบุคคลค่อยๆ ถดถอยลงไปเรื่อยๆ เช่น การให้คะแนนความประพฤติของรัฐจีนคอมมิวนิสต์ เป็นต้น การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินในสังคมไร้เงินสดจึงเป็นกลไกสำคัญของการตรวจสอบผู้คน

ความเป็นส่วนตัว (privacy) ที่เป็นความลับส่วนบุคคลเป็นองค์ประกอบสำคัญของวิถีเสรีประชาธิปไตย วิถีชีวิตลับ/ส่วนตัวไม่ต้องการให้รัฐจนถึงอำนาจสาธารณะเข้ามายุ่มย่าม พื้นที่ส่วนตัวเป็นพื้นที่ที่จะต้องปิดเอาไว้ เพียงแต่ภายใต้สังคมดิจิทัลเทคโนโลยีทุกๆ คน ทุกอย่าง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เปิดเผยข้อมูลให้กับบริษัทดิจิทัลเทคโนโลยี ข้อมูลส่วนตัวที่ถูกบันทึกทุกๆ นาทีรู้จักกันในนาม “อัตตาเชิงปริมาณ” หรือ “quantified self” ด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีทำให้การเก็บข้อมูลของคนแต่ละคนเป็นไปได้ เช่น การนอน การหายใจ การเต้นของหัวใจ ฯลฯ ไล่ไปจนถึงระดับ DNA ในโลกแห่งดิจิทัลเทคโนโลยีนั้นพฤติกรรมของผู้ใช้บริการเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดความโปร่งใสด้านข้อมูลสำหรับตัวเอง เพียงแต่ข้อมูลส่วนตัวของบุคคลนั้นอยู่ในมือบริษัทเทคโนโลยีที่พร้อมจะนำมาใช้เป็น “ข้อมูลขนาดใหญ่”  

พราง
บรรยากาศในนิทรรศการ “พราง” และเบื้องหลังการทำงานชุด “พราง” (ซ้าย)
ภาพ : ปรีชา พัทรอัมพรชัย

สิ่งมีชีวิตจำนวนหนึ่งได้ใช้ความโปร่งใสเป็นกลไกในการพรางตัว เช่น แมงกะพรุน กบกระจก เป็นต้น ความโปร่งใสจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการอำพรางได้ไม่แพ้การปกปิด เมื่อรัฐใช้กลไกของเหล่าบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลก็ยิ่งตอกย้ำ “ความเย็นยะเยือกของรัฐ” ตามคำกล่าวของนักคิดเยอรมันในปลายศตวรรษที่ 19 Friedrich Nietzsche ผู้กล่าวว่า

“A state, is called the coldest of all cold monsters. Coldly lieth it also: and this lie creepeth from its mouth: ‘I, the state, am the people’. It is a lie.”

บทความโดย : ศาสตราจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา อ่านฉบับเต็มนิทรรศการ พราง

Fact File

  • นิทรรศการ “พราง : แผนที่ เขตแดน ลายพราง และอำนาจ” (Conceal : Maps, Boundary, Camouflage and Power) โดย สุธี คุณาวิชยานนท์ จัดแสดงระหว่างวันที่ 2 พฤษภาคม – 19 มิถุนายน 2567
  • ละลานตา ไฟน์อาร์ต ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 22 กรุงเทพฯ
  • เปิดทำการวันอังคาร-เสาร์ ตั้งเเต่เวลา 10.00-19.00 น. โทร. 0-2050-7882