ปลุกชีวิต เจริญกรุง หลังโควิด กับ 30 ผลงาน Colour of Charoenkrung
- Colour of Charoenkrung สีสันเจริญกรุง โปรเจคต์แต่งแต้มสีสันให้ เจริญกรุง ด้วย 30 ผลงานจาก 30 ศิลปินและนักออกแบบ ที่มาร่วมตีความย่านนี้ผ่านผลงานศิลปะหลากเทคนิคตั้งแต่จิตรกรรม กราฟิก การปะติด งานสานเส้นพลาสติกไปจนถึงภาพปัก
- Colour of Charoenkrung สีสันเจริญกรุง จัดแสดงแล้ววันนี้ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2563
เจริญกรุง ถือเป็นย่านที่ไม่เคยหลับใหล ทั้งด้วยเสน่ห์ของความเป็นชุมชนย่านเมืองเก่า และการเป็นศูนย์รวมของความหลากหลายทางวัฒนธรรมไทย จีน พุทธ คริสต์และอิสลาม ทั้งร้านค้า ตึกราม สถาปัตยกรรมเก่าผสมใหม่ที่เชิญชวนให้ผู้คนแวะเวียนไปเยือนกันอยู่เสมอ สำหรับใครที่มีแพลนจะไปช่วงนี้อยากบอกว่าเขากำลังมีโปรเจคต์ Colour of Charoenkrung สีสันเจริญกรุง กับงานศิลปะกว่า 30 ชิ้นอยู่ตามจุดต่าง ๆ ทั่วย่านให้ได้ไปเดินถ่ายภาพ ดูงานศิลปะ ปลุกย่านเจริญกรุงให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
จุดนี้ไม่ต้องห่วงเลยว่าผลงานใด ตั้งอยู่จุดไหนบ้าง เพราะเขาปักหมุดในแผนที่ไว้ให้หมดแล้ว หากตั้งต้นจากรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีสะพานตากสินมา จุดแรกจะอยู่ในซอยเจริญกรุง 44 กับผลงาน สีสันเจริญกรุง ซึ่งถือเป็นไฮไลต์หนึ่งของโปรเจคต์นี้ที่ศิลปิน 2choey หรือเชิดศักดิ์ เม้ยขันหมาก หยิบเรื่องราวของวิถีริมน้ำมาเป็นแรงบันดาลใจ โลเคชันคือผนังข้างโรงแรม Bangkok check in ติดกับ Sarnies Bangkok ร้านกาแฟส่งตรงจากสิงคโปร์ ใครที่ไปช่วงเช้าแวะเติมพลังก่อนเดินทางต่อกันได้เลย
หากเดินตรงตามถนนใหญ่มายังฝั่งตรงข้ามวัดม่วงแค บริเวณต้นซอยเจริญกรุง 47 จะพบกับความจัดจ้านของสีสันที่มาจากผลงานของศิลปินสายกราฟิก Tnop Design ที่เลือกใช้ตัวอักษรมาเป็นภาพแทน ชวนมองย้อนกลับไปถึงโครงสร้างและเสน่ห์ความท้องถิ่นของย่านเจริญกรุง ผ่านผลงาน Localism ซึ่งอยู่คู่กับ Monopoly ผลงานของศิลปิน Bunjerd.Boy ที่มีคีย์หลักคืออาการประหลาดใจ เพราะความหลากหลายของสิ่งต่าง ๆ หล่อหลอมให้เจริญกรุงเป็นเสมือนย่านที่มอบอาการลุ้น และประหลาดใจให้ผู้คนอยู่ตลอดเวลา
นอกจากจะมีผลงานที่เข้ารอบจากโครงการ CEA VACCINE ร่วมสร้างสรรค์…ภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) มาให้ได้ชมถึง 30 ชิ้นแล้ว ศิลปินแต่ละคนก็สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคที่แตกต่างกันด้วย ตั้งแต่จิตรกรรม กราฟิก การปะติด จนถึงศิลปะจัดวาง เช่น ผลงานของ ease studio ที่มุ่งเชิดชูความหลากหลายของผู้คน ด้วยงานภาพปักจากวัสดุหัตถอุตสาหกรรม (Industrial-Craft) ออกมาเป็นผลงาน We’re Human. ซึ่งจัดแสดงอยู่ในซอยวัดม่วงแค ย่านชุมชนที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติและศาสนา
แวะเดินภายในอาคาร TCDC บางรัก จุดเดียวก็สามารถเก็บผลงานตามหมุดที่ปักไว้ได้ถึง 5 ชิ้น ซึ่งจัดเรียงไปตั้งแต่ชั้น M จนถึงชั้น 5 แต่จะมีชิ้นงาน Different shade of Charoenkrung ที่จัดอยู่บริเวณทางเดิน Rooftop Garden ชั้น 5 ที่จะเข้าชมได้เฉพาะสมาชิกของ TCDC เท่านั้น เป็นผลงานที่เน้นบอกเล่าถึงสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผ่านการตีความตามเฉดสีจากขาว-ดำถึงสีสันสดใสที่เปรียบเสมือนความรุ่งเรืองที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง สร้างสรรค์โดย การุญ เจียมวิริยะเสถียร ศิลปินอิสระเจ้าของผลงานวาดเมืองนับไม่ถ้วน ที่ได้เห็นกันในเพจ Z i l l u S t a t i o n . ชิว
หากการเดินไกลทำให้ท้องบ่นหิว แวะรองท้องด้วยขนมโตเกียวที่ร้าน Tokyo Hot ระหว่างเดินไปชมชิ้นงานไฮไลต์อย่าง Bird’s Eye View ของ WISHULADA หรือ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ที่กำแพงด้านข้างร้านได้เลย
ผลงานชิ้นนี้ วิชชุลดา ยังคงสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ด้วยวัสดุเหลือใช้ ตามหลักการของ Circular Economy เช่นเคย ซึ่งคราวนี้ขอนำเสนอภาพมุมสูงของแผนที่บริเวณย่านเจริญกรุง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่เกิดการบริโภคทรัพยากรหลากหลายรูปแบบ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ชมในเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างพอประมาณและเกิดประโยชน์สูงสุด บริเวณข้างกันนั้นยังมีผลงาน Mirror Of Aged โดย เขมพงศ์ รุ่งสว่าง ที่มุ่งสื่อถึงความหลากหลายของเชื้อชาติ วัฒนธรรมและความเป็นไปของปัจจุบันผ่านภาพโครงสร้างกระจกแตกให้ได้ชมกันด้วย
แต่ละจุดที่จัดแสดงผลงานอยู่ไม่ไกลกันมากนัก เรียกได้ว่ามีให้หยุดดูกันเป็นระยะ ๆ แต่สำหรับสายถ่ายภาพหลาย ๆ จุดเป็นซอยแคบอาจจะต้องหามุมและระวังรถรากันสักนิด และบางชิ้น เช่น ความเบ่งบานแห่งวัฒนธรรม The blossoming of culture โดย ไกรพล กิตติสิโรตม์ อาจจะต้องสังเกตกันสักหน่อย เพราะอยู่บริเวณผนังด้านบนของร้าน Old maps & prints แต่หากมองจากฝั่งตรงข้าม (ซอยเจริญกรุง 37) ก็จะมองเห็นความสดชื่นแจ่มใสของภาพจิตรกรรมดอกไม้นี้ได้ชัดเจน
บริเวณผนังโรงน้ำแข็งในซอย เจริญกรุง 24 ก็มีผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากสถานที่สำคัญซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของเหล่าคริสตชนชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ชุมชนตลาดน้อยในระแวกนั้นอย่าง วัดแม่พระลูกประคํา (โบสถ์กาลหว่าร์) เช่น ผลงานของศิลปิน Mukae ที่ตั้งชื่อว่า Rosary โดยในภาษาไทยมีความหมายว่า ดอกกุหลาบ หรือ ลูกประคํา ซึ่งดอกกุหลาบเปรียบเสมือนตัวแทนของวัดแม่พระลูกประคําที่ได้รับการดูแลรักษาให้เติบโตและมีชีวิตชีวาจากชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ชุมชนตลาดน้อย
มาถึงบริเวณโซนตลาดน้อยกันบ้าง หากลัดเลาะไปตามเส้นทางศาลเจ้าโรงเกือกจะเป็นผลงานที่เน้นบอกเล่าถึงวัฒนธรรมไทยจีนที่ผสมผสานกันตามวิถีชีวิตของผู้คนในบริเวณพื้นที่จัดแสดง เช่น Gooses Job บริเวณผนังร้านอุไรห่านพะโล้ ถนนทรงวาด ที่ สุชา จามาศ ศิลปินเจ้าของผลงานได้หยิบยกศิลปะการวาดลายเส้นของจีนมาเป็นแรงบันดาลใจ ผสมผสานกับความร่วมสมัย บอกเล่าเรื่องราววัฒนธรรมในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ทั้งเรื่องการเลี้ยงดูของคนในครอบครัวและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงสะท้อนภาพความสัมพันธ์ของคนไทยเชื้อสายจีนในย่าน เจริญกรุง ที่มีมาอย่างยาวนานอีกด้วย
จากจุดนี้ใครยังไหวสามารถไปตลาดเยาวราชต่อยาว ๆ ได้เลย ใครยังไม่มีแพลนเดินทางไปเที่ยวไกลๆ นอกกรุงเทพฯ เราขอชวนเพื่อน ๆ ให้สวมผ้าใบ ใส่หน้ากาก ถือกล้องออกไปตามหาสีสันของ เจริญกรุง กัน
Fact File
- Colour of Charoenkrung สีสันเจริญกรุง จัดแสดงแล้ววันนี้ – 30 กันยายน พ.ศ.2563
- แผนที่จุดแสดงงาน : https://bit.ly/2ZusfNn
- รายละเอียดเพิ่มเติม Facebook : Charoenkrung Creative District