10 ที่สุด ศิลปะการห่อหุ้ม ของ Christo และ Jeanne-Claude จากรัฐสภาสู่ประตูชัยฝรั่งเศส
Arts & Culture

10 ที่สุด ศิลปะการห่อหุ้ม ของ Christo และ Jeanne-Claude จากรัฐสภาสู่ประตูชัยฝรั่งเศส

Focus
  • L’Arc de Triomphe, Wrapped เป็นโปรเจกต์ศิลปะการห่อหุ้มล่าสุด โดย คริสโต และ ฌาน-โคลด ศิลปินคู่สามีภรรยาผู้ล่วงลับที่โด่งดังกับงานศิลปะห่อหุ้มสถานที่สำคัญทั่วโลก
  • คริสโต และ ฌาน-โคลด มีไอเดียจะห่อหุ้มประตูชัยของฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ.1961 แต่ความฝันของทั้งคู่เป็นจริงใน 60 ปีต่อมาหลังการเสียชีวิต 1 ปีของคริสโต
  • คริสโต และ ฌาน-โคลด ได้ร่วมกันทำงานศิลปะสาธารณะที่สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วโลกในช่วง 6 ทศวรรษ อาทิ การห่อหุ้มอาคารรัฐสภาในเบอร์ลิน การสร้างทางเดินลอยน้ำเหนือทะเลสาบในอิตาลี และการสร้างแพลอยน้ำรอบเกาะในไมอามี

เป็นอีกงานที่เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อ ประตูชัยฝรั่งเศส (L’Arc de Triomphe de l’étoile) อีกหนึ่งแลนด์มาร์กของกรุงปารีสถูกงาน ศิลปะการห่อหุ้ม ห่อคลุมประตูชัย อนุสรณ์สถานที่มีความสูง 50 เมตร ยาว 45 เมตร และกว้าง 22 เมตร ด้วยผ้าใยสังเคราะห์สีเงินอมฟ้าที่ทอจากเส้นใยโพลีโพรพิลีน ซึ่งนี่คือโปรเจกต์ที่มีชื่อว่า L’Arc de Triomphe, Wrapped โดยศิลปินคู่สามีภรรยาผู้ล่วงลับ คริสโต วลาดิมิรอฟ จาวาเชฟ (Christo Vladimirov Javacheff) และ ฌาน-โคลด เดอนา เดอ กิลล์บงน์ (Jeanne-Claude Denat de Guillebon) ที่ผ่านมาทั้งคู่ได้สร้างสรรค์ผลงานที่เรียกว่า ศิลปะการห่อหุ้ม สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วโลกโดยใช้เทคนิคการห่อหุ้มอาคารและสถานที่สำคัญหลายแห่งทั่วโลก อาทิ อาคารรัฐสภา Reichstag ในเบอร์ลิน สะพาน Pont Neuf ในปารีส ชายฝั่งและหน้าผาในซิดนีย์ และเกาะในไมอามี

ศิลปะการห่อหุ้ม
ภาพ: Wolfgang Volz, © 2021 Christo and Jeanne-Claude Foundation

L’Arc de Triomphe, Wrapped ศิลปะการห่อหุ้ม ประตูชัย จัดแสดงเป็นเวลา 16 วัน ระหว่างวันที่ 18 กันยายน-3 ตุลาคม ค.ศ.2021 และเป็นโปรเจกต์ที่สานฝันของศิลปินผู้ล่วงลับให้เป็นจริงนับตั้งแต่ทั้งคู่วาดฝันจะห่อหุ้มประตูชัยแห่งนี้ขณะที่พวกเขาอาศัยอยู่ในปารีสเมื่อ 60 ปีที่แล้ว โดยมี วลาดิมีร์ ยาวาเชฟ (Vladimir Yavachev) หลานชายของคริสโตเป็นผู้สานฝันและทำงานกับโปรเจกต์นี้มาตั้งแต่เริ่มต้น เป็นผู้อำนวยการโครงการ

ปฏิบัติการห่อหุ้มประตูชัยตามภาพวาดและขั้นตอนการติดตั้งที่คริสโตได้วางแผนไว้อย่างละเอียดมาก่อนหน้าตั้งแต่ ค.ศ.2017 เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2021 โดยใช้ทีมวิศวกรและช่างติดตั้งจำนวน 95 คน ในการติดตั้งโครงเหล็กรอบประตูชัยเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นและใช้ผ้าใยสังเคราะห์รีไซเคิลและเป็นชนิดกันไฟขนาด 25,000 ตารางเมตร ในการห่อหุ้มคลุมทั้งประตูชัย พร้อมกับตรึงด้วยเชือกรีไซเคิลสีแดงขนาด 3,000 เมตร

ศิลปะการห่อหุ้ม
ฌาน-โคลดและ คริสโต (ภาพ: Wolfgang Volz, © 2005 Christo and Jeanne-Claude Foundation)

โปรเจกต์ L’Arc de Triomphe, Wrapped ใช้งบประมาณ 14 ล้านยูโร หรือราว 550 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่ทางมูลนิธิ Christo and Jeanne-Claude ได้มาจากการขายภาพสเกตซ์ ภาพดรออิง งานคอลลาจ และโมเดลของโครงการต่างๆ ที่ทางศิลปินทั้งคู่ได้สร้างสรรค์ไว้ ทั้งนี้ในการสร้างสรรค์ผลงาน ศิลปะการห่อหุ้ม ที่ผ่านมาทั้งคริสโตและฌาน-โคลด ล้วนปฏิเสธการระดมทุนหรือรับเงินสนับสนุนจากที่ต่างๆ เพราะพวกเขาต้องการให้ผลงานเป็นศิลปะสาธารณะสำหรับทุกคน ไม่มีใครเป็นเจ้าของแม้แต่ตัวศิลปินเอง และไม่มีการเก็บค่าเข้าชมใดๆทั้งสิ้น ส่วนไอเดียการเลือกใช้เทคนิค ศิลปะการห่อหุ้ม และการจัดแสดงชั่วคราว (แม้จะใช้เวลาเตรียมงานนานนับปี) ก็เพื่อสะท้อนแนวคิดเรื่องอิสระและการทำสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นจริงได้

Sarakadee Lite จึงขอนำเสนอ 10 โปรเจกต์ ศิลปะการห่อหุ้ม รวมงานศิลปะสเกลขนาดมหึมาของคู่รักศิลปินที่สั่นสะเทือนวงการศิลปะตลอดระยะเวลาร่วม 6 ทศวรรษ

ศิลปะการห่อหุ้ม
ภาพ: Wolfgang Volz, © 2021 Christo and Jeanne-Claude Foundation

01 L’Arc de Triomphe, Wrapped, Paris,1961-2021

ห่อหุ้มประตูชัยด้วยผ้าใยสังเคราะห์รีไซเคิล    

คริสโต เกิดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ.1935 ที่บัลแกเรีย ซึ่งเป็นวันและปีเดียวกันกับที่ ฌาน-โคลด เกิดที่โมรอคโค จากนั้นคริสโตได้ลี้ภัยไปยังประเทศเชโกสโลวาเกีย (ชื่อในขณะนั้น) ใน ค.ศ.1956 ก่อนที่จะย้ายไปออสเตรียและสวิสเซอร์แลนด์ จนกระทั่ง ค.ศ.1958 เขาอพยพไปอยู่ที่ปารีสและทำให้ได้พบกับฌาน-โคลด ผู้เป็นทั้งคู่ชีวิตและคู่หูในการทำงานศิลปะ ทั้งคู่ทำงานศิลปะสาธารณะร่วมกันมาตั้งแต่ ค.ศ.1961 ตราบจนกระทั่ง ฌาน-โคลด เสียชีวิตเมื่อ ค.ศ.2009 และคริสโตยังคงทำงานศิลปะเรื่อยมาจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อค.ศ.2020 ณ บ้านพักในนิวยอร์กซึ่งเป็นบ้านที่เขาอาศัยอยู่มา 56 ปี

ศิลปะการห่อหุ้ม
คริสโตร่างแบบสำหรับโปรเจกต์ L’Arc de Triomphe, Wrapped ในสตูดิโอที่นิวยอร์ก (ภาพ: Wolfgang Volz, © 2020 Christo and Jeanne-Claude Foundation)

สำหรับโปรเจกต์ L’Arc de Triomphe, Wrapped เป็นความใฝ่ฝันของทั้งคู่นับตั้งแต่ ค.ศ.1961 เมื่อครั้งพวกเขาอาศัยอยู่ที่อพาร์ตเมนท์บริเวณใกล้กับประตูชัย คริสโตได้สร้างภาพจำลองการห่อหุ้มประตูชัยเมื่อ ค.ศ.1962 แต่ในขณะนั้นทั้งคู่ยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะทำงานสเกลใหญ่ขนาดนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตามพวกเขายังไม่ล้มเลิกความตั้งใจ และใน ค.ศ.1988 ทั้งคู่จึงได้สร้างงานคอลลาจเกี่ยวกับโปรเจกต์นี้อีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้ยื่นขออนุญาตกับทางการกรุงปารีส

จนกระทั่ง ค.ศ.2017 เมื่อทางศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม Centre Pompidou ในกรุงปารีสมีแผนจัดนิทรรศการ Christo and Jeanne-Claude, Paris! (จัดแสดงเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม-19 ตุลาคม ค.ศ. 2020) เพื่อเชิดชูเกียรติให้กับทั้งคู่ คริสโตจึงไม่ลังเลที่จะนำโปรเจกต์ประตูชัยมาปัดฝุ่นทำให้เป็นจริงอีกครั้งเพื่อจัดแสดงคู่ขนานกับนิทรรศการของทาง Centre Pompidou ด้วย แต่น่าเสียดายที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โปรเจกต์ประตูชัยต้องเลื่อนมาและได้จัดแสดงในปี 2021 ภายหลังจากที่ศิลปินได้ล่วงลับไปแล้ว 1 ปี

ศิลปะการห่อหุ้ม
ภาพ : Wolfgang Volz, © 2019 Christo and Jeanne-Claude Foundation

“การห่อหุ้มประตูชัยด้วยผ้าใยสังเคราะห์จะทำให้พื้นผิวของอนุสรณ์สถานแห่งนี้ดูน่าตื่นตาตื่นใจและราวกับวัตถุที่มีชีวิตที่เคลื่อนไหวไปตามสายลมและสะท้อนกับแสงไฟ ผู้คนยังสามารถสัมผัสประตูชัยได้อีกด้วย” คริสโตกล่าวถึงโปรเจกต์นี้ แต่น่าเสียดายที่เขาเสียชีวิตก่อนที่จะเห็นผลงานที่เสร็จสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ วลาดิมีร์ ยาวาเชฟ หลานชายของคริสโต ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับเขามาเป็นเวลานานและทำงานกับโปรเจกต์นี้มาตั้งแต่เริ่มต้น ได้สานฝันงานของคริสโตต่อจนเสร็จสมบูรณ์โดยการใช้ผ้าใยสังเคราะห์รีไซเคิลและกันไฟขนาด 25,000 ตารางเมตรในการห่อหุ้มประตูชัย พร้อมกับตรึงด้วยเชือกใยสังเคราะห์รีไซเคิลสีแดงขนาด 3,000 เมตร และมีกำหนดจัดแสดงในระหว่างวันที่ 18 กันยายน-3 ตุลาคม 2021


ภาพ: Wolfgang Volz, © 2021 Christo and Jeanne-Claude Foundation

“พวกเรารู้ทุกรายละเอียดที่เขา (คริสโต) ต้องการให้ทำ และทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกกำหนดไว้หมดตั้งแต่เขายังมีชีวิตอยู่ ไม่เหลือรายละเอียดหรือแม้แต่การตีความทางศิลปะให้เราต้องคิดต้องทำเพิ่มเลย เราเพียงแค่ทำทุกอย่างตามแผนงานและโครงร่างของเขาเท่านั้นเอง

“ผมคิดถึงคริสโตมากเหลือเกิน ไม่ใช่แค่คิดถึงคำแนะนำและการชี้แนะที่เขาจะสามารถให้เราได้เท่านั้น แต่ผมยังอยากจะเห็นปฏิกิริยาของเขาว่าจะเป็นอย่างไรในระหว่างการติดตั้งโครงสร้างทุกอย่างของชิ้นงาน ผมเดาว่าเขาจะต้องตื่นเต้นเหมือนเด็กๆ อย่างแน่นอน” วลาดิมีร์ ยาวาเชฟ กล่าว

ในระหว่างการจัดแสดงงาน 16 วัน บริเวณประตูชัยจะปิดการจราจรโดยรอบเพื่อความปลอดภัยของผู้ชม ส่วนบนดาดฟ้ายังคงเปิดให้ผู้สนใจสามารถขึ้นไปชมทิวทัศน์ของปารีสที่มองเห็นถนนสายใหญ่ที่เรียกว่า อะเวนู (Avenue) ถึง 12 สายมาบรรจบกันเป็นวงกลม เรียกว่าเป็นอีกมุมมองใหม่ของปารีสที่คนปารีสและคนรักศิลปะไม่ควรพลาด

การเดินทาง: Métro 1,2 และ 6 หรือ RER A สถานี Charles de Gaulle – Étoile

ภาพ: Wolfgang Volz, © 1985 Christo and Jeanne-Claude Foundation

02 The Pont Neuf Wrapped, Paris,1975-85

ห่อหุ้มสะพานข้ามแม่น้ำแซนที่เก่าแก่ที่สุดในปารีส

โปรเจกต์ห่อหุ้มสถานที่สำคัญในฝรั่งเศสของคริสโตและฌาน-โคลด เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.1985 โดยทั้งคู่ได้ห่อหุ้ม Pont Neuf สะพานข้ามแม่น้ำแซนที่เก่าแก่ที่สุดในปารีส ไอเดียในการห่อหุ้มสะพานนี้เริ่มตั้งแต่ ค.ศ.1975 แต่กว่าจะได้ทำจริงก็เป็นเวลานานถึง 10 ปีถัดมา ในการติดตั้งครั้งนั้นใช้ทีมงานร่วม 300 ชีวิต และใช้เวลา 14 วันในการหุ้มสะพานด้วยผ้าใยสังเคราะห์กันไฟสีเงินอมทองขนาด 41,800 ตารางเมตร รัดด้วยเชือกใยสังเคราะห์ยาว 13 กิโลเมตร

ภาพ: Wolfgang Volz, © 1995 Christo and Jeanne-Claude Foundation

03 Wrapped Reichstag, Berlin,1971-95

โปรเจกต์ 24 ปีกับการห่อหุ้มอาคารรัฐสภาเยอรมนี

โครงการห่อหุ้มอาคาร Reichstag หรืออาคารรัฐสภา ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ใช้เวลานานร่วม 24 ปีกว่าจะดำเนินการได้สำเร็จ โดยทางศิลปินได้ยื่นเรื่องขออนุญาตตั้งแต่ ค.ศ.1971 เมื่อครั้งยังมีกำแพงเบอร์ลินแบ่งกั้นเยอรมนีเป็นสองฝั่ง แต่กว่าจะผ่านการพิจารณาอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรและเริ่มเปิดโครงการได้ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ.1995 ก็เป็นเวลาที่กำแพงเบอร์ลินถูกทุบทำลายแล้ว

ในการติดตั้งผลงานงานชิ้นนี้ต้องอาศัยทักษะของนักปีนเขามืออาชีพจำนวน 90 คน และทีมติดตั้งอีก 120 คน เพื่อห่ออาคารประวัติศาสตร์ด้วยผ้าใยสังเคราะห์กันไฟสีเทาเงินทอด้วยเส้นใยโพลีโพรพิลีนขนาด 100,000 ตารางเมตร ตรึงด้วยเชือกทอจากเส้นใยโพลีโพรพิลีนที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.2 เซนติเมตร และมีความยาวถึง 15.6 กิโลเมตร ทั้งนี้ทางทีมงานต้องติดตั้งโครงสร้างเหล็กเพื่อป้องกันความเสียหายต่อตัวอาคารก่อนการห่อหุ้ม ซึ่งแม้จะเป็นงานศิลปะที่สร้างยาวนานแต่ระยะเวลาการจัดแสดงจริงคือ 14 วัน เท่านั้น

ภาพ: Wolfgang Volz, © 2016 Christo and Jeanne-Claude Foundation

04 The Floating Piers, Lake Iseo,2014-16

ทางเดินลอยน้ำยาว 3 กิโลเมตรเหนือทะเลสาบในอิตาลี

โปรเจกต์ที่สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วโลกคือการสร้างทางเดินลอยน้ำความยาว 3 กิโลเมตรเหนือทะเลสาบ Iseo ในประเทศอิตาลี ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองมิลานไปทางตะวันออกราว 100 กิโลเมตร นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่งานศิลปะจัดวาง แต่ทางเดินลอยน้ำยังเปิดให้ประชาชนได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์ลงไปเดินได้จริงเป็นเวลา 16 วัน ระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน-3 กรกฏาคม ค.ศ.2016

ทุ่นลูกบาศก์โพลีเอทีลีนรีไซเคิลจำนวน 220,000 ก้อน ถูกนำมาผูกติดกันเพื่อรองรับน้ำหนักของทางเดินที่มีความกว้าง 16 เมตร และมีพื้นที่ทั้งหมดราว 1 แสนตารางเมตร ห่อหุ้มด้วยผ้าใยสังเคราะห์รีไซเคิลสีเหลืองสด โดยทางเดินนี้เชื่อมระหว่างฝั่งเมือง Sulzano ทอดยาวไปยัง Monte Isola เกาะใหญ่กลางทะเลสาบ และเกาะขนาดเล็ก San Paolo ที่อยู่ใกล้ๆกัน

ในช่วง 5 วันแรกมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนกว่า 250,000 คน จนเกิดการเบียดเสียดและมีผู้ได้รับบาดเจ็บจนผู้จัดต้องจัดระเบียบการเข้าชมใหม่และกำหนดเวลาปิดระหว่างเวลาเที่ยงคืนถึง 6.00 น.เพื่อตรวจสอบอุปกรณ์ให้มีความปลอดภัย และตลอด 16 วันของการจัดงานมีผู้เข้าร่วมกว่า 1.2 ล้านคน หรือราว 72,000 คนต่อวัน ซึ่งงานศิลปะห่อหุ้มชิ้นนี้ทำให้เมืองเล็กๆอย่าง Sulzano กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกชั่วข้ามคืน และโปรเจกต์นี้ยังเป็นงานสเกลขนาดใหญ่ครั้งแรกของคริสโตนับตั้งแต่สูญเสีย ฌาน-โคลด คู่ชีวิตและคู่หูในการทำงานเมื่อค.ศ.2009

ภาพ: Wolfgang Volz, © 2005 Christo and Jeanne-Claude Foundation

05 The Gates, Central Park, 1979-2005

ประตูสีเหลืองส้ม 7,503 บาน ในฤดูหนาวของนิวยอร์ก

โปรเจกต์ The Gates ได้เปลี่ยนทางเดิน 37 กิโลเมตรภายในสวนสาธารณะ เซ็นทรัลพาร์ค กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เป็นทางเดินที่เรียงรายไปด้วยประตูทำจากเสาเหล็กรีไซเคิลและแขวนผ้าสีเหลืองส้มจำนวน 7,503 บาน

ผ้าสีเหลืองส้มที่โบกสะบัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2005 เป็นการแต่งแต้มสีสันให้กับสวนสาธารณะยามต้นไม้ไร้ใบในช่วงหน้าหนาวเป็นเวลา 16 วัน ซึ่งหากมองจากมุมสูง The Gates ให้ทัศนียภาพราวกับแม่น้ำสีทองที่ทอดยาวในใจกลางกรุงนิวยอร์ก ทั้งนี้ประตูแต่ละบานมีความสูง 4.87 เมตร และมีความกว้างแตกต่างกันตั้งแต่ขนาด 1.68- 5.48 เมตร ตามขนาดทางเดินในเซ็นทรัลพาร์ค ผ้าแต่ละผืนถูกแขวนให้ห้อยลงมาราว 2 เมตร ที่น่าสนใจคือการออกแบบให้ประตูเสาเหล็กแต่ละบานตั้งอยู่บนฐานเหล็กโดยไม่มีการขุดเจาะพื้นใดๆ ทั้งสิ้น โดยการติดตั้งใช้ทีมงานร่วม 600 คน

ภาพ: Wolfgang Volz, © 1983 Christo and Jeanne-Claude Foundation

06 Surrounded Islands, Miami,1980-83

แพลอยน้ำสีชมพูรอบ 11 เกาะในไมอามี

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.1983 คริสโตและฌาน-โคลดได้สร้างแพลอยน้ำทำจากผ้าใยสังเคราะห์สีชมพูขนาด 603,870 ตารางเมตร ล้อมรอบเกาะจำนวน 11 เกาะของอ่าว Biscayne ในไมอามี สหรัฐอเมริกา โดยผ้าใยสังเคราะห์รีไซเคิลถูกทอเป็นรูปทรง 79 แบบตามลักษณะที่แตกต่างกันของแต่ละเกาะโดยมีความกว้างระหว่าง 3.7- 6.7 เมตร และยาว 122-183 เมตร

นอกจากความสวยงาม โปรเจ็กต์ห่อหุ้มเกาะนี้ยังถือเป็นการจัดการสิ่งแวดล้อมทางอ้อมด้วย โดยในช่วงจัดแสดงงานเป็นเวลา 2 สัปดาห์ นักท่องเที่ยวไม่สามารถขึ้นไปบนเกาะได้แต่นี่กลับเป็นโอกาสดีที่ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถเข้าไปเก็บขยะบนเกาะต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้ ซึ่งเพียง 14 วันสามารถเก็บได้มากถึง 40 ตัน

ศิลปะการห่อหุ้ม
ภาพ: Shunk-Kender, © 1969 Christo and Jeanne-Claude Foundation and J. Paul Getty Trust

07 Wrapped Coast, Little Bay, 1968-69

ห่อหุ้มชายฝั่งและหน้าผาสูงในซิดนีย์

อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่าศิลปะห่อหุ้มนั้นเป็นงานที่พิสูจน์ศักยภาพมนุษย์ตัวเล็กๆ กับสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะทำได้ และหนึ่งในโลเคชันที่ไม่มีใครคาดคิดว่าศิลปินจะกล้าทำคือ การเลือกห่อหุ้มเกาะและหน้าผาสูงบริเวณชายฝั่งของอ่าว Little Bay ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยตลอดระยะทาง 2.4 กิโลเมตร หน้าผาสูงชัน 26 เมตร ได้ถูก ศิลปะการห่อหุ้ม หุ้มด้วยผ้าใยสังเคราะห์สีเงินขนาดความยาว 92,900 ตารางเมตรและรัดด้วยเชือกทอจากเส้นใยโพลีโพรพิลีนยาว 56.3 กิโลเมตร ผลงานชิ้นนี้ได้จัดแสดงเป็นเวลา 10 สัปดาห์นับตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ.1969 และนับเป็นผลงานศิลปะสาธารณะกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น

ภาพ: Wolfgang Volz, © 1972 Christo and Jeanne-Claude Foundation

08 Valley Curtain, Colorado, 1970-72

28 เดือนติดตั้ง 28 ชั่วโมงรื้อถอน

โปรเจกต์ที่ใช้เวลาเตรียมงานและติดตั้งนานถึง 28 เดือน แต่จัดแสดงได้สั้นที่สุดเพียง 28 ชั่วโมงคือโปรเจกต์ขึงผ้าไนลอนสีส้มสดความยาว 18,600 ตารางเมตร สูง 111 เมตร ระหว่างช่องเขา Rifle Gap ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา โดยหลังจากติดตั้งเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ.1972 ทางทีมงานต้องรื้อถอนผลงาน 28 ชั่วโมงหลังจากนั้นเนื่องจากพายุ

ภาพ: Wolfgang Volz, © 2018 Christo and Jeanne-Claude Foundation

09 The London Mastaba, Hyde Park, 2016-18

ประติมากรรมกลางแจ้งหนัก 660 ตันในลอนดอน

คริสโตยังคงทำงานต่อเนื่องแม้ภรรยาของเขาเสียชีวิตไปแล้ว โดยโปรเจกต์ The London Mastaba นั้นเขาได้แรงบันดาลใจของรูปทรงมาจากแมสตาบา (Mastaba) หรือสิ่งก่อสร้างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เป็นต้นแบบของโครงสร้างพีระมิดในอียิปต์โบราณ

คริสโตได้นำถังน้ำมันจำนวน 7,506 ถัง ก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูและรองรับด้วยฐานที่ทำจากลูกบาศก์ที่ทออย่างแน่นหนาด้วยโพลีโพรพิลีน ผลงานประติมากรรมชิ้นนี้มีน้ำหนัก 660 ตันและติดตั้งในทะเลสาบ Serpentine ที่สวนสาธารณะ Hyde ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และจัดแสดงระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน-23 กันยายน ค.ศ.2018 เพื่อคู่ขนานกับนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานของคริสโตและฌาน-โคลด ที่ Serpentine Galleries

ภาพ: Balthasar Burkhard, © 1968 Christo and Jeanne-Claude Foundation

10 Wrapped Kunsthalle, Bern, Switzerland, 1967-68

ห่อหุ้มพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่บริษัทประกันไม่กล้ารับประกัน

เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Kunsthalle ที่กรุงเบิร์น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1968  ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดนิทรรศการกลุ่มศิลปิน 12 คนที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและศิลปินคู่ คริสโตและฌาน-โคลด เป็นหนึ่งในศิลปินรับเชิญ แต่แทนที่ทั้งคู่จะแสดงงานในพิพิธภัณฑ์พวกเขากลับเลือกที่จะใช้ ศิลปะการห่อหุ้ม มาห่อหุ้มตัวอาคารนิทรรศการขนาด 2,430 ตารางเมตรด้วยพลาสติกที่ได้จากถุงอากาศกันกระแทกเหลือใช้และรัดด้วยเชือกไนลอนยาว 3 กิโลเมตร ทั้งคู่เว้นช่องว่างบริเวณประตูทางเข้าอาคารไว้เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าไปชมนิทรรศการได้

แม้จะเป็นงาน ศิลปะการห่อหุ้ม ที่ฮือฮาแต่กลายเป็นว่าบริษัทประกันภัยปฏิเสธที่จะรับประกันความเสียหายต่อผลงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์และตัวอาคารระหว่างที่ถูกห่อหุ้ม และนั่นก็ทำให้ Harald Szeemann ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ในขณะนั้นต้องจ้างการ์ดจำนวน 6 คนเพื่อคอยเฝ้าระวังรอบอาคารตลอด 24 ชั่วโมงและด้วยค่าใช้จ่ายในการรักษาความปลอดภัยที่ค่อนข้างสูง อาคารจึงถูกห่อหุ้มเพียงแค่ 1 สัปดาห์

อ้างอิง:


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ