CHANGE : ถึงเวลาปลดล็อค “คาแรกเตอร์ไทย” ให้เป็นมากกว่าตัวการ์ตูน
- CHANGE : Visual Character Arts โครงการที่ทาง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้ริเริ่มในปี พ.ศ. 2564 ตรงกับช่วงที่คำว่า visual character ยังเป็นที่รับรู้อย่างจำกัดในหมู่คนไทย
- ทาง CEA เน้นมิติความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการไปใช้ชั่วครั้งชั่วคราว ในบรรดาช่องทางการส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาในกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ ทาง CEA มองเห็นว่า visual character เป็นตัวเลือกที่โดดเด่น
คนไทยเสียสตางค์ไปนับไม่ถ้วนกับการซื้อเสื้อยืดที่มีการ์ตูนหนูจอมซน มิกกี้เมาส์ มากว่าครึ่งศตวรรษ เด็กนักเรียนไทยซื้อเครื่องเขียนที่มีรูปแมวจอมยุ่ง โดราเอมอน มากว่าสองเจน นักท่องเที่ยวไทยไม่น้อยยอมเสียเวลานั่งรถไฟไปคุมะโมโตะ เมืองปลายเกาะของญี่ปุ่น เพราะอยากสัมผัสบ้านเกิดของหมีคุมะมง และล่าสุดกับลาบูบู้ กระต่ายน้อยจีนที่สร้างกระแสสุดฮิตในวงการอาร์ตทอย
เมื่อหันมามองฝั่ง คาแรกเตอร์ (visual character) ที่คนไทยสร้างสรรค์ แม้ในตอนนี้ความฮอตฮิตติดลมบนระดับนานาชาติอาจยังไม่เทียบเท่าเจ้าตลาดดั้งเดิมอย่างประเทศจีน ญี่ปุ่น อเมริกา แต่กระแสนิยมกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ผู้มาก่อนกาลอย่างคาแรกเตอร์ช้างแสนคลาสสิกบนลายกางเกงและเข็มกลัดโอลิมปิกที่กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง น้องหมีเนย (Butterbear) ที่ความน่ารักตกผู้คนทั่วบ้านทั่วเมืองและดังไปไกลถึงต่างประเทศ รวมถึงน้องปลาทูตัวปัอมอย่าง ปาป้าทูทู่ (Plaplatootoo) ที่เป็นมากกว่า Brand Ambassador ของชาวแม่กลอง
แต่ทำอย่างไรเราถึงจะปลดล็อกคาแรกเตอร์ไทยให้เป็นมากกว่าตัวการ์ตูนบนเสื้อยืดและตุ๊กตาสะสม วิธีไหนที่จะช่วยให้ผลงานคนไทยไปไกลระดับสากลถึงขั้นที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในทางลิขสิทธิ์ได้ แล้วเมื่อไรแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยจะมีระบบนิเวศที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ที่ช่วยผลักดันให้คาแรกเตอร์ไทยก้าวสู่ตลาดสากลอย่างจริงจัง จนเป็นอีก soft power หนึ่งที่สามารถผลักดันเศรษฐกิจประเทศได้
คำตอบอาจจะอยู่ที่ CHANGE : Visual Character Arts โครงการที่ทาง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้ริเริ่มในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นช่วงต้นสถานการณ์ของโรคระบาดโควิท-19 ช่วงที่ศิลปินนักออกแบบแทบจะไม่มีงานให้ทำ และคำว่า visual character ยังเป็นที่รับรู้อย่างจำกัดในหมู่คนไทย โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาโครงการอย่างไม่หยุดนิ่ง ปรับรูปแบบและเนื้อหาให้ตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น
Visual Character เป็นมากกว่าอาร์ตทอยหรือมาสคอต
ก่อนหน้าโครงการ CHANGE เคยมีความพยายามจากหลายฝ่ายและหน่วยงานที่ช่วยบ่มเพาะนักออกแบบคาแรกเตอร์รุ่นใหม่ แต่ส่วนใหญ่จะมองไปในมุมมองของการนำไปใช้ในฐานสื่อดิจิทัล ซึ่งที่จริงแล้วประโยชน์ของคาแรกเตอร์มีอะไรมากกว่าสติกเกอร์ในแอปพลิเคชัน Line อาร์ตทอย หรือมาสคอต
“ทาง CEA เน้นมิติความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการไปใช้ชั่วครั้งชั่วคราว ในบรรดาช่องทางการส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาในกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ เรามองเห็นว่า visual character เป็นตัวเลือกที่โดดเด่น เหมาะที่จะเริ่มต้นโครงการบ่มเพาะนักออกแบบเลือดใหม่ เพราะนำพาซึ่งผลลัพธ์ที่ชัดเจน” คุณอาสา ผิวขำ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม ของ CEA อธิบายถึงจุดประสงค์ของโครงการ
“คนไทยมักมองการใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์เพียงแค่วาระเดียว เช่นทำหนังก็จบที่ตัวหนัง ทำเพลงก็จบที่ตัวเพลง ซึ่งจริงๆ เราสามารถเอาผลงานสร้างสรรค์เหล่านั้นมาต่อยอดได้ การออกแบบคาแรกเตอร์ก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการช่วยทำให้ผลงานหนังและเพลงให้เกิดรายได้สืบเนื่องจากผลงานเพลงชิ้นนั้น หรือความนิยมที่มีต่อศิลปินคนนั้น จากการเก็บเกี่ยวประโยชน์ทางลิขสิทธิ์ ในช่องทางของผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่อาจสร้างรายได้มากกว่าหนังและเพลงที่เป็นผลงานตั้งต้นเสียด้วยซ้ำ ดิสนีย์เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดและประสบความสำเร็จด้านนี้มาอย่างยาวนาน”
เมื่อลายเส้นและจินตนาการมาบรรจบพบกับ Branding
“กลยุทธ์หนึ่งที่ถูกพูดถึงมากในการทำธุรกิจยุคใหม่คือการพัฒนาแบรนด์ แต่ปัญหาสำคัญของแบรนด์คือความ subjective ของแบรนด์ ที่ยากต่อการสื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันได้ คาแรกเตอร์สามารถเป็นตัวช่วยในการสื่อสารคุณลักษณะที่อาจจะนามธรรมของสินค้าหรือแคมเปญนั้นๆ ความ subjective ของแบรนด์ที่อาจจะตีความไม่เหมือนกัน สามารถถูกลดทอนลงหรือทำให้หายไปได้ ดีไม่ดีการพัฒนาคาแรกเตอร์อาจจะย้อนกลับไปช่วยพัฒนาแบรนด์ก็เป็นได้”
อาสาผู้คร่ำหวอดอยู่กับวงการพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์มาเป็นเวลานานได้ชี้ว่าคาแรกเตอร์สามารถใช้เป็นสื่อ Brand persona ได้ไม่แพ้ดารา โดนใจคนได้ไม้แพ้กัน แถมยังมีข้อได้เปรียบบางอย่าง เมื่อเทียบกับการใช้ดารามาเป็นพรีเซนเตอร์สินค้า
“ดารามีสิทธิ์หมดความนิยมด้วยปัจจัยต่างๆ เช่นถ้าดาราที่เป็นแบรนด์พรีเซนเตอร์สินค้านั้นๆ ทำตัวไม่ดี แต่คาแรกเตอร์ไม่มีวันตาย ใช้ต่อไปได้เรื่อย ด้วยจุดเด่นอันนี้คาแรกเตอร์บางตัวถึงกับมีค่าใช้จ่ายไม่แพ้ค่าตัวดาราดังเลย ด้วยข้อดีอย่างที่ว่าที่ปรับมาใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ มีแฟนคลับแน่นหนาได้เป็นสิบๆ ปี อย่างโดราเอมอน หรือกว่าร้อยปีอย่างมิกกี้เมาส์”
จากหมีคุมะมงสู่น้องหมีเนย : Visual Character คือภูมิปัญญาร่วมสมัย
ที่ผ่านมานอกจากผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศระดับหัวกะทิ ทางโครงการ CHANGE: Visual Character Arts ได้คัดสรรวิทยากรระดับนานาชาติมาช่วยงานอบรม ทั้งผู้ที่ดูแลลิขสิทธิ์ของตัวโดราเอมอนและตัวการ์ตูนของ Cartoon Network ในปัจจุบัน ผู้ที่ดูแลสมาคมตัวคาแรกเตอร์ประจำเมืองต่างๆ ของญี่ปุ่น รวมถึงเคยได้ประธานชมรม Yuru-Chara ของญี่ปุ่น ที่เขาทุ่มเทถ่ายทอดความรู้แบบทุกขั้นตอนที่ให้ประโยชน์กับผู้เข้าร่วมโครงการมาก
กรณีของ คุมะมง ของญี่ปุ่นถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญมากบทหนึ่ง จากจุดเริ่มต้นที่เป็นคาแรกเตอร์ประจำเมืองปลายเกาะ Kyushu อย่าง Kumamoto ที่แทบไม่มีใครมาเที่ยว สามารถค่อยๆ พัฒนา เปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้ามาใช้ฟรีในปีแรกๆ จนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ทั้งหมดนี้มาจากจุดเริ่มต้นหนึ่งที่คนญี่ปุ่นเองไม่ได้มองคุมะมงว่าเป็นแค่หุ่นมาสคอต หรือโลโก แต่เป็นตัวละครที่มีชีวิตจิตใจมีเรื่องราวที่มาของตนเอง การไปทักว่ามีใครอยู่ในชุดมาสคอตนั้นเป็นเรื่องผิดมหันต์ และการใช้คาแรกเตอร์ของคนญี่ปุ่นเองก็มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานและเป็นไปอย่างกว้างขวางมาก ทั้งคาแรกเตอร์ประจำตระกูล ประจำบริษัท หมู่บ้าน ทีมกีฬา ฯลฯ มากมายหลายอย่าง มากกว่าแค่สินค้าอย่างที่เราคุ้นเคยกัน
“เอาเข้าจริงๆ คาแรกเตอร์อาจไม่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเมือง แต่ถามว่าช่วยได้ไหมและดีไหม ก็ต้องตอบว่าดี แต่ละจังหวัดของไทย แต่ละชุมชนล้วนมีของดีของตนเอง อย่างขนมของฝากต่างๆ แต่จะดีกว่าไหมถ้าธุรกิจในจังหวัดในชุมชนช่วยกันซื้อ license คาแรกเตอร์ที่ออกแบบมาที่สามารถสื่อถึงเรื่องราวของจังหวัดหรือชุมชนไปร่วมกันใช้ ทำให้เกิดแบรนด์ร่วมของจังหวัดของชุมชนนั้นๆ และสินค้าก็จะเป็นที่รับรู้ได้ง่ายขึ้นและส่งเสริมการขายได้มากขึ้นมาก” อาสาได้หยิบยกประสบการณ์ที่ได้ถอดมาจากโครงการ
“เมือง ประเทศ ก็เหมือนกับเป็นธุรกิจธุรกิจหนึ่ง เป็นเรื่องของแบรนด์ดิ้งเหมือนกัน คาแรกเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักเมือง ซึ่งมีความเป็นนามธรรมได้ง่ายขึ้น เข้าถึงได้ดีขึ้น จับต้องได้มากขึ้น ด้วยรูปลักษณ์ ลีลา และเรื่องราวที่เป็นรูปธรรม”
จากปีแรกสู่ปีที่ 4 เพื่อพัฒนาวงการ Visual Character Arts ไทย
“โครงการ CHANGE : Visual Character Arts ในปีแรกๆ รวบรวมนักออกแบบทั้งที่เคยมีประสบการณ์ในการออกแบบคาแรกเตอร์มาบ้างแล้วและที่ยังไม่เคย แต่มีความชื่นชอบ มาร่วม online class ซึ่งไม่ได้มีแต่การสอนวาดรูป แต่เนื้อหาครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างของกระบวนการผลิตคาแรกเตอร์ 1 ตัว ทั้งที่มาที่ไป ลีลาการแสดงออก การขยับตัว พูดง่ายๆ คือคิดตั้งแต่หัวจดเท้าของทั้งแพลตฟอร์มการที่จะสร้างคาแรกเตอร์” อาสาย้อนถึงปีแรกของโครงการ CHANGE
ผลลัพธ์ที่ได้คือคาแรกเตอร์ใหม่จำนวน 29 ตัว ที่มีบริบทอ้างอิงในการออกแบบ ที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและประเพณีไทย พื้นที่ที่มีศักยภาพทางด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม โดยพร้อมให้นำไปใช้ต่อยอด จากร่างออกแบบสองมิติในปีแรกได้พัฒนาและประดิษฐ์ออกมาเป็นตัวคาแรกเตอร์สามมิติ และมาเชื่อมโยงกับตัวผลิตภัณฑ์จริงในปีที่ 2 และ3 กล่าวคือได้มีการนำมาจับมือกับเจ้าของสินค้า ธุรกิจหรือวิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรที่เกี่ยวกับเมือง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีวางจำหน่ายอยู่ก่อนหน้าแล้วจริงๆ ไม่ว่าจะเสื้อผ้า ของกิน เรื่อยมาจนถึงคอนเทนต์ต่างๆ
“พูดได้ว่าสิ่งที่ CEA ทำเป็นหลักสูตรใหม่ที่ไม่เคยมีการเรียนการสอนในไทยอย่างครบมิติและครบวงจรของกระบวนการสร้างในทางศิลปะและพัฒนาในทางธุรกิจทำให้ได้เห็นตัวคาแรกเตอร์สัญชาติไทยจากฝีมือการสร้างสรรค์ของนักออกแบบไทยและถูกผู้ประกอบการนำไปใช้ผ่านสื่อ ผลิตภัณฑ์ และธุรกิจในรูปแบบต่างๆ
“ตัวอย่างที่เรียกได้ว่าแจ้งเกิดแล้วก็คือ ปาป้าทูทู่ (Plaplatootoo) ที่ในปีแรกตัวทีมนักออกแบบยังทำเป็นชิ้นๆ จำหน่าย จนในปีที 2 ทีมได้จับมือกับชุมชนแม่กลอง และปีที่ 3 ได้ไปต่อสร้างคาแรกเตอร์เพิ่มอีกหกตัว เป็นทีมแม่กลองเรนเจอร์ โดยร่วมมือกับทีม YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) ของสมุทรสงคราม ทั้งหมดนี้ทาง CEA เป็นคนริเริ่ม ช่วยตะล่อมงาน และช่วยประสานให้เกิดการจับมือกันระหว่างนักออกแบบและเจ้าของกิจการ”
นอกจากนี้ยังมีการจัดทำคลาสออนไลน์ที่ประกอบไปด้วยการบรรยายจากผู้รู้ตัวจริงทั่วโลกของการอบรมที่ผ่านมามาเรียบเรียงเป็น Virtual Class ให้เรียนย้อนหลังได้ฟรีใน CEA Online Academy ในชื่อคอร์ส “การสร้างธุรกิจคาแรกเตอร์ : จากลายเส้นสู่ Soft Power”
สำหรับปีที่ 4 นี้ CEA ได้เพิ่มความสำคัญให้กับเนื้อหาทางด้าน license ซึ่งนับเป็นอีกขั้นหนึ่งของธุรกิจคาแรกเตอร์ โดยมองเห็นว่านักออกแบบไทยมีศักยภาพเพียงพอแล้วที่จะวิ่งออกไปหาเอกชน นักลงทุนที่พร้อมจะนำคาแรกเตอร์ต่างๆ ที่ออกแบบไว้ไปทำการจัดการด้านลิขสิทธิ์ทั้งในระดับประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับนานาติ โดยกระจายการนำไปใช้ในธุรกิจลักษณะต่างๆ ที่ไม่จำกัดแต่เพียงผลิตภัณฑ์ชิ้นใดชิ้นหนึ่ง หรือวาระใดวาระหนึ่ง แต่ออกไปในวงกว้าง อย่างที่เราเห็นคาแรกเตอร์ระดับโลกได้มีโอกาสสร้างเม็ดเงินกัน
จุดอ่อนจุดแข็งของนักออกแบบคาแรกเตอร์ไทย
การสร้างตัวคาแรกเตอร์ขึ้นมาจะให้ประสบความสำเร็จได้นั้น อาสามองว่างานออกแบบอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมองจากมิติของผู้ที่อยู่ในธุรกิจการจัดการลิขสิทธิ์ด้วย “ปัญหาสำคัญที่สุดคือคนไทยกลัวจะสูญเสียความเป็นเจ้าของไปจนทำให้ขาดการต่อยอด ยิ่งหากต้องการให้ผลงานออกไปได้ไกลระดับสากล นักออกแบบต้องเข้าใจด้วยว่าเขาไม่ใช่เพียง sole owner เจ้าของตัวคาแรกเตอร์ที่เขาสร้างมากับมือแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป แต่ต้องให้ทีมที่ดูแลด้านลิขสิทธิ์มาร่วมพัฒนาด้วย นี่เป็นหัวใจหลักเลย” อาสาย้ำ
“Visual Character Designer ต้องปรับตัวให้มีความเป็นนักออกแบบมากกว่าที่จะเป็นศิลปิน ถ้าจะเลือกเส้นทางการเป็นศิลปินก็ต้องเลือกเดินทางในอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าจะเป็นนักออกแบบคาแรกเตอร์ที่อยากให้คนรู้จักสิ่งที่ตนเองออกแบบ และกระจายการรับรู้ไปสู่หลากหลายช่องทางและรูปแบบการนำเสนอ ก็ต้องเดินในอีกเส้นทาง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้าน licensing ของโครงการ CHANGE: Visual Character Arts จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ บริหารจัดการ ให้คำแนะนำในการพัฒนา ว่าถ้าอยากจะเขยิบคาแรกเตอร์ไปสู่การรับรู้ในอีกระดับขั้น ต้องทำอย่างไร”
อาสายกตัวอย่างให้ฟังว่า เช่นในตอนแรกนักออกแบบอาจสร้างตัวละครที่ไม่มีมือออกมา แต่ผู้รู้อาจเข้ามาช่วยแนะให้เติมมือ เพราะมีฟังก์ชันเพิ่มเติมในการหยิบจับ ที่นำไปต่อยอดการนำเสนอต่อได้
“ครีเอเตอร์ที่เข้าร่วมโครงการเรายังไม่ค่อยเข้าใจความสำคัญของกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งออกมาทั้งสองรูปแบบ คือทั้งแบบที่ไม่เข้าใจว่าผลงานออกแบบของตนเองมีส่วนในการไปลอกเลียนบางลักษณะของผลงานอื่นที่มีอยู่แล้ว และมีแบบที่กลัวไปหมด กลัวว่าจะถูกลอกเลียน หวงผลงาน จะต้องเป็นเจ้าของคาแรกเตอร์ทุกมิติแต่เพียงผู้เดียว ไม่ยอมต่อยอด ไม่ยอมให้ผู้อื่นมาร่วมพัฒนาแบบและมีสิทธิ์ร่วมกัน
“หลายคนไม่รู้ว่าคาแรกเตอร์ที่ประสบความสำเร็จที่เราเห็นกัน อย่างลาบูบู้ ฝ่ายผู้ประกอบการเป็นผู้ที่เข้ามาซื้อลิขสิทธิ์แบบเบ็ดเสร็จจากครีเอเตอร์ในการพัฒนาและต่อยอด ศิลปินไม่ได้เป็นผู้ทำตัวอาร์ตทอย หรือผลิตภัณฑ์สินค้าที่ปรากฏตัวคาแรกเตอร์เอง ซึ่งความร่วมมือแบบนี้อาจมีการได้แบ่งเปอร์เซ็นต์รายได้ให้กับนักออกแบบเริ่มต้นตามแต่ตกลง”
อย่างไรก็ตามอาสามองว่าจุดแข็งของนักออกแบบไทยคือมีความคิดสร้างสรรค์ มีไอเดียที่เป็นสากล และมีความเป็นไทยร่วมสมัย ไม่เชย และไม่เป็นไทยประเพณีนิยมแบบโจ่งแจ้ง
“ดูปุ๊บก็รู้ปั๊บว่าเป็นของคนไทยออกแบบ มีลายเส้นเป็นของตนเอง อย่างที่เราพอดูก็รู้ว่านี่เป็นงานฝีมือคนญี่ปุ่น คนอเมริกัน หรือฝรั่งเศส ซึ่งคาแรกเตอร์ของไทยจัดว่าเป็นของใหม่ เป็นของที่ตลาดสากลกำลังต้องการ”
คาแรกเตอร์สมาชิกวงดนตรี The Palace ตัวอย่างความสำเร็จของโครงการ
ผู้ประกอบการไทยหลายองค์กรหลายกลุ่มหลายแบรนด์เข้ามาร่วมกับโครงการ CHANGE: Visual Character Arts โดยเฉพาะในปีที่ 4 ที่ได้มีหลายรายขอเข้ามาใช้งานออกแบบจากโครงการ ซึ่งเปิดโอกาสให้นำคาแรกเตอร์ไปใช้ได้ฟรีในปีแรก โดยส่วนใหญ่จะเป็นแฟชั่น เสื้อผ้า จิวเวลรี่ ซึ่งบรรดาผู้ประกอบการได้เลือกคาแรกเตอร์ที่เหมาะกับสินค้าของตน ไม่ขัดต่อภาพลักษณ์ และช่วยส่งเสริมการขาย
หนึ่งในความสำเร็จของโครงการคือการที่วง The Palace ซึ่งเป็นวงเฉพาะกิจรวมนักร้องนักดนตรีที่มีชื่อเสียงในยุค 1980s ถึง 1990s หลายคน ได้เข้ามาติดต่อให้สร้างคาแรกเตอร์ avatar ประจำสมาชิกวงทุกคน จนเกิดปรากฏการณ์ที่ว่าทางวงสามารถสร้างรายได้จากคาแรกเตอร์เหล่านี้ได้มากกว่าการไปเดินสายแสดงตามที่ต่างๆ เสียอีก
“น่าสนใจว่าพวกพี่ๆ สมาชิกวงเหล่านี้มีหัวคิดที่ทันสมัย นับว่าเอาจุดแข็ง (ภาพลักษณ์ที่ศิลปินสมาชิกวงแต่ละท่านสั่งสมมา) มาเจออีกจุดแข็ง (การใช้สื่อ visual character) ตอนนี้เขาก็สามารถเดินสายไปด้วย ขายของไปด้วยพร้อมๆ กัน เป็นอะไรที่ตอนแรกทางทีม CEA ก็ยังงงๆ ว่าพวกพี่ๆ ศิลปินเขาจะอะไรยังไง แต่กลายเป็นว่าผลที่ออกมาเป็นอะไรที่น่าทึ่งไปไกลกว่าที่เราคิด เปิดมิติใหม่ให้กับการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ไทยไปเลย”
ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากที่ทางทีมนักออกแบบรุ่นใหม่นำคาแรกเตอร์สมาชิกวง The Palace มาทำแอนิเมชันนำเสนอเพลงฮิตเก่าของทางวง ทำให้เกิดการสื่อสารเชื่อมโยงเพลงเหล่านี้กับคนรุ่นใหม่ที่อาจจะเกิดไม่ทันและไม่รู้จัก และไม่สามารถเชื่อมโยงกับรูปลักษณ์ปัจจุบันของวงได้เต็มที่ กรณี The Palace นี้มักได้รับการหยิบยกและจุดประกายให้ฝ่ายผู้ประกอบการอื่นๆ ได้เห็นช่องทางในการใช้แครักเตอร์ให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเอง ช่วยเปิดมุมมองด้านความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ
“นอกจากภาพยนตร์ ดนตรี แอนิเมชันที่เรามีอยู่แล้วก่อนหน้า ไม่แน่ visual character อาจเป็นหนึ่งของขบวนการ soft power ใหม่ของไทยก็ได้” อาสาจุดประเด็นไว้ให้คิด
ถอดบทเรียนเพื่อต่อยอดให้เป็น Soft Power
“โครงการ CHANGE: Visual Character Arts เริ่มมาในช่วงที่กระแสคาแรกเตอร์ในไทยยังไม่บูมมาก นับเป็นความโชคดีและถือว่าเป็นยุทธศาสตร์นำหน้าของทาง CEA ที่ทำโครงการนี้ก่อนกระแสอาร์ตทอยจะมา อย่างไรก็ตามอาร์ตทอยเป็นเพียงแค่หน่วยย่อยของ visual character ซึ่งพัฒนาเป็นอะไรต่อมิอะไรได้มากกว่านั้น เป็นภาพยนตร์ หรือเป็นโลโก ฯลฯ”
อาสาได้ทิ้งท้ายด้วยการฝากความหวังไว้ว่า “จากช่วง 4 ปีของโครงการที่ผ่านมา คนสมัครและคนเข้าร่วมมาจากหลากหลายที่มาและภูมิภาค เครือข่าย TCDC ตามสาขาต่างๆ ในต่างจังหวัดก็ช่วยดึงคนมาร่วมได้ทั่วประเทศ ทั้งฝ่ายนักออกแบบและผู้ประกอบการ กลุ่มผู้ประกอบการที่มาขอใชคาแรกเตอร์ก็หลากหลาย ไม่ได้มีแต่เสื้อผ้า จักรยาน มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ข้าวสาร จนถึงงาน content animation แต่ CEA ก็ยังอยากเห็นการเข้ามาร่วมกันพัฒนาจากภาคส่วนที่มากขึ้น โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการที่เราเปิดให้นำคาแรกเตอร์ในโครงการของเราไปทดลองใช้ได้ฟรีในครั้งแรก ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนา visual character ไทยอย่างต่อเนื่อง เป็น soft power เสาหลักแท่งหนึ่งได้ไม่แพ้กลุ่มอื่น”
Fact File
ติดตามโครงการ CHANGE : Visual Character Arts ได้ที่ CHANGE : Visual Character Arts