BGC Glass Studio สตูดิโอศิลปะเป่าแก้วแห่งแรกในไทย ที่มีศิลปินรุ่นใหม่อยู่เบื้องหลัง
- BGC Glass Studio สตูดิโองานศิลปะเป่าแก้ว ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) มุ่งส่งเสริมผลงานและพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่เพื่อให้ศิลปะที่สร้างสรรค์จากแก้วเป็นที่รู้จักมากขึ้น
- สตูดิโอตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์เรียนรู้ของศิลปะแก้วครบวงจรและดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยเบื้องต้นร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากรในการพัฒนาทักษะศิลปะแขนงนี้แก่ศิลปินคลื่นลูกใหม่
- เสน่ห์และความท้าทายของศิลปะเป่าแก้วคือต้องทำงานเป็นทีมเวิร์ก สู้กับไฟ ความร้อนและน้ำหนักของวัสดุอุปกรณ์ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอดกระบวนการสร้างสรรค์
ภายในอาณาจักรอันกว้างใหญ่ของ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) บนถนนรังสิต-นครนายก นอกจากจะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตแก้วและบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นที่ตั้งของสโมสรฟุตบอลและสนามฟุตบอลบางกอกกล๊าส หรือ BGFC ยังมีพื้นที่หลบมุมที่เป็นแหล่งบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ด้านการสร้างสรรค์ศิลปะจากการเป่าแก้ว BGC Glass Studio (บีจีซี กล๊าส สตูดิโอ) ที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2560
BGC Glass Studio มีวัตถุประสงค์แรกเริ่มเพื่อผลิตชิ้นงานตัวอย่างสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมในเครือและพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ด้านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แก้ว ก่อนที่จะต่อยอดเพื่อให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะแก้วทั้งในแง่นวัตกรรม เทคโนโลยี เทคนิคและการสร้างสรรค์ และตั้งเป้าหมายเป็นเบอร์หนึ่งในภูมิภาคอาเซียน สิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก คือ เบื้องหลังการเกิดขึ้นของ BGC Glass Studio มาจากการที่บริษัทขนาดใหญ่เชื่อมั่นในพลังและความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ 4 คน พร้อมบรรจุให้เป็น In-House Artists ที่ได้รับเงินเดือนประจำและได้เปอร์เซ็นต์จากการขายชิ้นงาน ถึงแม้พวกเขาจะเรียนจบด้านศิลปะจากมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ทั้งหมดไม่เคยมีพื้นฐานเรื่องศิลปะเป่าแก้วมาก่อน
หนึ่งในบทพิสูจน์ความสามารถของพวกเขาคือผลงานศิลปะแก้วที่ได้รับเสียงชื่นชมจากการร่วมแสดงในงาน Hotel Art Fair 2019 เทศกาล Awakening Bangkok 2019 ในย่านเจริญกรุงและนิทรรศการ Re-Heat Vol.2 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีเมื่อต้นปีนี้
“พวกเราทั้ง 4 คนไม่มีพื้นฐานเทคนิคการเป่าแก้วแบบ GlassBlowing เลย ที่มหาวิทยาลัยเคยมีสอนการขึ้นรูปแบบ Warm Glass ด้วยเทคนิค Slumping และ Fusing โดยการเผาในอุณหภูมิที่เหมาะสมในเตาเผา แต่ไม่เคยใช้เทคนิค Hot Glass โดยการขึ้นรูปชิ้นงานแก้วด้วยการหลอมและเป่าในขณะที่แก้วยังคงร้อนแบบ Glass Blowing ยิ่งรู้ว่าเป้าหมายของบริษัทคือให้ที่นี่เป็นสตูดิโอเป่าแก้วแห่งแรกในประเทศไทยและเป็นแหล่งเรียนรู้ของศิลปะสาขานี้อย่างครบวงจร จึงเป็นเรื่องท้าทายและยิ่งใหญ่มากสำหรับพวกเรา” เขบ็ต- ฉัตตกาญจน์ วงษ์ศิริ หนึ่งใน4 ศิลปินของ BGC Glass Studio ที่น้องๆ ยกให้เป็นพี่ใหญ่ของทีม กล่าวถึงความท้าทายของงาน
ทางบริษัทบางกอกกล๊าสเองก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่เช่นกันในการจัดตั้งสตูดิโอ การจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ และการเชิญศิลปินแก้วที่มีชื่อเสียง เช่น เจอร์มี โปเปลก้า (Jeremy Popelka) และ สเตฟานี เทร็นเชิร์ด (Stephanie Trenchard) จากสหรัฐอเมริกา ฮิโรชิ ยามาโนะ (Hiroshi Yamano) จากญี่ปุ่น และปีเตอร์ โบวล์ส (Peter Bowles) จากออสเตรเลียมาช่วยอบรมและให้ความรู้เรื่องการเป่าแก้วและการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆแก่ศิลปินของบริษัททั้ง 4 คน
“งานเป่าแก้วเป็นงานที่ต้องทำเป็นทีมอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป เราต้องบริหารจัดการผู้ช่วยทั้งหมดที่มาช่วยเรา เราต้องคิด ต้องรู้ก่อนเลยว่ารูปทรงสุดท้ายเป็นอย่างไร เพราะเราต้องบอกผู้ช่วยตลอดเวลา เราไม่สามารถให้เขามาคิดแทนเราได้ นอกจากศิลปะแล้วเราได้เรียนรู้ปรัชญาการใช้ชีวิตด้วย เช่นเรื่องการทำงานเป็นทีม ส่วนที่ตื่นเต้นจริงๆอาจไม่ใช่ตัวงานที่สำเร็จแต่เป็นกระบวนการที่แตกต่างจากงานศิลปะแขนงอื่นพอสมควร ” เอก รอดเมฆ ที่เรียนจบด้านประติมากรรมและทำงานเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์มาก่อน กล่าวถึงหัวใจของการทำงาน
ศิลปะที่ต้องสู้กับไฟ ความร้อนและน้ำหนัก
ภายในสตูดิโอมีเตาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 45 เซนติเมตรและยาว 80 เซนติเมตร โดยเขบ็ตและทีมงานสาธิตให้เราดูขั้นตอนคร่าวๆโดยเริ่มจากการหลอม Glass Nuggets ที่เป็นเม็ดแก้วนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละเกือบ 300 บาท ในเบ้าทนไฟหรือ Pot Furnace ที่อุณหภูมิประมาณ 1,200 องศาเซลเซียสเป็นเวลาหลายชั่วโมงจนได้น้ำแก้วระหว่างการหลอม หากจะเพิ่มสีสันก็เติมแท่งสีซึ่งเป็นสินค้านำเข้าตกราคาประมาณกิโลกรัมละ 3,000 บาท
จากนั้นใช้ท่อโลหะกลวงยาวจุ่มน้ำแก้วและเป่า Bubble ลูกแรกก่อนที่จะจุ่มน้ำแก้วอีกรอบและขึ้นรูปทรงในแบบพิมพ์และใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หนาหลายชั้นที่ชุบน้ำรองรับแก้วและค่อยๆแต่งรูปทรงให้เข้าที่ ขั้นตอนต่อไปคือนำชิ้นงานไปอุ่นในเตาเพื่อลดความร้อนก่อนนำไปตัด ยืด คีบ ทำพื้นผิวที่ต้องการลบคมและส่วนเกินพร้อมทั้งขัดให้เรียบ แล้วนำไปอบอีกครั้งในเตาที่เรียกว่า “เตาคลายเครียด” เพื่อให้ความร้อนค่อยๆคลายตัวจนถึงอุณหภูมิห้องซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 คืน ขั้นตอนสุดท้ายคือการเจียระไนและการตกแต่งให้สวยงาม
“การสร้างรูปทรงจากความร้อนบางทีก็ไม่ได้แบบที่เราคิดไว้ สิ่งที่คิดกับสิ่งที่ได้บางทีไม่เหมือนกันเพราะเกิดแอกซิเดนในเตา บางทีในเตาเราอุ่นร้อนไปหรือแก้วแข็งตัวไวหรือว่าแตก มีปัญหาเฉพาะหน้าให้แก้ตลอดแต่ก็เป็นเรื่องสนุกและเป็นเสน่ห์ของงานแก้ว” โลมา – ธนาพร สุขเจริญ ซึ่งจบด้านประติมากรรมเช่นเดียวกับเขบ็ตและเอก เล่าถึงเสน่ห์ของงานแก้ว
มาดาม – ฐิตาภา รุ่งเรืองวานิชที่จบด้านสื่อผสมเพิ่มเติมว่า “ในการสร้างงานจากการเป่าแก้ว เราลัดขั้นตอนไม่ได้ เราเอาแต่ใจไม่ได้ นี่คือความยาก เราต้องยอมรับมันแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคอนโทรลให้ได้ จึงเป็นงานที่ท้าทายและทำให้เราอยากเรียนรู้เรื่องใหม่ๆเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน”
การทำงานหน้าเตาที่อุณหภูมิสูงในสภาพอากาศร้อนของเมืองไทย และวัสดุอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากเป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวอย่างมากสำหรับศิลปินสาขานี้
“ความร้อน ความหนัก ความเหนื่อยเป็นประเด็นสำหรับคนที่เพิ่งทำแรกๆ แต่พอเราเริ่มทำก็เหมือนคนออกกำลังกายทุกวัน พอทำจนชินจากร้อนก็เริ่มไม่ร้อนเพราะเราจดจ่อกับงานมากๆ จากเหนื่อยก็เริ่มไม่เหนื่อยเพราะว่างานยังไม่เสร็จเราก็จะมีกำลังทำไปจนกว่าจะเสร็จ พอเสร็จเราถึงค่อยนอนตาย” เอกกล่าวติดตลก
“ต้องถึกและอดทนอย่างมาก” เขบ็ตเสริม“ศิลปะแขนงอื่นเราค่อยๆทำคนเดียวเงียบๆได้ แต่งานแก้วต้องทีมเวิร์ก ทำงานกับความร้อนซึ่งอย่างมากอยู่ได้ 3-4 ชั่วโมงไม่เกินนี้ งานต้องเสร็จ 1 ชิ้น”
สองสาวอย่างโลมาและมาดามพยักหน้าเห็นด้วยว่าพวกเธอต้องอาศัยแรงจากหนุ่มทั้งสองในการช่วยยก หยิบจับชิ้นงานและอุปกรณ์เสมอ
ตั้งเป้าสู่สตูดิโอและศูนย์เรียนรู้ที่ดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) ในเครือบางกอกกล๊าส กล่าวว่าเนื่องจากบริษัทมีความเชี่ยวชาญเรื่องแก้วในเชิงอุตสาหกรรม จึงอยากพัฒนาด้านศิลปะจากแก้วให้คนรู้จักมากขึ้นและส่งเสริมศิลปินให้มีความเชี่ยวชาญสาขานี้จนก้าวไกลในระดับนานาชาติเพื่อให้มีการพัฒนาเทคนิคสร้างสรรค์ใหม่ๆ
“ในการวาดรูปมีอุปกรณ์ไม่ซับซ้อนจึงทำให้เข้าถึงคนได้ง่าย แต่การเป่าแก้วต้องมีฮาร์ดแวร์และราคาแพง ใช้พลังงานเยอะ เตาต้องวอร์มตลอดเวลา ค่าดูแลรักษาก็สูงทำให้เป็นกำแพงที่ศิลปะแขนงนี้ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทยและยังไม่มีสตูดิโอเป่าแก้วที่ครบวงจรมาก่อน ต้องเป็นองค์กรที่มีความตั้งใจที่จะทำจริงๆและมีประสบการณ์ด้านนี้พอสมควร เป้าหมายเราคือให้ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับคนที่สนใจด้านนี้ และภายใน 2-3 ปีนี้เราต้องเป็นสตูดิโอที่ดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน”
ศิลปินทั้ง 4 คนได้รับบรรจุให้เป็นพนักงานประจำเพื่อให้ไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้ และให้อิสระทางความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ตีกรอบว่าต้องมีผลงานกี่ชิ้นต่อเดือน
“ศิลปะ บุคลากร และเทคนิคการสร้างสรรค์ คือสามสิ่งหลักที่เรามุ่งเน้น เราอยากให้ศิลปินของเรามีสมาธิกับการทำงานโดยไม่ต้องห่วงเรื่องรายได้ เราไม่มีการประเมินผลงาน KPI (Key Performance Indicator) แบบตัวเลข เราให้อิสระเต็มที่ในการทำงานเพียงแต่ก็ต้องอยู่ในทิศทางของเป้าหมายที่เราตั้งไว้ร่วมกัน เช่นถ้าเรามีทิศทางเดินไปทางออสเตรเลีย ไม่ใช่ว่าคุณจะเดินไปทางอเมริกาหรือญี่ปุ่น เราวัดผลงานจาก Output และเท่าที่ศิลปินเราร่วมแสดงผลงานในงานเทศกาลต่างๆ จะเห็นว่าผลงานเราไม่ด้อยกว่าใคร”ศิลปรัตน์กล่าวอย่างภูมิใจ
ตัวอย่างผลงานสร้างสรรค์ของศิลปินจาก BGC Glass Studio รวมทั้งชิ้นงานของศิลปินรับเชิญจากนานาชาติได้นำมาจัดแสดงในส่วนที่เป็นอาร์ตแกลเลอรี
“แก้วยังเป็นวัสดุในการทำงานศิลปะที่ใหม่มากๆในประเทศไทยและศิลปินที่ทำงานด้านนี้ก็มีน้อย สำหรับผมแก้วมีเสน่ห์ที่ความเปราะบางและแสงสีในตัวมันเองมีความพิเศษกว่าวัสดุอื่นที่เคยทำ งานของผมจะมีเท็กเจอร์คล้ายงานปั้น มีความขยุกขยิก” เขบ็ตกล่าว
ส่วนเอกนั้นสนใจเรื่องการเล่นกับแสง สี ความโปร่งแสง และสีใส ผลงานมีทั้งในรูปแบบ Installation Art หรือให้มี Interactive ที่ผู้ชมจับเล่นและสัมผัสได้เช่นในเทศกาล Awakening Bangkok 2019 เอกได้สร้างผลงานชื่อ “2019 Breath” เป็นแก้วเรืองแสงรูปทรงปอดโดยตั้งโปรแกรมไฟให้กะพริบตรงกับจังหวะการหายใจของมนุษย์เพื่อสะท้อนถึงบรรยากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษและความตึงเครียดที่ชาวเมืองอาศัยอยู่และสูดหายใจเข้าไปทุกวัน
งานของโลมาเป็นงาน Free Form ที่เล่นกับสีสันสดใสโดยใช้แท่งสีที่ผสมสีกันให้เกิดเป็นลวดลายต่างๆ แรงบันดาลใจส่วนใหญ่มาจากวิถีชีวิตในต่างจังหวัดและความสัมพันธ์ในครอบครัว
สำหรับมาดาม เธอกล่าวถึงงานของตัวเองว่า “เนื่องจากเราจบมาทางด้านสื่อผสม งานเราก็มีการใช้เสียงหรือวิดีโอเข้ามาประกอบ ในวันข้างหน้าอาจมีการใช้กลิ่นหรือเล่นกับรสชาติ เป็นความท้าทายที่จะได้ทดลองอะไรใหม่ๆ”
ส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่
ศิลปรัตน์เสริมว่าทางบริษัทได้ทำ MOU (Memorandum of Understanding) กับทางมหาวิทยาลัยศิลปากรในการช่วยส่งเสริมความรู้เรื่องศิลปะแก้วระหว่างศิลปิน อาจารย์และนักศึกษา และให้โควตากับนักศึกษามาเข้าร่วมเวิร์กชอปที่สตูดิโอเพื่อฝึกฝนทักษะซึ่งอาจก่อให้เกิดอาชีพและรายได้ต่อไป ส่วนศิลปินอิสระใดที่ประสงค์จะใช้วัสดุอุปกรณ์ของสตูดิโอในการทดลองงานใหม่ๆ สามารถติดต่อเข้ามาได้
“อยากให้ศิลปะแก้วเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากกว่านี้ เพราะการทำให้สังคมศิลปะแก้วในไทยแข็งแรง เราต้องการบุคลากร เพราะฉะนั้นบุคลากรมีแค่อาจารย์อย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องมีนักศึกษาที่เป็นคลื่นลูกใหม่ เขาเป็นคลื่นลูกใหม่เขาต้องคิดอะไรได้ไกลกว่าเราอยู่แล้ว ถ้าเขาสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ เข้าถึงวัสดุได้ง่าย จะทำให้เกิดสังคมของศิลปะแก้วในไทยกว้างกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” เอกกล่าวอย่างจริงจัง
“ถึงแม้เราไม่ได้เป็นศิลปินมีชื่อเสียง แต่เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและทำอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้นในประเทศไทย มันคุ่มค่า” เขบ็ตทิ้งท้าย
Fact File
- ติดตามความเคลื่อนไหวของสตูดิโอได้ที่ www.bgcglassstudio.com หรือ Facebook: BGC Glass Studio