กัญชา เคยฮิตจนติดเทรนด์จิตรกรรมฝาผนังไทยมากว่า 100 ปี
Arts & Culture

กัญชา เคยฮิตจนติดเทรนด์จิตรกรรมฝาผนังไทยมากว่า 100 ปี

Focus
  • เมื่อจิตรกรรมฝาผนังคือสมุดหนังประวัติศาสตร์เล่มสำคัญ เรื่องราวของกัญชาที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากเมื่อ100 ปีจึงถูกบันทึกลงบนสมุดเล่มนี้ด้วยเช่นกัน
  • แม้แต่บทประพันธ์ระเด่นรันได นิราศเมืองแกลง รวมทั้งจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ในวัดพระแก้วก็ยังมีภาพของกัญชาปรากฏอยู่เช่นกัน

กัญชา นับวันยิ่งเป็นประเด็นที่ร้อนแรง จากพืชที่มีสารออกฤทธิ์ต่อประสาท จากที่เคยถูกกฎหมายไทยบัญญัติให้เป็นยาเสพติดให้โทษ ปัจจุบันกัญชาได้กลายเป็นสารทางเลือกเพื่อการรักษาโรคที่กำลังโด่งดัง

ความร้อนแรงของกัญชาที่ไม่ใช่แต่เมืองไทย ทว่าเป็นประเด็นไปทั่วโลกนั้นทำให้มีทั้งผู้เรียกร้อง สนับสนุนให้มีการพิจารณาแก้ไข ปลดล็อคกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดทางให้เกิดการวิจัยค้นคว้า กัญชา อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีความหวังอยู่ที่การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งจากงานวิจัยหลายชิ้นที่ออกมาอย่างต่อเนื่องก็ทำให้กัญชา กลายเป็นความหวังให้ผู้ป่วยในหลายโรค 

แม้กฎหมายไทยยังไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น แต่เป็นที่รู้กันว่าในวิถีชีวิตไทย เรื่องของกัญชามีให้เห็นมายาวนาน แม้แต่ในบทประพันธ์ระเด่นลันได ของพระมหามนตรี (ทรัพย์) ที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวเอกฝ่ายชายทั้ง ระเด่นลันได กับ ท้าวประดู่ คนเลี้ยงวัวล้วนเมากัญชาเป็นกิจวัตร หรือแม้แต่ในนิราศเมืองแกลง ของสุนทรภู่เองยังใส่ท่อนหนึ่งถึงกัญชาไว้ว่า

“นายแสงหายคลายโทโสที่โกรธา ชักกัญชานั่งกริ่มยิ้มละไม”

ความฮิตของกัญชาในอดีตยังปรากฎหลักฐานอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังซึ่ง นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ได้เก็บภาพถ่ายไว้ใน นิตยสารสารคดี ฉบับ 404 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 พร้อมกับเล่าถึงเรื่อง กัญชา ในเมืองเพชรบุรีบ้านเกิดไว้ว่า

“เพราะเราเป็นคนบ้านนอกกัญชาคือชีวิตปรกติของเรา ก็จะให้ว่าอะไรได้ล่ะพ่อก็ปลูกกัญชาในบ้านให้เมีย-ลูกกิน ใช้มาแต่เด็กๆ และคนเพชรบุรีรอบบ้านเราแทบทุกบ้านในช่วง  40-50 ปีก่อน ล้วนปลูกกัญชากิน-ใช้อย่างถ้วนทั่วทั้งนั้น” 

นอกจากการตามรอยกัญชา บน จิตรกรรมฝาผนัง ในวัดที่จังหวัดเพชรบุรีแล้ว นิพัทธ์พร ยังเดินทางต่อสู่ลุ่มน้ำแม่กลอง เข้าสู่เมืองหลวงเพื่อที่จะพบกับกัญชาในกองทัพพระรามบนฝาผนังวัดพระแก้ว 

กัญชา
วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี

 “เพื่อนเมาน้ำตาล” 

ภาพจิตรกรรมสีฝุ่นบนฝาผนังวิหาร วัดมหาธาตุวรวิหาร เมืองเพชรบุรี ฝีมือ ครูเลิศ พ่วงพระเดช ภาพบันทึกชีวิตไทยภาพนี้วาดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2464-2466  ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6  โดยภาพขวาเป็นรูปคนหนุ่มกำลังทำท่าน้ำลายหก ยกกะลามะพร้าวเทน้ำตาลเมา ด้านซ้ายเป็นชายหนุ่มกำลังสูดควันกัญชา มือขวาจับบ้องแน่น มือซ้ายใช้ของแหลมแหย่พวยบ้องไม่ให้ตัน เบื้องหน้าของเขาเป็น เขียงไม้ข่อย ที่ใช้ในการหั่นใบกัญชาตากแห้ง 

วัดนาพรม จังหวัดเพชรบุรี

“ผัวขี้พี้”

ภาพเขียนเมียกุมขมับ ในยามที่ผัวพี้กัญชา จิตรกรรมบนศาลาการเปรียญ วัดนาพรม จังหวัดเพชรบุรี

กัญชา
วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ

“มันพ่ะย่ะค่ะ” 

จิตรกรรมที่ วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ เขียนไว้เมื่อเกือบ 100  ปีก่อน เป็นรูปลิงในกองทัพพระรามกำลังสูบ กัญชาครึกครื้น บ้องกัญชามี “บัวผัน” เสียบอยู่ไว้ใส่กะเต็นจุดไฟวาบๆ ให้สูบได้

กัญชา
วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี

 “ชายหนุ่มกับตุ้งก่า” 

ภาพจิตรกรรมเหนือขอบหน้าต่างในศาลาการเปรียญ วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี ฝีมือของครูช่างใหญ่สองท่าน คือ พ่อละมุด และ ครูหวน ตาลวันนา ภาพนี้ไม่ระบุปที่วาด แต่สันนิษฐานว่าราว 100 ปีก่อน เนื้อหาในภาพน่าสนใจตรงที่มีชายหนุ่มนั่งในท่าสะลึมสะลือ ข้างตัวมีมีดสำหรับหั่นกัญชา และหม้อสำหรับสูบ กัญชาเสียบพวยแหลมเรียกว่า ตุ้งก่า 

พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม

“กัญชากับท่าเปลือย” 

ภาพจิตรกรรมเหนือขอบหน้าต่างในศาลาการเปรียญ ซึ่งปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนให้เป็น พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม ภาพนี้ไม่ปรากฏชื่อผู้วาด และปีที่วาด แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ในภาพด้านหน้าเป็นสองหนุ่มกำลังเสพกัญชา โดยมีฉากหลังเป็นหนุ่มสาวเปลื้องผ้าพลอดรักกันอยู่  

กัญชา

 “กัญชาพาหลับ”

ภาพจิตรกรรมเหนือขอบหน้าต่างของศาลาการเปรียญ วัดจันทราวาส จังหวัดเพชรบุรี ฝีมือครูหวน ตาลวันนา เขียนไว้ประมาณปี  พ.ศ. 2460 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ในภาพชายหนุ่มคนหนึ่งอยู่ท่าสุขสมขณะสูบ กัญชาด้านหน้ามีอุปกรณ์ในการเสพ ทั้งมีดและเขียงวางอยู่ ขณะที่เพื่อนอีกคนหลับอยู่ข้างๆ คาดว่าจะเมาจนคอพับไป 

กัญชา

“หนุ่มมอญเล่นกัญชา”

จิตรกรรม วัดม่วง จังหวัดราชบุรี บอกเล่าเรื่องราวของหนุ่มมอญที่กำลังเล่นกัญชากันอย่างเพลิดเพลิน ซึ่งนั่นก็สื่อกลายๆ ได้ว่าวัฒนธรรมกัญชาไม่ได้มีแต่ในวิถีไทยแต่ดั้งเดิมเท่านั้น

Fact File

  • กัญชาในปัจจุบันยังคงจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ครอบคลุมทุกส่วนของพืชและสารที่มีอยู่ในพืช เช่น ใบ ดอก ยอด ผล ยาง ลำต้น

ต้นเรื่อง: กัญชากับภูมิปัญญาชาวบ้านไทย เขียนและถ่ายภาพโดย นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 404   ตุลาคม 2561 

ภาพโดย : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

หมายเหตุ : ชื่อภาพทั้งหมดนี้เป็นชื่อภาพที่ทางกองบรรณาธิการตั้งขึ้น ไม่ใช่ชื่อภาพจริงแต่อย่างใด