รับลมหนาวกับงานดีไซน์ 12 จุดเช็คอิน Chiang Mai Design Week 2020
- Chiang Mai Design Week 2020 หรือ เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ เริ่มขึ้นแล้ว ระหว่างวันที่ 5 – 13 ธันวาคม 2563
- สำหรับคอนเซปต์ของปีนี้มีชื่อว่า Stay Safe Stay Alive อยู่ดีมีสุข ซึ่งมีศิลปินมาร่วมแสดงงานถึง 550 คนกับพื้นที่จัดงานทั้งหมด 76 แห่ง ขยายพื้นที่ไปไกลถึงสันกำแพง และแม่กำปอง
นอกจากลมหนาวจะเป็นสิ่งที่เรารอคอยในช่วงเวลาปลายปีแล้ว อีกหนึ่งความพิเศษไม่แพ้กันนั่นก็คือการมาถึงของ Chiang Mai Design Week หรือ เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ซึ่งปี 2020 นี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 แล้ว ระหว่างวันที่ 5 – 13 ธันวาคม 2563 พร้อมการเติบโตที่มากขึ้นกว่าเดิมด้วยโซนจัดงานที่กระจายจากตัวเมือง เชียงใหม่ ออกสู่ชุมชนรอบนอกอย่างสันกำแพง แม่ริม และแม่กำปอง เพื่อขยายเส้นทางย่านสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ให้กับผู้เข้าชมไปพร้อมกับการเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่
สำหรับคอนเซ็ปต์ของ Chiang Mai Design Week นี้มีชื่อว่า Stay Safe Stay Alive อยู่ดีมีสุข ซึ่งมีศิลปินมาร่วมแสดงงานถึง 550 คนกับพื้นที่จัดงานทั้งหมด 76 แห่ง เรียกว่าวันเดียวก็เที่ยวไม่หมด ส่วนใครที่ยังนึกไม่ออกว่าจะเริ่มต้นที่พิกัดไหนดี เราขอหยิบ 12 จุดไฮไลต์ที่น่าสนใจต้องไปแอ่วมาฝากกัน
Cycle Lantern
Location : อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เชียงใหม่
เต็นท์สีขาวบริเวณลานหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เชียงใหม่ เป็นผลงานของ วิทยา จันมา ศิลปิน Interactive Installation ที่ให้ความสนใจในเรื่องของแพทเทิร์นและความสัมพันธ์ระหว่างตากับแสง
สำหรับ Cycle Lantern วิทยาได้หยิบไอเดียของ โคมผัด โคมไฟที่ใช้จุดในวันยี่เป็งของล้านนา โดยตามรูปแบบดั้งเดิมโคมผัดหมุนได้ด้วยความร้อนจากเทียนที่จุดอยู่ภายใน ต่อเมื่อใส่ลวดลายกระดาษรูปสัตว์ต่างๆ ลงไป เมื่อโคมหมุนเงาสัตว์ต่างๆ จึงหมุนรอบโคมจนคนเหนือเขาว่าคล้ายการดูหนังตะลุง ซึ่งวิทยาได้นำหลักการทำงานของโคมผัดมาต่อยอด เพิ่มเติมด้วยทฤษฎีภาพติดตาเช่นเดียวกับหลักการสร้างแอนิเมชัน ทำให้ผู้ชมได้เห็นลวดลาย 12 นักษัตรที่ปรากฏในโคมผัดขยับท่าทางเหมือนกำลังเคลื่อนไหวอยู่จริงๆ กำลังกระโดดไปข้างหน้ารอบๆ เต็นท์จริงๆ ยิ่งหากมาในช่วงฟ้ามืดด้วยแล้ว จะเห็นลวดลายนักษัตรที่กำลังขยับสะท้อนไปทั้งตัวเต๊นท์ได้ตั้งแต่ด้านนอกเลย และสำหรับผู้เข้าชมในเต็นท์ก็ไม่ใช่เพียงแค่ชม แต่ยังสามารถร่วมสร้างแสงเงาได้ จากกระดาษและตัวปั๊มลาย 12 นักษัตรที่วิทยาเตรียมไว้ให้เราได้ลองกำหนดลวดลายโคมผัดตามปีนักษัตร และภาพเคลื่อนไหวแบบฉบับที่แตกต่างตามจินตนาการของแต่ละคน
ศิลปะจากกระดาษสา
Location : TCDC เชียงใหม่
TCDC เชียงใหม่ ซึ่งจัดแสดงงานศิลปะจากกระดาษ โดยเฉพาะ “กระดาษสา” ที่จะไม่ได้เป็นกระดาษห่อของขวัญอีกต่อไป เริ่มจาก Paper Blog นิทรรศการที่ทำให้เห็นมิติคู่ขนานของกระดาษสาระหว่างศิลปิน 2 คน คือ สุพรรณ พรหมเสน แห่งเวฬุวัน (Weruwana Paper Studio & Arts) ที่เน้นการทำกระดาษเรียบที่สุดแต่ดีที่สุด เน้นการโชว์ให้เห็นวัสดุต่างๆ ที่นำมาทำเป็นกระดาษ และเป็นกระดาษสีที่พัฒนามาเพื่อการทำงานศิลปะโดยเฉพาะ อีกคนคือ ธนากร สุภาษา แห่ง PAPA PAPER ที่พัฒนากระดาษสาให้เป็นมากกว่ากระดาษห่อของขวัญแบบเดิมๆ ทั้งด้วยเทคโนโลยี และดีไซน์ที่มากไปกว่ากระดาษผืนสีเหลี่ยม
สำหรับใครที่ต้องการรู้จักกระดาษสาที่ผลิตมาเพื่องานศิลปะโดยเฉพาะอย่าง เวฬุวัน ก็สามารถเปิดม่านสีขาวเข้ามาที่Weruwana Paper Studio & Arts ที่อยู่ติดกันได้ ด้านในจัดแสดงงานภาพพิมพ์บนกระดาษสา และงานศิลปะจากกระดาษสาโดยศิลปินทั้งหมด 11 คน
อีกห้องที่น่าสนใจคือ นิทรรศการ ปรากฏ-เป็น-ภาพ ซึ่งในวันที่ 8, 10 และ 12 ธันวาคม 2563 เวลา 13.30 – 14.30 มีเวิร์คช็อปเทคนิคการสร้างภาพทางเลือกด้วยกระบวนการไซยาโนไทป์ลงบนกระดาษ และปิดท้ายด้วยทุ่งดอกไม้จากกระดาษสาในห้องนิทรรศการ BLEND AND BLOOM ความน่ารักของนิทรรศการนี้คือความร่วมมือระหว่างชุมชนกระดาษสาบ้านต้นเปา และกลุ่มผู้สูงอายุจากชุมชนช้างม่อยและล่ามช้าง ร่วมกันผลิตชิ้นงานผ่านความสร้างสรรค์ในการเลือกใช้จับคู่สีของแต่ละคน ภายใต้การออกแบของศิลปินกระดาษ Oh my Craft
ฟ้า-ยาม-ใด
Location : หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่
บริเวณด้านนอกหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ เป็นที่ตั้งของ Designer Pavilion ที่มีผลงานไฮไลต์ชื่อ ฟ้า-ยาม-ใด ของ Patchouli.scent.design รวมอยู่ด้วย โดยที่นักปรุงกลิ่นอย่าง ต๋อม-ศิริรัตน์ เหล่าทัพ ได้ออกแบบกลิ่นเอาไว้ 3 กลิ่นเตรียมไว้ จากแรงบันดาลใจที่มาจากท้องฟ้าในช่วง 3 เวลา จากนั้นให้ผู้ชมได้ลองใช้ความรู้สึกหลังการดมกลิ่นแต่ละกลิ่นจัดแสดงงานร่วมกับเธอ โดยผู้ชมจะสารถเลือกหนึ่งในกลิ่นจากหมายเลข 1,2,3 มาตีความว่านี่คือกลิ่นของฟ้ายามใด แล้วถ่ายทอดความรู้สึกของห้วงเวลานั้นออกมาผ่านการระบายสี จากนั้นนำภาพท้องฟ้าที่ได้ไปติดที่บอร์ดแสดงงานร่วมกับท้องฟ้า กลิ่น และประสบการณ์ทางความรู้สึกของผู้เข้าชมคนอื่น ซึ่งหากใครอยากรู้ว่ากลิ่นหมายเลข 1,2,3 เป็นท้องฟ้ายามใดกันแน่ต้องอดใจรอเก็บความสงสัยไว้ก่อน แล้วมารอดูคำเฉลยได้ที่เพจ Patchouli.scent.design หลังจากจัดแสดงงานนี้จบแล้ว
ปาเลไลยะกะ แลนด์ (Palilaiyaka Land)
Location : หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่
ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง จากสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้นำนิทรรศการ ปาเลไลยะกะ แลนด์ (Palilaiyaka Land) ที่เคยจัดแสดงที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและหอศิลปกรุงเทพฯ มาร่วมจัดแสดงใน Artisan Pavilion ซึ่งงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำผึ้งของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกะญอ ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านห้วยหินลาดใน จังหวัดเชียงราย ด้วยงานศิลปะผ่านการดีไซน์รังผึ้งออกมาในรูปแบบประติมากรรม ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีเกี่ยวกับการรักษาป่า วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และความเชื่อ ซึ่งแต่งโดยเยาวชนชาวปกาเกาะญอ พิเศษจริงๆ ก็ด้วยรังผึ้งที่นำมาจัดแสดงในงานล้วนเป็นรังผึ้งที่ออกแบบขึ้นเพื่อการใช้งานจริง เคยตั้งอยู่ในป่าชุมชนจริงๆ และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำผึ้งของชาวห้วยหินลาดในได้จริง โดยที่หลังจากจัดแสดงงานจบแล้ว จะนำชิ้นงานกลับสู่ชุมชนเพื่อใช้ในฤดูกาลเลี้ยงผึ้งต่อไป
Art Dialogue 3
Location : ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
ผลงานผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม และผ้าเพนต์มือจากผู้ผลิตกลุ่มเล็ก ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ได้ถูกรวบรวมเอาไว้ให้ชมที่เชียงใหม่แล้ว ซึ่งผ้าดีไซน์ใหม่เหล่านี้เป็นผลงานที่ ต่าย-ธีระ ฉันทสวัสดิ์ อาจารย์ที่อยู่ในวงการแฟชั่นดีไซเนอร์มาอย่างยาวนานได้ลงพื้นที่สู่ชุมชนในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคใต้ เพื่อเรียนรู้และพัฒนาลายร่วมกับกลุ่มชาวบ้าน เพิ่มมูลค่าให้งานผ้าโดยเฉพาะผ้าบาติกที่เคยถูกมองว่าทำได้แค่ลวดลายของโลกใต้ท้องทะเล ซึ่งผลลัพธ์ไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ แต่ยังเป็นการพัฒนางานฝีมือไปจนถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านผู้ผลิตงานผ้าให้ดีขึ้น
ดาริน ดวงเต็ม จาก Kae Batik Hand Paint จังหวัดยะลา คือหนึ่งในศิลปินผ้าบาติกที่นำผลงานมาร่วมจัดแสดง โดยเธอได้ถ่ายทอดแรงบันดาลใจและสิ่งที่พบเจอออกมาเป็นลายเส้นทับซ้อน ซึ่งสื่อถึงความคิด ความรู้สึกขมุกขมัวที่เธอพบเจอมาในชีวิต ทั้งเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เธอรับว่าเป็นช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่ง่ายเลยลงบนลวดลายของผ้า ตามคำแนะนำของ อาจารย์ต่าย โดยที่ดารินยังตั้งใจว่าจะพัฒนาลวดลายต่อไป เพราะมีวิชาการผลิตดั้งเดิมติดตัวอยู่แล้ว แต่จะลองก้าวออกจากกรอบการดีไซน์ที่ยึดอยู่เดิมออกมาเป็นลวดลายที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น
สามัญประจำบ้าน
Location : ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
นิทรรศการโดย วิสุทธิ์ ลิ้มอารีย์ อภิวัฒน์ ชิตะปัญญา และรัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ ที่หยิบของใช้สามัญประจำบ้านที่เราคุ้นเคย มาดัดแปลงใส่ความคิดสร้างสรรค์ ให้เกิดรูปแบบการดีไซน์ที่หลุดออกจากกรอบการใช้งานแบบเดิมที่คนทั่วไป คนทุกบ้านคุ้นเคย เพื่อนำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับสิ่งของเหล่านั้นซึ่งอาจไม่ได้ตอบโจทย์การใช้งานไปตามยุคสมัย เช่น การนำช้างไม้แกะสลักซึ่งเป็นภูมิปัญญาของหมู่บ้านทวาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ มาทาสีชมพูสดและประกอบร่างเป็นเก้าอี้รูปทรงใหม่ที่ดูมีสีสัน ซึ่งศิลปินมุ่งหวังให้สิ่งนี้มีส่วนช่วยเปิดมุมมองไปสู่การออกแบบใหม่ๆ ให้กับคนในพื้นที่ได้มากขึ้น
En-Light-En
Location : พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา และย่านช้างม่อย
ผลงานสร้างสรรค์ของกลุ่ม HOMECOMING ศิลปินที่มีความผูกพันกับภาคเหนือและเมืองเชียงใหม่ โดยทางกลุ่มได้ถ่ายทอดมุมมองต่อสถานการณ์โควิด-19 ออกมาในรูปแบบ Light Installation และ Participatory Art เพื่อนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ตามการตีความของศิลปินแต่ละคน โดยมีผลงานจัดแสดงอยู่ทั้งหมด 14 ชิ้นงานซึ่งผู้ชมสามารถสแกน QR Code เพื่อรับคะแนนในแต่ละจุดให้ครบ แล้วนำมาแลกของที่ระลึกที่จุดประชาสัมพันธ์หน้าพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาได้ ซึ่งที่ร้าน Mitte Mitte วีรชัช พงษ์เรืองเกียรติ วิศวกรที่สนใจงาน Projection Mapping ได้ทดลองฉายผลงาน This too shall pass ลงในแม่น้ำแม่ข่าเพื่อสื่อความหมายถึงเรื่องร้าย ๆ ที่จะผ่านไปเหมือนการไหลของสายน้ำด้วย ใครผ่านไปแถวย่านช้างม่อย สามารถแวะเข้าไปดูกันได้
Pop Market
Location : สำนักงานยาสูบเชียงใหม่
มางาน Chiang Mai Design Week ก็ต้องไม่พลาดโปรแกรมช็อปสินค้างานดีไซน์ติดไม้ติดมือเป็นของฝากกลับบ้าน Pop Market ปีนี้ยกทัพงานดีไซน์และสินค้าไลฟ์สไตล์จากทั่วเชียงใหม่ไม่ว่าจะอำเภอแม่แจ่ม เชียงดาว สันกำแพงหรือแม่ริม รวมถึงร้านอาหารและเครื่องดื่มมาไว้ให้เราได้เดินช็อปกันแบบจุก ๆ ในที่เดียวถึง 150 ร้านค้า รวมถึงมีการแสดงจากศิลปินวงดนตรีอีกกว่า 30 วง ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นเวทีมอบความเพลิดเพลินตลอดค่ำคืน มาเริ่มช็อปกันได้ตั้งแต่เวลา 16:00-22:00 น. โดยจะมี Pop Selected รวบรวมสินค้าคัดสรรจาก Pop Market อยู่บริเวณโซนด้านหน้า แต่ด้านในก็ถือว่าคัดสรรมาแล้วแบบเน้น ๆ งานดีไซน์ อาทิ ผลิตภัณฑ์ใยกัญชง จากกลุ่มแม่บ้าน ตำบลห้วยทราย อำเภอแม่ริม สมุดทำมือ Note a Book หรือความสดชื่นจากไอศกรีมโฮมเมด แบรนด์ชูปาเลตัส ที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่น หรือใครที่มีเวลาไม่มากแต่อยากชมงานเซรามิกจากชามเริญ สตูดิโอ ก็สามารถแวะไปชมที่ Pop Market ได้เช่นกัน
โหล่งฮิมคาว
Location : โหล่งฮิมคาว กาดฉำฉา ย่านสันกำแพง
ปีนี้งาน Chiang Mai Design Week ขยายมาสู่ย่านสันกำแพง และไฮไลต์คือ ชุมชนศิลปะและงานคราฟต์ริมแม่น้ำคาว โดยจุดเริ่มต้นของ โหล่งฮิมคาว ที่มีความหมายว่า ชุมชนที่อยู่ติดริมแม่น้ำคาว เกิดจากการถือกำเนิดของร้านมีนา มีข้าว (Meena rice based cuisine) บริเวณท้ายซอย ซึ่งเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นให้เข้ามารู้จักย่านริมแม่น้ำคาวนี้ และนั่นได้จุดประกายไอเดียให้ชาวบ้านที่ปกติทำงานหัตถกรรมอยู่ก่อน แต่ต้องนำสินค้าออกไปขายนอกพื้นที่ เริ่มคิดเปิดหน้าร้านของตัวเองตามบ้านแต่ละหลัง เพื่อช่วยดึงนักท่องเที่ยวและนำรายได้มาสู่ชุมชนมากขึ้น จนต่อยอดเกิดเป็นชุมชนโหล่งฮิมคาว กาดฉำฉา และเวิ้งอุษาในปัจจุบัน
ทั้งสามแห่งได้รวบรวมงานหัตถกรรมชุมชน โดยเฉพาะงานผ้าที่มีสไตล์แตกต่างกันเอาไว้ แนะนำว่าเดินย่านนี้ต้องกุมกระเป๋าเงินไว้ให้ดี เพราะของแต่ละร้านเชื้อเชิญให้เข้าไปหยุดดูและเสียทรัพย์มาก ๆ นอกจากนี้เขายังมีเวิร์กชอปการทำผ้ามัดย้อม สบู่ ดอกฝ้ายและการปักถุงผ้าแบบแน่น ๆ ตลอดวันที่ 10-13 ธันวาคม 2563 อีกด้วย ใครที่สนใจเข้าร่วมติดตามรายละเอียดที่ Facebook : โหล่งฮิมคาว ได้เลย
ชามเริญ สะพรั่ง พี่น้องและผองเพื่อน
Location : ชามเริญสตูดิโอ ย่านสันกำแพง
ฟังจากชื่อก็รู้แล้วว่าเขาไม่ได้มาคนเดียว เพราะ มิก-ณัฐพล วรรณาภรณ์ แห่งชามเริญสตูดิโอ ได้เปิดพื้นที่ชวน Saprang Craft Jewelry แบรนด์เครื่องประดับแฮนด์คราฟต์จากทองเหลือง รวมถึงเพื่อนพ้องในแวดวงเซรามิก ไม่ว่าจะ Have A Hug Studio ดินเขิบสตูดิโอ ไปจนถึงแบรนด์เสื่อฮิป ๆ อย่าง PDM Brand มาจัดแสดงผลงาน สินค้าไลฟ์สไตล์ร่วมกันแบบจอย ๆ เสมือนเป็นคอมมูนิตี้ของชาวแฮนด์คราฟต์ ตามความตั้งใจของมิก ที่อยากพัฒนาทำพื้นที่ของชามเริญสตูดิโอ ซึ่งตั้งอยู่กลางสวนลำใยจังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นทั้งคอมมูนิตี้ คาเฟ่และที่พักสำหรับศิลปินแบบ Artist In Residence ต่อไปในอนาคต บอกเลยว่าใครชอบงานเซรามิก ของไลฟ์สไตล์ดีไซน์เก๋ ๆ มาที่นี่ต้องมักขนาด (ชอบมาก) แน่ๆ
Koyori Project 2020
Location : ศูนย์หัตถกรรมร่มบ่อสร้าง เชียงใหม่
นอกจากที่ปกติศูนย์หัตถกรรมร่มบ่อสร้าง เชียงใหม่ จะมีแม่ ๆ ช่างฝีมือในชุมชนมานำเสนอกรรมวิธีการผลิตร่มบ่อสร้างให้เห็นตั้งแต่การเหลาไม้ ขึ้นโครงร่มและประกอบร่างแล้ว ด้านในอาคารตอนนี้ เฉพาะงาน Chiang Mai Design Week 2020 ยังมีโชว์เคสขนาดย่อม ในส่วนของ Koyori Project 2020 ให้ได้เดินชมกันด้วย ซึ่งโปรเจคต์ที่ว่านี้เป็นการวิจัยและพัฒนาสินค้างานหัตถกรรมสิ่งทอในเขตภาคเหนือตอนบนเพื่อเพิ่มโอกาสในตลาดให้กับสินค้าหัตถกรรมมากขึ้น โดยมีดีไซเนอร์คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ แต่ยังคงใช้เทคนิคการผลิตตามแบบช่างดั้งเดิม อาทิ การปรับรูปแบบร่มบ่อสร้างออกมาในรูปแบบกระเป๋า หรือโคมไฟ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าและความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมากขึ้น
นก-กัณณิกา บัวจีน ผู้บริหารศูนย์ทำร่มบ่อสร้าง ก็ได้กล่าวว่าปัจจุบันได้เร่ิมผลิตสินค้าจาก Koyori Project ออกมาจำหน่ายจริงบ้างแล้ว และมาแล้วก็แน่นอนว่าต้องได้ร่มไม้ดีไซน์สวยกลับไปอย่างแน่นอน เพราะตอนนี้ร่มบ่อสร้างเขามีการพัฒนาสินค้าทั้งแบบดั้งเดิมและแบบโมเดิร์น สีหวานพาสเทล ไปจนถึงร่มกระดาษสากันน้ำให้เลือกหลากหลายแบบมากๆ
ไทยป์เฟซ (Thaipface)
Location : ร้าน Greenies & Co
ทำไมเราถึงไม่ค่อยเห็นอักษรไทยในงานออกแบบ สิ่งนี้คือสิ่งที่กลุ่มดีไซเนอร์อย่าง Thaipface ตั้งคำถามและพยายามออกจากกรอบการใช้ฟอนต์ภาษาไทยในงานดีไซน์แบบเดิม ๆ โดยเริ่มสร้างแพลตฟอร์ม Thaipface ขึ้นมาในโลกออนไลน์ เพื่อเป็นเสมือนพื้นที่ให้เหล่าดีไซเนอร์รุ่นใหม่ได้ร่วมกันเสนอไอเดียและความสร้างสรรค์ใหม่ ๆ โดยการเอาตัวอักษรภาษาไทยมาดัดแปลงหรือเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบผลงานในรูปแบบของดิจิทัลอาร์ตที่หลากหลายและสนุกขึ้น ซึ่งหลายชิ้นงานของ Thaipface ยังได้สอดแทรกประเด็นทางสังคมไทยที่เกิดขึ้นเอาไว้ด้วย ทั้งประเด็นการเรียกร้องเสรีภาพ ไวรัลคอนเทนต์และศัพท์แสลงในโลกอินเทอร์เน็ต หรือประเด็น lgbtq+ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวอักษรไทยมีความเป็นไปได้ที่มากกว่าการเป็นตัวอักษรเท่านั้น โดยที่พวกเขายังคาดหวังว่าจะพาการดีไซน์นี้ออกจากโลกดิจิทัลมาสู่นิทรรศการแบบ Physical Space ได้ต่อไป
Fact File
- Facebook : Chiang Mai Design Week
- Instagram : Chiang Mai designweek
- เว็บไซต์ : www.Chiang Mai designweek.com